เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
sukit2020
Verified User
โพสต์: 183
ผู้ติดตาม: 0

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 781

โพสต์

New Normal ชีวิตวิถีใหม่ของวีไอในเส้นทางธรรม

29 พค 63
moneytalk special

phpBB [video]
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 782

โพสต์

" ยิ่งเข้าถึงสภาพที่สงบลุ่มลึกลงไปได้มากเท่าไร สภาพความพร้อมของจิตที่ออกจากสมาธิ แล้วเอาจิตนั้นๆ ไปใช้งาน ยิ่งมีกำลังที่แตกต่างกันตามลำดับขั้น ระดับขั้นที่จิตพอที่จะเป็นอิสระจากอคติ คือ สมาธิในระดับขั้นที่เรารับรู้ถึงตัวจิตได้อย่างชัดเจน โดยเป็นอิสระจากทางกายโดยสมบูรณ์แล้ว กล่าวคือ สภาพของสมาธิที่ไม่สนใจกายแล้ว ทิ้งกาย เหลือแต่จิต "
.
ขออนุญาตถามคุณตี่ และ พี่ๆ เพื่อนๆทางธรรมที่มีประสบการณ์ ดังนี้ครับ

1. "สงบลุ่มลึก" ในที่นี้น่าจะหมายถึง "อัปปนาสมาธิ" หรือ "ฌาน 4" ใช่หรือไม่ครับ
ถ้าเข้าใจไม่ผิด ตอนที่เขียนน่าจะหมายถึง ฌาน 4 ขึ้นไปจนถึงอรูปฌานทั้งหมด แต่อรูปฌานใดๆ จริงๆ แล้วในหลายๆ ตำราก็รวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของฌาน 4 เพราะมีองค์เท่ากัน
2. รบกวนช่วยเล่าประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติ ขวากหนามที่พบเจอ และกำลังใจที่ทำให้ก้าวผ่านจนเข้าใกล้ หรือสำเร็จ สมาธิระดับลุ่มลึกนี้ครับ
สภาพใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็มีความดับไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา อุปสรรคใหญ่ที่สุด คือ เรายังเป็นฆราวาสอยู่ อุปสรรคของความเป็นฆราวาส คือ ความวุ่นวายในชีวิต ที่ยังมีขยะ ของเสียอยู่เยอะ และยังรับเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทำให้แม้ว่าในช่วงที่วิเวกออกมาฝึกอย่าจริงจัง จนสามารถเข้าสมาธิที่ลึก ทรงได้นาน แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตที่วุ่นวายมากๆ ตามประสาฆราวาส สิ่งที่ได้มาก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา

ถ้าจะเข้าถึงเพื่อให้รู้ในความเกิดขึ้นและความดับไปของจิตแต่ละประเภท เพื่อจะได้เบื่อหน่าย คลายกำหนัด เป้าหมายนี้ก็โอเคที่จะลองออกไปวิเวกปฏิบัติหลายๆ เดือนดู

ถ้าเราไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่วิเวก สงบ มีเครื่องอยู่มาเหมาะสมจริงๆ ในระยะเวลาที่นานพอ ผลลัพธ์มันก็เกิดเองตามธรรมชาติ อุปสรรคที่มีทั้งหมดโดยส่วนใหญ่ คือ เราอยากที่จะได้มากกว่าที่เราทำ เราฝืนธรรมชาติความเป็นจริงที่ว่า ทำน้อยได้น้อย ทำมากได้มาก

ความอยากที่ทำน้อยได้มาก นี่แหละอุปสรรค

เอาไว้ทำมากแล้วได้น้อยค่อยถามถึงเทคนิค วิธีการ แต่ตราบใดที่ยังทำน้อยอยู่ อยากจะได้ super productive หรือทางลัด หนทางสายนี้ไม่มีอยู่ในโลกของการปฏิบัติครับ

ทาง วิธีการทุกอย่างมีอยู่แล้ว อุปสรรคมีแค่อย่างเดียว คือ ไม่มีศรัทธาหรือแรงบันดาลใจ ที่จะสละโลก ออกจากโลกไปทำจริงๆ ให้สำเร็จ
3. ช่วยชี้แนะแนวทาง เทคนิคการปฏิบัติ และการวางใจ สำหรับผู้สนใจปฏิบัติให้ได้ผล

4. ช่วยชี้แนะสื่อ คลิป คำสอน ครูบาอาจารย์ หรือ มีสถานปฏิบัติธรรมที่มุ่งเน้นสอนด้านนี้แนะนำมั้ยครับ
คนแต่ละคนสร้างเหตุ มาต่างกัน มีจริต มีความเหมาะสมกับครูบาอาจารย์ หรือ เครื่องมือแตกต่างกันไป สิ่งที่เหมาะกับผม อาจไม่เหมาะกับคุณ สิ่งที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้อาจจะยังไม่เหมาะกับผมที่สุด และจะมีสิ่งที่เหมาะสมกับผมมากกว่านี้ในอนาคต

ในฐานะผู้ปฏิบัติ ผู้ศึกษา ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีพระพุทธเจ้าที่จะแนะนำเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด ประกอบกับพระที่ประพฤติดีประพฤติชอบในยุคนี้มีน้อยลงๆ ตามพัฒนาการของโลก โยนิโสมนสิการจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่พระพุทธเจ้าได้ให้เอาไว้

โอกาสในยุคนี้ต่างจากยุคก่อน คือ เราสามารถเข้าถึงความรู้ที่มีคนถ่ายทอด ตลอดจนมีพระไตรปิฎก มีความสามารถในการ search ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต โยนิโสมนสิการ จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก

ทดลองศึกษา ทดลองทำ อย่าพึ่งปักใจเชื่อด้วยหลักกาลามสูตร และใช้โยนิโสมนสิการดูว่า วิธีการที่เราทำอยู่นี้ ทำให้กุศลเกิดขึ้นในจิตของเรามากขึ้นไหม อกุศลในจิตของเราลดน้อยลงไหม เรามีเครื่องมือในการเจริญกุศล และในการละและระวังป้องกันอกุศลไหม ถ้าศึกษา ทดลองทำแล้วดีก็ทำต่อ ถ้ายังไม่ใช่ก็อาจจะต้องลองเปลี่ยนวิธี ลองศึกษาวิธีอื่นดู

เราต้องมีความเชื่อในกรรม ว่าเหตุที่เราทำมา จะนำไปสู่แนวทางที่ให้เราไปทำต่อ ให้สังเกตความรู้สึกทางใจตัวเองดีๆ ว่าความรู้สึกจากภายในว่าทางที่ทำมันใช่ไหม ถ้าเราสั่งสมเหตุมา ยังไงมันก็จะมีหนทางที่จะทำให้เราได้เจอกับทาง และทำให้เราพ้นจากสิ่งที่ไม่ใช่ทาง

ทุกครั้งที่ไหว้พระพุทธ กราบพระพุทธ สวดอิติปิโส มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็กำหนดทิศทางของใจตัวเอง ที่จะมุ่งชีวิตไปสู่คุณงามความดี ถ้าจะอธิษฐานก็ให้ขอแค่ให้ได้พบกับทางที่เหมาะกับเรา ที่เราจะมีศรัทธา และมีความเพียร ที่เราจะเอาเป็นที่พึ่งในชีวิต

ทำไปเรื่อยๆ วันใดวันหนึ่ง หากยังไม่พบทางก็จะได้เจอกับทาง หากยังไม่มีศรัทธาก็จะเกิดศรัทธา


ที่สำคัญที่สุด ระวังหลงไปกับสมถะสมาธิ สมถะเป็นสิ่งที่ดีหากมีทัศนคติที่ถูก แต่ถ้ามีทัศนคติที่ผิด เห็นว่าผลของสมถะเป็นสุขอันปราณีต ที่น่าหลงไหล น่ายึดน่าถือ อันตรายก็จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ เพราะ เวลาหลงไปกับสมาธิแบบปราศจากสติ ปราศจากความเข้าใจที่ถูก มันจะไปแบบกู่ไม่กลับ และยิ่งจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง

เป้าหมายของการเจริญสมถะ ควรเป็นไปเพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เห็นว่าสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยงมีความดับไปมีธรรมดา เห็นว่าสิ่งต่างๆ เป็นทุกข์มีความบีบคั้น ทนอยู่ได้ยาก และเมื่อเห็นว่าสภาพสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงเช่นนี้อยู่เนืองๆ ว่าสภาพใดๆ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น หาตัวหาตนที่แท้จริงไม่ได้ สมควรแล้วหรือที่จะสำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา

สุขสุดยอดที่สุดของเราที่เคยเจอ ก็เป็นของชั่วคราว ที่เกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็ดับไป จะให้มันเกิดขึ้นอีกเหมือนเดิม เท่าเดิม แบบเดิม ก็ไม่ได้ และความพยายามที่จะทำให้มันเกิดขึ้นอีก ก็นำมาซึ่งทุกข์อีกเป็นกระบวน

สภาพความมั่งคั่ง ที่เรามีอยู่ก็เป็นของชั่วคราว มีขึ้นก็มีลง ไม่ถูกพรากจากเราในวันนี้ ก็ต้องถูกพรากจากเราไปแน่ๆ ในวันที่เราตายจากโลกนี้ไป แต่เราใช้เวลาของชีวิตหมดไปกับการดูแล รักษา สิ่งที่เรามีเอาไว้ให้นานที่สุด มากที่สุด ทั้งๆ ที่วันหนึ่งเราก็ต้องทิ้งมันไปอยู่ดี

แม้แต่สภาพจิตที่เป็นสมาธิที่เป็นสุขปราณีต ตั้งมั่น กว้างขวาง ผุดผ่อง ก็เป็นสภาพชั่วคราว เมื่อมีเหตุให้เกิดมันก็เกิด เมื่อเหตุดับมันก็ดับ และหากไม่มีเครื่องมือและความเพียรระวังป้องกันที่ดี มันก็พร้อมที่จะไหลลงสู่ที่ต่ำ จากจิตสะอาด เบา ผุดผ่อง ก็สามารถกลับกลายไปเป็นจิตดำมืด สกปรก มืดมน ตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไป

เมื่อเห็นทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ก็ควรแล้วไหมที่จะเบื่อหน่ายกับทุกข์ เมื่อเบื่อหน่ายกับความทุกข์มากๆ เข้า ก็คลายความทะยานอยากที่จะได้สุข เมื่ออยากที่จะหายทุกข์จึงมีเพียรที่จะดับกิเลส เมื่อพยายามดับกิเลส ตัดกิเลสทุกครั้งที่เกิดขึ้น ก็สามารถสละคืนกิเลสตัวนั้นๆ ให้หลุดจากใจ
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
เด็กใหม่ไฟแรง
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1575
ผู้ติดตาม: 0

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 783

โพสต์

อนุโมทนากับคุณ Picatos ด้วยนะครับ
ดู clip รายการ money talk ย้อนหลังได้ที่
http://www.facebook.com/MoneyTalkTV
sukit2020
Verified User
โพสต์: 183
ผู้ติดตาม: 0

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 784

โพสต์

ขอบคุณคุณตี่มากครับ ที่ช่วยตอบปัญหา และตักเตือนถึงการฝึกสมาธิครับ

ผมผู้มาใหม่ เริ่มต้นศึกษาธรรมะได้ไม่นานนัก ยังอยู่ในช่วงค้นคว้าหาครูบาอาจารย์ หาแนวทางปฏิบัติ ทดลองปฏิบัติ ลองผิดลองถูกอยู่ครับ ช่วงแรกๆอาจค้นเจอครูบาอาจารย์ที่บรรลุธรรมแบบใช้สมถะนำหน้าทำให้ผมโน้มเอียงสนใจ และสงสัยไปทางด้านสมาธิครับ แต่ข้อมูลที่ค้นพบมักกล่าวว่า การฝึกสมาธิให้ได้ถึงอัปปนาสมาธินั้นไม่ใช่ของง่าย ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาเก่าที่สะสมไว้ด้วย อีกทั้งอาจหลงในสมาธิ และ เจริญแล้วก็ยังเสื่อมได้ เหมือนดั่งที่คุณตี่เตือนไว้เลยครับ

แนวทางปฏิบัติธรรมที่กล่าวถึงกันมาก และเหมาะกับยุคสมัยในปัจจุบัน ที่ผู้คนเป็นสังคมเมือง ชีวิตค่อนข้างวุ่นวาย คือ การเจริญสติ รู้กาย รู้ใจ หรือเรียกว่า สติปัฏฐาน๔ (บ้างก็เน้นคำว่า “รู้สึกตัว” บ้างก็เน้นการ “ดูจิต”) ซึ่งในปัจจุบันผมก็เริ่มย้อนกลับมาศึกษา และทดลองปฏิบัติบ้างแล้วครับ (จะว่าไปแล้ว คอร์สปฏิบัติธรรมครั้งแรกผมก็เป็นแนวนี้ครับ แต่ผมยังงงงง ปฏิบัติไปปฏิบัติมาเกิดสมาธิ ได้ปิติมา เลยเขวไปเรื่องสมาธิครับ)

