“วิกฤติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่” / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 1

“วิกฤติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่” / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

“วิกฤติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่”

เดือนที่แล้ว ข่าวใหญ่คุกรุ่นในตลาดการเงินโลกคือ การออกอาการของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ ที่มีแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

จนสร้างความกังวลว่าอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ อาการที่เกิดคือ มีเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง ราคาหุ้นตก ค่าเงินอ่อน ประเทศขาดสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น และบางประเทศมีการพูดถึงความจำเป็นที่อาจต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเพื่อแก้ปัญหา ทำให้หลายคนนึกถึงวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 โดยประเทศที่ออกอาการหรือถูกจับตาในลักษณะนี้ก็เช่น อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ วันนี้เลยอยากให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น และสถานการณ์จะพลิกผันจนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ได้หรือไม่ รวมถึงนักลงทุนควรมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติ

ต้นเหตุสำคัญของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ความเป็นหนี้ในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่บางประเทศที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่ทั่วโลกเต็มไปด้วยสภาพคล่องจากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรม จนอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงเกือบเป็นศูนย์ ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่เพื่อหาผลตอบแทน ในรูปของการให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนของเอกชน อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง ที่เป็นผลจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเช่นกรณีอาร์เจนตินา การกู้ยืมเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจมีการใช้จ่ายเกินตัว มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศมากขึ้น และมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เช่น ในปี 2017 การกู้ยืมของประเทศตลาดเกิดใหม่ 25 ประเทศ รวมกันมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หนี้เหล่านี้ต้องชำระคืน ต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องเติบโต การส่งออกต้องขยายตัว เพื่อให้ประเทศมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศมาจ่ายดอกเบี้ยและชำระหนี้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์ที่นำไปสู่แรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็คือ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่เริ่มมาประมาณ 2 ปี ที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทั่วโลกปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้มากใน 2 ทาง 1.เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศกลับเข้าสหรัฐ จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับสูงขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ดูดีขึ้น ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์เงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม 2.อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนชำระหนี้ที่เป็นหนี้เงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินของประเทศที่กู้เงินก็อ่อนลงจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนชำระหนี้ในรูปสกุลเงินท้องถิ่นยิ่งสูงมากขึ้น

สองปัจจัยนี้ทำให้การชำระหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศเริ่มมีปัญหา ราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและค่าเงินก็อ่อนค่าต่อเนื่อง เช่น ตั้งแต่ต้นปีนี้ราคาหุ้นในอาร์เจนตินาลดลงไปแล้ว 28 เปอร์เซ็นต์ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ของตุรกีลดลง 24 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซีย 8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเงินของ 3 ประเทศนี้อ่อนค่าลงร้อยละ 54 ร้อยละ 26 และร้อยละ 5 ตามลำดับ

แรงกดดันที่เกิดขึ้นทำให้ทางการจำเป็นต้องเข้าแก้ไขสถานการณ์เพื่อหยุดการอ่อนค่าของเงิน โดยการแทรกแซงค่าเงิน หมายถึง การขายเงินดอลลาร์ออกจากทุนสำรองทางการเพื่อเพิ่มอุปทานเงินดอลลาร์ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเตรียมช่องทางเพิ่มเงินทุนสำรองให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ล่าสุดมีข่าวว่าอาร์เจนตินากำลังติดต่อกับไอเอ็มเอฟ เพื่อขอวงเงินช่วยเหลือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงฐานะทางการเงินของประเทศ

ต่อคำถามว่า แล้วความเปราะบางเหล่านี้จะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้หรือไม่ คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้ เพราะตัวแปรที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้จะมาจากหลายส่วน แต่ที่พอพูดได้ก็คือ รูปแบบของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากนี้ไป ที่จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ จะมีพัฒนาการที่สังเกตได้เป็น 3 ขั้นตอน

1.มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศที่สถานการณ์กำลังเปราะบาง ที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนฉับพลันและรุนแรง จนมาตรการต่างๆ ของภาคทางการเอาไม่อยู่ ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้

2.ความไม่เชื่อมั่นกระจายไปสู่ประเทศอื่น กลายเป็นผลกระทบแบบ global contagion จากที่นักลงทุนเมื่อตกใจกับสถานการณ์ในประเทศหนึ่ง ก็ถอนเงินลงทุนออกจากหลายประเทศพร้อมกัน ทำให้ประเทศที่แม้จะไม่มีปัญหาหนี้ ก็ถูกกระทบจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ จากที่นักลงทุนไม่ได้แยกแยะว่าประเทศไหนเข้มแข็งหรือมีปัญหา ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

ที่สำคัญ ในปัจจุบันความอ่อนแอก็มีอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมเช่นกันคือกรณีอิตาลีและสเปน ที่มีปัญหาหนี้ในลักษณะคล้ายกัน ทำให้ contagion หรือการแผ่ขยายของผลกระทบ ถ้าวิกฤติเกิดขึ้นก็อาจลุกลามได้มากกว่าที่เคยมี

3.การแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติต้องฉับพลัน เพื่อหยุดการแพร่ของการขาดความเชื่อมั่น ซึ่งจะต้องมาจากทั้งผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และจากความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญๆ ที่ต้องร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทั้ง 2 แนวป้องกันนี้ต้องเกิดขึ้นเร็วและพร้อมกัน

ในประเด็นนี้ก็น่าห่วงว่า ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริงในภาวะปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาอาจมีข้อจำกัด เพราะปัจจุบันแต่ประเทศมุ่งแต่จะรักษาประโยชน์ของประเทศตนมากกว่าที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลก ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือความเสี่ยงสงครามการค้าโลกขณะนี้ ที่สหรัฐมุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของตน แม้จะสร้างความเสียหายต่อระบบการค้าของโลก ทำให้ชัดเจนว่า ถ้าโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจริง ความเป็นผู้นำของสหรัฐที่จะเข้ามามีบทบาทนำในการแก้ปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก อาจจะไม่มีให้เห็นอีก ทำให้การแก้ปัญหาจะยากกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้จึงไม่อยากให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นปีนี้ไม่ว่าในประเทศใด เพราะโลกยังไม่พร้อมที่จะมีวิกฤติ ดังนั้น นักลงทุน ในฐานะที่มักเป็นตัว trigger หรือชนวนของการสูญเสียความเชื่อมั่น ต้องตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกใจหรือตื่นกลัวเกินเหตุ เพราะอาจทำให้สถานการณ์ที่เปราะบางอยู่แต่สามารถแก้ไขได้ กลายเป็นวิกฤติขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 0

Re: “วิกฤติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่” / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

กำลังสงสัยอยู่ว่าทำไมฝรั่งขายหนักจัง
ขอบคุณครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
neuhiran
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 817
ผู้ติดตาม: 1

Re: “วิกฤติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่” / ดร.บัณฑิต นิจถาวร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์