ประเด็นร้อน: เปิดโผ 21 หุ้นสยอง! ลากรายย่อยติดดอยกว่า 2 แสนราย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -28 ส.ค. 60 10:30 น.
ผู้ถือหุ้นรายย่อยมักเป็นเหยื่อของตลาดหุ้นเสมอ ทุกครั้งที่เกิดปัญหา นักลงทุนกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้เสียหายหนักที่สุดในปั้นปลาย บ่อยครั้งที่เม็ดเงินลงทุนกลายเป็นเพียงกระดาษไร้ค่า ทั้งๆที่เป็นฐานนักลงทุนเบอร์หนึ่งของตลาดหุ้นไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 45% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน
แต่ขนาดไม่ได้การันตีถึงความมั่นคง ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยคำว่า "รายย่อยติดหุ้น" หรือ "แมงเม่าบินเข้ากองไฟ" ยังคงวนเวียนซ้ำไปมาเหมือนเดิม
***พบ 21 หุ้น ขวัญใจรายย่อย ราคารูดเกิน 30%
ล่าสุด "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน(Year to date)โดยคัดกรองจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยตั้งแต่ 5,000 รายขึ้นไป พบว่ามีถึง 21 บริษัทที่ราคาลดลงเกิน 30% ดังนี้
ชื่อย่อหุ้น ตลาด %การถือหุ้น ของรายย่อย จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย(ราย) %การเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น YTD ราคาสูงสุด (บาท) ราคาต่ำสุด (บาท)
* ตาราง ไม่สามารถนำเสนอให้ดูรู้เรื่องได้ จะแค๊ปหน้าจอมาโพสอีกครั้งครับ *
โดยบริษัทที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.บมจ.บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) ปรับตัวลดลงถึง 75% จากต้นปี โดยมีราคาสูงสุดที่ 0.33 บาท ต่ำสุดที่ 0.05 บาท ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งสิ้น 9,268 ราย
2.บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ปรับตัวลดลง 68.40% จากต้นปี มีราคาสูงสุดที่ 4.75 บาท ต่ำสุดที่ 1.07 บาท มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 6,949 ราย
3.บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) ปรับตัวลดลง 68.21% จากต้นปี ราคาสูงสุดของปีนี้อยู่ระดับ 65.50 บาท แต่ลงมาต่ำสุดถึง 12.40 บาท หนำซ้ำมีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากถึง 17,557 ราย
ขณะที่บริษัทที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยสูงสุดในกลุ่มข้างต้นคือ บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม(EFORL)จำนวน 18,909 ราย ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 59.26% จากต้นปี มีราคาหุ้นสูงสุดที่ 0.32 บาท ต่ำสุด 0.09 บาท
*** 3 บริษัทโดนแขวน SP ยาว ลาก"เม่า"ร่วมชะตากรรม 2.8 หมื่นราย
จากข้อมูลข้างต้นพบว่ามีถึง 3 บริษัทที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้น รวมผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ต้องติดร่างแหไปด้วยถึง 2.8 หมื่นราย ประกอบด้วย
1.บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) โดนสั่งหยุดซื้อขายตั้งแต่ 11 พ.ค.60 เพราะต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ หลังส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ
2.บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJA) หรือชื่อเดิมคือ AJD รายนี้ถูกสั่งขึ้น SP ตั้งแต่ 16 พ.ค.60 เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินไตรมาส 1/60
3.บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ถูกสั่งหยุดซื้อขายตั้งแต่ 15 มิ.ย.60 หลังมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินจำนวนมากและไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดตามที่ขอได้ และลุกลามไปจนถึงการเข้าแผนฟื้นฟู
