อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news11/12/07

โพสต์ที่ 271

โพสต์

ส่อปลดล็อกแบงก์ ทบทวนกฎควบคุม

โพสต์ทูเดย์ ธปท.เล็งปรับการนำมาตรฐานสากลไอเอเอส 39 และมาตรฐานสากลอื่นๆ มาใช้กับสถาบันการเงินไทย


แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.มีแนวคิดที่จะทบทวนการนำเกณฑ์มาตรฐานบัญชีสากล (ไอเอเอส 39) ที่จะนำมาใช้กับสถาบันการเงินไทยอย่างเต็มรูปแบบในต้นปี 2552,มาตรฐานไอเอเอส 32, การเปิดเผยข้อมูลตามไอเอฟอาร์เอส 7, รวมทั้งเกณฑ์การกำกับดูแลตามบาเซิล 2

ทั้งนี้ เพราะ ธปท.เริ่มไม่แน่ใจว่าการนำมาตรฐานเหล่านี้มาใช้กับสถาบันการเงินไทยจะเหมาะสมหรือไม่ หลังจากเริ่มทดลองนำร่องไปบางส่วน แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติกับระบบธนาคารพาณิชย์มากมาย

ในเบื้องต้น ธปท.ได้จัดทำแบบสอบถามไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ในระบบเพื่อพิจารณาว่าการใช้มาตรฐานบัญชีเหล่านี้ จะสร้าง ผลกระทบต่อเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร การกันสำรองหนี้ และความผันผวนของฐานะการเงินของสถาบันการเงินในระบบหรือไม่

หลังเดือน ม.ค. ปี 2551 นี้ คาดว่าคงจะนำข้อมูลดังกล่าวจากการสำรวจ มาพิจารณาทบทวนความเข้มงวดในการใช้มาตรฐานบัญชีและเกณฑ์มาตรฐานสากลได้ ซึ่งการพิจารณาคงดูความสามารถในการดำเนินงาน การปล่อยสินเชื่อ และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินควบคู่กันไป แหล่งข่าวเปิดเผย

นอกจากนี้ ธปท.จะทบทวนการประกาศใช้เกณฑ์บาเซิล 2 ด้วยว่า จะใช้บังคับพร้อมกันทีเดียว หรือจะทยอยบังคับใช้ เป็นขั้นเป็นตอนไปด้วย โดยจะดูว่ามีผลดีผลเสียต่อระบบสถาบันการเงินไทยมากกว่ากัน แต่การทบทวนดังกล่าวคงไม่ใช่การยกเลิก แต่ชะลอการประกาศใช้ออกไปก่อน

ขณะนี้ ธปท.ได้ดำเนินการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ไอเอเอส 39 ไปแล้วบางส่วน ทำให้ความสามารถ ในการทำกำไร หนี้ที่ไม่ได้ก่อให้ เกิดรายได้ การกันสำรองหนี้ รวมทั้งเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ มีปัญหา หากจะนำเกณฑ์การกำกับบาเซิล 2 มาใช้อาจจะกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงิน และ การปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพราะในสหรัฐอเมริกานั้นก็ยังไม่นำ บาเซิล 2 มาใช้กับธนาคารในประเทศ หากไม่ทำการค้าธุรกรรมระหว่างประเทศ
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=208301
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news12/12/07

โพสต์ที่ 272

โพสต์

เงินด่วนร้องรัฐแก้เงื่อนไข

โพสต์ทูเดย์ ธุรกิจเงินกู้ศอกกลับ ธปท.เงื่อนไขมีทุนชำระแล้ว 50 ล้าน เป็นอุปสรรคสกัดรายย่อยเข้าระบบไม่ได้ ธปท.หารือแบงก์หาซอฟต์โลนแก้ปัญหาคนเงินขาดมือ


แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการสินเชื่อเงินด่วนเปิดเผยว่า ผู้ประกอบการสินเชื่อเงินด่วนจำนวนหนึ่ง ต้องการเข้ามาสู่ระบบแต่เงื่อนไข ของทางการในการกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการสินเชื่อเงินด่วนรายย่อยที่ปล่อยเงินกู้ในย่านชุมชน หรือเขตพื้นที่ไม่มีขีดความสามารถในการระดมทุนเหมือนรายใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจ จึงอยาก ให้หน่วยงานของรัฐปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในเรื่องทุนจดทะเบียนให้มีความเป็นธรรม

เรื่องดอกเบี้ยไม่เกิน 15% บวกค่าธรรมเนียมแล้วไม่เกิน 28% เมื่อเทียบกับการปล่อยกู้ปัจจุบันนั้นแทบไม่แตกต่างกันแล้ว เราไม่ห่วง แต่เรื่องทุนคือปัญหาที่ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าระบบไม่ได้จึงมีแต่รายใหญ่ แหล่งข่าวเปิดเผย

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคดีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อเงินสด เงินด่วน ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 50 ล้านบาท ไม่น่าจะเป็นปัญหาทำให้ผู้กู้นอกระบบเลือกอยู่ข้างนอก แต่น่าจะเป็นเพราะผู้ประกอบการเหล่านี้เห็นว่าการปล่อยกู้นอกระบบไร้การควบคุมและมีกำไรดีกว่าจึงไม่เลือกเข้ามาในระบบมากกว่า

ตอนนี้ ธปท.จะร่วมกับส่วนราชการปราบปรามอย่างเต็มที่ ล่าสุด ธปท.ก็ส่งเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ออกไปเก็บข้อมูลผู้ประกอบการมาให้ได้ไม่น้อยกว่า 50 ราย เพื่อจะสืบค้นดำเนินการกวาดล้างต่อไปตามกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมี

เรากำลังเร่งให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่ทางเทศกิจของ กทม.ออกเก็บรวบรวมรายชื่อ หรือเบอร์ติดต่อของผู้ปล่อยกู้มาตรวจสอบ เพื่อจะสืบให้ถึงต้นตอของผู้ปล่อยกู้ เพื่อจะได้ขยายผลเอาผิดและนำมาลงโทษ นายวีระชาติ กล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาในต้นน้ำ หรือการหาทางให้ผู้บริโภครายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้นั้น ธปท.ก็ทำควบคู่กันไป

ตอนนี้เริ่มหารือกับสายสถาบันการเงินหลายรายแล้วว่าจะหาทางช่วยเหลือผู้บริโภคที่ต้องการเงินกู้ได้อย่างไรบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะช่วยด้วยวิธีใด จะให้สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จาก ธปท.มาเพื่อปล่อยกู้เฉพาะ หรือช่วยด้วยวิธีอื่นๆ ยังไม่ได้สรุป

ทั้งนี้ เพื่อมิให้ประชาชนเดือดร้อนและตกเป็นเหยื่อกลุ่มขบวนการปล่อยกู้เงินด่วน ธปท.ได้จัดทำแผ่นพับจำนวนหนึ่ง เพื่อชี้แจงให้ประชาชนรายย่อยเห็นว่าการปล่อยกู้ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนนั้นความจริงผู้กู้ต้องจ่ายจริงถึง 21.46% ต่อปี โฆษณาว่าดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ไม่ใช่ 15% ต่อปี หากแต่จริงๆ คิดดอกเบี้ยถึง 26.62% ต่อปี โฆษณา 2% ต่อเดือน ไม่ใช่ 24% ต่อปี หากแต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยจริงถึง 41.70% ต่อปี ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนกู้

นางสินี แม่ค้าขายผ้าในตลาดบางพลัด กล่าวว่า ถ้าทางการกวาดเจ้าแม่เงินกู้ด่วนทั้งหลายบรรดาคนหาเช้ากินค่ำและลูกจ้างระดับล่าง จะเดือดร้อน เพราะคนที่มีรายได้ ไม่แน่นอนไม่สามารถกู้เงินจาก อิออน อีซี่บาย หรือธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะเงินเดือนไม่ถึง ไม่มีคุณสมบัติพอ เวลาขาดเงินชั่วคราวก็ต้องพึ่งสินเชื่อเงินสดที่ติดอยู่ตาม เสาไฟฟ้า หรือพ่อค้าแม่ค้าเงินกู้ปากซอย ถ้าปราบกลุ่มนี้ก็อยากให้ทางการช่วยเหลือเงินกู้เพื่อไม่ให้เดือดร้อนด้วย

กทม.น่าจะใช้โรงรับจำนำเป็นหน่วยงานในการให้กู้หากพ่อค้า แม่ค้าขาดเงิน ถ้าทำอย่างนี้เราไม่ เดือดร้อน แม่ค้ารายนี้กล่าว
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=208498
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news12/12/07

โพสต์ที่ 273

โพสต์

เปิดทางธอส.ลุยธุรกิจประกันสินเชื่อ

โพสต์ทูเดย์ ครม.ขิงแก่ ไฟเขียว ธอส. ตั้งบริษัทรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย อุ้มคนรายได้น้อยกู้ซื้อบ้าน ไม่ต้องวางเงินดาวน์


นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทำหน้าที่เป็นผู้ประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการ อันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ การให้ ธอส.ทำหน้าที่ใน การรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์จำนวนมาก ทำให้ผู้กู้อาจขอกู้ได้สูงถึง 90100% ของมูลค่าหลักประกัน

นายโชติชัย กล่าวว่า เนื่องจาก ผู้ให้กู้สามารถกระจายความเสี่ยงบางส่วนออกจากกองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร เพื่อโอนให้บริษัทที่จะทำหน้าที่ในการประกันสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยรับไปส่วนหนึ่ง

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติเรื่องให้ ธอส.แก้ไขพระราชกฤษฎีกา เพื่อเปิดทางให้ ธอส. จัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือมอร์เกจ อินชัวร์รัน ได้แล้ว คาดว่า ธอส.จะสามารถจัดตั้งบริษัทประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือให้คนมีรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถกู้ซื้อบ้าน 100% ภายในกลางปี 2551

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้มีบริษัทประกันภัยมากกว่า 10 ราย แสดงความสนใจเข้าร่วมทุนในการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว เบื้องต้น ธอส.จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 25% ของทุน จดทะเบียน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อ สรุปที่ชัดเจนว่าทุนจดทะเบียนจะเป็นเท่าไร เพราะต้องหารือร่วม กับผู้ที่จะเข้ามาถือหุ้นทั้งหมดด้วย และหลังจากนั้นภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันเริ่มประกอบกิจการ ธนาคารต้องลดสัดส่วนการเข้าร่วมลงทุนหรือเข้าถือหุ้นให้เหลือ 5% หรือต่ำกว่า เว้นแต่รัฐมนตรีจะอนุญาตเป็นอย่างอื่น

สำหรับหลักการที่สำคัญของการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยคือ จะ ทำหน้าที่ประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ไม่รับประกันภัยประเภทอื่น เช่น การประกันวินาศภัยหรือการประกันชีวิตโดยทั่วไป และไม่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรก หรือผู้ให้กู้ เพราะหากผู้ให้กู้ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทประกันสินเชื่อก็จะทำให้ความเสี่ยงยังคงตกอยู่กับผู้ให้กู้ และยังได้รับความเสี่ยงเพิ่มจากการที่ไปรับประกันสินเชื่อให้กับผู้ให้กู้อื่นๆ ที่นอกเหนือจากปล่อยกู้เองอีกด้วย
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=208512
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news13/12/07

โพสต์ที่ 274

โพสต์

เอ็กซิมแบงก์ขายหนี้8.2พันล.