หากคุณตี่ พี่ๆ เพื่อนๆ มีคำแนะนำใดๆสำหรับนักปฏิบัติธรรมมือใหม่ รบกวนฝากชี้แนะด้วยครับ ขอบคุณครับ


phpBB [video]


สารคดีชีวประวัติ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
https://www.youtube.com/watch?v=eUs8WRmleZo&t=1714s

สารคดีชีวประวัติ อ.กำพล ทองบุญนุ่ม ชุด การเดินทางครั้งสุดท้าย
https://www.youtube.com/watch?v=x1t1hrbp9gI&t=1580s

คำถามยอดนิยมและคำตอบ โดย อ.กำพล ทองบุญนุ่ม
https://www.youtube.com/watch?v=4WuPRaj_2g8
Thai VI Officer
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1852
ผู้ติดตาม: 8

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 785

โพสต์

รายการ Money Talk - พลังจิตกับการลงทุน โดย คุณพศิน อินทรวงค์

https://www.youtube.com/watch?v=cXzv6_C ... e=youtu.be


phpBB [video]
ขอแสดงความนับถือ
สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 786

โพสต์

เมื่อปีที่แล้วตอน covid-19 ระบาดใหม่ๆ และหุ้นตกหนัก เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังหาโอกาสในการลงทุน หรือว่า เรากำลังพยายามหาทางช่วยเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากภัย จากวิกฤตครั้งนั้น

เมื่อวิกฤติในรอบนั้นผ่านไปแล้ว บางคน หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าพลาด ไม่มีโอกาสได้เข้าไปซื้อหุ้น เก็บหุ้น

คนที่ได้เข้าไปเก็บหุ้น อาจจะหัวเราะเยาะ คนที่ไม่ได้เข้าไปเก็บหุ้น ว่าเค้าเหล่านั้นได้พลาดโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนไปเสียแล้ว

และทำให้คนที่พลาดไม่ได้เข้าไปเก็บหุ้นรู้สึกว่ารอบหน้าเราจะพลาดแบบนั้นอีกไม่ได้ เราจะตั้งใจหาโอกาส ทุ่มเทเวลาในการลงทุนให้มากกว่านี้

ในสถานการณ์เดียวกัน ถ้าหากเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งจริงๆ แล้ว เราจะมองเหตุการณ์แบบนั้นเป็นโอกาสในการทำบุญครั้งใหญ่ ที่ร้อยวันพันปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง เสียมากกว่า

การให้ที่ดี ที่มีกำลัง คือ การให้กับคนที่ขาด ที่กำลังมีความต้องการอย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีคนให้น้อย อานิสงส์ผลของมันจึงจะมาก

ถ้าเราเอาอาหารไปให้คนที่กิน Michelin ทานอาหารวันละ 5 มื้อ อานิสงค์ก็เทียบไม่ได้กับการเอาอาหารไปให้กับการให้อาหารกับคนที่อดอาหารมาเป็นสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ การได้ตักบาตร ถวายอาหารให้กับพระอรหันต์ที่พึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นการเข้าสมาธิโดยไม่ได้ฉันภัตราหารมาตลอด 7 วัน จึงมีอานิสงส์มาก

ณ ขณะนี้ ความเดือดร้อน และขาดแคลนในบ้านเมืองเราถึงขีดสุด การที่จะเสียสละเวลาและโอกาสในการหาเงิน แล้วนำเงินที่หามาได้ในช่วงที่ผ่านๆ มา มาแบ่งปันให้กับคนที่ขาดในช่วงนี้ จึงมีอานิสงค์มากเป็นพิเศษ

การทำทานท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ ไม่เพียงแต่ต้องประกอบด้วยจิตที่พยายามขัดเกลาความตระหนี่ แต่ต้องประกอบด้วยปัญญา และสมาธิ ที่จะรักษาจิตตัวเองไม่ให้ตกลงอกุศลอีกด้วย

จึงขอเชิญชวนเพื่อนๆ ที่เดินอยู่บนเส้นทางธรรม ที่หาเงินจากการลงทุนแนววีไอ เสียสละความสุขส่วนตัว และอัตตาใดๆ ก็แล้วแต่มาร่วมกันใช้เงินบริจาคครั้งใหญ่ให้กันคนที่ขาดกันครับ ความต้องการที่รอการช่วยเหลือขณะนี้มันมีมากจริงๆ ครับ

ทำเท่าที่ทำได้ เอาที่รู้สึกฝืนตัวเองนิดๆ แต่ไม่ทรมานจนเกินไป ให้รู้สึกว่าได้สะเทือนกับกิเลสตัวเองสักนิด กระเทาะอัตตาตัวเองออกไปสักหน่อย

คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าหากเงินที่หามาได้ ไม่สามารถที่จะไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่นในจังหวะที่สำคัญขนาดนี้

และถ้าเวลาผ่านไป เราก็อาจจะต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง ที่เราได้พลาดโอกาสในการทำบุญครั้งใหญ่ในชีวิต ที่ร้อยปีจะมีสักหน

และคงจะไม่มีใครมาพูดเยาะเย้ย ถากถางเรา ในเรื่องเราได้พลาดโอกาสในการทำบุญครั้งใหญ่ แบบเดียวกับเรื่องการลงทุน

การทำบุญครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ซึ่งหากพิจารณาดีๆ แล้ว เราควรจัดเต็ม อัดเต็มเหนี่ยวไปเลยครับ
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 787

โพสต์

ขอบคุณอาจารย์ตี่มากครับ ปีที่แล้วและปีนี้ผมบริจาคเงินไปน่าจะหลายสิบเท่าของยอดเงินที่เคยบริจาคมาทั้งชีวิต แต่เมื่อคิดเป็น % เทียบกับทรัพย์สินที่มีแล้วก็ยังเป็นแค่ 1% เท่านั้นเอง

อ่านข้อความของอาจารย์ตี่ (รวมถึงของพี่เปา Web ผ่านทาง FB) ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจที่จะปรับเป้าการบริจาคของปีนี้ให้มากยิ่งๆ ขึ้นครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนากับคอมเม้นนี้ของอ.ด้วยครับ
sukit2020
Verified User
โพสต์: 183
ผู้ติดตาม: 0

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 788

โพสต์

ทำไมต้องปฏิบัติธรรม
พระไพศาล วิสาโล

เพราะไม่มีอะไรแน่นอน ความสุขวันนี้อาจกลายเป็นความทุกข์วันหน้า ดังนั้นเราจึงควรหันมาปฏิบัติธรรม ให้มีสติสัมปะชัญญะ และปัญญาเอาไว้รับมือกับความผันผวนปรวนแปรที่อาจเกิดขึ้นกับเราหรือคนที่เรารักไม่วันใดก็วันหนึ่ง

การปฏิบัติธรรม ส่วนหนึ่งก็เพื่อฝึกจิตเพื่อให้มีสติและปัญญา ปฏิบัติธรรมเพื่อรักษาจิต ดูแลใจไม่ให้ปรุงแต่ง ไม่เผลอรับคำเชิญของสิ่งต่าง ๆ ที่มาชวนให้เป็นทุกข์ กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยก็ได้ ทรัพย์สมบัติสูญเสียไป ใจไม่เสียศูนย์ก็ได้ คนรักตายจากไปแต่ใจเป็นปกติก็ทำได้เช่นกัน ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนเกิดปัญญา แม้มีสิ่งร้าย ๆ มากระทบ เราไม่เพียงปกติเท่านั้น แต่กลับจะเข้มแข็งกว่าเดิมด้วย

คนที่ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมจะไม่คาดหวังว่าเหตุร้ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับตน เพราะเขารู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เขาจะสนใจว่า ว่าทำอย่างไรใจจึงจะไม่เป็นทุกข์เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น

การปฏิบัติธรรม คือ คือการฝึกจิตฝึกใจ หมั่นมองตน รู้กายและใจ ด้วยสติ มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ มองอะไรก็เห็นเป็นธรรม
เมื่อมองตนก็รู้กายรู้ใจ เมื่อมองโลกภายนอกก็เห็นธรรม
มองตนด้วยสติ มองโลกภายนอกให้เป็นก็เกิดปัญญา
เวลามองตนเพื่อให้รู้กายใจ ต้องใช้สติ
เมื่อกายเคลื่อนไหว ก็รู้ว่ากายเคลื่อนไหว เดินก็รู้ว่าเดิน
เมื่อใจคิดนึก ก็รู้ว่าใจคิดนึก
เมื่อรู้แล้ว ก็ปล่อยวาง

ตัวอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น คืออยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าเวลาทำงานก็คิดถึงลูก แต่เวลาอยู่กับลูกก็คิดถึงงาน แต่ถ้ามีสติ เวลาทำงานใจก็อยู่กับงาน แต่ก็ไม่ลืมตัวหลงอยู่ในงาน ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ เวลากลับบ้าน คุยกับลูก ใจก็อยู่กับลูก ไม่คิดเรื่องอื่น

การอยู่กับปัจจุบันนั้นไม่ได้หมายความว่าห้ามคิดเรื่องอดีต คิดได้แต่ให้คิดอย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้อดีตมาทิ่มแทงใจ

การปฏิบัติธรรม ไม่ปฏิเสธการมองออกนอกตัว แต่ต้องมองด้วยปัญญา มีการคิดอย่างแยบคาย

ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราจะสามารถมองเห็นธรรมจากทุกสิ่งได้

การปฏิบัติธรรมนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่ออยู่กับโลกที่วุ่นวายได้โดยใจไม่ทุกข์ แถมยังได้ธรรมด้วย เพราะเกิดปัญญาจากทุกสิ่งที่มากระทบ

https://www.visalo.org/book/tumMai.html



เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

https://youtu.be/OMDzrIfCHuM

ด้วยความระลึกถึง
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 789

โพสต์

อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข

อนิจจา วต สังขารา-สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ...
อุปปาทวยธัมมิโน-มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา...
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ-บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป...
เตสัง วูปสโม สุโข-การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข...

บทสวดนี้ คำพูดนี้ เป็นสิ่งที่พระมักสวดในงานศพ...

คำพูดนี้เป็นคำพูดที่พระพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์ยามที่พระอานนท์รู้ว่าพระพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพานในอนาคตอันใกล้แล้วก็เศร้าโศกเสียใจที่พระพุทธเจ้าเลือกที่จะมาปรินิพพานที่เมืองเล็กๆ ที่ชื่อ กุสินารา

พระพุทธเจ้าจึงเล่าถึงสมัยที่พระพุทธเจ้าครองอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอดีตชาติ ในนามของมหาสุทัสสนะ โดยมีเมืองกุสินารานี่แหละเป็นเมืองหลวง แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องตาย แล้วก็กลับมาเกิดอีก และสถานีที่ๆ พระพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพานนี้ ก็เป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าได้สิ้นชีวิต ทอดทิ้งร่างกายเอาไว้ที่นี่มาแล้วถึง 7 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 8

ความตายเป็นการเริ่มต้นของวงจรแห่งทุกข์รอบใหม่เท่านั้นเอง ความทุกข์ทั้งหมดทั้งหมดไม่ได้จบลงที่ความตาย แต่เปิดการเริ่มต้นของวงจรรอบใหม่ ไม่จบไม่สิ้น การเข้าไประงับสังขาร ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นการปิดเกมส์อย่างแท้จริง ที่ผู้ที่อยู่ในเส้นทางธรรมทุกท่าน ควรมองเป้าหมายนี้เอาไว้เป็นเข็มทิศที่จะเดินไป

อีกสิ่งหนึ่งที่พระมักสวดกันในงานศพ คือ สวดพระอภิธรรม เชื่อกันว่าเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าใช้ในการสอนพระมารดาของท่านบนสวรรค์ จนพระมารดาได้บรรลุพระโสดาบัน

พระอภิธรรมเป็น ธรรมะที่ว่าด้วยการปรุงแต่งจิตล้วนๆ ที่จะแยกองค์ประกอบ ลักษณะของจิตออกเป็นส่วนๆ แยกเป็นประเภทต่างๆ รายละเอียดและความยาวมีสูงมาก เกินกว่าวิสัยที่มนุษย์จะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่มีความเหมาะสมศักยภาพของเทวดาบางประเภท จึงเชื่อกันว่าธรรมะชุดนี้ จึงเหมาะที่จะใช้สวดให้กับคนตายฟัง โดย assume ว่าผู้ตายได้กลายเป็นเทวดาจำพวกที่ฟังธรรมะชุดนี้รู้เรื่อง และได้ประโยชน์จากธรรมะชุดนี้ในการนำไปใช้ศึกษาธรรมะต่อ ในภพภูมิที่ไม่มีกายเนื้อแบบมนุษย์ให้เรียนรู้

ในมุมของผู้ฟัง ผู้ร่วมงาน เราเลยมักจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็มีเรื่องเล่าว่า มีค้างคาว 500 ตัว ฟังสวดพระอภิธรรมไม่เข้าใจเลย แต่ชอบในเสียสวด ฟังแล้วจิตเป็นกุศล แล้วก็ได้รับผลดี

การได้ฟังพระอภิธรรม ถ้าจิตเป็นสมาธิ เป็นกุศลได้ ก็เป็นประโยชน์ และจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น หากได้ศึกษาเข้าไปว่าแก่นสารของบทสวดนั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิต และศึกษาจิต จนเกิดแรงบันดาลใจให้ไปศึกษาต่อ

ชีวิตของมนุษย์ช่างสั้นนัก แม้ว่าจะอยู่ได้เต็ม 100 ปี มันก็ช่างสั้นแสนสั้น เมื่อเทียบกับวัฏสงสารที่เรากำลังท่องไปอยู่ เราทั้งหลายได้ผ่านมาพบเจอกัน อยู่ร่วมกัน ทำประโยชน์ต่อกันได้ไม่นาน ก็ต้องจาก ก็ต้องแยกย้ายกันไปอีก

โลกนี้ช่างกว้างใหญ่ เส้นทางเดินในสังสารวัฏช่างยาวไกล แต่เวลาที่เรามีอยู่ช่างน้อยนิด ในเวลาที่มีน้อยนิดนี้ ที่กำลังเหลือน้อยลงๆ เรากำลังทำอะไรอยู่

อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
Dech
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4940
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 790

โพสต์

ช่วงนี้คนคุ้นเคย มีทั้งเสียชีวิตและมีป่วยกันมาก
ได้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของร่างกายและอายุขัยของเราบ่อยขึ้น

ขอยกธรรมบทนี้มาไว้อาลัยแก่ อ.โยโย่
เพราะนอกจาก อ.โย จะมีปัญญาความรู้ทางโลก การเลี้ยงชีพทางโลกแล้ว
ก็ทราบมาว่า อ.โย เป็นผู้มีปัญญาเห็นภัยจากวัฏสงสาร เป็นผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมคนนึงเช่นกัน

https://84000.org/tipitaka/attha/attha ... 5&i=23&p=7

เรื่องธิดานายช่างหูก [๑๔๓]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเจดีย์ชื่อว่าอัคคาฬวะ ทรงปรารภธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อนฺธภูโต อยํ โลโก" เป็นต้น.

คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย
ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พวกชาวเมืองอาฬวี เมื่อพระศาสดาเสด็จถึงเมืองอาฬวีแล้ว ได้ทูลนิมนต์ถวายทานแล้ว.
พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตกิจ จึงตรัสว่า

"ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า 'ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้, ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง, ความตายเที่ยง’

ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว, ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้นย่อมถึงความสะดุ้ง ร้องอย่างขลาดกลัวอยู่ทำกาละ เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัว ฉะนั้น.

ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว ชนทั้งหลายนั้นย่อมไม่สะดุ้งในกาลที่สุด ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้น มรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ."


พระศาสดาเสด็จประทานโอวาทธิดาช่างหูก

พวกชนที่เหลือฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้เป็นผู้ขวนขวายในกิจของตนอย่างเดียว. ส่วนธิดาของนายช่างหูกอายุ ๑๖ ปีคนหนึ่ง คิดว่า "โอ ธรรมดาถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอัศจรรย์, เราเจริญมรณสติจึงควร" ดังนี้แล้ว ก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดทั้งกลางวันกลางคืน.

ฝ่ายพระศาสดาเสด็จออกจากเมืองอาฬวีแล้ว ก็ได้เสด็จไปพระเชตวัน.

นางกุมาริกาแม้นั้น ก็เจริญมรณสติสิ้น ๓ ปีทีเดียว.
ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ในเวลาใกล้รุ่งทรงเห็นนางกุมาริกานั้น เข้าไปในภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า "เหตุอะไรหนอ? จักมี"

ทรงทราบว่า "นางกุมาริกานี้เจริญมรณสติแล้วสิ้น ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ฟังธรรมเทศนาของเรา บัดนี้ เราไปในที่นั้นแล้ว ถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานี้ เมื่อนางแก้ปัญหาอยู่ จักให้สาธุการในฐานะ ๔ แล้วภาษิตคาถานี้ ในเวลาจบคาถา นางกุมาริกานั้นจักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เพราะอาศัยนางกุมาริกานั้น เทศนาจักมีประโยชน์แม้แก่มหาชน"

ดังนี้แล้ว มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ได้เสด็จออกจากพระเชตวัน ไปสู่อัคคาฬววิหารโดยลำดับ. ชาวเมืองอาฬวีทราบว่า "พระศาสดาเสด็จมาแล้ว" จึงไปวิหาร ทูลนิมนต์แล้ว. แม้นางกุมาริกานั้นทราบการเสด็จมาของพระศาสดา มีใจยินดีว่า "ข่าวว่า พระมหาโคดมพุทธเจ้าผู้พระบิดา ผู้เป็นใหญ่ เป็นพระอาจารย์ ผู้มีพระพักตร์ดังพระจันทร์เพ็ญของเราเสด็จมาแล้ว" จึงคิดว่า "พระศาสดาผู้มีวรรณะดังทองคำ อันเราเคยเห็น ในที่สุด ๓ ปี แต่วันนี้ บัดนี้ เราจักได้เห็นพระสรีระซึ่งมีวรรณะดังทองคำ และฟังธรรมอันเป็นโอวาท ซึ่งมีโอชะอันไพเราะ (จับใจ) ของพระศาสดานั้น."

ฝ่ายบิดาของนาง เมื่อจะไปสู่โรงหูก ได้สั่งไว้ว่า "แม่ ผ้าสาฎกซึ่งเป็นของคนอื่น เรายกขึ้นไว้ (กำลังทอ), ผ้านั้นประมาณคืบหนึ่ง ยังไม่สำเร็จ. เราจะให้ผ้านั้นเสร็จในวันนี้ เจ้ากรอด้ายหลอดแล้ว พึงนำมาให้แก่พ่อโดยเร็ว."

นางกุมาริกานั้นคิดว่า "เราใคร่จะฟังธรรมของพระศาสดา ก็บิดาสั่งเราไว้อย่างนี้ เราจะฟังธรรมของพระศาสดาหรือหนอแล หรือจะกรอด้ายหลอดแล้วนำไปให้แก่บิดา?" ครั้งนั้น นางกุมาริกานั้นได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า "เมื่อเราไม่นำด้ายหลอดไปให้บิดาพึงโบยเราบ้าง พึงตีเราบ้าง เพราะฉะนั้น เรากรอด้ายหลอดให้แก่ท่านแล้ว จึงจักฟังธรรมในภายหลัง" ดังนี้แล้ว จึงนั่งกรอด้ายหลอดอยู่บนตั่ง.

แม้พวกชาวเมืองอาฬวีอังคาสพระศาสดาแล้ว ได้รับบาตร ยืนอยู่เพื่อต้องการอนุโมทนา. พระศาสดาประทับนิ่งแล้ว ด้วยทรงดำริว่า

"เราอาศัยกุลธิดาใดมาแล้วสิ้นทาง ๓๐ โยชน์ กุลธิดานั้นไม่มีโอกาสแม้ในวันนี้ เมื่อกุลธิดานั้นได้โอกาส เราจักทำอนุโมทนา."

ก็ใครๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ย่อมไม่อาจเพื่อจะทูลอะไรๆ กะพระศาสดาผู้ทรงนิ่งอย่างนั้นได้. แม้นางกุมาริกานั้นแล กรอด้ายหลอดแล้วใส่ในกระเช้า เดินไปสู่สำนักของบิดา ถึงที่สุดของบริษัทแล้ว ก็ได้เดินแลดูพระศาสดาไป.

แม้พระศาสดาก็ทรงชะเง้อ

๑- ทอดพระเนตรนางกุมาริกานั้น. ถึงนางกุมาริกานั้นก็ได้ทราบแล้ว โดยอาการที่พระศาสดาทอดพระเนตรเหมือนกันว่า "พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัทเห็นปานนั้น ทอดพระเนตรเราอยู่ ย่อมทรงหวังการมาของเรา ย่อมทรงหวังการมาสู่สำนักของพระองค์ทีเดียว."
นางวางกระเช้าด้ายหลอด แล้วได้ไปยังสำนักของพระศาสดา.

____________________________
๑- คีวํ อุกฺขิปิตฺวา.

ถามว่า "ก็เพราะเหตุอะไร? พระศาสดาจึงทอดพระเนตรนางกุมาริกานั้น."
แก้ว่า "ได้ยินว่า พระองค์ได้ทรงปริวิตกอย่างนี้ว่า ‘นางกุมาริกานั้น เมื่อไปจากที่นี้ ทำกาลกิริยาอย่างปุถุชนแล้ว จักเป็นผู้มีคติไม่แน่นอน, แต่มาสู่สำนักของเราแล้วไปอยู่ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จักเป็นผู้มีคติแน่นอน เกิดในดุสิตวิมาน." นัยว่า ในวันนั้น ชื่อว่าความพ้นจากความตายไม่มีแก่นางกุมาริกานั้น.

นางกุมาริกานั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ด้วยเครื่องหมายอันพระศาสดาทอดพระเนตรนั่นแล เข้าไปสู่ระหว่างแห่งรัศมีมีพรรณะ ๖ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.


พระศาสดาตรัสถามปัญหากะธิดาช่างหูก

ในขณะที่นางกุมาริกานั้นถวายบังคมพระศาสดาผู้ประทับนั่งนิ่งในท่ามกลางบริษัทเห็นปานนั้นแล้ว ยืนอยู่นั่นแล พระศาสดาตรัสกะนางว่า "กุมาริกา เธอมาจากไหน?"
กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอจักไป ณ ที่ไหน?
กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอไม่ทราบหรือ?
กุมาริกา. ทราบ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอทราบหรือ?
กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.


พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานั้น ด้วยประการฉะนี้.

มหาชนโพนทะนาว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู ธิดาของช่างหูกนี้พูดคำอันตนปรารถนาแล้วๆ กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เธอมาจากไหน?’ ธิดาของช่างหูกนี้ควรพูดว่า ‘จากเรือนของช่างหูก’ เมื่อตรัสว่า ‘เธอจะไปไหน ?’ ก็ควรกล่าวว่า ‘ไปโรงของช่างหูก’ มิใช่หรือ?"

พระศาสดาทรงกระทำมหาชนให้เงียบเสียงแล้ว ตรัสถามว่า "กุมาริกา เธอ เมื่อเรากล่าวว่า ‘มาจากไหน?’ เพราะเหตุไร เธอจึงตอบว่า ‘ไม่ทราบ’".

กุมาริกา. "พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบความที่หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก แต่พระองค์ เมื่อตรัสถามว่า ‘เธอมาจากไหน?’ ย่อมตรัสถามว่า ‘เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี้?’ แต่หม่อมฉันย่อมไม่ทราบว่า ‘ก็เรามาแล้วจากไหน จึงเกิดในที่นี้?"

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการเป็นครั้งแรกแก่นางกุมาริกานั้นว่า "ดีละ ดีละ กุมาริกา ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล อันเธอแก้ได้แล้ว"


แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เธอ อันเราถามแล้วว่า ‘เธอจะไป ณ ที่ไหน?’ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ‘ไม่ทราบ?’"
กุมาริกา. "พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบหม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังโรงของช่างหูก, พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ‘ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ไหน?’ ก็หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้วย่อมไม่ทราบว่า ‘จักไปเกิดในที่ไหน?’"

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ ว่า "ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว"


แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เมื่อเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘ไม่ทราบหรือ?’ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ‘ทราบ?’"
กุมาริกา. พระเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น เหตุนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น.

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๓ ว่า "ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว"


แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘เธอย่อมทราบหรือ?’ เพราะเหตุไร จึงพูดว่า ‘ไม่ทราบ?’"
กุมาริกา. หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะ คือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น พระเจ้าข้า แต่ย่อมไม่ทราบว่า "จักตายในเวลากลางคืน กลางวันหรือเวลาเช้าเป็นต้น ในกาลชื่อโน้น เพราะเหตุนั้น จึงพูดอย่างนั้น."



คนมีปัญญาชื่อว่ามีจักษุ

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการครั้งที่ ๔ แก่นางว่า

"ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว" แล้วตรัสเตือนบริษัทว่า "พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำชื่อมีประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้ว ย่อมโพนทะนาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจักษุ คือปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี ชนเหล่านั้นเป็น (ดุจ) คนบอดทีเดียว จักษุ คือปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นนั่นแล เป็นผู้มีจักษุ"

ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๗. อนฺธภูโต อยํ โลโก ตนุเกตฺถ วิปสฺสติ
สกุนฺโต๑- ชาลมุตฺโตว อปฺโป สคฺคาย คจฺฉติ.

สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนตาบอด ในโลกนี้
น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง, น้อยคนนักจะไปสวรรค์
เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (มีน้อย) ฉะนั้น.
สีลํ พลํ อปฺปฏิมํ สีลํ อาวุธมุตฺตมํ
สีลํ อาภรณํ เสฏฺฐํ สีลํ กวจมพฺภุตํ
ศีลเป็นกำลังไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธสูงสุด
ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์
sukit2020
Verified User
โพสต์: 183
ผู้ติดตาม: 0

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 791

โพสต์

ข้อคิดเตือนใจ วันออกพรรษา ปี ๒๕๖๔

"เตือนตนเสมอว่าเวลาเหลือน้อย"

หลวงพ่อไพศาล วิสาโล

phpBB [video]
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 792

โพสต์

อ.ดังตฤณสละเวลามาเป็นวิปัสสนาจารย์ครับ ขออนุญาตแปะไว้ในห้องนี้เผื่อเป็นประโยชน์ครับ

https://m.facebook.com/story.php?story_ ... 4379278114
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 793

โพสต์

เด็กใหม่ไฟแรง เขียน:
เสาร์ ก.ย. 14, 2013 8:16 am
กว่า 20 ปีที่ผมสนใจแนวทางธรรม
แต่ได้แต่ทำๆหยุดๆมานาน
จน10ปีก่อน ได้เริ่มให้เวลากับการปฏิบัติ
แม้ว่ายังต้องอยู่ในโลกที่มีภาระกิจส่วนตัวและชีวิตการงาน
เพียงแต่ได้จัดสรรแบ่งเวลามากขึ้น
จนเมื่อ7-8ปีก่อน ได้เอาจริงเอาจังอย่างมาก

สำหรับการลงทุนของผม
สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ
port ของผมไม่ได้เติบโตอย่างที่ผมคิดว่าควรจะเป็น
เพราะผมแทบไม่มีเวลาไปติดตามหุ้น
ไม่มีเวลาไปพบปะเพื่อนนักลงทุน เยี่ยมชมกิจการ
ไม่ได้ประชุมผู้ถือหุ้น หรือ ไปพบผู้บริหาร

ประกอบกับแนวคิดส่วนตัวที่เชื่อว่าเราต้องเคร่งศีล
หากไม่มีศีลเป็นพื้นฐาน การเจริญทางธรรมจะทำได้ยาก
ทำให้ต้องทำความรู้จักกับหุ้นที่ลงทุนอยู่และจะลงทุนอย่างจริงจัง
ว่ากิจกรรมของบริษัทเหล่านี้
มีโอกาสทำให้ศีลพร่องหรือไม่
หรือไม่สอดคล้องกับสัมมาอาชีวะในมรรค8
จึงทำให้ไม่ได้ลงทุนในบางหุ้นที่แม้ว่าจะเห็นโอกาสดีมากในทางโลกก็ตาม

มาเมื่อ 3-4 ปีก่อน ผมกลับมาให้เวลากับทางโลกมากขึ้น
โดยเฉพาะเวลาสำหรับการดูแลการลงทุนในหุ้น
ซึ่งก็ให้ผลตอบแทนทางโลกที่เป็นตัวเลขเงินทองที่ดีมาก
แต่ความคืบหน้าทางธรรมกลับถดถอยครับ

ระยะนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
อยู่ในทางหลายแพรก ว่าจะเดินต่ออย่างไร
เวลาก็เหลือน้อยลง สุขภาพก็ถดถอยหลัง
จะทำอย่างไรดีกับเส้นทางธรรม ที่ดูเหมือนเส้นขนานกับการลงทุนวีไอ
ขอคำแนะนำจากท่านผู้รู้ด้วยนะครับ
เกือบ 9 ปีมาแล้วกับคำถามที่พี่เด็กใหม่ไฟแรงได้โพสต์มาเพื่อเปิดประเด็นพูดคุยกัน โดยชูประเด็นที่ชวนให้เราได้คิดว่า เส้นทางธรรม กับ เส้นทางการลงทุนสามารถเดินไปด้วยกันได้หรือไม่

ในวันนั้นลึกๆ ในใจของผม ผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าลึกๆ อยู่ภายในว่า มันต้องมีหนทางสิ ที่เราจะสามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้ เพราะ ในอดีตกาล ผู้คนก็ยังมีครอบครัว ทำงาน หาเงิน และสามารถบรรลุธรรมไปจนถึงขั้นอนาคามีแม้ว่าจะครองเพศฆราวาสได้ ดังนั้นผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่ามันต้องมีทางที่จะพัฒนาไปด้วยกันได้ เพราะ มีตัวอย่างที่ชัดเจนในอดีตมาแล้ว ... แต่ทำอย่างไร ในวันนั้นผมยังหาคำตอบดีๆ ให้ไม่ได้

มาวันนี้ ในวันที่ผมได้เห็นว่า Smartphone และ Social Media ทำให้จิตใจเราเองเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร? ระดับความอดทนอดกลั้น ความสงบลดลง ความฟุ้งซ่านวุ่นวายมีเพิ่มขึ้น กลับทำให้ผมย้อนกลับที่ที่คำถามเดิมนี้ใหม่ ผมคิดว่า ถ้าอยากจะมีความสุขในการลงทุน ตอนนี้กลับเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่เดินด้วยกันเฉยๆ แล้ว แต่พุทธธรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้สามารถที่จะลงทุน และใช้ชีวิตในยุคนี้ได้อย่างมีความสุขเสียด้วยซ้ำ

เอาไว้ผมจะค่อยๆ เขียนมาให้อ่านนะครับ ขอตัวไปปฏิบัติธรรมก่อน...
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

Introduction

โพสต์ที่ 794

โพสต์

ตั้งแต่เด็ก ผมเป็นคนที่ชอบถามตัวเองบ่อยๆ ว่าตัวเราเองเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ระหว่างทางก็หาคำตอบให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ โตขึ้นมาก็ยังคงย้อนกลับมาที่คำถามที่เป็นแก่นหลักของชีวิตนี้ เพื่อตรวจสอบว่าเส้นทางเดินในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง จะได้ปรับจูน ดูเข็มทิศ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งตายจากโลกนี้ไป ไม่เผลอเดินหลงทิศ หลงทางไปไกลมากนัก เพราะ ในโลกใบนี้มีสิ่งเร้า สิ่งล่อหลอกมากมาย ตลอดจนจิตใจของเรามันช่างเอาแน่เอานอนได้ยาก บ่อยครั้งที่ผมเผลอเดินหลงออกไปในนอกเส้นทาง ก็ได้คำถามที่เป็น First Principle ของชีวิตนี่แหละ ที่ช่วยดึงให้กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอย

ในทำนองเดียวกันในเรื่องการลงทุน คำถามพื้นฐานคำถามแรกๆ เวลาเราจะเริ่มต้นลงทุน ที่ปรึกษาทางการเงินมักจะถามเราว่า คือ 1) เป้าหมายในการลงทุนของเราคืออะไร? 2) เรารับความเสี่ยงได้มากน้อยขนาดไหน? 3) ระยะเวลาการลงทุนของเราคือเท่าไร่?

เป็นคำถามที่เราอาจจะใช้เวลากับมันน้อยมาก แต่เป็นคำถามที่มีอิทธิพลกับตัวเรามากมายเหลือเชื่อ ถ้าเราได้มีโอกาสย้อนกลับมาถามตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละปี

เมื่อวันก่อนภรรยาของผมเล่าให้ฟังว่า เค้าได้อ่านบทความเกี่ยวกับเวลาเจอ Scammer มาขายฝันนำเสนอการลงทุนที่เหมือนจะดูดีสุดยอดว่า เราควรที่จะถามตัวเอง 3 คำถาม คือ 1) ทำไมต้องเรา 2) ทำไมต้องเค้า และ 3) ทำไมมันถึงง่าย ซึ่งถ้าตรวจสอบคำถามนี้ดีๆ แล้ว มันเป็นเรื่องยากมากเลยที่เราจะเผลอไปให้เงินเค้าไป

ในทำนองเดียวกัน ความฝันสูงสุดในการเป็นนักลงทุนในช่วงแรกๆ ของผม คือ ผมอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ แบบที่มีความเสี่ยงต่ำๆ และได้กำไรเร็วๆ คือ ถ้าเป็นไปได้ อยากได้แบบง่ายๆ ไม่ต้องลงแรงอะไรมากมายนัก

ความปรารถนาของผม ก็คงจะเป็นไปตามธรรมชาติของกิเลส แบบที่กับคนที่โดน Scammer หลอกให้โอนเงินไปให้ และสูญเงินมากมาย แต่โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนสูง เราต้องรับความเสี่ยงได้มาก หรือเราต้องมีระยะเวลาในการลงทุนที่สูงและยาวนาน ถ้าเรารับความเสี่ยงได้น้อย อดทนได้น้อย เราก็ควรที่จะเจียมเนื้อเจียมตัวคาดหวังผลตอบแทนให้ต่ำๆ

และที่สำคัญ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ถ้าอยากจะเอาชนะตลาด ต้องขยันและลงแรง ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องขยันและลงแรง

โดยสรุป ผมคิดว่า ผลตอบแทนในการลงทุน เป็นผลลัพธ์ จาก 1) ระยะเวลาการลงทุน 2) ความสามารถในการรับความเสี่ยง และ 3) ความขยันที่ใส่เข้าไป

ผมเคยคิดว่าปัจจัยข้อ 1 กับ 2 เป็นปัจจัยที่ Fix ค่อนข้างชัดเจน คือ ระยะเวลาการลงทุนของผมยังไงก็เกิน 10 ปีอยู่แล้ว จัดอยู่ในพวก Long-Term สุดๆ ในขณะที่ผมเคยคิดว่าระดับในการรับความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ Embedded อยู่ใน DNA และสภาพแวดล้อมการเติบโตและปมต่างๆ ที่เกิดในวัยเด็ก

อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของ COVID และ ฟองสบู่หุ้นเทคฯ ที่แตกไปในรอบนี้ ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง เพราะ ความบีบคั้นในครั้งนี้ ผมรู้สึกว่ามันหนักหน่วง แจ่มชัดกว่าสมัยตอนที่เกิด Subprime อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วง Subprime ผมอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเท่าไร อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วง Subprime ผมยังไม่ได้ฝึกเจริญสติ จนสามารถเห็นอารมณ์ของตัวเองได้อย่างชัดเจน หรือไม่ อาจจะเป็นเพราะ ระดับในการรับความเสี่ยงของผมลดลง จากอายุที่มากขึ้น การที่มีรายได้หลักจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว หรือไม่ก็อาจจะเป็นมีปัจจัยอื่นๆ ที่ประกอบร่วมด้วย

มันเลยทำให้ผมต้องย้อนกลับมาศึกษา ทำความเข้าใจคำว่า “ความเสี่ยง” อีกครั้ง ศึกษาประวัติศาสตร์ และทฤษฎีความเสี่ยง ทำความเข้าใจระดับของการรับความเสี่ยงของตัวเองอีกครั้ง เพราะ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากจากอิทธิพลของ Social Media และการเกิดขึ้นของ Smartphone

ถึงแม้ว่าผมจะอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้เชี่ยวชาญ ตกผลึกอะไร แต่ผมกลับรู้สึกว่า ความสำคัญของการปฏิบัติธรรม กลับมาส่วนเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้เราสามารถลงทุนได้ดีขึ้น

(...ยังมีต่อ แต่เมื่อไรไม่รู้เหมือนกันนะ...)
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

ผลตอบแทนเป็นไปตามความสามารถในการรับความเสี่ยง

โพสต์ที่ 795

โพสต์

ถ้าผมจำไม่ผิด ในทางทฤษฏีทางการเงินจะมีคำว่า High Risk / High Return กิจการที่มีความเสี่ยงสูง ความไม่แน่นอนของกิจการสูง จะถูก Discount ด้วยค่าความเสี่ยงที่สูงกว่า ดังนั้นในการลงทุนในหุ้นที่เป็น Startup หรือ Young Growth พวกนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เพื่อชดเชยกับการนักลงทุนต้องทนรับความเสี่ยงที่สูงกว่า

(ขอออกตัวไว้ก่อนว่า อันนี้เราพูดกันในมุมที่ว่าในช่วงที่ตลาดมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นสะท้อนถึงความเสี่ยงอย่างถูกต้องนะครับ แต่ถ้าในช่วงที่ตลาดไม่มีประสิทธิภาพ การเก็งกำไรมีสูงมากเกินไป มันอาจจะเป็น High Risk / Low Return ก็ได้นะครับ)

ดังนั้นถ้าตลาดมีประสิทธิภาพ นักลงทุนให้เวลากับการลงทุนในหุ้นที่ยาวนานพอ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่า จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ในทางทฤษฏีระดับของการรับความเสี่ยงจะเป็นไปตามช่วงอายุ ช่องทางของรายได้ สัดส่วนของรายได้จากเงินลงทุน ขนาดพอร์ต ช่วงเวลาที่เกิด ประสบการณ์ในวัยเด็ก ฯลฯ