*** 4 หุ้นบิ๊กแคปติดโผ กระชากรายย่อย 5 หมื่นรายขึ้นดอย
ขณะเดียวกันพบว่ามี 4 บริษัท ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap)เกิน 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ก็ติดโผมาด้วย โดยมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมกันกว่า 5 หมื่นราย ประกอบด้วย
1.บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) มาร์เก็ตแคปสูงถึง 30,728 ล้านบาท ราคาปรับตัวลดลง 43.82% จากต้นปี
2.บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) มาร์เก็ตแคป 27,764.79 ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 68.21% จากต้นปี
3.บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) มาร์เก็ตแคป 15,104 ล้านบาท ราคาหุ้นลดลง 48.70% จากต้นปี
4.บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) มาร์เก็ตแคป 11,051.23 ล้านบาท ราคาปรับตัวลดลง 38.74%
*** กูรูชี้ส่วนใหญ่พื้นฐานแย่-หมดรอบเก็งกำไร
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เออีซี ระบุว่า หุ้นส่วนใหญ่ข้างต้นเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการไม่ดีนัก บางบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง บางบริษัทกำไรลดลงหรือพลิกขาดทุน จึงทำให้นักลงทุนเปลี่ยนเป้าหมายการลงทุน
"ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีปัญหาผลประกอบการเกือบทั้งหมด จึงไม่แปลกใจที่ราคาปรับตัวลดลงจำนวนมาก บางตัวที่เคยขึ้นไปสูงตอนต้นปีเพราะอาจจะมีข่าวดีต่างๆ มาสร้างกระแสให้เข้าไปเก็งกำไร พอหมดรอบก็ขายทำกำไร หรือ ขายทิ้งในรายที่ข่าวดีกลายเป็นแค่ข่าวลือ
อีกประเด็นคือ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมในการเก็งกำไร เพราะมีสภาพคล่อง(ฟรีโฟลท)สูง รายย่อยเยอะ พอมีข่าว(Story)จึงเกิดผลกระทบต่อราคาหุ้นง่าย ทั้งขาขึ้นและขาลง"
ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ เสริมว่า "นักลงทุนรายย่อยยังคงมีปัญหาเรื่อง การติดกับดักแรงเก็งกำไร บางบริษัทพื้นฐานย่ำแย่ แต่มีราคาหุ้นเคลื่อนไหวหวือหวา ตามข่าวหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยแห่เข้าซื้อโดยไม่ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ จึงเกิดความเสียหายอย่างที่เห็น
การลงทุนลักษณะดังกล่าวไม่เคยสร้างกำไรให้กับรายย่อย เป็นเกมของเจ้ามือมากกว่า ต้องหลีกเลี่ยง เพราะได้ไม่เคยคุ้มเสีย"
*** ตลท.หามาตการคุ้มครองรายย่อย คาดสรุปภายใน Q3/60
"สันติ กีระนันทน์" รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. ระบุว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมสมาคมโบรกเกอร์ หาแนวทางหรือมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อย ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติจนทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อขายหุ้นได้ ซึ่งได้พูดคุยกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ คาดว่าภายในไตรมาส 3 นี้คงได้ข้อสรุป
"เรื่องการที่นักลงทุนรายย่อยติดหุ้น หรือ หุ้นที่ลงทุนราคาปรับตัวลดลงแรง คงไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ เพราะเราพูดกันอยู่เสมอว่าให้ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน
แต่ตอนนี้เรากำลังศึกษาแนวทางการคุ้มครองหรือช่วยเหลือผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนรายย่อยที่บริษัทเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น ผู้บริหารบริหารงานผิดพลาด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทมีความขัดแย้งกัน จนเป็นเหตุให้บริษัทถูกพักการซื้อขาย โดยอยู่ระหว่างหารือว่ามีแนวทางไหนบ้าง คาดว่าภายใน 1-2 เดือน หรือ ภายในไตรมาส 3 นี้คงได้ข้อสรุป"สันติ กล่าว
รายงาน โดย ศราพงค์ นันติวงค์
เรียบเรียง โดย อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร
อีเมล์. [email protected]
อนุมัติ โดย พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน