ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
offshore-engineer
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2166
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในปี 2004 ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย เท่ากับ 1,100 บาท
ในปี 2005 ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย เท่ากับ 1,250 บาท

ผมอยากจะขอถามผู้รู้หน่อยครับว่า

1. ค่าบริการเหมาจ่ายดังกล่าวมีหน่วยเป็น บาทต่อคนต่อปี ใช่หรือไม่ หรือว่าเป็นบาทต่อคนต่อจำนวนการใช้บริการทางการแพทย์

2. ในปี 2006 จะมีการปรับค่านี้ให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ผมคุ้นๆว่าจะปรับเพิ่มเป็น 1,650 บาท ไม่ทราบว่าถูกต้องรึเปล่า

3. ผมสามารถหาข้อมูลนี้ได้จาก website ไหนครับ

4. โอกาสที่รัฐบาลจะยกเลิกสวัสดิการทางการแพทย์อันนี้ให้กับประชาชนมีมากน้อยเท่าไหร่ เพราะข่าวส่วนใหญ่จะระบุว่าทำให้โรงพยาบาลบางแห่งประสบปัญหาขาดทุน และ ทำให้กำลังใจของแพทย์ลดลง

ผมขอขอบคุณล่วงหน้าครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
LOSO
Verified User
โพสต์: 2512
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ตกลงจะถามเรื่องเงินประกันสังคม หรือ งบ UC ของ30บาท ครับ ............
tainara
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 167
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ต่อคนต่อปีครับ มีเพิ่มให้สำหรับบางโรคต้องขอเบิกไปต่างหาก (โรคค่าใช้จ่ายสูง)
ส่วนใหญ่ประกันสังคมไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาครับ
ลูกไม่ท้อ
Verified User
โพสต์: 421
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ต่อคนต่อปีครับผม  อ้อมีพวกโรคร้ายแรงบางอย่างก็ได้เพิ่มมาอีกแค่  สองร้อยห้าบาทครับ เช่นโรคเบาหวาน , มะเร็ง , เอดส์  (ประมาณยี่สิบห้าโรคมั้งครับ )
รู้สึกดีๆ
mee
Verified User
โพสต์: 49
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ที่ทำให้ ร.พ. ขาดทุน และแพทย์ขาดกำลังใจคือ 30 บาท มิใช่ประกันสังคมครับ
offshore-engineer
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2166
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณครับสำหรับทุกคำตอบ ได้ความรู้มากขึ้นครับ

สำหรับนโยบาย 30 บาท ทางโรงพยาลจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐเท่าไหร่ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
ksnk
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 414
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 7

โพสต์

30บาทระส่ำรัฐจัดงบต่ำ 200โรงพยาบาลแบกหนี้3พันล้าน
"โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นนโยบายประชานิยมที่โดดเด่นและได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนมากที่สุดของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "กรุงเทพธุรกิจ" จึงได้ตรวจสอบการบริหารงานหลังดำเนินงานครบ 4 ปีนับจากปี 2545 โดยตรวจสอบทั้งหมด 3 ตอนตั้งแต่ การบริหารจัดการ คุณภาพ ซึ่งแม้จะพบว่าคนจนระดับล่าง ก็จะพึงพอใจแต่ นโยบายสุขภาพกลับสร้างความปั่นปวนให้กับวงการแพทย์จนนำไปสู่คุณภาพในการรักษาพยาบาล"

โรงพยาบาล 200 แห่งยังเผชิญวิกฤติขาดทุนโครงการ 30 บาท กว่า 3 พันล้าน เผยติดหนี้ค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แถมขาดแคลนหมอและพยาบาลดูแลคนไข้ ล่าสุด โรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮ่องสอน ถึงกับระดมแพทย์พยาบาล ร้องเพลงอัดซีดีขายช่วยค่าน้ำค่าไฟ ด้านโรงเรียนแพทย์เผยแพทย์พยาบาลแห่ลาออก เหตุ ทำงานหนักงบประมาณไม่มี หวั่นโรงพยาบาลด้อยคุณภาพ มูลนิธิสาธารณสุข ชี้เหตุบริหารแบบการเมืองเป็นที่ตั้ง ขณะที่ทีดีอาร์ไอ ระบุ รัฐต้องเพิ่มเงินอีก 7 หมื่นล้านอุดหนุนถึงจะพ้นวิกฤติ

"ในช่วงนั้นหมอก็ตันไปหมด เครียดมาก จะควบคุมอย่างไร จะควบคุมต้นทุนบริการพวกค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าตอบแทนอย่างไร ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ก็ไม่พอ ค่าน้ำมันรถ ค่าน้ำค่าไฟฟ้าก็ต้องจ่ายทุกเดือน ค่ายาที่ถูกบริษัทยาทวงก็ขอเลื่อนไปเรื่อยๆก่อน เพราะงบประมาณไม่เพียงพอต่อการบริการงานภายในโรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ก็ยังไม่พอ จนทำให้งานด้านการพัฒนาภายในโรงพยาบาลหยุดชะงักไปทันที "

นั่นคือ คำบอกเล่า ของแพทย์หญิงประณมพร ศิริภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่จะต้องประคับประคอง บริหารจัดการโรงพยาบาล ภายใต้ ปัญหางบประมาณจำกัด หลัง โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้ นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

แม้จะยอมรับว่า หลักการนโยบาย 30 บาทหวังให้ประชาชนเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและคนยากจนได้ประโยชน์ แต่ ตลอดระยะเวลา 4 ปี การบริหารจัดการยังคงมีปัญหาทุกด้าน ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ ประสิทธิภาพ คุณภาพ ทำให้ โรงพยาบาลกว่า 200 โรง ยังคงเผชิญปัญหาขาดทุน งบประมาณไม่เพียงพอ รวมถึง เรื่องร้องเรียนจากการบริการที่มีคุณภาพการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่ำลง
โรงพยาบาลอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นสถานพยาบาลอีกหนึ่งแห่งจากทั้งหมด 200 โรงพยาบาลที่ได้ประสบกับภาวะวิกฤติทางการเงินในช่วงเริ่มต้นปีแรกๆ ของโครงการส่งผลให้การดำเนินงานและการบริการสุขภาพของโรงพยาบาลต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะในส่วนการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล

เครียดงบประมาณขาด-คุณภาพรักษาต่ำ

แพทย์หญิงประณมพร ศิริภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย กล่าวว่า เนื่องจากในระยะ 2 ปีแรกหลังจากเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โรงพยาบาลประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างมาก โดยในปี 2546 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียง 10 ล้านบาท ในขณะที่โรงพยาบาลต้องการงบประมาณถึง 15 ล้านบาทจึงเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่อการบริหารจัดการและบริการสุขภาพ

พ.ญ.ประณมพร บอกอีกว่า วิกฤติทางการเงินในครั้งนั้นทำให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดและมีความรู้สึกไม่มั่นคงในสายอาชีพโดยเฉพาะสถานะทางการเงินสำหรับการเลี้ยงชีพ ซึ่งพลอยทำให้การให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนไม่เต็มที่มากนัก เพราะต้องกังวลถึงการหารายได้เข้าโรงพยาบาลที่หายไปกว่า 5 ล้านบาท

" ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดรายจ่าย ควบคุมต้นทุนในการบริการสุขภาพ และเพิ่มรายได้ของโรงพยาบาล อาทิ มาตรการการประหยัดค่าสาธารณูปโภค การใช้ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม เพิ่มรายได้โดยเน้นการเก็บเอกสารในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของคนไข้ในเขตรอยต่อจังหวัดให้ครบทุกอย่าง หากไม่ครบแล้วจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากต้นสังกัดได้ รวมทั้งการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากประกันอุบัติเหตุให้ครบถ้วนมากที่สุด "

ระดมแพทย์ออกเทปเพลงช่วยค่าไฟ

พ.ญ.ประณมพร กล่าวว่า โรงพยาบาลอำเภอปายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียงดูแลประชากร 29,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 62 หมู่บ้านในอำเภอปายและอีก 2 ตำบล 13 หมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังมีชาวต่างด้าวที่อาศัยในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลและต้องเป็นหนี้โรงพยาบาลเฉลี่ยแล้วตก 3 - 4 แสนบาทต่อปี

