'โจรสลัด'โลกการเงิน'เฮดจ์ฟันด์' ฆ่าไม่ตาย
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Monday, June 25, 2012 05:49
62544 XTHAI XGEN DAS V%NETNEWS P%WKT
ด้วยวิวัฒนาการกว่า 50 ปี กองทุนเฮดจ์ฟันด์ในยุคแรกจะเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเฮดจ์ฟันด์ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการเก็งกำไรทุกรูปแบบและทุกสินทรัพย์!!
"แม้คำว่า Hedge จะมีความหมายว่าป้องกันความเสี่ยง แต่หลายกองทุนในโลกไม่ได้มีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงเหมือนชื่อ แต่เน้นกลยุทธ์การลงทุน แบบ Directional Trading หรือลงทุนทางตรง เช่นกองทุนประเภท Global Macro Fund ซึ่ง มักจะโจมตีค่าเงินทั่วโลก" ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตผู้จัดการกองทุนชั้นนำกล่าว ปัจจุบันเราแยกแยะประเภทของเฮดจ์ฟันด์ได้ลำบาก เนื่องจากกองทุนหนึ่งมักจะมีกลยุทธ์มากกว่าหนึ่ง ในการเข้าทำกำไร ด้วยสภาพแวดล้อมของตลาดที่ ซับซ้อนมากขึ้นรวมถึงการแข่งขันกันในธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ ที่รุนแรง ผู้จัดการกองทุนจึงต้องมีกลยุทธ์ที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดลูกค้า
ม.ล.กรกสิวัฒน์ อธิบายว่า เราสามารถแยกประเภทของเฮดจ์ฟันด์ได้ 3 กลุ่มใหญ่ตามความสัมพันธ์ ของกลยุทธ์การทำกำไรกับทิศทางของตลาด หนึ่ง..กลุ่มที่เน้นสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้มีความสัมพันธ์กับทิศทางตลาดให้น้อยที่สุดเพื่อลดความผันผวน กลุ่มนี้จะไม่เลือกข้างจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงต่ำ
กลุ่มที่สอง จะเลือกข้างชัดเจนว่าจะ Long หรือ Short ผู้จัดการกองทุนจะทำกำไรจากการคาดการณ์ทิศทางของตลาดและมีการกู้ยืมเงินมา Leverage หลายเท่าตัวของกองทุน กองทุนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ คือ Global Macro Fund ที่เน้นโจมตีค่าเงินเป็นหลัก กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงการลงทุนสูงสุด กลุ่มที่สาม ใช้กลยุทธ์ผสมผสานระหว่างสองกลุ่มแรกเพื่อลด ความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทน ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำ
เฮดจ์ฟันด์จะเปิดโอกาสให้ทำรายการฝากหรือถอนกองทุนได้ปีละ 4 ครั้งเท่านั้น หรือ "ไตรมาสละครั้ง"เนื่องจากกองทุนต้องการเงินเพื่อการเก็งกำไร สำหรับค่าธรรมเนียมการบริหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี ผู้ที่สนใจนำเงินมาลงทุนในเฮดจ์ฟันด์จะต้องมีตั้งแต่ 5 แสนเหรียญถึง 1 ล้านเหรียญ (15-30 ล้านบาท) "ผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนจะได้รับหรือ ส่วนแบ่งกำไรพบว่าอยู่ในระดับสูงมาก 16-20% (ของผลกำไร) เนื่องจากต้องการสร้างแรงจูงใจให้สร้าง ผลกำไรให้กองทุนเยอะๆ"
หม่อมกร กล่าวต่อว่า ช่วงปี 1998-1999 และวิกฤติเลแมนฯ ปี 2008 เฮดจ์ฟันด์ได้ "เจ๊ง" หายไปจำนวนหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วเฮดจ์ฟันด์ไม่ได้หายไป แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนและขนาดใหญ่ขึ้น และยังกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะ "เอเชีย" เหตุผลข้อแรก ปัจจุบันโลกมีการทำธุรกรรมระหว่างกันมากขึ้น แต่กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ยังมีความแตกต่างกันอยู่มากโดยเฉพาะภาคการเงิน เฮดจ์ฟันด์จึงเห็นโอกาสที่จะทำกำไรจากความแตกต่าง ของกฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศ
"ตราบใดที่โลกยังมีหมู่เกาะที่เป็น Tax Haven อยู่ เฮดจ์ฟันด์จะใช้เป็นอ่าวจอดเรือที่ปลอดภัยสำหรับโจรสลัดทางการเงิน ซึ่งสามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการลงทุนโดยมีต้นทุนต่ำและความคล่องตัวสูง ถ้าหากโลกยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่มากำกับ เฮดจ์ฟันด์จะยังมีชีวิตอยู่และได้เปรียบนักลงทุนทั่วไป"
ข้อสอง กระแสโลกาภิวัตน์ได้ผนวกตลาด การเงินแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน เป็นการสร้างโอกาสให้เฮดจ์ฟันด์แสวงหาช่องโจมตีได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเฮดจ์ฟันด์จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในช่องว่างของความไม่มีประสิทธิภาพของทุกตลาด เมื่อเฮดจ์ฟันด์เริ่มเห็นช่องว่างแล้วโจมตีได้ผลจะชักชวนให้เฮดจ์ฟันด์กองอื่นเข้ามาร่วมวงด้วย จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงกติกาทำให้โอกาสการเก็งกำไรน้อยลง เช่นการโจมตีค่าเงินบาทของไทยจนต้อง เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการ บริหารจัดการ สุดท้ายเฮดจ์ฟันด์ก็จะหนีออกไปเก็งกำไร ในตลาดอื่นต่อ
ตัวอย่างช่วงปี 1990-2000 ถือเป็นช่วงเวลา โกยกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ประเภท Global Macro ซึ่งเน้นโจมตีค่าเงิน เนื่องจากช่วงเวลานั้นตลาดการเงินทั่วโลกเพิ่งจะถูกผูกเข้าด้วยกันและหลายประเทศ ยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เป็นการเปิดช่องให้เฮดจ์ฟันด์เข้ามาโจมตีค่าเงินได้ พอแต่ละประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายทำให้เก็งกำไรยากขึ้น เฮดจ์ฟันด์ก็ปรับแผนลงทุนมาใช้กลยุทธ์ LongShort หุ้น แทน
"หลังปี 2000 เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงถดถอยหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ตลาดหุ้นถูกคาดว่า จะเป็นขาลง กลยุทธ์การ Long-Short หุ้นจึงเหมาะสม กับสภาวะการลงทุนที่ไม่แน่นอน วัฏจักรของเฮดจ์ฟันด์ จะคงหมุนเวียนเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเรื่อยๆ ตราบที่สามารถหาจุดอ่อนของระบบได้ ผู้จัดการกองทุนก็จะหาวิธีการเก็งกำไรรูปแบบใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป"
ข้อสาม การเกิดขึ้นของนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะภาคการค้าที่ถูกบีบให้อยู่ในสภาวะการแข่งขันที่ต้องรวดเร็ว ต้นทุนต่ำและต้องขยายตัวสูง ทำให้เกิดนวัตกรรมในการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ที่เคยซื้อขายได้ยากในอดีตมาสู่ภาคการเงินเพื่อให้สามารถซื้อขายได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น การซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่มีปริมาณมากกว่าซื้อขายน้ำมันจริงหลายเท่าเฉพาะตลาดซื้อขายน้ำมันอย่างเดียวก็มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญแล้ว นอกจากนี้กลไกการกำหนดราคาพลังงานยังไม่มีประสิทธิภาพ ตลาดมีความผันผวนสูง เฮดจ์ฟันด์จึงเข้าไปลงทุนผ่านตราสารต่างๆ เช่นซื้อขายในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเพื่อทำ Arbitrage หรือลงทุนตรงในโรงกลั่นน้ำมัน หรือท่อส่งน้ำมัน รวมถึงหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่ช่วยให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องมากขึ้น ที่ผ่านมานักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็เข้ามาตั้ง เฮดจ์ฟันด์ด้วย เช่น โดนัล ทรัมพ์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของสหรัฐฯก็มาร่วมทุนกับจอร์จ โซรอส ตั้งกองทุน Grove Capital ยิ่งตอนนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียกำลังเป็นเป้าหมายของเฮดจ์ฟันด์ที่จะเข้ามาแสวงหากำไรเนื่องจากมีการขยายตัวสูง
"เหตุผลต่างๆ นี้เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้เฮดจ์ฟันด์ มีพื้นที่ลงทุนได้กว้างกว่าในอดีตและยังสร้างโอกาสในการเก็งกำไรจากความด้อยประสิทธิภาพของตลาดนั้นๆ ด้วย"
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เฮดจ์ฟันด์ ยังสามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้คือการเกิดขึ้นของฐานลูกค้าใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศและประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังเป็นตลาดใหญ่ของเฮดจ์ฟันด์ในอนาคต เช่นกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง นักลงทุนในประเทศดังกล่าวอาจกระจายความเสี่ยง การลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น "ปัจจุบันยังมีกฎหมายในบางประเทศเช่นไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ที่ห้ามการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ แต่อนาคตเชื่อว่ากฎนี้อาจถูกยกเลิกไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2013 เฮดจ์ฟันด์จะมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านล้านเหรียญ และปี 2015 จะเพิ่มเป็น 6 ล้านล้านเหรียญ"
ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารพาณิชย์ที่หันมาทำธุรกิจกับเฮดจ์ฟันด์ในการปล่อยกู้มากขึ้นจึงลามไปสู่การแนะนำลูกค้าธนาคารให้มาลงทุนผ่านเฮดจ์ฟันด์ด้วย ชื่อเสียงของธนาคารขนาดใหญ่ช่วยขจัดข้อข้องใจของลูกค้า ทำให้เฮดจ์ฟันด์เข้าถึงลูกค้าสถาบันและรายย่อยได้ง่าย ทำให้ธนาคารระดับโลกหลายแห่งให้ความสนใจในการก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นใหม่หรือเข้าซื้อกิจการ
ภาพลักษณ์ของเฮดจ์ฟันด์จึงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อผนวกรวมกับธนาคารขนาดใหญ่ เป็นการสร้างฐาน ลูกค้าใหม่ที่เฮดจ์ฟันด์รุ่นแรกไม่สามารถทำได้ ช่องว่างระหว่างธนาคารกับเฮดจ์ฟันด์เริ่มน้อยลง การเข้าถึง แหล่งเงินทุนจึงง่ายขึ้น ขนาดของเฮดจ์ฟันด์จึงเติบโตขึ้น ได้อีกมาก "สิ่งที่อันตรายคือการที่ธนาคารกับเฮดจ์ฟันด์ ที่ใกล้ชิดกันขึ้นทำให้เฮดจ์ฟันด์มีโอกาสสร้างความ เสียหายไปถึงภาคเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นถ้าหากเกิดปัญหา เช่น การเกิดวิกฤติซับไพร์มที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาล บางประเทศยังให้การสนับสนุนเฮดจ์ฟันด์ด้วย โดยเฉพาะ สิงคโปร์และฮ่องกงที่กลายมาเป็นศูนย์กลางเฮดจ์ฟันด์ ของโลก"
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าวต่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์และฮ่องกง รู้ดีว่าเฮดจ์ฟันด์จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการเงินให้ทันสมัยยิ่งขึ้นจึงให้การสนับสนุนโดยผ่อนคลายกฎต่างๆ เช่น ร่นระยะเวลาการจดทะเบียนกองทุนให้สั้นลง ทำให้ เฮดจ์ฟันด์ในเอเชียเริ่มมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น
"สิงคโปร์ยังมีกองทุนของรัฐบาล 2 กองคือ เทมาเส็ก กับ GIC มีขนาดสินทรัพย์ 84 พันล้านเหรียญ และ 100 พันล้านเหรียญ ซึ่งทั้งสองกองทุนมีการลงทุนผ่านเฮดจ์ฟันด์ ด้วย ทำให้ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างไหลเข้ามาในสิงคโปร์เพื่อให้ได้เป็นผู้บริหารเงินกองทุนของประเทศ"
ม.ล.กรกสิวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า นักลงทุนไม่สามารถ หลีกหนีเฮดจ์ฟันด์ได้ เพราะเฮดจ์ฟันด์เข้ามาแทรกซึมอยู่ในระบบการเงินของโลกแล้ว คนไทยยังเข้าใจเฮดจ์ฟันด์
ในแง่ "ผู้ร้าย" ด้านเดียว ที่จริงแล้วมันเป็นตัวชี้วัด ความบกพร่องของระบบที่ดีมาก ถ้าเราเข้าใจเฮดจ์ฟันด์ และกระโดดเกาะตามได้ เรามีสิทธิเป็นผู้ชนะใน ตลาดหุ้น!!
'เฮดจ์ฟันด์' ที่ว่าแน่ๆ ก็ 'เจ๊ง' เป็น!!
ใช่ว่าเฮดจ์ฟันด์จะมีอำนาจเหนือตลาดเสมอไป เพราะกองทุนขนาดใหญ่หลายกองก็ "เจ๊ง" มาเยอะแล้ว กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการล่มสลายของกองทุน "ไทเกอร์ฟันด์" ในช่วงปี 2000 ซึ่งเวลานั้นถือเป็นกองทุน ขนาดใหญ่ของโลก มีผู้จัดการกองทุนชื่อ จูเลียน โรเบิร์ตสัน (Julian Robertson) เริ่มกองทุนปี 1980 มีสินทรัพย์แค่ 8 ล้านเหรียญ แต่ในปี 1996 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 7.2 พันล้านเหรียญ และทะยานขึ้นเป็น 2.2 หมื่นล้านเหรียญในปี 1998 เป็นเฮดจ์ฟันด์ ที่ใหญ่ติดอันดับ 2 ของโลก
"ขณะนั้นศักดิ์ศรีและบารมีของจูเลียนไม่ได้ด้อยไปกว่าจอร์จ โซรอส บางครั้งขนาดกองทุนไทเกอร์ฟันด์ มีขนาดใหญ่กว่าควอนตั้มฟันด์ของโซรอสด้วย แต่ด้วยความที่เขาไม่ใช่นักพูดทำให้ชื่อเสียงดูจะรู้จักในวงจำกัดเท่านั้น"
กองทุนไทเกอร์ฟันด์ไม่ต่างอะไรกับเฮดจ์ฟันด์ อื่นๆ ที่มีการกู้เงินมาเก็งกำไรโดยจูเลียนได้เพิ่มขนาดกองทุนของเขาไว้สูงถึง 50 เท่า ต่อ 1 ในปี 1999 ขนาดกองทุนของเขาอยู่ที่ 13 พันล้านเหรียญ แต่ถ้ารวมส่วนที่ได้ Leverage แล้วมีขนาดถึง 650 พันล้านเหรียญ
ไทเกอร์ฟันด์ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาด เงินเยน โดยได้กู้ยืมเงินเยนจำนวนมากหลายเท่าของขนาดกองทุนมาลงทุนในหลักทรัพย์สกุลดอลลาร์ เนื่องจากเวลานั้นญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากดึงดูด เฮดจ์ฟันด์ให้มากู้เงินไปลงทุนในเงินสกุลอื่นที่ให้ ผลตอบแทนสูงกว่า
ความเสี่ยงคือถ้าหากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น กองทุนที่ไปกู้ยืมไว้อาจจะประสบภาวะขาดทุนได้เนื่องจากเดินผิดทางไปจากที่คาดไว้และกลางปี 1999 เงินเยนก็แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วสร้างความเสียหายต่อไทเกอร์ฟันด์ในงวด 9 เดือนแรกมีผลขาดทุนถึง 23% ทำให้ผู้ถือหน่วยเสียขวัญ แห่กันไปถอนหน่วยลงทุน
ไม่เพียงเท่านี้ ช่วงไตรมาสสามของปี 1999 ไทเกอร์ฟันด์คาดการณ์ว่าผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะปรับ ลดลงอย่างรุนแรงจากความกังวลว่าจะเกิดฟองสบู่ดอทคอม จึงได้ทำการขายชอร์ตหุ้นกลุ่มดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไม่ได้ปรับลดลงรุนแรงมากเหมือนที่คาดไว้ทำให้ไทเกอร์ฟันด์ขาดทุนอย่างรุนแรง สิ้นเดือนกันยายน ขนาดกองทุนลดลงถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญ
สุดท้าย จากการที่ไทเกอร์ฟันด์เข้าไปลงทุนในบริษัท U.S. Airways ที่ประสบภาวะขาดทุนและคาดว่าจะพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาได้แต่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวต้องล้มละลาย ในที่สุดกองทุนไทเกอร์ฟันด์ก็ต้องปิดตัวลงในเดือนมีนาคมปี 2000 เป็นข้อพิสูจน์ว่าเฮดจ์ฟันด์ก็ "เจ๊ง" เป็น
ภาคจบซีรีส์ตีแผ่ 'เฮดจ์ฟันด์' โดย'ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี' เชื่อว่า เฮดจ์ฟันด์ 'ฆ่า' อย่างไรไงก็ 'ไม่ตาย' นักลงทุนต้องเรียนรู้ เพื่อจะเป็นผู้ชนะในตลาดหุ้น!!
บรรยายใต้ภาพ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
โจรสลัดโลกการเงิน'เฮดจ์ฟันด์'ฆ่าไม่ตายม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี
-
- Verified User
- โพสต์: 47266
- ผู้ติดตาม: 0