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่ตัวเราเองคิดว่าเรารับได้ กับความเสี่ยงที่เรารับได้จริงๆ นี้ มันไม่เหมือนกัน ธรรมชาติของมนุษย์ เราเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป เราคิดว่าเราขับรถได้เก่งกว่าค่าเฉลี่ย เราคิดว่าเราหน้าตาดีกว่าค่าเฉลี่ย เช่นเดียวกับ ในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะคิดว่า เรารับความเสี่ยงได้สูงกว่าที่เรารับได้จริงๆ

นักลงทุนที่ผ่านวิกฤตมา เห็นหุ้นที่ตัวเองถือตกเกิน 50% มาได้ครั้งเดียว แล้วรอดมาได้ ยังไม่นับว่าสามารถอดทนต่อสถานการณ์ที่ความเสี่ยงสูงได้ เพราะ ในการเข้าวิกฤตรอบแรก เค้าอาจจะเข้าไปแบบงงๆ ไม่รู้ว่าตัวเองจะรู้สึกยังไงจริงๆ เวลาเห็นหุ้นตก 50%

ต้องเจอสัก 2 หรือ 3 ครั้ง เราถึงจะมั่นใจว่า เราทนกับความเสี่ยงจริงๆ ได้เท่าไร เพราะ ในครั้งที่ 2 หรือ 3 เรารู้แล้วนะ ว่าเรากำลังจะเจอกับอะไร มันจะบีบคั้นขนาดไหน แล้วถ้าผ่านมาได้ โดยพร้อมที่จะเจอครั้งที่ 4,5,6 อันนั้นน่าจะนับได้ว่าเป็นความเสี่ยงที่เรารับได้จริง

ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้าไปเจอกับความบีบคั้นครั้งที่ 2 หรือ 3 ถ้าครั้งแรกเผลอเข้าไปแบบงงๆ โดยส่วนตัวครั้งนี้ผมก็เข้าวิกฤตแบบเผชิญหน้าตรงๆ ไม่ขายหนี ลดพอร์ต อาจจะปรับสัดส่วนของพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้าง แต่ความคิดที่จะขายล้างพอร์ตมาถือเงินสดไม่เคยอยู่ในหัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะ ตั้งแต่ตอนซื้อเข้าพอร์ตก็รู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเจอกับสถานการณ์แบบนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าในทางอารมณ์จะบีบคั้นขนาดนี้

ถามว่ายังทนอยู่ได้ไหม? ยังทนอยู่ได้ครับ เตรียมใจเอาไว้อยู่แล้วที่จะเห็นหุ้น Drawdown 80% จาก Peak ถึงจุดนี้คิดว่าถ้าเจอ 90% ก็ยังทนได้แบบกินอิ่มนอนหลับ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่ต้องออกตัวเอาไว้ก่อนนะครับ ผมว่าผมไม่ได้ซื้อหุ้นที่ Peak ผมซื้อหุ้นในราคาที่ผมคิดว่าเหมาะสมเท่านั้น และถ้าตัวไหนผมวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพผิด หรือตอนแรกไม่แน่ใจ แต่ตอนหลังมา Confirm ว่ามันไม่ดีอย่างที่คิด ราคาปัจจุบันไม่คุ้มค่า หรือ ประเมินมูลค่าไม่ได้ ผมก็พร้อม Cut Loss โดยไม่สนใจว่าต้นทุนจะเป็นเท่าไร ในช่วงที่ผ่านมาก็ Cut Loss ไปหลายตัวเหมือนกัน เสียหายหลายอยู่ แต่ตัวที่เราชอบและเราเชื่อยังคงถือด้วยความเชื่อในอนาคต และ Valuation ของมัน


คำถาม คือ ความสามารถในการรับความเสี่ยงเราสามารถพัฒนากันได้หรือไม่? ผมเชื่อว่าได้…

วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเข้ากลุ่ม พูดคุย สนิทสนมกับคนที่เป็นนักลงทุนระยะยาวที่มีหลักปรัชญาการลงทุนที่สอดคล้องกับเรา ที่เคยผ่านวิกฤตมาเยอะๆ และทุกๆ วิกฤต เค้าทำถูกทุกครั้ง การซึมซับวิธีคิด แนวคิดของคนเก๋าๆ ได้มุมมองดีๆ ตลอดจนได้เห็นตัวอย่างทางอารมณ์ และการจัดการอารมณ์ จะช่วยให้เราพัฒนาความสามารถในการรับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับหลักปรัชญาการลงทุนของเรา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมา คือ ใครคือตัวจริง? และ เค้าจะยอมรับเราเข้าฝูงหรือเปล่า?

หากเราเข้าฝูงผิด หรือถ้าเข้าถูกแต่ไม่สามารถสนิทสนมกับนักลงทุนเหล่านั้นได้มากพอ ผมเชื่อว่าการฝึกเจริญสติในแนวทางพุทธเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มระดับการรับความเสี่ยงของเราให้สูงขึ้นได้

เพราะในการฝึกเจริญสติ เราจะมีการฝึกที่จะดูความรู้สึก (เวทนานุปัสสนา) ฝึกที่จะเห็นสุข เห็นทุกข์ หรืออารมณ์กลางๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีความรู้สึกไหนที่เที่ยงแท้คงทน จะทุกข์ขนาดไหน วันหนึ่งทุกข์นั้นก็ดับไป เปลี่ยนไปเป็นอารมณ์กลางๆ บ้าง เปลี่ยนไปเป็นสุขขึ้นมาแทนบ้าง และได้ฝึกที่จะเห็นต้นตอว่าความรู้สึกที่มาจากเรื่องราวโลกๆ ที่มีเหยื่อล่อ มีความรู้สึกอย่างไร เป็นสุขหรือทุกข์มากกว่ากัน ในขณะที่ความรู้สึกที่เป็นอิสระจากเรื่องราวโลกๆ ที่ไม่มีเหยื่อล่อ มีความรู้สึกอย่างไร เป็นสุขหรือทุกข์มากกว่ากัน

ผลที่เกิดขึ้นจากการฝึกเข้าไปเห็นความรู้สึกบ่อยๆ เข้า จะทำให้เราอดทนกับความทุกข์ ความบีบคั้นจากการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็หมายถึงความทนทานต่อความเสี่ยงน่าจะสูงขึ้นตามมา

นอกจากนี้ในการเห็นความรู้สึกสุขทุกข์บ่อยๆ เข้า เราจะเริ่มเห็นต้นตอของความรู้สึก เมื่อเห็นต้นตอของความรู้สึกว่า จิตที่พุ่งไปยึดงับเหยื่อล่อทางโลก เป็นทุกข์มากกว่าสุข ในขณะที่จิตที่สงบไม่วุ่นวายไปกับการไล่งับเหยื่อล่อทางโลก เป็นสุขมากกว่าทุกข์ มันจะทำให้จิตของเราเริ่มที่จะมีอิสระจากอารมณ์ของตลาด สามารถที่จะถอนอารมณ์ความรู้สึก ถอยออกมาที่จะมองสิ่งต่างๆ จากมุมสูง และพิจารณาการลงทุนได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น ทำให้เราสามารถมองการลงทุนในระยะยาวได้มากขึ้น

ในทางสถิติแล้ว ความเสี่ยงในระดับสัปดาห์ ระดับเดือนของการลงทุนในหุ้นจะสูงมาก คือ เราไม่มีทางจะมั่นใจได้ว่าเราจะได้กำไรจากการลงทุนในสัปดาห์หน้า หรือ เดือนหน้า ในขณะที่การลงทุนระดับปี ระยะเวลาการลงทุน 1 ปี มีความเป็นไปได้ที่จะกำไรจะมีเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ชัวร์มากนัก แต่ถ้าเราคำนวนผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงในระดับ 5 ปี หรือ 10 ปี เราจะพบว่า โอกาสที่จะขาดทุนในระยะ 5 ปีมีต่ำมาก และไม่มีทางเลยที่จะขาดทุนในระยะเวลา 10 ปี (หากมีการกระจายความเสี่ยงอย่างถูกต้อง)

ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เราควรลงทุนระยะยาวในระดับ 5 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามปัญหา คือ ในการที่จะทนเห็นหุ้นลงในระยะสั้นๆ เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก ถึงแม้ว่าจะกระจายความเสี่ยงอย่างดีแล้ว เวลาเราเห็นพอร์ตเราลดลง มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดเสมอ และยิ่งเวลาที่เรารู้สึกเหมือนจมน้ำเกิดขึ้นอย่างยาวนาน และหนักหน่วง มาพร้อมกับข้อมูล ข่าวสารที่เข้ามาถี่ๆ จากเพื่อน หรือนักลงทุนที่เรานับถือ ความบีบคั้นจะยิ่งรุนแรงเป็นพิเศษ ถ้าคุณลงทุนในหุ้นเทคที่ขาดทุนในช่วงนี้ การที่จะถือผ่านไปให้ได้ ไม่ได้เพียงแค่ต้องอาศัยศรัทธาในตัวกิจการอย่างแรงกล้าเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความสามารถในการอดทน และจัดการกับความบีบคั้นในระยะสั้นเป็นอย่างมาก

การฝึกสติในการเข้าไปดูความรู้สึก (เวทนา) นี่เองจะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถทนทานต่อความทุกข์ที่เกิดจากความกลัว ความอึดอัด ไม่ได้ดังใจ ไม่เป็นไปตามความคาดหวังได้มากขึ้น เพราะ เรามีประสบการณ์ที่ชัดแจ้งจากการฝึกเจริญสตินี้ว่า ไม่ว่าทุกข์มากขนาดไหนจะเกิดขึ้น วันหนึ่งมันก็จะดับไปสูญสลายมลายไปจากจิต และในวินาทีถัดๆ มา หากจิตของเราเป็นสุข ความทุกข์ก่อนๆ หน้าที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีหลงเหลืออยู่เลย จิตรับอารมณ์ทีละ 1 เท่านั้น ถ้าสุขอยู่จะไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์อยู่จะไม่สุข มันมีแค่ความรู้สึกเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้น ปรากฎขึ้นในจิต ความทุกข์ก่อนหน้าไม่มีส่วนเกี่ยวกับกับความสุขที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และความสุขก่อนหน้าก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความทุกข์ในขณะนี้

ใน ทีฆนขสูตร ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพราหมณ์หลานชายของพระสารีบุตร แล้วทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์เอาไว้ว่า


อัคคิเวสสนะ เวทนาสามอย่างนี้ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกกลางๆ ที่ไม่นับว่าสุขหรือทุกข์) ๑

อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น

ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น

ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้
เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น…



สุขทุกข์เป็นของชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เมื่อเป็นอิสระหลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความทุกข์ รู้ว่าจะทนอย่างไร จะถอนตัวเองให้พ้นจากความทุกข์อย่างไร มันจะทำให้เราไป Focus กับภาพระยะยาวได้มากขึ้น

ความเชื่อที่ว่า ถ้าหากเราลงทุนในหุ้นคุณภาพในราคาที่เหมาะสม แล้วถือไปในระยะยาว 5-10 ปี เราจะกำไรแน่ๆ ยังคงอยู่ แต่ในการที่จะทำได้สำเร็จ ต้องเริ่มต้นจากการที่ไม่ถูกอารมณ์ของตลาดบีบให้เราทนไม่ได้ เทขายในระยะสั้น

และเมื่อเราเป็นอิสระจากความทุกข์ ความบีบคั้นจากตลาดได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะเลือกอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน ตัดอารมณ์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนออกไปซะ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาในหัวข้อถัดไป

(ยังมีต่อ… แต่เมื่อไรก็ไม่รู้)
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
benzkanin
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 111
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 796

โพสต์

ขอบคุณ อ ตี่ มากคับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

การลงทุนระยะยาว เป็นสิ่งที่ฝืนสัญชาตญาณของมนุษย์

โพสต์ที่ 797

โพสต์

แนวความคิดเรื่องที่เราเคยเรียนเคยศึกษากันมาว่าให้มองการลงทุนเป็นธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของกิจการ เป็นแนวคิดที่สมเหตุสมผล แต่ฝืนธรรมชาติที่ฝังมาใน DNA ของมนุษย์ ยิ่งถ้ามีแนวคิด Value Investing แบบ Warren Buffet หรือ Howard Marks ที่เป็นนักลงทุนระดับตำนาน คนพวกนี้ทำได้เพราะมี Condition พิเศษ ที่ต้องดูกันที่แดนกำเนิด และช่วงเวลาที่เกิด ที่ทำให้เค้าฟอร์มตัวในวัยเด็กและช่วงเวลาที่เริ่มทำงานที่ทำให้เค้าเป็นอย่างทุกวันนี้

ถ้าผมจำไม่ผิด Warren Buffet เกิดในช่วง Great Depression เลยได้ผ่านช่วงเวลาในวัยเด็กมาท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โตขึ้นมาโดยมี Benjamin Graham ที่ใช้แนวคิดในการลงทุนพันธบัตรมาหาซื้อหุ้นก้นบุหรี่ในตลาดหุ้นหลังช่วง Great Depression เมื่อบัฟเฟตโตขึ้นเขาเลือกที่จะทิ้งนิวยอร์กเมืองหลวงแห่งการเงินของสหรัฐฯ ไปอยู่ในเมืองที่เงียบสงบอย่าง Omaha ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ ปราศจากสิ่งเร้า ค่อยๆ พัฒนาทีละขั้นๆ เก็บ level ไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจาก Charlie Munger ในเรื่องของคุณภาพกิจการ กว่าจะเป็นทุกวันนี้ ความประจวบเหมาะของเหตุปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เค้ามีเวลาค่อยๆ พัฒนาตัวตนของเขาขึ้น จนทำให้เค้ามีความอดทน และเป็นอิสระต่ออารมณ์สูง สามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้โดยไม่ถูกอิทธิพลของตลาดครอบงำ

Howard Marks เริ่มต้นอาชีพในการซื้อขาย High Yield Bond ในช่วงเวลาที่ Nifty Fifty Bubble แตก และเศรษฐกิจเกิด Stagflation ทำให้ Howard Marks มีหลักการลงทุนที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากนักลงทุนปกติ เขาอยู่ในพื้นที่ๆ ที่หดหู่ที่สุดในตลาดทุน จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงเสียดฟ้า ที่มาพร้อมๆ กับเศรษฐกิจตกต่ำ แต่สามารถทำกำไรได้มหาศาล การฟอร์มตัวของเขา จากการที่ได้กำไรทุกครั้งเวลาตลาดหดหู่ ทำให้เขาสามารถอิสระจากความหดหู่ของตลาด กล้าที่จะมองต่าง กล้าที่จะซื้อสวน เพราะ ประสบการณ์ชีวิตที่พิเศษแบบนี้

เส้นทางชีวิตของ Value Investor ระดับตำนาน จำเป็นต้องมีเงื่อนไขประกอบกันที่จะทำให้มีสภาพจิตใจแตกต่างจากคนปกติ

คนปกติจะถูกอิทธิพลของ DNA ที่สั่งการให้เราทำสิ่งต่างๆ ตามสัญชาติญาณในการเอาตัวรอดที่เกิดขึ้นในกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยเป็นสัตว์ เราถูก DNA สั่งให้กลัวและตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า อย่างเช่น เสือหรืองู เพื่อที่จะหนีจากภัยคุกคามให้เร็วที่สุด มากกว่ากลัวภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เราถูก DNA สั่งให้เสพความสุขที่อยู่ต่อหน้าอย่างเต็มที่ เพราะ ในสมัยยุคล่าสัตว์หาของป่า เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพรุ่งนี้ มะรืนนี้เราจะหาอาหารได้แบบนี้อีกหรือเปล่า แม้ว่าความสุขที่อยู่ต่อหน้าจะนำมาซึ่งทุกข์ และภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เราถูก DNA สั่งให้ทำตามฝูง วิ่งตามฝูง รักษาสถานะในฝูง เพราะ ถ้าเราไม่ได้รับการยอมรับในฝูง หรือถูกฝูงทิ้ง เราจะอดตาย มีชีวิตอยู่ไม่ได้ แม้ว่าฝูงทั้งฝูงกำลังจะวิ่งลงสู่หน้าผาก็ตาม

ถ้าผมจำไม่ผิด Warren Buffet บอกว่า ถ้าคุณเป็นคนปกติธรรมดา เป็นแค่ค่าเฉลี่ย คุณไม่เหมาะที่จะมาเลือกซื้อหุ้นถือเป็นรายตัว คุณควรจะลงทุนโดยการซื้อ Index Fund น่าจะดีกว่า แต่ DNA ของเรามักจะบอกกับตัวเราเองว่า เราเป็นคนที่เก่งกว่าค่าเฉลี่ย เราทำได้ มีคนทำได้ เราก็น่าจะทำได้ ดังนั้นเราถึงมานั่งจ่องอยู่ในเว็บ Thai VI พยายามเลือกหุ้น ซื้อขายหุ้นด้วยตัวเอง และถ้าเราโชคดีเลือกหุ้นถูกหลายๆ ครั้ง บางทีเราก็ฝันหวานว่าอนาคตเราอาจจะได้เป็นตำนานระดับ Warren Buffet ก็ได้นะ

โดยส่วนตัวผมเชื่อในกระบวนการ ผมเชื่อว่ากระบวนการสำคัญกว่าผลลัพธ์ การที่คุณจะวัดว่า คุณเป็นคนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณใส่แรง ใส่ความพยายาม และสามารถมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนปกติหรือไม่ ดังนั้นในการที่จะบอกว่าตัวเองเหนือกว่าค่าเฉลี่ยหรือไม่อยู่ที่พฤติกรรมของคุณ ไม่ได้อยู่ที่ผลตอบแทนที่คุณทำได้เหนือว่าค่าเฉลี่ยในระยะสั้น เพราะ ผลตอบแทนระยะสั้นอาจจะเป็นผลจากโชค มากกว่าความสามารถ

ตัวอย่างเช่น

ในขณะที่คนอื่นซื้อขายลงทุนหุ้น ตามข่าว ตามกระแส ตามอำเภอใจ ไร้หลักการสอดคล้องเชื่อถือได้ คุณสามารถที่จะศึกษา เลือกหลักปรัชญา และนำมาปฏิบัติได้จริง โดยมีความสอดคล้อง ไม่ขัดแย้งกันไปกันมา ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ได้เป็นปรัชญาในลักษณะ Buzzword ที่พูดออกมาเอาแค่คมๆ ดูดีแต่ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ได้หรือไม่

ในเวลาที่เกิดวิกฤต คนอื่นกลัว ขายหุ้นล้างพอร์ต เจ็บใจเลิกเล่นหุ้น ถูกอารมณ์ของตลาดครอบงำ คุณสามารถที่จะอดทน รักษาความเชื่อและศรัทธาในหลักการลงทุน สามารถถือกิจการที่คุณตั้งใจลงทุนระยะยาวต่อไปเอาไว้ได้หรือไม่

คุณสามารถที่จะหยุดตัวเองก่อนการกระทำที่ถูกเร่งเร้าโดยฝูง แล้วถามตัวเองว่า นี่ชั้นกำลังทำตามหลักการ หรือกำลังทำตามฝูงอยู่ และสามารถห้ามตัวเองไม่ให้ทำตามสิ่งที่เร้าที่เกิดขึ้นภายในได้หรือไม่

ถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องทั้งหมด คุณน่าจะมีพฤติกรรมที่เหนือว่าค่าเฉลี่ยของนักลงทุนจริงๆ เพราะ ในโลกยุคนี้ ที่ระบบประสาทของเราถูก Train ให้ตอบสนองต่อข่าวและมีอารมณ์ร่วมอย่างรวดเร็ว Smartphone และ Apps ทำให้เราอดทนรอคอยไม่ได้เหมือนในอดีต การกระทำหลายๆ อย่างถูกทำตามสิ่งเร้าทางอารมณ์ และทิศทางของฝูง โดยปราศจากการหยุดคิด ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและแยบคาบ (อโยนิโสมนสิการ) เราถูกกระแสของ Social Media สั่งให้วิ่งทำสิ่งต่างๆ ตามๆ กันอย่างฝูง Lemming ที่นับวันฝูงก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย เพราะ การที่คุณสามารถอดทนไม่วิ่งตามฝูงได้บ้าง ออกมาหยุดข้างทางบ้าง แล้วสุดท้ายตัดสินใจกลับไปวิ่งตามฝูง มันอาจจะทำให้คุณได้รับผลลัพธ์ที่เลวร้ายสุดหยั่งคาดก็ได้ เพราะ คุณกำลังซื้อช้าเกินไป และขายช้าเกินไปตลอดเวลา และนั่นอาจจะหมายถึงนรกและความตายก็ได้ หากผิดจังหวะ พลาด คลาดจากฝูง

การที่จะมีพฤติกรรมที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย และได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย มันจะไม่ใช่แค่อดทนไม่วิ่งตามฝูงบ้างเท่านั้น นอกจากต้องห้ามตัวเองไม่ให้วิ่งตามฝูงแล้ว ในบางครั้ง คุณทำสิ่งที่สวนทางกับสัญชาตญาณและสามัญสำนึกเลยด้วยซ้ำ แต่ต้องเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเหตุผลคำนวณมาแล้วอย่างดี ไม่ใช่แค่อยากจะเอาชนะ Concensus อย่างไร้เหตุผล เพื่อสนอง ego ของตัวเอง เพราะ ก่อนที่ฝูงจะเริ่มวิ่ง มันก็มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ Lemming ตัวแรกๆ เริ่มวิ่งที่อย่างมีเหตุผลอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วการวิ่งของฝูงมักจะถูกมากกว่าผิด การที่คุณทำอะไรแตกต่างจากฝูง หรือสวนทางกับฝูง อาจทำให้คุณตายได้ ดังนั้นในการที่จะสวน Concensus คุณต้อง Selective มากๆ และต้องใช้ความกล้าหาญทางจิตใจ ในการที่จะบอกว่า ครั้งนี้แหละ ในบรรดาร้อยครั้งพันครั้ง ที่ควรแค่แก่การลงทุน

ซึ่งในการที่จะทำแบบนี้ได้ คุณต้องสงบมากเพียงพอ จนสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าหุ้นขึ้นทุกครั้งจะเป็นฟองสบู่ ไม่ใช่ว่าหุ้นตกทุกครั้งแล้วราคามันจะถูก เราต้องมีไม้บรรทัดและเครื่องมือในการวัดอย่างถูกต้อง ที่จะวัดว่าขณะนี้ความคุ้มค่าอยู่ที่ตรงไหน และตอบตัวเองได้ว่าจากความกลัวของตลาดที่เกิดขึ้น ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงมันคุ้มค่า น่าลงทุนสุดๆ จนเกิดอาการคึกคัก มันมือ อยากจะซื้อหุ้นเข้าพอร์ต จนคุณต้องห้ามใจตัวเองไม่ให้เผลอซื้อมากเกินไป

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเกิดไม่ได้ ว่าเราจะเกิดในที่ไหน เวลาไหน ที่ทำให้เรามีสภาพจิตใจมั่นคงหนักแน่นดุจดินผา สามารถคิดอย่างมีเหตุผล ในยามที่คนอื่นหวาดกลัวและตื่นตระหนก แต่ผมมั่นใจว่าการปฏิบัติธรรมสามารถช่วยให้คุณพัฒนาจิตของตัวเอง ให้เป็นอิสระจากอารมณ์ เป็นอิสระต่อสัญชาตญาณสัตว์ที่เราได้มาจากบรรพบุรุษ ให้สามารถที่จะคิดด้วยเหตุผล กระทำด้วยเหตุผล ได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อเราฝึกเจริญสติถึงจุดหนึ่งจนเรารู้สึกว่า ความสุขหรือความทุกข์เป็นเรื่องชั่วคราว ใจของเราจะมีความปล่อยวางต่ออารมณ์ ต่อความสุขความทุกข์มากยิ่งขึ้น จนอารมณ์โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีสัดส่วนของความเป็นกลางมากขึ้น เป็นอารมณ์ที่ไม่สุขหรือไม่ทุกข์

เมื่อไหร่ที่รู้สึกสุขแรงๆ ขึ้นมา เราก็จะธรรมชาติที่จะยับยั้งไม่ปล่อยใจให้ไหลไปกับความสุขมากจนเกินไป จนเกิดอาการเหลิง พองฟูจนเกินไป เพราะ ประสบการณ์การจริงจากการเข้าไปสังเกตกำหนดรู้สุขทุกข์ เราจะพบว่า ความจริงแล้ว ทุกข์ มันก็คือ เป็นเหรียญอีกด้วยของสุขที่แปรเปลี่ยนไป ส่วนสุขก็คือทุกข์ที่แปรเปลี่ยนไป ถ้าวันไหนเราเราสุขแรงๆ เราสังเกตดูว่าเวลาสุขที่แรงๆ มันลดระดับลง อารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมาส่วนใหญ่มักจะเป็นทุกข์ (ลักษณะมันบางทีอาจจะรู้สึกเขว้งๆ หวิวๆ รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเติมเต็มให้รู้สึกดีขึ้น อยากจะให้ความรู้สึกแบบนี้มันหายไป) ดังที่ ธรรมทินนาภิกษุณี ถามตอบ วิสาขาอุบาสก ใน จูฬเวทัลลสูตร ว่า

“...
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สุขเวทนา เป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร?

ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป
ทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป
อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด
…”

ในขณะที่เวลาทุกข์แรงๆ หลังจากปฏิบัติธรรมถึงจุดหนึ่ง เวลาเรารู้สึกทุกข์มากๆ เราจะรู้สึกเหมือนมีเบรก ABS ที่ตัดอารมณ์ ตัดความทุกข์โดยอัตโนมัติ ใจจะวิ่งกลับเข้ามาจดจ่ออยู่กับการเจริญสติในฐานกาย เพื่อเรียกเอาความสุขจากสมาธิขึ้นมาใช้ เพื่อ Counter สภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิต เพื่อ Balance สภาพจิตให้กลับเข้าสู่ความเป็นกลาง

ความเป็นอิสระจากความสุขและทุกข์ ไม่ปล่อยให้ความสุขหรือทุกข์ครอบงำนี้เอง ทำให้เรามีสภาพที่พร้อมที่จะทำการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลมากยิ่งขึ้น เราจะมีเหตุผลมากขึ้น ที่จะ Trade Off ยอมที่จะอดทนกับความทุกข์ในปัจจุบันเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขในอนาคต เราจะมีเหตุผลมากขึ้นที่จะเบรกความสุขที่มากเกินไปในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ในอนาคตเราต้องทุกข์

ผมเคยอ่านบทความเกี่ยวกับ Cognitive Science เค้าบอกว่า คนที่มีเหตุผล ไม่ใช่เพราะ เค้าไม่สนใจความสุขความทุกข์ แต่คนที่มีเหตุผล มีความสามารถที่จะจินตนาการความสุขหรือทุกข์ในอนาคต และสามารถแลกเปลี่ยนความสุขและทุกข์ในปัจจุบันกับความสุข/ทุกข์ในอนาคตได้ ในขณะที่คนที่ไม่มีเหตุผลจะไม่มีความสามารถในการจินตนาการสุข/ทุกข์ของตัวเองได้อนาคต เลยถูกความสุข/ทุกข์ในปัจจุบันบีบให้ตอบสนองทุกสิ่งทุกอย่างตามสัญชาตญาณ หรือตามประสบการณ์ความเคยชิน

ผลของการเจริญสติที่ทำให้เราเป็นอิสระต่อความสุขความทุกข์ เห็นสุขและทุกข์ที่เป็นเพียงสภาวะจิตเกิดขึ้นและดับไปอยู่บ่อยๆ นี่เอง จะทำให้เรามองสุขทุกข์ในมิติมุมมองใหม่ๆ นอกจากจะทำให้เราสามารถอดทนต่อความทุกข์ได้มากขึ้น จนมีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นแล้ว มันยังช่วยให้เราสามารถในการจินตนาการสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นกับการกระทำของตัวเอง ที่จะเกิดในอนาคตของได้มากยิ่งขึ้น และทำให้เราเป็นคนที่มีเหตุมีผลมากขึ้น สามารถฝืนสัญชาตญาณ และ DNA ของเราได้มากขึ้น จึงเป็นปัจจัยช่วยให้เราสามารถลงทุนระยะยาวได้ดีขึ้น

สภาพจิตแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม เรียกว่า จิตหลุดพ้น (ปล่อยวาง) ที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้กำหนดรู้เอาไว้ใน จิตตานุปัสสนา ว่าให้กำหนดรู้จิตหลุดพ้น (ปล่อยวาง) และกำหนดรู้ จิตไม่หลุดพ้น (ยึดมั่นถือมั่นไม่ปล่อยวาง) ถ้าได้เห็นสภาพจิตแบบนี้บ่อยๆ และได้เห็นว่าเมื่อเราเอาสภาพจิตที่หลุดพ้นปล่อยวางมาวิเคราะห์การลงทุนจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสภาพจิตที่ไม่หลุดพ้นที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เมื่อเห็นบ่อยๆ เข้าเราก็จะรู้ชัดด้วยตัวเองว่า

สภาพจิตที่ปล่อยวางนี่แหละ เป็นสภาพที่มีความพร้อมแก่การใช้งานในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เพราะ เป็นสภาพจิตที่พ้นจากอคติจากความยึดถือไม่ปล่อยวาง เป็นสิ่งที่เหมาะกับการเอาไปใช้ในการลงทุนระยะยาว และเป็นจิตที่เราอยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะ จิตแบบนี้เอง ที่เป็นจิตที่มีสภาวะสุขสงบประกอบร่วมด้วย

การลงทุนด้วยจิตแบบนี้เอง นอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังทำให้เราใจเราเป็นสุข สงบ ไม่วุ่นวายไปกับโลกที่นับวันก็ดูเหมือนจะยิ่งโกลาหลวุ่นวาย

(ยังมีต่อ … แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เหมือนกันนะ)
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 1

เป้าหมายในการลงทุน คือ จุดเริ่มต้นของทุกข์

โพสต์ที่ 798

โพสต์

ตอนที่ผมฝึกปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติ คำสอนของอาจารย์ที่จำได้แม่นติดหัวเลย คือ กำหนดกายเห็นเวทนา กำหนดเวทนาเห็นจิต กำหนดจิตเห็นธรรม

สติปัฎฐาน 4 พระพุทธองค์ให้แนวทางในการฝึกสติเข้าไปฝึกรู้ไล่จากของหยาบไปของละเอียด เมื่อสติของเราเข้าไปสังเกต เกาะติดอาการของกายบ่อยๆ เข้าก็จะเห็นของละเอียดอย่างเวทนาที่แฝงมากับกายได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ และเมื่อเราเห็นเวทนาได้บ่อยเข้า ก็จะเห็นความจริงที่ว่ากายเราเคลื่อนไหว ตัดสินใจไปทำอะไร เพราะ เกิดแรงบีบจากเวทนา

ได้เห็นว่าที่กายเคลื่อน ก็เพราะ จิตอยากจะให้ทุกข์ที่เกิดขึ้นมันดับไปบ้าง

ได้เห็นว่าที่กายเคลื่อน เวลาเห็นอะไรหรือคิดถึงอะไรบางอย่าง แล้วจิตอยากจะได้ความสุข จึงพุ่งทะยานออกไปทำสิ่งต่างๆ บ้าง

ได้เห็นว่า เมื่อเราก้าวข้ามผ่านแรงบีบจากเวทนา สามารถที่รักษากายให้อยู่เฉยๆ ดูสภาวะ ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในใจที่เกิดขึ้นโดยสักแต่ว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ไปพยายามดิ้นรนแก้ไขทำอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นหากไม่มีแรงส่งมันก็ดับลงเองตามธรรมชาติ จนเกิดความปล่อยวางหลุดพ้น เป็นอิสระ มันก็มีความความสงบสุขอีกรูปแบบหนึ่งขึ้น ที่แตกต่างจากความสุขแบบเดิมๆ

เมื่อจิตเราเป็นสมาธิ ปล่อยวาง หลุดพ้นจากแรงยึดทางโลกได้บ่อยๆ เราจะได้เห็นกระบวนการเกิดขึ้นของความคิด คำพูด และการกระทำต่างๆ ขึ้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากใจที่กำลังสงบอยู่กับกาย แล้วมีความคิด ความทรงจำที่แฝงด้วยสุขทุกข์บางอย่างเกิดขึ้นในจิต ได้เห็นใจพุ่งเข้าไปยึดในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จนเกิดปรุงแต่งทางความคิด ต่างๆ ตามมา ปรุงแต่งๆๆ ถึงจุดหนึ่ง สภาพความปรุงแต่งต่างๆ ก็ดับลงกลับเข้าสู่ความสงบ กลับเข้ามามีสติที่หลุดพ้นจากอารมณ์อีกครั้ง และได้เห็นกระบวนการพิจารณาสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นไปก่อนหน้า สรุปเป็นองค์ความรู้บันทึกเข้าไปในจิต

เท่าที่ผมเข้าใจ การได้เห็นธรรมชาติกระบวนการปรุงแต่งของจิตแบบนี้เรียกว่าได้ เห็นธรรม หรือฝึกสติในหมวดธัมมานุปัสสนา (ท่านได้แบ่งแนวทางในการสังเกตกระบวนการแบบนี้เอาไว้ 5 รูปแบบ)

ท่าทีที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เห็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ท่านสอนให้ดูในมุมมองของนักศึกษา นักวิจัย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตของเรามันมีกระบวนอย่างไรในการเกิด และมีกระบวนการอย่างไรในในการดับ มีกระบวนการอย่างไรในการป้องกันสิ่งไม่ดีอย่างไร และมีกระบวนการอย่างไรในการพัฒนาสิ่งดีๆ อย่างไร เป็นการดูเฉยๆ แบบนักวิจัยที่ทำการทดลองกับจิตตัวเอง ซึ่งผลของการฝึกสติในฐานธรรมนี่เอง หากสามารถฝึกจนกลายเป็นธรรมชาติใหม่ของเราได้ ผมเชื่อว่ามันจะมีส่วนช่วยในการลงทุนของเราอย่างมาก

ในทางพุทธ เหตุแห่งทุกข์ ก็คือ ตัณหา หรือ ความทะยานอยาก คือ ทั้ง อยากได้ อยากมี อยากเป็น ตลอดจนความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

ถ้าเราตั้งเป้าอยากได้อะไรบางอย่างที่สูงเกินตัว อยากได้มากๆ แล้วเราทำไม่ได้ ห่างจากเป้าไปไกล เราก็เป็นทุกข์มาก แต่ถ้าเราตั้งเป้าไม่ได้สูงเกินไป และก็ไม่ได้อยากได้อะไรมากมาย ประมาณว่า ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้เวลาเราทำไม่ได้ มันก็ไม่ได้ห่างจากเป้าเกินไป ก็จะเป็นทุกข์น้อยกว่า

ความทุกข์จากการลงทุน รากของมัน เกิดจากการตั้งเป้าที่ไม่เหมาะสมกับ ระยะเวลาในการลงทุน ความสามารถในการรับความเสี่ยง และความพยายามที่เราใส่ลงไป

ในการปฏิบัติธรรมจนถึงจุดหนึ่งเราจะมีธรรมชาติของความเป็นนักวิจัยขึ้นมา ที่เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ซึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ นอกจากทำการวิจัยสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตแล้ว มันจะเกิดฉันทะที่จะไปศึกษาหาข้อมูล ทำงานวิจัยจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเอามาใช้ประกอบการปฏิบัติธรรม ซึ่งธรรมชาตินี้จะติดตัวไปด้วยในการลงทุน

เราจะพิจารณา ถามตัวเองอยู่เป็นระยะๆ ว่า ว่าความคาดหวังในการลงทุนของเรา มันสอดคล้องกับเหตุปัจจัยที่เราทำหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในการคาดหวังผลตอบแทนในการลงทุนหากดูจากสถิติ ถ้าถือหุ้นรายตัวอาจจะหวังผลตอบแทนได้ประมาณ 10% ในขณะที่พอร์ตหุ้นที่กระจายความเสี่ยงอาจจะหวังผลตอบแทนได้ประมาณ 7-8% อย่างอ. Damodaran ที่ขยันมากๆ บอกว่าถ้าอาจารย์ได้ผลตอบแทน 10% ในตลาดในช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีแล้ว เพราะตลาดโดยรวมส่วนสะท้อนผลตอบแทนแค่ 6-7% การที่จะไปหวังว่าจะได้กำไรเป็นเด้งอาจจะเป็นจุดกำเนิดแค่ความผิดพลาด และทำให้เกิดความเสียหายได้

ผมลองคำนวณผลตอบแทนตลาดที่สะท้อนผ่าน Risk Free Rate และ Implied Equity Risk Premium ตามไฟล์นี้ของอาจารย์ ก็เห็นว่า ณ ขณะนี้เราสามารถหวังผลตอบแทนได้ที่ 6.99%

โดยส่วนตัวผมมีแนวทางลงทุนในกิจการที่มีผลกระทบในเชิงบวกกับโลก ผมอยากให้การลงทุนของผมสอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินชีวิต ผมอยากได้ผลตอบแทนในเชิงอารมณ์เวลาเห็นพัฒนาของกิจการพวกนี้ได้เปลี่ยนชีวิตคนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งกิจการพวกนี้อาจจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าบริษัทปกติ ในขณะที่เอากำไรจากลูกค้าต่ำกว่ากิจการปกติ ผมจึงหวังผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 5% ผมเชื่อว่าถ้าผมตั้งเป้าไม่สูงเกินไป ก็น่าจะกดดันไม่มาก และไม่เป็นทุกข์มาก จริงอยู่ว่าผมเลือกซื้อหุ้นผมคิดว่าคุณภาพดี ราคาไม่แพง แต่ผมก็แค่หวังว่า ความคุณภาพดี ราคาไม่แพงนี้ จะช่วยเป็น Margin of Safety ของความ Over Confidence เข้าใจผิด คิดไปเองของผม ที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของมนุษย์ และจากสถิติของตัวเองในอดีต อคติของผมมักจะทำ Valuation ได้สูงกว่าความเป็นจริงตลอด ดังนั้นการหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดน่าจะให้ทำปลอดภัยในทางอารมณ์ระดับหนึ่ง

จริงอยู่ที่ว่า ผลของการฝึกในขั้นต้น ทำให้เราอยู่กับความทุกข์ ความบีบคั้นทางอารมณ์ได้มากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือ หากเราตั้งเป้าผิดด้วยองค์ความรู้ผิด เราก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี หากเราตั้งเป้าถูกด้วยองค์ความรู้ถูกก็จะเป็นสุขดังที่พระธรรมทินนากล่าวเอาไว้ว่า “อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด”

เราทนกับความทุกข์ได้มากขึ้น ความทุกข์สั้นลงก็จริง แต่ตราบใดยังทำสิ่งที่ผิด และตั้งเป้าผิด มันก็ยังทุกข์อยู่ร่ำไป การประหารความทุกข์ได้ต้องดับเหตุแห่งทุกข์ จากการไม่มีวิชา ไม่มีองค์ความรู้ ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการลงทุน

สุดท้าย...