แม้ทางโรงพยาบาลได้ออกมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อลดค่าใช้จ่ายในทุก ๆ ด้านแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลต้องหารายได้เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารงานของโรงพยาบาล

"หมอคุยกับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลว่าจะทำอย่างไร พอดีมีบุรุษพยาบาลที่มีความสามารถในการแต่งเพลง และยามของโรงพยาบาลก็ชอบร้องเพลง หมอก็ชอบร้องคาราโอเกะอยู่แล้ว เราก็เลยคุยกันว่าออกเทปหารายได้เข้าโรงพยาบาลดีกว่าจะได้มีเงินมาช่วยในส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ชำรุดและราคาไม่แพงมาก " พ.ญ.ประณมพรกล่าวถึงที่มาของการทำเทปเพลงชุดดังกล่าว

เทปและซีดีส่วนใหญ่จะวางขายภายในอำเภอปายยังไม่เป็นรู้จักในวงกว้างมาก ส่วนใหญ่เนื้อหาของเพลงจะกล่าวถึงบรรยากาศในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้รายได้ที่ได้จากการจำหน่ายเทปและซีดีจะไม่มากนัก แต่ก็พอมาเป็นรายได้เสริมสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงพยาบาล อาทิ ค่าอุปกรณ์ทางแพทย์บางรายการ เป็นต้น

" แม้เงินที่ได้จากการจัดทำเพลงเพื่อการกุศลจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นส่วนเสริมที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงบประมาณภายในโรงพยาบาล เพื่อให้มีอุปกรณ์ต่างๆในการให้บริการส่วนหนี้อื่นๆ อย่างค่ายาอันไหนเลื่อนไปก่อนได้ก็ขอให้เขาเลื่อนก่อน และอันไหนที่เราพอมีจ่ายเราก็จ่ายให้ได้ " ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอปายกล่าว

กระนั้นก็ดี แม้ปัจจุบันโรงพยาบาลอำเภอปายจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 17 ล้านบาท ในปี 2548 แต่ยังมีปัญหาหนักใจเพิ่มขึ้นมาอีก พ.ญ.ประณมพร บอกว่า ทางโรงพยาบาลยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางที่จะเข้ามาดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ทุรกันดาร การเดินทางไกล ค่าตอบแทนไม่มากจึงไม่จูงใจให้แพทย์เฉพาะทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลใช้วิธีการส่งต่อคนไข้ไปรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางสำหรับส่งต่อคนไข้ไปรักษาต่อในโรงพยาบาลอื่น

ขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีเจ้าหน้าที่ 136 คน โดยแบ่งเป็นแพทย์จำนวน 5 คน พยาบาล 55 คน และเจ้าหน้าที่อื่น 76 คน ขณะที่มีแพทย์หนึ่งคนต้องรับผิดชอบผู้ป่วยจำนวน 60-90 คนต่อวัน ซึ่งทางโรงพยาบาลยังต้องการเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมจำนวนมาก

โรงเรียนชี้ 30 บาทเหตุแพทย์ลาออก

ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นอกจากจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญแล้ว โรงพยาบาลใหญ่อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากโครงการ 30 บาทเช่นเดียวกัน
นายแพทย์วีระ อิงคภาสกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลประสบปัญหาด้านบุคลากรไม่เพียงพอ เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบในส่วนการเรียนการสอน การทำวิจัย และการรักษา จึงทำให้ปริมาณงานที่มีอยู่หนักเกินไปสำหรับแพทย์หนึ่งคน อีกทั้งยังขาดแพทย์ประจำที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะ รวมทั้งเจ้าหน้าที่พยาบาลอีกด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถขยายบริการที่มีอยู่ให้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากติดปัญหาด้านงบประมาณที่มีอยู่จำกัด
ทั้งนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลขนาด 420 เตียงมีและรับผิดชอบผู้ป่วยในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจำนวน 58,422 ราย และเตรียมรับเพิ่มอีก 30,000 รายในพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่เจ้าหน้าที่พยาบาลมีเพียง 500 คนหากจะขยายบริการเพิ่มเป็น 600 เตียงต้องการพยาบาลมากกว่า 100 คนเพื่อรองรับการให้บริการ
" เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแทนที่จะได้มีเวลาไปดูผู้ป่วยหนักที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและพัฒนาความรู้ด้านการรักษาโรคใหม่ซึ่งต้องใช้เทคนิคขั้นสูง แต่ต้องกลับมาแบกรับภาระงานบริการในระดับเบื้องต้นซึ่งโรงพยาบาลชุมชนสามารถดูแลได้ " น.พ.วีระ กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเสนอแนะว่า รัฐบาลควรกำหนดงบประมาณสำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้สมเหตุสมผลโดยเฉพาะในส่วนค่าตอบแทนบุคลากรเพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงต่อการยังชีพและเหมาะสมต่อภาระงานที่หนักมากเพิ่มขึ้น
"โครงการ 30 บาทน่าจะกำหนดขอบเขตว่ารัฐบาลมีเงินค่าใช้จ่ายต่อหัวมากแค่ไหน ถ้าให้แบบจำกัดก็ควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น หรือถ้าจะให้มากกว่านี้ก็ควรขยายเพิ่มเพื่อรองรับบริการและการรักษาใหม่ในอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น อาทิ การผ่าตัดข้อเข่าหรือถุงน้ำดีโดยใช้กล้องส่องจะทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยลง แต่ปัจจุบันแพทย์และพยาบาลก็มีค่าตอบแทนที่แตกต่างกันมากระหว่างภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันก็จะผลิตแพทย์ พยาบาล ทันตแพย์ เจ้าหน้าที่สหเวช กายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ซึ่งตอนนี้มีวิกฤติขาดแคลนมากโดยเฉพาะแพทย์ พยาบาลและทันตนแพทย์ " ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์กล่าว

ชี้ 200 โรงพยาบาลงบติดลบ 3,278 ล้านบาท

ขณะที่ น.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หัวใจของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คือความเสมอภาค คุณภาพ และประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการของโครงการที่ดี หากมีการบริหารจัดการงบประมาณได้ดี แต่ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหา เรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณเพราะใช้วิธีการรวมเงินเดือนทำให้การจัดสรรงบประมาณกระจุกตัวเฉพาะโรงพยาบาลที่มีบุคลากรจำนวนมาก ทำให้มีโรงพยาบาลชุมชนกว่า 200 แห่งที่ยังมีตัวเลขการบริหารจัดการที่ติดลบอยู่จำนวน 3,278 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่า จะเพิ่มงบประมาณต่อหัวขึ้นมาอีก 1,659 บาทต่อหัว แต่ก็ยังคงมีปัญหาเพราะว่าวิธีการบริหารแบบเดิม คือการรวมเงินเดือนกับค่าใช้จ่ายรายหัว นั้นได้สร้างภาระหนี้สินสะสม
" วิธีการแก้ไขที่จะสามารถลดภาระหนี้สิน ให้กับ โรงพยาบาลจะต้องแก้ไขวิธีการบริหารงบประมาณโดยการแยกเงินเดือนออกจากค่าใช้จ่ายรายหัว หรือแบ่งงบประมาณจัดสรรออกเป็นแค่ ระดับเขต ไม่จัดสรรรวมทั้งประเทศ เพราะจะทำให้เกิดการกระจายงบประมาณไปยังชนบทมากขึ้น และโรงพยาบาลที่มีบุคลากรน้อยจะมีเงินเหลือ ทำให้แพทย์ไม่ย้ายเข้ามาในเมือง ส่วนโรงพยาบาลที่มีบุคลากรมากก็นำเงินส่วนอื่นเข้าไปช่วยสนับสนุน วิธีนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้" น.พ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ทีดีอาร์ไอระบุต้องเพิ่มอีก 7 หมื่นล้านอุด 30 บาท