โพสต์ทูเดย์ เอ็กซิมแบงก์ ตัวเบาขายเอ็นพีแอล 8.2 พันล้านบาทให้ บบส.สุขุมวิท จนเหลือ 4.5 % คาดทั้งปีมีกำไรสุทธิ 480 ล้านบาท


นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ได้ร่วมลงนาม กับนางน้ำผึ้ง วงศ์สมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บบส.สุขุมวิท) เพื่อขาย ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 8.2 พันล้านบาท ส่งผลให้เอ็นพีแอลของธนาคารลดลงจาก 15.93% เหลือ 4.50% ของยอดสินเชื่อคงค้างกว่า 5.6 หมื่น ล้านบาท

หลังจากขายหนี้เอ็นพีแอลออกไปทำให้ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อ ให้เกิดรายได้เหลือเพียง 2.27 พัน ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้บริหารจัดการเอง

ในการเปิดประมูลในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา บบส.สุขุมวิท เป็น ผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด โดยธนาคาร ได้ว่าจ้างบริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และบริษัท ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ (ไทยแลนด์) เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการจัดกองเอ็นพีแอลออกมาขาย นายอภิชัย กล่าว

นายอภิชัย กล่าวอีกว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 ธนาคารสามารถแก้ปัญหาเอ็นพีแอลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จแล้วทั้งสิ้น 724 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อรวมกับการประมูลขายลูกหนี้เอ็นพีแอลจำนวน 8.2 พันล้านบาทครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิในปีนี้ได้ 480 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากในช่วง 10 เดือนแรกของ ปีนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิแล้วกว่า 382 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจนั้นเอ็กซิมแบงก์ มีแผนเข้าร่วมลงทุนกับภาคธุรกิจสำคัญและบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนไม่เกิน 30% และมีระยะเวลาการขายคืนที่แน่นอน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนกับภาคธุรกิจ

นางน้ำผึ้ง วงศ์สมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บบส.สุขุมวิท กล่าวว่า ในปี 2550 นี้ บบส.สุขุมวิทสามารถประมูลซื้อหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ตามเป้า หมายที่ตั้งไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดย บสส.ชนะการประมูลซื้อเอ็นพีแอล ของธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ครั้ง ประกอบด้วยลูกหนี้ขนาดกลางและรายย่อยกว่า 2.2 พันราย มูลหนี้เงินต้นประมาณ 6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังซื้อสินทรัพย์จากบริษัท บริหารสินทรัพย์จตุจักร, บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ธนพัฒน์, ธนาคารทหารไทย และ เอ็กซิม แบงก์ รวมมูลหนี้ เงินต้นทั้งสิ้นประมาณ 1.93 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีนี้ บบส.สุขุมวิท มีแผนที่ จะเข้าประมูลซื้อหนี้อีก 2 แห่ง คือหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารนครหลวงไทยและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับความคืบหน้าในการ บริหารจัดการหนี้นั้น ปัจจุบัน บบส.ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้จนสามารถได้ข้อยุติกับลูกหนี้ 98% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับกลุ่มสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิม

ในปีที่ผ่านมา บบส.สุขุมวิท มีผลการดำเนินงานที่สูงกว่าเป้าหมาย โดยสามารถเรียกชำระหนี้เงินสด ได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 110% ของเป้าหมาย
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=208720
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news13/12/07

โพสต์ที่ 275

โพสต์

คุมเงินเข้าออก ให้2หมื่นดอลล์ ถือเกินต้องแจ้ง

โพสต์ทูเดย์ คลัง ออกประกาศห้ามขนเงินเข้า-ออกประเทศเกิน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ อ้างปรับเพื่อความเหมาะสม


นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา รมว.คลัง ได้ลงนามในประกาศกระทรวงการคลัง ให้บุคคลธรรมดานำเงินสดเข้า-ออกราชอาณาจักรได้ไม่เกินคนละ 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.5 แสนบาท หากเกินจำนวนที่กำหนดจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อแสดงเหตุผล และวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน

การที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งหลายประเทศก็ใช้เกณฑ์วงเงินดังกล่าว สิงคโปร์ก็ใช้เกณฑ์วงเงินนี้ และวงเงินดังกล่าวก็ถือว่าสูงมาก ปัจจุบันทางเลือกในการนำเงินมาใช้ก็มีหลากหลาย เช่น แลกแคชเชียร์ เช็ค หรือใช้บัตรเครดิต ดังนั้น การที่ขนเงินสดเข้า-ออกมากกว่านั้นก็น่าสงสัย นายสมหมาย กล่าว

รมช.คลัง กล่าวว่า การออกประกาศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบล็อกเงินสำหรับใช้ในการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับเพื่อให้มีความเหมาะสม เนื่องจากประกาศเดิมอนุญาตให้นำเงินสดติดตัวได้เพียง 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ และระเบียบดังกล่าวใช้มาแล้ว 10 ปี จึงขยาย เพดานออกไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในไทย
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=208712
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news15/12/07

โพสต์ที่ 276

โพสต์

วิชิตชี้ดอกเบี้ยขึ้นแน่ สั่งสาขากวาดเงินฝาก

โพสต์ทูเดย์ ไทยพาณิชย์ เชื่อดอกเบี้ยจะขยับตามเงินเฟ้อ สั่งสาขาในห้างปูพรมกวาดลูกค้าเงินฝาก 3 เดือน พ่วง 12 เดือนเต็มที่


นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยต้องปรับขึ้นแน่นอน แต่อยู่ที่ช่วงเวลาเท่านั้น ดอกเบี้ยคงไม่ลงอีกแล้ว เพราะมีปัญหาจากเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลง จึงเป็นไปได้ยาก

นายญนน์ โภคทรัพย์ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ได้เรียกผู้จัดการสาขาย่อยตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต 87 แห่ง มาให้นโยบายเร่งดำเนินการเพื่อขายผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ Combo set ซึ่งเป็นการฝากประจำ 3 เดือน และ 12 เดือน ผูกติดกันได้ดอกเบี้ย 2.7% และ 2.4% ตามลำดับ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้ออมเงินมากขึ้น เพราะผู้ฝากส่วนใหญ่รู้จักแต่เงินฝาก 3 เดือน แต่ไม่เคยมองเงินฝากระยะยาว จึงต้องการสนับสนุนและกระตุ้นการออมเงิน

นายญนน์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้สั่งให้สาขาทุกแห่งติดเลข 3 และ 12 ที่หน้าอกเสื้อทุกคน เพื่อกระตุ้นให้คนเกิดคำถามและกระตุ้นการขายผลิตภัณฑ์ โดยธนาคารใช้กลยุทธ์การตลาดกับผลิตภัณฑ์นี้ โดยภายในสัปดาห์นี้จะตระเวนตามสาขาของธนาคารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยการทำสติ๊กเกอร์เลข 3 และเลข 12 ติดไว้ที่เสื้อพนักงานคละกัน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสงสัยและสอบถามพนักงานถึงเลข 3 และ 12 เพื่อนำเสนอสินค้าจากความสงสัยของลูกค้าในทางอ้อมที่จะสามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่าทำแผ่นป้ายโฆษณาติดไว้ตามสาขา

เมื่อคนเห็นเลขเหล่านี้ก็จะตั้งคำถาม เมื่อเราทำสิ่งที่เขาสนใจให้เกิดคำถามได้พนักงานก็จะได้นำเสนอขาย นายญนน์ กล่าว

หลังจากให้สาขาในห้างสรรพสินค้าปูพรมขายแล้วจะเน้นไปยังสาขาของธนาคารทั่วประเทศทั้ง 870 สาขา
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=209083
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/12/07

โพสต์ที่ 277

โพสต์

บัณฑิตชี้ปี51เห็นแบงก์ควบรวม

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2551 น่าจะมีภาพการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงขึ้น เพราะมีความจำเป็นต้องมีการจับมือกันทำธุรกิจ และหาพันธมิตรที่มีกลยุทธ์ที่ดีมาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น


ผมว่าน่าจะเห็นการควบรวมกันมากขึ้นของธนาคารพาณิชย์ แต่ใครจะควบรวมกิจการกับใคร คงต้องติดตามดูกันต่อไป นายบัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าจะมีปัจจัยที่อาจจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของสถาบันการเงินบ้าง แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินน่าจะปรับตัวได้ และมีความท้าทายที่ต้องระมัดระวัง แต่เชื่อได้ว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปีหน้าน่าจะดีขึ้น เพราะผ่านการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 ไปแล้วในสิ้นปีนี้

นายบัณฑิต กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจสถาบันการเงินในปี 2551 คงเป็นภาพของการปรับตัว และต้องเชื่อมโยงกับภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะถ้าขยายตัวดี สินเชื่อก็จะขยายตัวตาม แต่ถ้ามีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น สถาบันการเงินก็คงได้รับแรงกดดันด้านหนี้เสีย นอกจากนี้ ภาวะน้ำมันแพง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพแพงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนตึงตัวมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ต้องดูกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน รวมถึง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับ ใหม่ ที่ผ่านสภาออกมาบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ด้วย
http://www.msnth.com/msn/money2/content ... 347&ch=227
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news18/12/07

โพสต์ที่ 278

โพสต์

แบงก์ไม่สนลูกค้าเงินด่วน

โพสต์ทูเดย์ แบงก์ไม่เสี่ยงปล่อยสินเชื่อบุคคลกลุ่มรากหญ้า แม้ทางการกวาดเงินกู้เถื่อน


น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร ไม่รับลูกค้าทั่วไปที่เดินเข้ามาติดต่อสาขา แม้ทางการจะมีมาตรการกวาดล้างเงินกู้นอกระบบและเงินด่วนออกมา จะทำให้ลูกค้าหันมาใช้สินเชื่อในระบบมากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร

ทั้งนี้ หากลูกค้าต้องการใช้สินเชื่อ ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่ธนาคารระบุ คือมาตรฐานรายได้ผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลขั้นต่ำที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตลาดต้องทำความเข้าใจมาก ไม่เช่นนั้นธนาคารก็อันตรายมาก สุดท้ายถ้าหนี้เสียเยอะก็กินทุน และส่งผลต่อผู้ถือหุ้น แต่ก็ยอมรับว่าถ้าทำธุรกิจนี้ได้ดีก็มีกำไรมาก น.ส.ขัตติยา กล่าว

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ได้จับมือปราบปรามเงินกู้ด่วนที่คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ซึ่งผิดกฎหมาย โดยเงินกู้เหล่านี้มีการปิดป้ายตามเสาไฟฟ้า และมักปล่อยให้กับคนระดับล่างที่หมุนเงินไม่ทัน

น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า ปัญหาของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้าทั่วไป และมีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท คือ เรื่องความพร้อมของระบบ เพราะยิ่งลูกค้าที่มีฐานรายได้ต่ำ ธนาคารก็ต้องมีความพร้อมในการเก็บฐานข้อมูลแบบรายวัน แนวทางปฏิบัติเหมือนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นันแบงก์) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องใช้เวลากว่า 2-3 ปี ระบบถึงจะมีความพร้อม

ปัจจุบันธนาคารก็ไม่ได้รุกสินเชื่อส่วนบุคคล ฐานสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอยู่ 8 พันล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ขณะที่ปีหน้าตั้งเป้าการเติบโต 30% จากปีนี้ที่มีอัตราการเติบโตสินเชื่อส่วนบุคคล 15% โดยใช้วิธีเดิมคือ ติดต่อผ่านบริษัทที่ใช้บัญชีเงินเดือนกับธนาคาร

นายลือชา ศุกรเสพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า มาตรการกวาดล้างเงินกู้นอกระบบของทางการจะทำให้คนกู้หันเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่ก็คงติดกฎระเบียบของธนาคารเรื่องฐานรายได้ขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งธนาคารจะไม่ผ่อนคลายเกณฑ์รายได้ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในปีหน้าหลังกลุ่มไอเอ็นจี ซึ่งเป็นพันธมิตรใหม่เข้ามาจะเห็นการรุกผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่ตั้งเป้าเติบโต 30% จากฐานปัจจุบันกว่า 2 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังตั้งเป้ารุกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตั้งเป้าเติบโต 80%

ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและประกันชีวิตถือเป็นธุรกิจที่กลุ่มไอเอ็นจีมีความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยอาศัยสาขาของธนาคารที่มีจำนวนมาก
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=209630
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news19/12/07

โพสต์ที่ 279

โพสต์

กลุ่มธนาคาร: ยอดขายรถยนต์เดือนพ.ย.ทรงตัวจากเดือนก่อน

19 ธันวาคม พ.ศ. 2550 15:45:00

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :    ยอดขายรถยนต์เดือนพ.ย.ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 57,100 คัน: จากข้อมูลของโตโยต้า ยอดขายรถยนต์เดือน พ.ย.ลดลงเล็กน้อยที่ 0.14% เทียบจากเดือนก่อน และลดลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 14.3% จากปีก่อนและ 10% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 13,600 คันในเดือนพ.ย. ขณะที่ยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รถตู้และรถกระบะ) เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อนและ 1.5% จากเดือนก่อนเป็น 43,200 คัน สังเกตว่าใน 11 เดือนแรกของปียอดขายยานยนต์รวมลดลง 5.1% จากปีก่อนเป็น 566,900 คัน

    แนวโน้มดีขึ้นสำหรับผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อในเดือนธ.ค.: การฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีปัจจัยหลักมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการทำโปรโมชันอย่างมาก ทั้งในส่วนผู้ผลิต และ สถาบันการเงิน ตั้งแต่เดือนมิ.ย. โดยเราคาดว่ายอดขายรถยนต์จะแข็งแกร่งในเดือนธ.ค. เนื่องจากมีงานมอเตอร์ เอ๊กโป มีการปิดยอดขายประจำปี 2550 และจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเราคาดว่ายอดขายรถยนต์จะปรับตัวดีขึ้นดีในปี 2551 ซึ่งพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของ BAY TCAP TISCO และ KK คาดว่าจะขยายตัวตามยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : บล.บัวหลวง
http://www.bangkokbiznews.com/2007/12/1 ... sid=212989
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news19/12/07

โพสต์ที่ 280

โพสต์

แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 51 เติบโตในลักษณะที่ระมัดระวัง

19 ธันวาคม พ.ศ. 2550 14:04:00

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :   ถึงแม้ว่าในไตรมาส 3/2550  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเปิดเผยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 4.9% สูงกว่า 4.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ   แต่สำหรับสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น อาจกล่าวได้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  รวมถึงสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังไม่ได้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 3/2550  

  ทั้งนี้ ในปี 2551 แม้เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงขึ้นกว่าเดิม หากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน สามารถคลี่คลายลงหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกหลายประการ ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวยังดำเนินไปในลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเนื่องจากปี 2550 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้

สถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา ... ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

   จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ซึ่งใช้ชี้วัดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการค้าและบริการนั้น พบว่า ดัชนีดังกล่าวในไตรมาส 3/2550 อยู่ที่ระดับ 42.3 ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 44.2 ในไตรมาส 2/2550 และ 46.4 ในไตรมาส 1/2550 ตามองค์ประกอบที่ปรับตัวลดลงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีกำไร ดัชนียอดจำหน่าย ดัชนีการลงทุน และดัชนีการจ้างงาน ขณะที่ดัชนีต้นทุนเริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2550 ในทำนองเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ชะลอตัวลงเช่นกันจาก 48.7 ในไตรมาส 1/2550 มาที่ 46.9 ในไตรมาส 2/2550 และ 46.4 ในไตรมาส 3/2550

  ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของธุรกิจเอสเอ็มอี (นอกภาคเกษตร) นั้น ข้อมูลในปี 2549 เติบโต 4.8% เท่ากับของปี 2548 แต่น้อยกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งประเทศที่ 5.0% ขณะที่ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ล่าสุดในไตรมาส 1/2550 นั้น พบว่าจีดีพีของธุรกิจเอสเอ็มอีดังกล่าว ขยายตัวที่ 3.3% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของประเทศที่ 4.3% สำหรับไตรมาสที่เหลือของปี 2550 นั้น คาดว่าจีดีพีของเอสเอ็มอีในช่วงสองไตรมาสสุดท้ายของปี (ครึ่งปีหลัง) น่าจะขยายตัวสูงกว่าในช่วงไตรมาสแรก และช่วงครึ่งปีแรก ตามสถานการณ์การใช้จ่ายและลงทุนในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตสำหรับทั้งปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จีดีพีของเอสเอ็มอีน่าจะชะลอลงจาก 4.8% ในปี 2549 สอดคล้องกับภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 4.5% ต่ำกว่าของปี 2549 ที่ 5.0%

 สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ไทย 9 เดือนแรกปี 2550 ... ชะลอตัวลง สวนทางกับภาวะการแข่งขันที่ยังคงรุนแรง

  จากการประมาณของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย  ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ขยายตัว 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่สูงขึ้นจาก 5.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 แต่ก็ต่ำกว่า 8.7% ณ สิ้นปี 2549  โดยการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ชะลอตัวลงดังกล่าว คาดว่าจะมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้

  การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องมายังความต้องการสินเชื่อใหม่เพื่อขยายธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย  อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียน หรือสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (Refinance) น่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น

  ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งปัญหาเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ (NPL Re-entry) และเอ็นพีแอลรายใหม่ ดังนั้น จึงนำมาสู่การเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น  

 ทั้งนี้ จากการสอบถามของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางมักประสบปัญหาด้านความสามารถในการจ่ายชำระหนี้มากกว่าลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กและขนาดย่อม โดยคาดว่าจะมีเหตุผลสืบเนื่องจากการที่ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางมีความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการผลิตให้รับมือกับสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ยากกว่าลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะมีปริมาณเงินลงทุนตั้งต้นสูงกว่า

 อย่างไรก็ตาม ในภาวะเช่นนี้ การแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ กลับไม่ได้ลดความรุนแรงลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง มีความจำเป็นที่ต้องเร่งขยายสินเชื่อ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นปี ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาความสามารถในการทำกำไร ซึ่งถูกกดดันจากรายรับที่ลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในช่วงระหว่างปี ตลอดจน การทยอยรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปี 2549  ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต่างใช้ทั้งกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา (สำหรับกลุ่มลูกค้าศักยภาพ หรือที่นิยมเรียกกว่ากลุ่ม ครีม) และด้านที่ไม่ใช่ราคา เช่น ความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ การยกระดับคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมทั้ง การจัดรายการส่งเสริมการขายในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

  ในขณะเดียวกัน เนื่องจากลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง มีความต้องการใช้เงินจากธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเร็ว ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์กลับเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการปรับเงื่อนไขสินเชื่อ หลังจากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ดังนั้น จึงทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีความภักดีต่อธนาคาร (Brand Loyalty) ลดลง หรือเลือกที่จะโยกย้ายการขอสินเชื่อไปสู่ธนาคารที่สามารถให้บริการดังกล่าวได้รวดเร็วและในเงื่อนไขที่ดีกว่า

 แนวโน้มการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2551 ... ขยายตัวเร่งขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นหลังเลือกตั้ง

  สำหรับในปี 2551 คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้นจากปี 2550 เนื่องจาก

 ประการแรก หากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านพ้นไปด้วยดี และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบที่สูงขึ้นจาก 4.5% ในปี 2550 มาที่ 4.5-6.0% ในปี 2551  

 ประการที่สอง ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel II ควบคู่กับหลักเกณฑ์ Basel I ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (Parallel Run) เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะบังคับใช้จริงในช่วงสิ้นปี 2551 ทั้งนี้ ภายใต้ Basel II การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจะมีน้ำหนักความเสี่ยงเครดิตที่ลดลงจากเดิมที่ 100% มาที่ 75% หรืออีกนัยหนึ่งคือ การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจะ กิน เงินกองทุนน้อยลงกว่าเดิม ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเหลือไปปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมได้มากขึ้น  โดย ธนาคารพาณิชย์ที่มีพอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนมาก จะได้รับประโยชน์จากเกณฑ์ Basel II มากกว่า

 ขณะเดียวกัน การปรับน้ำหนักพอร์ตสินเชื่อโดยลดการพึ่งพิงลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ลง จะช่วยทำให้พอร์ตสินเชื่อในภาพรวมมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อ (Concentration Risk) ลดลงด้วย  

  ประการที่สาม สินเชื่อเอสเอ็มอี ยังคงให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อรายย่อยบางประเภท อีกทั้งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมในระดับสูง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะลูกค้าขนาดเล็ก มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ กอปรกับปริมาณธุรกรรมทางการเงินยังไม่มากนัก จึงทำให้มักมีธนาคารพาณิชย์หลัก (Main Bank) เพียง 1-3 แห่ง ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีอำนาจในการต่อรองราคามากนัก  

 ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่เริ่มมีกระแสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ไทยตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาส 3/2550 ที่ผ่านมา อันจะเพิ่มต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายและกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จึงน่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 8.0-10.0% เทียบกับประมาณ 6.0-8.0% ในปี 2550 และ 6.3% ที่ทำได้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา

 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อสินเชื่อเอสเอ็มอีและคุณภาพหนี้

  ถึงแม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อาจสดใสขึ้น เมื่อปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง  แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลากหลายด้าน เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาความอ่อนแอในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางเร่งขึ้นตามการทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการ รวมถึง การที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศถึงจุดต่ำสุดแล้วและเตรียมเข้าสู่ช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น    

 ดังนั้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะยังคงใช้ความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไปในปี 2551 ขณะที่คงจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายและเพื่อผลตอบแทน  กับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกกดดันให้ต้องขยายฐานลูกค้าลงไปสู่ระดับล่างของตลาดมากขึ้น

  กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น แม้จะน่าเป็นห่วง แต่ก็คงจะอยู่ในขอบเขตที่สามารถรับมือและจัดการได้ เนื่องจากระบบบริหารความเสี่ยงเครดิตของธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง การติดตามประวัติเครดิต จะดำเนินการเป็นรายลูกหนี้ ซึ่งจะครอบคลุมถึงตัวชี้วัดทั้งการจ่ายชำระหนี้ล่าช้า และคะแนนเครดิต ที่จะสัมพันธ์กับโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Probability of Default) ซึ่งคำนวณจากทั้งข้อมูลงบการเงินและพฤติกรรมทางการเงิน (Behavior) ของลูกค้า  

 นอกจากนี้ การควบคุมความเสี่ยงเครดิตดังกล่าว ยังได้รับการปรับปรุงไปถึงขั้นตอนการหาลูกค้า โดยจะมีการนำคุณภาพของลูกหนี้ เข้าไปร่วมในการประเมินผลการดำเนินงานของผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าด้วย  ขณะที่ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดที่เล็กลงไป ธนาคารพาณิชย์มีระบบติดตามหนี้อัตโนมัติเมื่อมีการชำระหนี้ล่าช้า (ธนาคารพาณิชย์มีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ แม้มีการชำระล่าช้าไปเพียง 1 วัน) ผ่านการส่งจดหมายทวงถามหนี้ โทรศัพท์ หรือส่งข้อความทางมือถือ (SMS) เป็นต้น  ซึ่งมาตรการและความพยายามต่างๆ ทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยลดโอกาสที่สินเชื่อจะถดถอยจนกลายเป็นเอ็นพีแอลได้

การแข่งขันด้านราคาน่าจะลดบทบาทลงในระยะถัดไป

    แม้ว่ามาร์จินของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูง จะเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคากับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีระดับคุณภาพที่มีอำนาจการต่อรองสูงและเป็นที่ต้องการของธนาคารคู่แข่ง แต่เมื่อทุกธนาคารดำเนินกลยุทธ์ในลักษณะเดียวกัน ก็คงจะส่งผลกระทบต่อมาร์จินของสินเชื่อประเภทนี้เหมือนๆ กัน และไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์  

 ดังนั้น กลยุทธ์การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2551 จึงน่าจะมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันที่ไม่ใช่ราคามากขึ้น ผ่านการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การปรับเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อที่ให้น้ำหนักกับกระแสเงินสดมากขึ้น (อาศัยหลักประกันลดลง) ตลอดจน การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละประเภทอุตสาหกรรม อันจะทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งการจัดรายการส่งเสริมการขายที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ เป็นต้น    

 นอกจากนี้ เนื่องจากการเจาะตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีในระยะถัดไป คงจะต้องลงไปสู่เอสเอ็มอีตลาดล่าง หรือธุรกิจที่มีขนาดเล็กลง มากขึ้น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงทำให้น่าจะเห็นกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดภูมิภาคที่เข้มข้นขึ้นเช่นกัน ทำให้อาจต้องอาศัยจำนวนพนักงานขาย และพนักงานดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาในต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

  โดยสรุปแล้ว ปี 2551 คงจะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยรุกตลาดเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความคาดหวังในเรื่องอัตราผลตอบแทน จากทั้งการขยายสินเชื่อที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจ รวมทั้ง มาร์จินของสินเชื่อประเภทนี้และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น สภาวะการแข่งขันจึงน่าจะยังคงมีความรุนแรง  

 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังปรากฎอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่สืบเนื่องจากปัญหาความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ รวมทั้ง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้น และการที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศเตรียมเคลื่อนเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นแล้วนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะตอกย้ำถึงปัญหาคุณภาพสินเชื่อจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าว   ดังนั้น การขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีหน้า แม้จะสดใสขึ้น แต่ก็ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง ...  

ที่มา : บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
http://www.bangkokbiznews.com/2007/12/1 ... sid=212927
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news20/12/07

โพสต์ที่ 281

โพสต์

กม.เลิกค้ำเงินฝากฉลุย สนช.เปิดช่องรื้อเกณฑ์

โพสต์ทูเดย์ สนช. ผ่านฉลุย พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เลิกอุ้มบัญชีเกิน 1 ล้านบาท เริ่มเดือน ก.ค. 2555


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครอง เงินฝาก พ.ศ. ... ในวาระ 2 และ 3 ด้วยมติ 129 เสียง จาก 134 เสียง มีผู้ไม่เห็นด้วย 4 เสียง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. 2551

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่ที่มาตรา 70 ซึ่งกำหนด วงเงินในการคุ้มครองเงินฝาก ปีแรกจะคุ้มครองเต็มจำนวน ปีที่ 2 หรือตั้งแต่เดือน ก.ค. 2552 ลดเหลือ 100 ล้านบาทต่อบัญชี ปีที่ 3 หรือ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2553 เหลือ 10 ล้านบาท ปีที่ 4 หรือตั้งแต่เดือน ก.ค. 2554 เหลือ 10 ล้านบาท และปีที่ 5 หรือตั้งแต่เดือน ก.ค. 2555 เป็นต้นไป จะคุ้มครองเงินฝากเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สนช. กล่าวว่า การขอแก้ไขของรัฐบาล ในอนาคต ไม่ควรลดวงเงินการ คุ้มครองให้น้อยกว่าที่ พ.ร.บ.กำหนด ควรให้แก้ไขได้ในเฉพาะกรณีเพิ่ม วงเงินคุ้มครอง

ด้านนายอัมมาร สยามวาลา สนช. กล่าวว่า กรณีที่มีสถาบัน การเงินมีปัญหาและปิดกิจการพร้อมกัน 1 หรือ 2 แห่ง อาจทำให้รัฐบาลมีปัญหา ก็ควรจะเปิดให้รัฐบาลสามารถแก้ไขพระราชกฤษฎีกาลด หรือเพิ่ม เพราะจะช่วยให้การเมืองมีความคล่องตัว

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงเวลาในการบังคับใช้กฎหมายยืดหยุ่นพอสมควร น่าจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ฝากเงินมากนัก หรือหากรัฐบาลเห็นว่ายังไม่เหมาะสมที่จะลดวงเงิน คุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี ก็อาจจะขอแก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาได้
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=210032
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news24/12/07

โพสต์ที่ 282

โพสต์

คนฝากตื่นแยกลงทุน

โพสต์ทูเดย์ ลูกค้าเงินฝากดิ้น รับมือ กม.คุ้มครองเงินฝากเบนเข็มกระจายความเสี่ยง ไปลงทุนพันธบัตรอสังหาริมทรัพย์และทองคำ


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีผลบังคับใช้คุ้มครองเงินฝากบัญชีละ 1 ล้านบาท ตั้งแต่ เดือน ก.ค. 2555 นั้น ถือว่าเป็นการให้เวลาสถาบันการเงินปรับตัว แต่ ในด้านผู้ฝากเงินได้ปรับตัวเอง เพื่อเรียนรู้ความเสี่ยงในอนาคตว่าควรจะฝากเงิน หรือนำเงินเก็บไปลงทุน ที่แตกต่างว่าผู้ฝากเงินรายย่อยจะยังได้รับการคุ้มครองเต็มที่

นายอำพล โพธิ์โลหะกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ทำแบบสอบถามลูกค้าของธนาคารที่มีเงินฝากตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ปรากฏว่า ลูกค้าจะกระจายเงินฝากโดยใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้เน้นฝากเงินเป็นหลักและฝากประมาณ 2 ธนาคาร

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสนใจกระจายการลงทุน คือ พันธบัตร การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และลงทุนในทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยง

อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะบังคับใช้ประมาณกลางปี 2555 แต่ลูกค้าจะเริ่มกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ก่อนที่กฎหมายบังคับส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเริ่มปรับตัว โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่เริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย มีการแข่งขันด้าน ราคาเกิดขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า

นายอำพล กล่าวว่า หลังจากกฎหมายบังคับใช้ลูกค้าจะไม่มองเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่จะมองเรื่องความมั่นคงของสถาบันการเงินเป็นหลัก รองลงมาเป็นความสะดวกการให้บริการและเรื่องราคาจะเป็นเรื่องสุดท้าย

ยิ่งลูกค้าที่เงินฝากไม่สูงมากส่วนต่างดอกเบี้ย 0.25-0.5% เมื่อคำนวณออกมาเป็นเม็ดเงินที่ต่างกันไม่มาก ลูกค้าก็จะไม่วิ่งหาดอกเบี้ย ที่สูงสุด นายอำพล กล่าว

นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เชื่อว่าจะเห็น ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กย้ายเงินฝากมายังธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ภายใน 5 ปีนี้ ซึ่งกฎหมายนี้มี ผลต่อภาวะทางจิตใจมากกว่า จึงทำให้ลูกค้ามองว่าไม่จำเป็นต้องย้ายเงินเมื่อกฎหมายบังคับใช้

ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการสอบถามลูกค้าเบื้องต้นและจะลงลึกใน รายละเอียดประมาณต้นปีหน้า ซึ่งพบว่าลูกค้าจะนำเงินไปลงทุน ตราสารทางการเงินมากขึ้น

ตอนนี้ธนาคารเล็กต้องเหนื่อยหน่อย ส่วนไทยพาณิชย์เชื่อว่าจะ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาหาเรามากขึ้น ภายใน 5 ปีนี้ แต่เราก็ไม่ได้ประมาทแม้การประเมินออกมาจะเป็นบวก ซึ่งปีหน้าธนาคารตั้งเป้าหมายระดมเงินฝากเป็น 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 8 แสนล้านบาท นายรุ่งเรือง กล่าว
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=210718
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news27/12/07

โพสต์ที่ 283

โพสต์

KBANKแชมป์จ่ายโบนัส- ให้สูงสุด3เดือนครึ่ง BBL-SCBการันตี2เดือน

พนักงานแบงก์ยิ้มแก้มปริรับโบนัส ปี 50 เผย KBANK จ่ายมากสุด 3 เดือนครึ่ง ขณะที่ BBL-SCB ให้เท่ากัน 2 เดือน ส่วนนครหลวงไทยแม้ขาดทุนในปีนี้แต่ก็จ่ายโบนัสพนักงาน 1 เดือนครึ่ง ส่วน KTB อุบเงียบไม่ยอมเปิดเผย แต่การันตีมีแน่นอน


แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า สำหรับเงินโบนัสของพนักงานในปี 2550 คาดว่าน่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนครึ่ง โดยอัตราเงินโบนัสดังกล่าว ธนาคารจะแบ่งให้ โดยในส่วนของพนักงานแบงก์ตำแหน่งทั่วๆไปจะเป็นการคงอัตราเงินโบนัสที่ 3 เดือนครึ่ง แต่หากพนักงานแบงก์ที่ดำรงตำแหน่งสูงจะได้รับเงินโบนัสตามความสามารถในการดำเนินงาน ซึ่งไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่า แต่ละคนได้โบนัสมากน้อยแค่ไหน

โบนัสธนาคารของปีนี้ คาดว่าน่าจะได้ประมาณ 3 เดือนครึ่ง ซึ่งน่าจะได้ช่วงหลังเดือนมกราคม 2551 ไปแล้ว เนื่องจากธนาคารยังต้องรอดูผลกำไรของธนาคารในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ก่อนว่า จะได้มากน้อยแค่ไหน และกำไรที่ได้มีการจัดไปใช้ในส่วนใดบ้าง แต่เชื่อว่าโบนัสปีนี้ไม่น้อยกว่าปี 2549 แน่นอน แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ในส่วนของเงินโบนัสพนักงานแบงก์ในปีนี้ โดยธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานทุกคนในอัตราส่วน คือ 2 เดือน และหากธนาคารมีผลประกอบการกำไรดี ธนาคารก็จะมีเงินโบนัสที่เรียกว่า โบนัสตามผลกำไรให้พนักงานได้อีก 1 เดือน ทั้งนี้ ในส่วนของโบบัสตามผลประกอบการนั้น ธนาคารจำเป็นต้องรอดูผลดำเนินงานของปีนี้อีกครั้งหนึ่ง

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารได้มีการนำเงินโบนัสที่คาดว่าจะให้กับพนักงานแบงก์ทุกคนมาหารเฉลี่ยเข้าไปในฐานเงินเดือนของพนักงานของแต่ละคนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ธนาคารจะมีเงินตอบแทนพิเศษตามผลประกอบการธนาคารให้อีก ซึ่งธนาคารจำเป็นต้องรอดูผลประกอบการธนาคารในแต่ละปีอีกครั้งว่าจะมีกำไรมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ ในส่วนของเงินโบนัสพิเศษนั้นในแต่ละปีจะได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น สำหรับโบนัสพิเศษที่ธนาคารจะให้ในปีนี้ ยอมรับว่าไม่สามารถบอกรายละเอียดได้

เงินโบนัสธนาคารได้มีการจัดสรรใหม่แล้ว โดยการจะนำเงินโบนัสที่จะให้มาหารเฉลี่ยโดยวิธีคำนวณของธนาคาร แล้วนำไปใส่ไว้ในเงินเดือนของพนักงานแต่ละบุคคลไว้เรียบร้อยแล้ว หลักจากนี้ธนาคารก็จะมีเงินตอบแทนพิเศษให้พนักงานทุกคน แต่นั้นหมายความว่าธนาคารจะต้องมีผลกำไรที่ดี ซึ่งในแต่ละปีเงินดังกล่าวไม่เคยให้เท่ากันเลย แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารได้จัดสรรเงินโบนัสให้กับพนักงานธนาคารปีนี้ไว้ที่ 2 เดือน และธนาคารยังมีเงินช่วยเหลือพิเศษไว้ให้อีก 1 เดือน โดยเงินโบนัสที่พนักงานจะได้รับแน่นอนนั้น ธนาคารได้แบ่งจ่ายเป็น 2 ครั้งด้วยกัน คือ 6 เดือนแรกพนักงานจะได้รับเงินโบนัสประมาณ 1 เดือน และ 6 เดือนหลังธนาคารจะจ่ายเงินโบนัสให้อีก 1 เดือน ซึ่งเงินโบนัส 1 เดือนที่เหลือกับเงินช่วยเหลือพิเศษนี้ พนักงานจะได้รับช่วงหลังวันที่ 21 มกราคม 2551 นี้

แหล่งข่าวจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB กล่าวว่า ในปีนี้พนักงานธนาคารจะได้รับเงินโบนัสประมาณ 1 เดือนครึ่ง แต่เงินโบนัสดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธนาคารด้วยว่า ปีนี้จะมีเงินกำไรมากน้อยเพียงใด ซึ่งเชื่อว่าหลังเดือนมกราคม 2551 ไปแล้ว พนักงานน่าจะได้รับเงินโบนัสนี้กันทุกคน
http://www.settrade.com/S17_ContentDisp ... egoryId=16
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news27/12/07

โพสต์ที่ 284

โพสต์

เสนอรัฐฟื้น พรบ.เงินตรา ลดภาระหนี้

โพสต์ทูเดย์ กสิกรชี้ภารกิจรัฐบาลใหม่ ปัดฝุ่น พ.ร.บ.เงินตรา-เลิกสำรอง 30%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่ควรผลักดัน พ.ร.บ.เงินตรา ขึ้นมาปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพใน การจ่ายชำระคืนหนี้พันธบัตร ที่กระทรวงการคลังออกเพื่อ ชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 เนื่องจากเป็นการเตรียมความพร้อมให้ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐจะหยิบยกเรื่องการเปิดเสรีภาคการเงินขึ้นมาเจรจากับไทยอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปี 2551

สำหรับนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น รัฐบาลใหม่น่าจะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้า 30% แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะผ่อนคลายแล้วก็ตาม
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=211289
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news27/12/07

โพสต์ที่ 285

โพสต์

ธปท.ชี้3ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจแบงก์ปีหนู เตือนระมัดระวังปล่อยกู้

27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 16:51:00
 
แบงก์ชาติชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจสถาบันการเงินปีหนู หลากมรสุมรุมเร้าทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ความผันผวนตลาดเงินโลก ผลกระทบการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ เตือนระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยแนวโน้มสถาบันการเงินปี 2551 ว่า สถาบันการเงินยังมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัย คือ
1. เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่กระทบต่อการใช้จ่าย ตัวเลขการปล่อยสินเชื่ออาจกดดันต่อเนื่องต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

2. ความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐ ที่ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกน้อยลง เพราะสถาบันการเงินต่างประเทศระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และสถาบันการเงินไทยหันมาระดมเงินภายในประเทศแทน หากขยายการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศเช่นกัน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ 3 คือ ผลกระทบจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ รวมถึง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งหลังปี 2551 จะส่งผลให้สถาบันการเงินไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลตามมาตรฐานสากล จะเกิดการปรับโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในสถาบันการเงิน จาก 25% เป็น 49% ทำให้เกิดการแข่งขันสูง

ขอเตือนสถาบันการเงินว่า ไม่ควรลดหย่อนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ หากมีการแข่งขันที่รุนแรง เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคต และให้ระมัดระวังการนำเงินไปลงทุนหรือปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศ เนื่องจากภาวะการเงินโลกยังผันผวนสูง

รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวจากการขยายการลงทุน ซึ่งจะทำให้สินเชื่อทั้งภาคครัวเรือนและสินเชื่อในการลงทุนขยายตัวขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงมากในหลายปัจจัยข้างต้น ส่วนการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ มั่นใจว่าจะสามารถปรับตัวได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วน พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น เชื่อว่ายังไม่กระทบต่อสถาบันการเงินในปีหน้า เนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ โดยเฉพาะการตั้งองค์กรกำกับดูแลและโอนย้ายหน้าที่ไปยังสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งในส่วนการคุ้มครองเงินฝากประชาชน ยังคุ้มครองเต็มจำนวนในปีหน้า
http://www.bangkokbiznews.com/2007/12/2 ... sid=215792
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news28/12/07

โพสต์ที่ 286

โพสต์

SCBแชมป์หุ้นทำกำไรปีหมู
แบงก์ปีนี้กำไรรวมแค่ 1 หมื่นล้านบาทเพราะหลายแห่งอ่วมสำรองหนัก  แต่สินเชื่อเฉลี่ยทั้งกลุ่มโตดีกว่าปีก่อน  และจีดีพีโดยเฉพาะแบงก์ใหญ่    ส่วนSCBแชมป์ราคาขยันวิ่ง  คาดปีหมูให้ผลตอบแทนดีสุดถึง 17% เบียดด้วยKBANK และBBL  ขณะที่กสิกรยังกอดส่วนต่างดอกเบี้ยมากสุดเพราะคุมต้นทุนได้ดี  เน้นสินเชื่อเอสเอ็มอีให้ผลตอบแทนสูงกว่าสินเชื่ออื่น
    นายวรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) KBANK เติบโต 10.6% ถือว่าเป็นไปตามเป้าที่ธนาคารตั้งไว้ 8-13% และสูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยตั้งไว้ว่าทั้งปีจะเติบโต 10% ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม รองลงมาคือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) SCB โต 8.9% ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) BBL เติบโต 6% สูงกว่าเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 5% ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) SCIB โต 5.9% ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB สินเชื่อโต 3.3%
             ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) BAY สินเชื่อลดลง 3.2% และธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) TMB ลดลง 12.7% ส่วนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เช่น ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) KK สินเชื่อ 11 เดือนแรกโต 24.6% ธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) TISCO สินเชื่อโต 18.2% ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน)TBANKโต 10.8%
    สำหรับปี 2550 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านระบบบัญชีตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ที่มีการประเมินคุณภาพสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ธนาคารมีหนี้เสียลดลง แต่จะกระทบต่อกำไรเนื่องจากมีการตั้งสำรองสูงขึ้น จึงคาดว่าสินเชื่อปี 2550อาจจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549
    นายธนัท  รังษีธนานนท์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะมีกำไรสุทธิปีนี้รวม 1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2549ที่มีอยู่ 79% โดยสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโต 5.3%สูงกว่าปี 2549 ที่สินเชื่อเติบโต 4.3% ซึ่งสินเชื่อโดยรวมของปีนี้เติบโตดีกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพี โดยเฉพาะในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
    สำหรับธนาคารที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นมากที่สุด คือ SCB คาดว่าอยู่จะที่ 17% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.4%  KBANKอยู่ที่ 16% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 16.4% BBL อยู่ที่ 12.8% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 12.4% และ KTB อยู่ที่ 8.5% ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 16%
    สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปีนี้ KBANK ยังเป็นธนาคารที่รักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไว้ได้สูงที่สุด 4%เนื่องจาก KBANKเน้นสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ให้ผลตอบแทนสูง และธนาคารมีการบริหารต้นทุนที่ดี  ส่วนSCB และ KTB คาดว่าจะอยู่ที่ 3.7-3.8%  ส่วนราคาหุ้นในปี 2550 ถือว่าธนาคารขนาดใหญ่ราคาหุ้นเป็นไปตามเป้าหมาย ยกเว้นKTB ที่ราคาลดลงต่ำกว่าคาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจข้อมูลราคาหุ้นกลุ่มธนาคารตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-26 ม.ค.50ที่ปรับขึ้นมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ SCB เพิ่มขึ้น 47.41%จากราคาปิดล่าสุดที่ 85.50 บาท เทียบจากต้นปีที่ 58.00 บาท ,BAYเพิ่มขึ้น 39.95% จากราคาปิดล่าสุด 25.75 บาท เทียบต้นปีที่ 18.40 บาท ,KBANK เพิ่มขึ้น 39.02% จากราคาปิดที่ 85.50 บาท เทียบกับต้นปีที่ 61.50 บาท, TBANK เพิ่มขึ้น 36.61% จากราคาปิดล่าสุด 12.50 บาท เทียบกับต้นปีที่ 9.15 บาทและTISCO เพิ่มขึ้น 31.82% จากราคาปิดล่าสุด 29.00 บาท เทียบกับต้นปีที่ 22.00 บาท  
http://www.thunhoon.com/home/
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news28/12/07

โพสต์ที่ 287

โพสต์

กระตุ้นตลาด บัตรเดบิตใหม่ ปีหน้าโต24%

โพสต์ทูเดย์ กสิกรชี้ตลาด บัตรเดบิตไม่คึกคัก แต่เชื่อปีหน้า ยังโต 24%


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มลูกค้าพบว่า ส่วนใหญ่ ไม่ต้องการเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มเป็นบัตรเดบิต คิดเป็น 76.1% เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้คิดเป็น 48% ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมาคือ ไม่ต้องการเปลี่ยน เนื่องจากค่าธรรมเนียมแพง คิดเป็น 21.6%

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าบัตรเดบิตนั้นไม่มีความปลอดภัย คิดเป็น 15.7% และมีบัตรเครดิตอยู่แล้ว คิดเป็น 48%

อย่างไรก็ตาม จำนวนบัตรเดบิตน่าจะยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2551 จะมีประมาณ 22.75 ล้านบัตร ขยายตัว 24% ซึ่งจะชะลอลงจากที่ขยายตัว 31% ในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีบัตรเดบิตประมาณ 18.35 ล้านบัตร สาเหตุ น่าจะมาจากการเร่งทำแคมเปญขยายฐานบัตรเดบิต การผลักดันให้ลูกค้าเก่าเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต โดยการยกเลิกออกบัตรเอทีเอ็มและเปลี่ยนมาเป็นบัตรเดบิตแทน

สำหรับแนวโน้มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในปี 2551 คาดว่า น่าจะมีประมาณ 4.49 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 19.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 17.2% ในปี 2550 ที่น่าจะมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต 37.5 พันล้านบาท
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=211443
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news28/12/07

โพสต์ที่ 288

โพสต์

แบงก์กองทุนหดเจอกฎใหม่ธปท.

โพสต์ทูเดย์ ธนาคารพาณิชย์อ่วม บัณฑิต คาดบาร์เซิล 2 ทำบีไอเอสทั้งระบบลด 1.5%


นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่า การด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ประเมินธนาคารพาณิชย์ว่า หากใช้เกณฑ์บาร์เซิล 2 จะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง เฉลี่ยรวมกันอยู่ที่ 15.1% ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง แต่บาร์เซิล 2 อาจทำให้บีไอเอสลดลง 1.5%

กฎกติกาใหม่ๆ ที่มีผลในปีหน้า จะทำให้สถาบันการเงินต้องปรับตัวมาก และจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านกติกาของระบบสถาบันการเงินมากเป็นพิเศษ ประเด็นหลัก คือ อยากให้สถาบันการเงินบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจ นายบัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ ในปีหน้าสถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และกรอบ กติกาใหม่ ได้แก่ การปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากลทั้งบาร์เซิล 2 การกำกับแบบรวมกลุ่ม (คอนโซดิเดต ซูเปอร์วิชัน) และมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ เช่น IAS39 และการปรับมูลค่าทางการตลาด (มาร์กทูมาร์เก็ต) ของธุรกรรมอนุพันธ์การเงิน

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และแผนแม่บทระยะที่ 2 (มาสเตอร์แพลนระยะที่ 2)

นายบัณฑิต กล่าวว่า บาร์เซิล 2 ที่จะเริ่มใช้ปลายปีหน้า จะไม่มีการเลื่อนระยะเวลาการใช้ออกไป ธนาคารต้องคำนวณเงินกองทุนของสถาบันการเงินตามบาร์เซิล 2 ควบคู่ไปกับ บาร์เซิล 1 ภายในเดือน ม.ค. 2551 ธนาคารพาณิชย์จะต้องรายงานให้ ธปท.ทราบถึงสถานะของเงินกองทุนเป็นครั้งแรก
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=211445
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news28/12/07

โพสต์ที่ 289

โพสต์

ธปท.ชี้ปีหน้ากู้รายย่อยพุ่ง

โพสต์ทูเดย์ ธปท. ชี้ปีหน้าสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตกระฉูด งัดกฎหมายใหม่สกัด ธนาคารคุมเข้มความเสี่ยง


นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวในปี 2551 จะเกิดการบริโภค และการลงทุน ทำให้แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการขยายตัว โดยสินเชื่อที่ขยายตัวมาก คือ สินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในปีหน้าความเสี่ยงด้านเครดิตมีความสำคัญมากที่สุดในระบบสถาบันการเงิน

จะมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนเอกชนมากขึ้น รวมถึงจะเห็นการขยายสินเชื่อบุคคล แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีโอกาสมากกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก และการปล่อยสินเชื่อจะมุ่งลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อบริโภคเป็นสำคัญ นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า สิ่งที่สถาบันการเงินไม่ควรทำ คือ การลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อจากการแข่งขัน เพราะอาจสร้างปัญหาในอนาคต เนื่องจากปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ยังเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ฉะนั้นสถาบันการเงินควรมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี

นายบัณฑิต กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ที่จะเริ่มใช้ในครึ่งหลังของปี 2551 ได้ให้อำนาจ ธปท.กำกับดูแลความมั่นคงของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งครอบคลุมถึงการจำกัดการให้สินเชื่อแก่บางภาคธุรกิจ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หากพิจารณาว่าอาจเกิดความเสี่ยงกับธุรกิจทั้งระบบ

รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อบางประเภทที่ขยายตัวสูง ธปท.ก็จะวางหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อนั้นให้ละเอียดมากขึ้น อย่างในอดีต สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือสินเชื่อบัตรเครดิตก็จะมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีการปล่อยสินเชื่อมากจนเกินไป

ก่อนหน้านี้ นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน ขณะที่เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตอยู่ที่ 3% เพิ่ม ขึ้นในอัตราที่ไม่สูงนัก รวมทั้ง ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนก็ยังดีอยู่ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว

นายบัณฑิต กล่าวว่า การใช้จ่ายในประเทศปีหน้าควรขยายตัวมากขึ้น เพื่อทดแทนการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัว แต่ราคาน้ำมัน ปัญหาเงินเฟ้อ และความผันผวนของเงินทุนต่างประเทศจะเป็นความเสี่ยง อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งหากการฟื้นตัวล่าช้าก็จะเป็นแรงกดดันต่อหนี้เอ็นพีแอล

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจ และตลาดการเงินของโลกก็จะมีปัญหาจากลูกหนี้สินเชื่อต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากขึ้น และปัญหาในระบบการเงินของสหรัฐอาจกระทบการปล่อยสินเชื่อ และภาวะสภาพคล่อง

นอกจากนี้ ในปีหน้าจะมีความผันผวนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจมีผลต่อการลงทุน และการขยายสินเชื่อในต่างประเทศ
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=211442
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news29/12/07

โพสต์ที่ 290

โพสต์

ขึ้นดอกเบี้ยรับเงินฝืด

โพสต์ทูเดย์ แบงก์ ฟันธงปีหน้าขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่ม แถมเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน ทำสภาพคล่องหดทำดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น


แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มดอกเบี้ยในปีหน้าเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากสภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ วัดจากผลรวมของเงินสด ยอดการให้กู้สุทธิในตลาดกู้ยืม ระหว่างธนาคารหรืออินเตอร์แบงก์ และยอดการให้กู้สุทธิในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) มีจำนวนลดลงราว 5.74 หมื่นล้านบาท จาก 7.36 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ 6.79 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2550 สอดคล้องกันกับฐานะเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ผลต่างของยอดคงค้างเงินฝากและยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อสุทธิมีจำนวนลดลงจาก 1.03 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ประมาณ 9.23 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2550

แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้สภาพคล่องในประเทศลดลงอย่างรวดเร็วมาจาก การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะลดลงจากปี 2550 เพราะการส่งออกของไทยอาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจาก 18.5% ในปี 2550 มาที่ 5.0-12.0% ในปี 2551 อันเป็นผลจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก ทั้งสหรัฐ กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักที่อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

แหล่งข่าว กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ทำงบประมาณขาดดุล จะยิ่งดึงสภาพคล่องออกจากระบบมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันให้ดอกเบี้ยในปีหน้าเป็นขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับลูกหนี้ที่ต้องรับภาระมากขึ้น
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=211625
Linsu_th
Verified User
โพสต์: 497
ผู้ติดตาม: 0

อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร

โพสต์ที่ 291

โพสต์

โบรกฯแนะซื้อหุ้น4แบงก์ใหญ่ ชี้กำไรกระฉูดหลังจบกันสำรอง
นักวิเคราะห์มองทะลุกำไรแบงก์ปี51 ปรับตัวดีขึ้นแน่ หลังหมดภาระกันสำรอง IAS 39 คาดแบงก์บางแห่งกำไรอาจโตถึง 500% แนะลงทุนหุ้น KBANK-SCB-BBL-BAY ชี้ครึ่งแรก สินเชื่อ SMEs และรายย่อย ขยายตัวดี ส่วนสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ที่อ้างอิงการลงทุนภาครัฐต้องรอครึ่งปีหลัง เผยปัจจัยที่ต้องจับตามองและสร้างผลกระทบทางลบต่อแบงก์ การเมืองไม่สงบ-การลงทุนไม่เกิด-ซับไพรมเลวร้ายลงนายธนัท รังษีธนานนท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งใน ปี 2551 จะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะภาระการกันสำรองตามมาตรฐานบัญชี IAS 39 ที่ได้ทำจบสิ้นและหมดภาระไปแล้ว จึงคาดว่าผลกำไรโดยรวมของธนาคารบางแห่งน่าจะขยายตัวได้ถึง 400-500% จากปี 2550 ที่หดตัวประมาณ 76% นอกจากนี้ จากปัจจัยด้านการเมืองหลังการเลือกตั้ง บนสมมติฐานไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในกรอบที่ดีกว่าปีนี้ตามการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภค ซึ่งจะส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ถึง 8% จากปีนี้ที่เติบโตเฉลี่ยประมาณ 5%อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ในปี 2551 โดยประเด็นแรกที่ต้องจับตา คือ การเมือง ที่หากไปได้ด้วยดี  การลงทุนโครงการต่างๆ คงจะเดินหน้าไปได้ ส่วนปัจจัยนอกประเทศที่สิ่งสำคัญ คือ เรื่องปัญหาซับไพรมในสหรัฐอเมริกาที่จะเลวร้ายลงหรือดีขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน ขณะที่ราคาน้ำมัน หากยังปรับตัวสูงขึ้นอีก จะต้องกระทบอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นต่อไป รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์นายธนัทกล่าวว่า สำหรับส่วนต่างอัตรา  ดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์น่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้ เพราะแม้จะมีแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2551 ที่ 0.50% แต่ก็น่าจะปรับขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารที่จะยังสามารถรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไว้ได้ดี คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ 4% รองลงมา คือ ไทยพาณิชย์ (SCB) 3.7% กรุงเทพ (BBL) 3.2% และนครหลวงไทย (SCIB) 3.2% สำหรับธนาคารทหารไทย (TMB) ที่ปีนี้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ ING Bank ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่จะยังไม่มีการเติบโตที่โดดเด่น เนื่องจากต้องใช้เวลาในการจัดโครงสร้างภายในและวางกลยุทธ์ธุรกิจร่วมกัน สำหรับหุ้นที่แนะนำซื้อลงทุน คือ BBL ราคาเป้าหมาย 147 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 98 บาท, SCB ราคาเป้าหมาย 91 บาท ส่วนธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้ราคาเป้าหมายที่ 12.55 บาท โดยอาจจะต้องรอดูนโยบายการกันสำรองหนี้ในปีหน้าประกอบด้วย และ SCIB ราคาเป้าหมายที่ 18 บาท นางสาวกิตติมา สัตยพันธ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สินเชื่อปี 2551 เฉลี่ยของทั้งกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 8-9% หลักๆ จะเป็นการขยายตัวในกลุ่มสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อรายย่อย (retail) โดยรายได้โดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นตามภาระกันสำรองหนี้ ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ (normal     provision) สำหรับหุ้นที่แนะนำซื้อลงทุน คือ BBL และ KBANK รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ด้านนายณาศิส ประเสริฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ บล.ฟาร์อีส กล่าวว่า หุ้นธนาคารที่แนะนำซื้อลงทุน คือ KBANK ราคาเป้าหมาย 102 บาท, SCB ราคาเป้าหมาย 98.50 บาท และ BAY ราคาเป้าหมาย 29.50 บาท โดยให้มุมมองที่เป็นบวกในกลุ่มธนาคาร เพราะจะเป็นปีที่กลับมาขยายตัวมากอีกครั้งตามการลงทุนจากภาครัฐที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่ภาคเอกชน การนำเข้าในช่วงไตรมาส 3 และ 4/50 ที่ขยายตัว ชี้ให้เห็นว่าปี 2551 จะมีการลงทุนสูงขึ้น สอดคล้องกับกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ขณะนี้อยู่ในระดับสูงแล้วช่วงครึ่งแรกของปี กลุ่มที่ขยายตัวดีคงเป็น SMEs และรายย่อย ส่วนสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ ที่อ้างอิงกับการลงทุนของภาครัฐจะชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย และ SMEs จะยังรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ดี เช่น KBANK และ SCB ที่ไตรมาส 3/50 NIM อยู่ที่ 4.7% และ 4.2% ตามลำดับ ซึ่งปีหน้า BAY จะโดดเด่นขึ้นจากการมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น ทำให้จากที่มี NIM ณ ไตรมาส 3/50 ที่ 3.23% ขยับขึ้นใกล้ 4% นายณาศิสกล่าว แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ช่วงปลายปี 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มปรับใช้เกณฑ์ Basel 2 กับธนาคารพาณิชย์เอกชนทุกแห่ง ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับผู้บริหารธนาคารหลายแห่ง ส่วนใหญ่เห็นว่าธนาคารพร้อมกับการใช้เกณฑ์ใหม่นี้ โดยประเมินว่าเงินกองทุนของแต่ละธนาคารจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน แต่เฉลี่ยจะเกิดการลดลงของเงินกองทุน 1-1.5% จากการวิเคราะห์แต่ละแห่งแล้วไม่น่ามีปัญหาโดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ยกเว้นไทยธนาคาร ที่แม้จะเพิ่มทุนแล้วและมีเงินกองทุน 9.5-10% แต่กลับมีสินทรัพย์เสี่ยงจากที่ได้ไปลงทุนในตราสาร CDO ไว้จำนวนมาก จึงอาจยังมีปัญหาเรื่องเงินกองทุนอยู่ ขณะทหารไทยหลังการเพิ่มทุนแล้วมีเงินกองทุนอยู่ 11-12% และได้สำรองหนี้ไปเกือบหมดแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอีกสำหรับผลกระทบจาก IAS 39 น่าจะเหลือน้อย ซึ่งแม้ว่าตามแผนของ ธปท. คาดว่าจะมีการนำมาปรับใช้ทั้งฉบับในปี 2552 แต่ได้มีการปรับใช้มาตรฐานบัญชีนี้ในส่วนสินเชื่อ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธนาคารไปแล้ว ดังนั้นแม้จะปรับใช้ทั้งฉบับ  อาจต้องมีการสำรองสำหรับสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้มีการไปลงทุนไว้ เช่น ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ก็ไม่น่าจะเกิดผลกระทบต่อธนาคารมากนัก
http://matichon.co.th/prachachat/news_title.php?id=995
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news02/01/08