ผมยังเป็นนักเรียนที่รู้น้อย ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ และยังคงทำสิ่งที่ผิดอยู่เรื่อยๆ แต่ผมสนุกไปกับทุกวันที่ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความเห็นทั้งหมดก็เป็นแค่ความเห็นของนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบ ยังไม่รู้แจ้ง ไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นอาจารย์อะไรกับใครเค้าได้

แต่ผมเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ในการฝึกเจริญสติ และปฏิบัติธรรม ซึ่งคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากๆ กับการลงทุน จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ให้มีโอกาสได้มาทดลองดู มาฝึกและเรียนรู้ไปด้วยกันครับ

ขอบคุณที่กรุณาสละเวลาอ่านจนถึงข้อความนี้นะครับ หากมีสิ่งใดที่ผมทำอะไรผิดพลาด ล่วงเกินอะไรใครไป จากบทความนี้ ผมกราบขออโหสิ ขออภัยด้วยนะครับ
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 1

Re: เส้นทางธรรมกับชีวิตการลงทุนแนววีไอ

โพสต์ที่ 799

โพสต์

ผมปฏิบัติธรรมกับอ.ดังตฤณใน group วิสัชชนานุบาลอยู่ครับ มีโอกาสได้ถอดเทปไลฟ์ครั้งหนึ่งที่ฟังแล้วจับใจมาก ขอเอาแปะไว้ในห้องนี้ เผื่อเป็นประโยชน์นะครับ ด้านล่างนี่คือเนื้อหาส่วนที่ถอดเทปมาครับ
อย่างที่เราเคยทำความเข้าใจกันว่าในห้องนี้ เรามาปลูกฝังหรือว่าปลุกความปรารถนาที่จะได้บรรลุมรรคผล เพราะว่าถ้าไม่เชื่อว่ายุคนี้สมัยนี้ทำได้ (เพราะ)มันไม่มีใครทำ ซึ่งถ้าไม่อยากทำ มันไม่มีความเพียร ไม่มีความพยายาม ไม่มีการแสวงหาทาง

ถ้ามาตรงทาง ตรงจุดเริ่มต้นรู้ว่าตัวเองมีความทุกข์ ชาตินี้ เป็นชาติที่ชีวิตโชว์ความทุกข์ให้เห็น ว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นความสุขที่แท้จริงรออยู่ อย่างมองว่าคนเราใช้ชีวิตไป มันเสียมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายตอนใกล้ๆ ตาย มันไม่มีอะไรดีๆ รออยู่ มีแต่โรคภัยไข้เจ็บ มีแต่ความอ่อนแอ มีแต่สภาวะที่มันเสื่อมลงๆ แล้วก็จะต้องไปเกิด(ใหม่)ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แบบที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่า จะต้องไปเกิดในท้องใครอีก จะต้องไปพบกับความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่รู้ของตัวเอง และความไม่รู้ของคนอื่น อีกกี่ล้าน กี่โกฏิ (1 โกฏิ = 10 ล้าน)ครั้ง

พอเห็นถึงโทษ เห็นถึงภัย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เห็นด้วยความมีตาทิพย์ แต่พิจารณาด้วยความทำใจเชื่อสิ่งที่พระผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ มันก็เกิดการเห็นโทษเห็นภัย และเกิดการเร่งตัวเองให้มีความเพียร ทีนี้พอมีความเพียรอย่างถูกต้องแล้ว มาได้เห็นเป็นเค้าเป็นลางว่า กายใจนี้มันไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ด้วย ถ้าเห็นได้ถึงขนาดนั้นแล้ว แล้วก็ไฟจุดติดแล้วเนี่ย มันก็ไม่ควรที่จะมาตั้งความหวัง ตั้งความอยาก ปรารถนาแม้นิพพาน หรือว่ามรรพผล อันนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

บางทีมันพูดยากนิดนึง ไม่ให้อยากเลย มันก็ไม่มีจุดเริ่มต้น แต่พอมาถึงกลางทางแล้วความอยากมันยังอยู่ อันนี้มันก็กลายเป็นความอยากเปลี่ยนจากสะพานกลายเป็นกำแพงขวาง

ทำยังไงไม่ให้เป็นกำแพงขวาง? เราก็ถามตัวเองง่ายๆ ว่า ยอมรับความจริงตรงหน้าได้แล้วรึยัง? คือถ้ายังยอมรับความจริงตรงหน้าไม่ได้เนี่ย มันไม่มีทางได้มรรคผล เพราะว่าการได้มรรคผล คือการพบความจริง พบความจริงตรงนี้ที่อยู่ฝั่งนี้ แล้วไปประจักษ์ความจริงที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ที่มันพลิกกลับ พลิกจากความปรุงแต่งแบบที่เห็น แบบที่เป็นอยู่ กลายเป็นความไม่ปรุงแต่ง แบบที่ไม่เคยมีใครได้รู้จักมาก่อน

อย่างที่ผมมักเปรียบเทียบว่า เหมือนกับคนที่ติดคุกอยู่ มันไม่เคยเห็นท้องฟ้า ถูกปิดบังหมด ถูกปิดหูปิดตาด้วยกำแพงล้อมรอบ 360 องศา มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก จะวนเวียนอยู่กี่ครั้ง เกิดตายกี่หน มันก็เห็นอยู่แค่คุกมืดที่มันเป็นภายใน มันไม่เคยมีใครได้เห็นท้องฟ้า

คนที่ได้รู้ความจริงก็คือคนที่เห็นว่าคุกมันเป็นโดม มันเป็นกำแพง มันเป็นพื้นที่ปิดตายแคบๆ ต้องอาศัยคนที่เคยแหกคุกได้กลับมาบอกว่า(ชีวิต/ตัวตน/อัตตา)เนี่ยเป็นคุก แล้วก็มีคนที่สามารถจะทุบทำลายกำแพง ผนัง เจาะเป็นช่องไปเห็นท้องฟ้าได้มาก่อน แล้วกลับมาบอก คนคุกนี่มันถึงรู้ตัว เออ เฮ้ย นี่ติดคุกอยู่นะ แล้วจริงๆ มีท้องฟ้าอยู่ข้างนอก คือเหมือนพบความจริงว่าอยู่ในคุก แล้วก็ไปเห็นท้องฟ้า

โดยสรุป ถ้าเราสามารถมองเห็นได้ว่าอิริยาบถปัจจุบันที่กำลังเห็นอยู่นี้เป็นที่ตั้งของ “ของหลอก” ถ้ายอมรับความจริงตรงนี้ได้ นี่เริ่มเข้าเค้า และถ้าหากเกิดการปรุงแต่งอะไรทางใจขึ้นมา จะเป็นสุขเป็นทุกข์ จะมีความจำได้หมายรู้ จะเกิดสังขารขัณฑ์ (ในทีนี้เข้าใจว่าหมายถึงขัณฑ์ 5) ปรุงแต่งให้เกิดความอยากนู่นอยากนี่ แม้อยากได้มรรคผล นิพพาน ก็มีสติรู้เท่าทัน ล้วนแล้วแต่เป็นซึ่งขันธ์ ซึ่งเกาะกุมหรือว่าเป็นกำแพง ไม่ใช่สะพาน มองเห็นอย่างนี้ มองว่ามันเป็นของหลอก มองเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีเราอยู่ในนี้

อย่างนี้แหละที่มันเป็นเหมือนกับค้อนปอนด์ ทุบผนังทุบกำแพงขวางความจริง ไอ้ที่เป็นขั้นสูงสุด ออกไปทีละครั้งทีละหน แน่นอนว่าถ้าหากกำแพงมีความหนา มีความหนัก มีความสูงใหญ่ ถึงจะเป็นค้อนปอนด์ ก็ไม่สามารถระคายผิวมันง่ายๆ ต้องค่อยๆ ทุบ แล้วก็ทุบอยากใจเย็น ทุบไปเรื่อยๆ

มันมีอีกจุดหนึ่งคือ ก่อนจะยอมรับความจริงได้ว่ากายนี้ใจนี้ ที่กำลังตั้งอยู่ในอิริยาบถนี้เป็นปกติเนี่ย ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันจะต้องมีศีล คือจิตต้องตรงด้วยศีล และต้องรู้จักสละตัวตนอย่างหยาบออกไปด้วยการให้ทาน ถ้าไม่มีน้ำใจ(ทาน) ถ้าไม่มีศีล คือโอกาสที่จะมายอมรับความจริงได้นี่ มันก็ยาก ถึงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าตัวตนมันเหนียวแน่น ด้วยความตระหนี่ ความสกปรก จากการทุศีล อันนี้เปรียบเหมือนกับโซ่ตรวน พวกเรานี่ถูกมัดแขนมัดขาแน่นหนาไปหมด คนที่จะข้ามเส้นได้หรือคนที่จะสามารถเห็นความจริงคือนิพพานได้ เหมือนกับคนที่สามารถจะใช้ค้อนปอนด์ทุบทำลายกำแพงหรือผนังออกไปเป็นรู่โหว่พอที่จะได้เห็นท้องฟ้า ก็จะเปรียบเหมือนกับคนที่โซ่ตรวนขาด

อย่างที่ท่านกล่าวว่าพวกเราถูกร้อยรัดอยู่ด้วยสังโยชน์หรือเครื่องพันธนาการ 10 เส้น ถ้าหากว่าเราสามารถปลด สามารถทำลายทิ้ง เหมือนโซ่ตรวนขาด ก็เป็นอิสระมากพอที่จะไปเห็นท้องฟ้า เห็นฟ้าอย่างที่สมควรเห็นว่ามีฟ้าอยู่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับคุกมืด

ตัวนี้แหละที่บอกว่าการได้มรรคผล ไม่ใช่การได้อะไรมา ไม่ใช่ได้อะไรเพิ่มมา แต่เป็นการพบความจริง พบความจริงตรงนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปหวัง หรือไปจินตนาการไว้ล่วงหน้าว่าท้องฟ้าเป็นยังไง ให้รู้ความจริง ให้ยอมรับความจริงตรงนี้ให้ได้ก่อนว่า(ชีวิต/ตัวตน/อัตตา)เนี่ยคือคุก คือกำแพงขวาง ถ้าหากว่ามีความเข้าใจที่ชัดเจนได้ตรงนี้ มันเป็นนิมิตหมาย เป็นลางบอกเหตุที่ว่าเรามีสิทธิ์ที่จะได้เห็นความจริงอื่นนอกเหนือจากตรงนี้

คิดถึงตรงนี้ให้มากๆ อย่าคิดถึงมรรคผล นี่ทำๆ กันมาได้ถึงตรงนี้แล้วนี่นะ “ไม่ต้องไปคาดหวังมรรคผล”

มรรคผลนี่เป็นแค่สิ่งที่เราจะเห็นเองเป็นธรรมดา เมื่อเราทุบผนังหรือทุบกำแพงได้สำเร็จ แต่คนเราที่มันจะมีแก่ใจทุบไปทีละโป้ง ทีละโป้งเนี่ย มันต้องรู้ว่า(ชีวิต/ตัวตน/อัตตา)เนี่ยคือกำแพงขวางความจริง ขั้นสูงสุด

ถามตัวเองง่ายๆ นะว่าอยากได้มรรคผลเนี่ย ยอมรับได้รึยังว่า(ชีวิต/ตัวตน/อัตตา)นี่ไม่ใช่ตัวเรา ส่วนใหญ่มันก็จะถูกระตุ้นจากภาวะทางกาย ภาวะทางใจ ให้อยากมีหน้ามีตา มีชื่อมีเสียง อยากมีเงินทอง อยากมียศ มีตำแหน่ง มีนู่นมีนี่ ที่คนในโลกทั้งหลายเนี่ยเขาอยากได้กัน ตรงนี้เป็นเครื่องสำรวจ เป็นลางบอกเหตุ ถามตัวเองง่ายๆ ยอมรับความจริงได้มั้ย ในระดับความคิด ว่า(ชีวิต/ตัวตน/อัตตา)นี่มันไม่ใช่ตัวเรา