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แม้ว่า รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณต่อหัวขึ้นเป็น 1,659 บาท แล้ว แต่ในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ ก็ยังคงมีปัญหาเช่นเดิม เพราะงบประมาณที่สามารถบริหารได้ดีคือ 2,000 บาทต่อหัว ซึ่งเข้าใจว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอ อาจจะไม่กล้าเสนอตัวเลขที่แท้จริงหรือเสนอไปแล้วหรือ อาจจะถูกปรับลดลงมา เพราะหากรัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณเท่านี้ต้องยอมรับว่าโครงการก็ยังมีปัญหา
" จากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนพบว่าส่วนใหญ่ก็พอใจกับโครงการ 30 บาท ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้โครงการมีประสิทธิภาพจะต้องเพิ่มประมาณอีก 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเลยหากเทียบกับโครงการอื่นๆที่รัฐบาลนำเงินไปถลุง เพราะผลกระทบจากงบประมาณที่จำกัดคือปัญหาบุคลากรในโรงพยาบาลที่ไม่พึงพอใจกับ การบริหาร 30 บาทลาออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษาต่อไป " ดร.วิโรจน์ กล่าว

ชี้ 30 บาทส่งคุณภาพโรงพยาบาลแย่ลง

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า โครงการนี้ทำให้คุณภาพของโรงพยาบาลแย่ลง เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอต่อการบริหารงานและบริการ อีกทั้งปริมาณงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทั้งแพทย์และพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แพทย์จึงแห่ลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนเป็นจำนวนมาก โดยก่อนการเริ่มโครงการนี้ โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาคุณภาพงานของตนเองมากขึ้น อันมาจากการได้รับงบประมาณที่เพียงพอและปริมาณงานที่พอเหมาะทำให้บุคลากรได้มีเวลาคิดและพัฒนางานบริหารและบริการของโรงพยาบาลให้ดีขึ้นกว่าเดิม
" สถานพยาบาลมีงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หมอก็เพิ่มไม่ทัน เงินก็เพิ่มไม่ทัน จนหมอหมดแรง การบริการก็ไม่ได้ มีหรือไม่มีโครงการ 30 บาทก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่โครงการ 30 บาทกลับมาซ้ำเติม ทำให้รายได้ลดลงศักยภาพของโรงพยาบาลที่ปรับตัวได้ก็ลดลงด้วย อีกทั้งต้องปรับปรุงการให้บริการซึ่งทำให้โรงพยาบาลรัฐรับภาระหนักขึ้นโดยไม่จำเป็น ก็ยิ่งทำให้อ่อนแอ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมเห็นและยังเป็นตามนโยบาย 30 บาท ปัญหาเก่าที่มีมาก่อนโครงการ 30 บาท เช่น เรื่องระบบราชการและเรื่องค่าตอบแทนของหมอก็ไม่ทันตลาด หมอน้อย ถ้าหมอทำไม่ได้ก็ถูกซ้ำเติม การบริหารระบบที่เอาการเมืองเป็นตัวตั้งและเงินไม่พอ ถ้าพูดตรง ๆ พูดแบบหมอดู ปัญหาน่าจะไกลปะทุแล้ว " น.พ.สมศักดิ์ กล่าว

จากบทความนี้น่าจะตอบคำถามนะครับ
ประจวบ
Verified User
โพสต์: 304
ผู้ติดตาม: 0

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ความจริงคนไข้30บาทกับคนไข้ร.พ.เอกชน
เป็นคนไข้คนละกลุ่มกัน
ผลกระทบต่อรายได้ของรพ.เอกชนน้อย

อยากรู้เรื่องประกันสังคมมากกว่าครับ
ไม่รู้ใครพอมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง
ว่าเค้าจ่ายกันยังไงและครอบคลุมการรักษาอะไรบ้าง
เพราะมีรพ.หลายแห่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ยังรับคนไข้ประกันสังคมอยู่
หนักแน่นในแนวทางviพันธ์แท้
stham
Verified User
โพสต์: 1
ผู้ติดตาม: 0

Healthy workers effect

โพสต์ที่ 9

โพสต์

การรับคนไข้ประกันสังคมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรพ.รัฐหรือรพ.เอกชน ได้กำไรครับ เพราะเป็นการประกันภาคบังคับ และอัตราการเจ็บป่วยของผู้ที่เอาประกันสังคมมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจาก Healthy workers effect กล่าวคือ ผู้ที่เอาประกันสังคมเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงาน และคนทำงานส่วนใหญ่จะมีสุขภาพดี