โพสต์ที่ 292

โพสต์

2551ปีทองของพันธบัตร

Posted on Friday, December 28, 2007
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีดังนี้

1. กระทรวงการคลังมีความคล่องตัวในการบริหารหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยกฎหมายเดิมกำหนดให้กระทรวงการคลังต้องรอจนกว่าหนี้ครบกำหนด ถึงจะสามารถกู้เงินใหม่ได้ และถ้าเมื่อใดที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินระยะสั้น และทยอยออกพันธบัตร ซึ่งมีผลให้ตลาดพันธบัตรเกิดความผันผวน แต่ในกฎหมายใหม่อนุญาตให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินล่วงหน้าได้ 12 เดือน และกระทรวงการคลังยังสามารถปรับระยะเวลาการชำระหนี้ให้สั้นลงหรือยาวขึ้นได้ จากเดิมที่ทำได้เพียงขยายเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังสามารถรวมรุ่นพันธบัตรได้ จากปัจจุบันที่มีประมาณ 40 รุ่น ปรับเป็นไม่เกิน 6 รุ่น ได้แก่ พันธบัตรอายุ 2 ปี ,5 ปี ,10 ปี ,15 ปี ,20 ปี และ 30 ปี

2. กระทรวงการคลังมีอำนาจในการกู้เงิน เพื่อปล่อยกู้ให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะทำให้การบริหารหนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยลดต้นทุนให้รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ต้องการกู้เงินด้วย

3. กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อนำมาพัฒนาตลาดตราสารหนี้ได้ ถึงแม้ว่างบประมาณในปีนั้นจะเกินดุลก็ตาม โดยในการออกพันธบัตรใหม่แต่ละครั้ง กระทรวงการคลังจะต้องทราบความต้องการของนักลงทุนก่อน เพื่อที่จะได้ออกพันธบัตรตรงตามความต้องการของนักลงทุนมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดรองได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ตลาดต้องการพันธบัตรที่มีขนาด 6 หมื่น - 1 แสนล้านบาทต่อรุ่นมากที่สุด

4. จัดตั้งกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ โดยเงินของกองทุนจะมาจากเงินกู้ล่วงหน้า 12 เดือน และเงินจากการออกพันธบัตรในกรณีที่งบประมาณไม่ขาดดุล โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด (AAA) เท่านั้น

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการลงทุนในพันธบัตรนั้น ทางกระทรวงการคลังก็มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ทุกเดือน เดือนละ 500 ล้านบาทอยู่แล้ว และขณะนี้กำลังพิจารณาเพิ่มวงเงินเป็น 2 พันล้านบาท เพื่อสนองความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ สบน. ยังเตรียมที่จะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในต้นปี 2551

นายวสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายจัดการกองทุน บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวว่า หลังจากกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ประชาชนหันไปลงทุนในกองทุน รวมถึงตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความมั่นคง ผลตอบแทนค่อนข้างดี และมีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศก็กำลังได้รับความสนใจเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศต่างกันค่อนข้างมาก เมื่อหักค่าประกันความเสี่ยงจากการแปลงเงินดอลลาร์เป็นเงินบาทแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างคุ้มค่า

นายวสุเผยว่า จากการสำรวจลูกค้าเกี่ยวกับความต้องการลงทุนในพันธบัตร พบว่า นักลงทุนรายย่อยต้องการลงทุนพันธบัตรที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนกองทุนต่าง ๆ ต้องการลงทุนในพันธบัตรอายุไม่เกิน 5 ปี ขณะที่กลุ่มประกันต้องการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ทำให้ต้องออกไปลงทุนต่างประเทศแทน

นายวสุเชื่อว่า เมื่อพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ มีผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เพราะจะทำให้ตลาดรองมีสภาพคล่องมากขึ้น ส่วนการออกพันธบัตรระยะยาว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน เพราะสามารถใช้เป็นตัวกำหนดผลตอบแทนของหุ้นกู้ได้
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Har ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news02/01/08

โพสต์ที่ 293

โพสต์

สศค.ชงรัฐบาลใหม่พิจารณาภาษี 3 ตลาดเงิน

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้เตรียมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ปัญหาความลักลั่นในการจัดเก็บภาษีแต่ละประเภท โดยจะเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันทั้งในประเทศและในภูมิภาคได้ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

ทั้งนี้ ที่สำคัญจะเสนอแผนภาษีเพื่อพัฒนา 3 ตลาดการเงินของไทย ได้แก่ ตลาดเงินตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาคโดยจะมีการพิจารณาว่าโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ รวมถึงพิจารณาโครงสร้างภาษีในภาพรวมว่าจะแก้ไขอย่างไรให้ 3 ตลาดการเงินของไทยสามารถแข่งขันได้

"สศค. มองว่าจะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย โดยเฉพาะการส่งเสริม 3 เสาหลักตลาดการเงิน ให้มีความสมดุล ซึ่งจะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคได้"นางพรรณีกล่าว

นอกจากนี้ จะเสนอแผนการปรับโครงสร้างภาษีใน 10 ปีข้างหน้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่จะจัดเก็บใหม่ ได้แก่ ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามสศค.จะมองในภาพรวมว่าหากจะสนับสนุนการแข่งขันควรจะปรับโครงสร้างภาษีอย่างไร

นางพรรณี กล่าวว่า สศค.จะเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการคลังให้กับรัฐบาลใหม่ได้รับทราบ ส่วนนโยบายการใช้จ่าย จะต้องขึ้นอยู่กับโจทย์ของรัฐบาลใหม่ และดูแผนบริหารราชการแผ่นดิน4 ปี หลังจากนั้นจึงจะกำหนดนโยบายให้สอดคล้อง ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

"ถ้ารัฐบาลใหม่ต้องการทำรายจ่ายเพิ่ม สศค.ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร เพราะ 2เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 แม้ว่าจะจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า แต่ทั้งปีงบประมาณมองดูว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้าที่วางไว้ที่1.496 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากเก็บรายได้ได้เกินเป้าก็จะทำให้จัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมได้ง่ายกว่า"

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปีงบประมาณ 2551 จะมีเวลาใช้เงินจริงเพียง 6 เดือนเพราะคาดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2551 หลังจากนั้นจะต้องจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินอีก ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่จะจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมก็เชื่อว่าจะยังอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ โดยในปีงบประมาณ 2551 จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลโดยตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 1.66 ล้านล้านบาท ขาดดุล 1.65 แสนล้านบาท หรือ 1.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

นางพรรณี กล่าวว่า จะรายงานกฎหมายการเงินที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใหม่รับทราบด้วย เพื่อจะได้ดำเนินการให้ต่อเนื่อง เพราะกฎหมายแต่ละฉบับมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสามารถผลักดันกฎหมายการเงินและที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังได้ทั้งหมด 27 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพ.ร.บ.คุ้มครองดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mor ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news02/01/08

โพสต์ที่ 294

โพสต์

Q4แบงก์-บล.กอดคอกำไรทรุด

งบกลุ่มการเงินไตรมาส 4 แผ่ว ธนาคารพาณิชย์กำไรหดเหลือ 2.47 พันล้านบาท ลดลง 67.1% จากไตรมาสก่อนหน้า เหตุ TMB-BT ขาดทุนบักโกรกฉุดงบทั้งกลุ่ม แต่แบงก์ใหญ่ยังกำไรดี ทั้ง BBL SCB KBANK ส่วนกลุ่มโบรกฯดูไม่จืด กำไรลดจากไตรมาส 3 เหตุวอลุ่ม Q4 น้อยกว่า แถมค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะต้องจ่ายโบนัสพนักงาน นักวิเคราะห์เชียร์ซื้อ KBANK SCB BBL BAY SCIB KEST ASP BLS

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 50 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะออกมาในทิศทางขาดทุน เนื่องจากมี 2 ธนาคารหลัก ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่มีผลขาดทุนจำนวนมากถึง 25,000 ล้านบาท และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ที่มีเรื่องของการตั้งเงินสำรอง CDO ซึ่งเข้ามาฉุดให้ผลประกอบการโดยรวมปรับตัวลง

จากการประเมินผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ในเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการสรุปตัวเลขจริง ยอมรับว่าการทำกำไรของกลุ่มแบงก์ทั้งกลุ่มเชื่อว่าน่าจะขาดทุน โดยการขาดทุนดังกล่าวมาจาก 2 ธนาคารหลักที่ชุดให้การทำกำไรของแบงก์ทั้งกลุ่มปรับตัวลงมา คือ TMB และ BT นักวิเคราะห์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ก็ยังนับว่ามีผลประกอบการดีอยู่และแนวโน้มการทำกำไรน่าจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปี 49 โดยในเบื้องต้นจากการประเมินพบว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จะทำกำไรได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 49 ประมาณ 20% ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB คาดว่ามีกำไรประมาณ 4,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 49 ประมาณ 300%

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK คาดว่ามีกำไรประมาณ 3,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 49 ประมาณ 5% ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มีกำไรประมาณ 2,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 49 ประมาณ 390% และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB ทำกำไรได้ประมาณ 950 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 49 ประมาณ 6%


สำหรับทิศทางการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงปี 51 มองว่ามีหลักทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวน่าสนใจและสามารถเข้าไปลงทุนได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ คือ BBL, SCB และ KBANK เนื่องจากมีพื้นฐานดีรองรับกับปัจจัยลบเข้ามากระทบได้ผลประกอบการการเติบโตของสินเชื่อปี 51 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 50

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กประเภทเช่าซื้อ ในช่วงปีนี้ถือเป็นอีกปีที่จะเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์ต่างๆเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะจะช่วยส่งเสริมได้อีกทาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงปี 50 แม้มีปัจจัยลบเข้ามากระทบ แต่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ก็ยังสามารถเดินต่อไปได้ ดังนั้น หากสถานการณ์ปรับไปในทิศทางดีขึ้น ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจมากขึ้น สำหรับธุรกิจเช่าซื้อและน่าสนใจในการเข้าไปลงทุนปีนี้ คือ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK

นักวิเคราะห์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลประกอบการกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.)ทั้งกลุ่มช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 50 คาดว่าน่าจะออกมาในทิศทางดีพอประมาณ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส3/50 ถือว่ามีอัตราที่น้อยกว่ามาก เนื่องจากวอลุ่มการซื้อขายในช่วงQ4/50 มีไม่มากนัก ประกอบกับผลประกอบการQ4/50 มีการรวมเงินโบนัสเข้าไปด้วย ดังนั้น ผลประกอบการดังกล่าวของทั้งกลุ่มดีแต่ไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ทิศทางธุรกิจหลักทรัพย์ช่วงปีนี้ยังมองว่าดีต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าQ1/51 วอลุ่มการซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะเติบโตอยู่ที่ 15,000-20,000 ล้านบาท ส่วนQ2/51 วอลุ่มการซื้อขายน่าจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นอัตราที่ดีส่งผลให้ผลประกอบการของบล.อยู่ในระดับดี ที่สำคัญช่วงต้นปีนี้บล.หลายแห่งจะนำหุ้นไอพีโอเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้วาณิชฯเข้ามาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับหลักทรัพย์กลุ่มบล.ที่น่าสนใจและเหมาะแก่การเข้าไปลงทุนนั้น ยังคงเป็นบล.ขนาดใหญ่เช่นเดิม คือ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS และบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ซึ่งหุ้นทั้ง 3 ตัวนี้นับว่าเป็นน่าลงทุนมากที่สุด