อย่างไรก็ดี การจะได้กำไรหรือขาดทุนนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่เอาประกันสังคมว่าจะเลือกลงทะเบียนกับโรงพยาบาลนั้น ๆ ด้วย หากจำนวนน้อยเกินไป จะมีความเสี่ยงต่อความสูญเสียทางการเงิน (ขาดทุน) สูง หรืออีกนัยหนึ่ง มีการกระจายความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าจำนวนมาก ๆ เช่น เป็นหลักหลายหมื่น (โดยประมาณ) จะอยู่ได้ครับ 8)
Love is the answer!
Invisible hand
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 358
ผู้ติดตาม: 1

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ในส่วน 30 บาท  ผมทราบข้อมูลของรพ. เอกชน  นะครับ  คือ  ทาง รพ. จะได้ต่อหัวครับ  ปีก่อนได้ประมาณ 1300 ปลายๆ  สำหรับปีงบประมาณ 2549  ได้เพิ่มต่อหัว 18.8% เป็น 1600 กว่าๆ   โดยที่ทางรพ. จะต้องบริหารต้นทุนเฉลี่ยต่อคนไข้ 1 คนที่มาใช้บริการไม่ให้เกินนี้    นอกจากนี้  รายได้ต่อครั้ง 30 บาทเป็นของ รพ. ครับ  

แต่อย่างไรก็ตาม   เนื่องจากคนไข้ที่เข้าโครงการ 30 บาท  จะเป็นคนไข้ที่มีแนวโน้มการใช้บริการสูง  เนื่องจากเกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน  มีผู้สูงอายุด้วยมาก   ทำให้ รพ. เอกชนหลายแห่งที่เข้าโครงการได้ลาออกจากโครงการไป   ก็มี รพ. เอกชนบางแห่งที่ยังพอบริหารต้นทุนให้มีกำไรอยู่ได้บ้าง   หรือบาง รพ. ได้เปลี่ยนระบบเหมาจ่ายมาเป็นเฉพาะผู้ป่วยนอก  แต่ผู้ป่วยในเบิกกับรัฐตาม case  แต่อย่างไรก็ตาม  สถานการณ์ปีนี้น่าจะดีขึ้นมาบ้างเพราะได้งบเพิ่มต่อหัวมา 18.8%

ส่วนประกันสังคมนั้น  ก็ได้ต่อหัวเช่นกัน   ตัวเลขผมจำไม่ได้  แต่ก็ได้ประมาณ 1 พันกว่าๆ ต่อหัว รู้สึกว่าจะต่ำกว่า 1500 บาทต่อหัว   ที่จำได้แน่คือต่ำกว่ารายได้ต่อหัวของโครงการ 30 บาท   แต่ รพ. ที่เข้าประกันสังคมส่วนใหญ่จะกำไร   เพราะด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ข้อคือ เหตุผลแรกตามที่คุณ stham บอกไว้คือ  คนที่เข้าประกันสังคมอยู่ในวัยแรงงานมีอัตราเจ็บป่วยต่ำกว่าคนที่เข้าโครงการ 30 บาท  และข้อสองคือ  มีบริษัทเอกชนจำนวนไม่น้อยที่มีประกันสุขภาพให้พนักงาน  ทำให้พนักงานเลือกใช้ประกันของบริษัทซึ่งสามารถรักษา รพ. ในเกรดที่ดีกว่า รพ. ที่รับประกันสังคมได้    แต่ยังไงพนักงานคนนั้นๆ ยังต้องเลือก รพ. ในส่วนประกันสังคมอยู่ดี  ซึ่งกรณีนี้ รพ. ที่ถูกเลือกจะได้เงินต่อหัวมาฟรีๆ  

สำหรับปีนี้รายได้ในส่วนประกันสังคมต่อหัวจะเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 400 บาท   คือ  ในส่วนทำฟันและทำคลอด  ซึ่ง รพ. ที่รับประกันสังคมน่าจะมีกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการทำคลอดเพราะอัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ

อาจจะมีข้อมูลบางส่วนคลาดเคลื่อนบ้างนะครับ  หากมีอะไรผิดคงจะต้องรบกวนเพื่อนๆ ที่เป็นคุณหมอช่วยแก้นะครับ   ผมเองก็เพิ่งศึกษาเรื่องประกันสุขภาพนี้ได้ไม่นานเท่าไหร่ครับ
ล็อคหัวข้อ