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ จำกัด หรือ TRINITY กล่าวว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไตรมาสสุดท้ายของปี 50 อย่างไม่เป็นทางการคาดว่าน่าจะขาดทุนมากกว่า เนื่องจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB มีผลขาดทุนมากถึง 24,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนของ TMB ส่งผลให้ฉุดยอดการกำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งกลุ่มปรับตัวลงมา

อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงปีนี้ ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการตั้งการสำรองของธนาคารตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดลง ซึ่งเป็นผลให้ธนาคารต่างกลับมาทำกำไรมากขึ้น ที่สำคัญช่วงปีนี้หลายธนาคารมีการหันมาเน้นในเรื่องของค่าธรรมเนียมมากขึ้นด้วย

ดังนั้น หากนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็ทำได้ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ส่วนธนาคารขนาดเล็กประเภทเช่าซื้อรถยนต์ คือธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และบริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส คาดการผลประกอบการไตรมาส 4 ของกลุ่มแบงก์จำนวน 8 แห่งมีกำไรรวมกันทั้งสิ้น 2,476 ล้านบาท ลดลง 67.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดย BAY มีกำไรสุทธิ 1,863 ล้านบาท BBL มีกำไรสุทธิ 4,364 ล้านบาท BT ขาดทุนสุทธิ 3,265 ล้านบาท KBANK มีกำไรสุทธิ 3,598 ล้านบาท KTB มีกำไรสุทธิ 2,731 ล้านบาท SCB มีกำไรสุทธิ 4,658 ล้านบาท SCIB มีกำไร 1,043 ล้านบาท และ TMB ขาดทุนสุทธิ 12,516 ล้านบาท

นอกจากนี้เอเซียพลัสยังคาดว่ากลุ่มแบงก์จะมีการตั้งสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้จัดชั้นเชิงคุณภาพไตรมาส 4 รวมกันประมาณ 32,625 ล้านบาท โดย TMB เป็นแบงก์ที่มีการตั้งสำรองสูงสุดจำนวน 25,428 ล้านบาท

ทั้งนี้เอเซียพลัส แนะนำซื้อหุ้น BAY KBANK SCIB SCB KTB และแนะนำขายหุ้น TMB และ BT ส่วน BBL ไม่มีคำแนะนำ
http://www.settrade.com/S17_ContentDisp ... egoryId=16
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news02/01/08

โพสต์ที่ 295

โพสต์

ชี้แบงก์พาณิชย์ปีชวดแข่งดุ [ ฉบับที่ 858 ประจำวันที่ 27-12-2007 ถึง 5-1-2008]  
เร่งหาพันธมิตรเสริมศักยภาพ

สยามธุรกิจ - ธปท.ไม่หวั่นต่างชาติครอบงำธุรกิจแบงก์ แม้ก.ม.ใหม่เปิดทางถือหุ้นถึง 49% เหตุอำนาจบริหารส่วนใหญ่ ยังเป็นของคนไทย ชี้ปีหน้าระบบสถาบันการเงินไทยทำใจโจทย์การทำธุรกิจยังคงผันผวนไม่ต่างจากปีนี้ แต่มั่นใจผลประกอบของแบงก์ดีขึ้น เหตุผ่านการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ธุรกิจแบงก์แข่งขันรุนแรงขึ้น เชื่อเห็นภาพการควบรวมธุรกิจมากขึ้นในการหาพันธมิตรใหม่เพื่อเสริมศักยภาพ

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในรอบปี 2550 ที่กำลังจะผ่านไป ยังคงเป็นปีที่เงื่อนไขการประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความซับซ้อน โดยมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอน ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อความต้องการ สินเชื่อจากภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมทั้งยังอาจมีอิทธิพลต่อเงินฝากของภาคครัวเรือนที่ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ สภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคาร ล้วนแต่จะมีความเข้มข้นขึ้นในทุกๆ บริการและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการอีกด้วย

เมื่อเจอกับปัจจัยแวดล้อม ต่างๆ ทำให้หลายๆ ธนาคารต้อง มีการปรับตัว และจับคู่กับพันธมิตรกับต่างชาติ

เพื่อให้ได้ Know how ใหม่ๆ มาสู่กับคู่แข่ง

ทั้งนี้ในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ธนาคาร พาณิชย์ของไทยทั้งขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต่างก็จับคู่หาพาร์ตเนอร์ต่างชาติเพื่อเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่กังวลเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้น ของนักลงทุนต่างชาติที่กฎหมายฉบับใหม่จะเปิด ทางให้ถือได้ถึง 49% จากเดิมไม่เกิน 25% เนื่อง จากเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมีการเข้าออกตลอดเวลา แต่สิ่งที่ ธปท.จะพิจารณาคือ อำนาจในการบริหาร มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่พบว่าจะมีต่างชาติเข้ามาครอบงำการบริหารในธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจมีเพียง 2 ธนาคารเท่านั้นที่ ธปท.อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้เกือบ 100% ทำให้มีอำนาจในการบริหาร งาน คือ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และธนาคารยูโอบีรัตนสิน ซึ่งต่างชาติเข้ามาเพื่อบริหารงานจริงๆ แต่ในที่สุดก็ต้องลดสัดส่วน ลงมาตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะเดียวกัน มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เปิดเผยในวันนี้ว่า แนวโน้มระบบธนาคารของไทยยังคงมีเสถียรภาพ แม้เกิดรัฐประหารในปี 2549

สำหรับแนวโน้มธุรกิจสถาบันการเงินในปี 2551 ในมุมมองของ บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ยังคงเป็น ภาพของการปรับตัวของสถาบันการเงินไทยอยู่ ซึ่งยังต้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย จึงเป็นที่ธุรกิจสถาบันการเงินจะต้องคำนึง ปัจจัยความไม่แน่นอน 3 ปัจจัยหลักในการดำเนิน ธุรกิจปีหน้า ประกอบในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินไทยด้วย

ทั้งนี้ ปัจจัยแรก คือ ความไม่แน่นอนจาก การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของสินเชื่อที่เป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ด้วย ดังนั้น หากในปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวจากการลงทุนก็เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่ระบบสถาบันการเงินไทยจากการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจต่างๆ

ถ้าความไม่แน่นอนต่างๆ เกิดขึ้นจะมีผลต่ออัตราการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโดย รวมของประเทศช้าลง และตัวสถาบันการเงินไทยคงจะได้รับแรงกดดันด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตามมาด้วย นอกจากนี้ จาก สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นก็ส่งผลให้สินค้า อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ฐานะในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนตึงตัวด้วย จึงต้องติด ตามดูว่าปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินแค่ไหน แต่ถ้าปัจจัยเหล่านี้ไม่มีผลมากนัก การขยายตัวของระบบสถาบัน การเงินจะเดินไปตามการขยายตัวเศรษฐกิจของ ประเทศที่ดีด้วย

ปัจจัยที่สอง คือ ภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ ซึ่งยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ที่อาจจะยืดเยื้อ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกตึงตัวได้ และการระดมทุนของภาคธุรกิจไทยก็อาจได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสภาพคล่องของไทยยังมีมากและไม่อยู่ในภาวะ ที่น่าเป็นห่วง จึงต้องติดตามดูต่อไปว่าปัจจัยนี้จะมีผลการขยายตัวของภาคธุรกิจสถาบันการเงินหรือไม่ในอนาคต

และปัจจัยสุดท้าย คือ การปรับตัวของสถาบันการเงินไทยเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็น มาตรฐานสากลมากขึ้นทั้งการคำนวณเงินกอง ทุนตามมาตรฐานบาร์เซิล ทู แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 รวม ถึง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่ผ่านออกมาบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ด้วย

โดยรวมแล้วโจทย์ปีหน้าคงมีความผันผวนไม่ต่างจากปีนี้เท่าไหร่ แต่ก็คาดว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปีหน้าน่าจะดีขึ้น เพราะสถาบันการเงินได้ผ่านการกันสำรองตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ไปหมดแล้วในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ปีหน้าการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะรุนแรงขึ้น น่าจะมีการเสาะหาพันธมิตรผู้มาร่วมทุนให้ธุรกิจเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นการควบรวมกันมากขึ้น แต่ใครจะรวมกับใครคง ต้องติดตามดูกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การปล่อย สินเชื่อที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เดือน พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ขยายตัวเพียง 2.4% ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็น พีแอล) ที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2550 ที่ผ่านมาขณะที่การปรับมาตรฐานการกำกับสถาบันการเงินของธปท.ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ มาตรฐานบัญชีใหม่ ไอเอเอส 39 ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการ ทำกำไร สัดส่วนหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ สัดส่วนการกันสำรอง หนี้รวมทั้งเงินกองทุนของ ธนาคารพาณิชย์ลดลง

ประกอบกับ ในช่วงที่ผ่านมานั้นการประกาศใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ไอเอเอส 39 รวม ทั้งเกณฑ์บาเซิล 2 ในการกำกับดูแลสถาบันการ เงินของประเทศตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกาและประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนใช้ลักษณะการให้สถาบันการเงินเข้าร่วมโดยสมัคร ใจ และทยอยเพิ่มความเข้มข้นในการใช้เกณฑ์ดังกล่าว ไม่ใช่การประกาศใช้แบบเข้มข้น หรือ ใช้ทุกเกณฑ์ทั้งฉบับในทันที โดยในสหรัฐฯ นั้นมีเพียงธนาคารพาณิชย์ที่ติดต่อทำธุรกรรมระหว่างประเทศเท่านั้นที่ใช้มาตรฐานบาเซิล 2 ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นที่ทำธุรกรรมในประเทศ ไม่ได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าว เพราะเป็นเกณฑ์ที่บีบบังคับมากเกินไป

ดังนั้นสายนโยบายสถาบันการเงินธปท. จึงมีแนวคิดที่จะทำการทบทวนการนำเกณฑ์มาตรฐานสากลมาใช้กับสถาบันการเงินของไทย ทั้งมาตรฐานบัญชี ไอเอเอส 39 ไอเอเอส 32 และการเปิดเผยข้อมูลตาม ไอเอฟอาร์เอส 7 รวมทั้งเกณฑ์การกำกับดูแลตามบาเซิล 2 โดย ในเบื้องต้นได้มีการทำแบบสอบถามไปยังสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาว่า การใช้มาตรฐานบัญชี ไอเอเอส 39 ไอเอเอส 32 และการเปิดเผยข้อมูลตาม ไอเอฟอาร์เอส 7สร้างผลกระทบ ต่อเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร การ กันสำรองหนี้ และความผันผวนของฐานะการเงินของสถาบันการเงินหรือไม่ และอย่างไร โดย หลังจากเดือนมกราคม 2551 ที่จะถึงนี้ จะนำข้อมูลดังกล่าวเพื่อมาพิจารณาทบทวนความเข้ม งวดในการใช้มาตรฐานบัญชีและเกณฑ์สากลเหล่านี้อีกครั้งโดยพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินงาน การปล่อยสินเชื่อและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยควบคู่กันไป

นอกจากนั้น ยังจะมีการทบทวนการประกาศใช้เกณฑ์บาเซิล 2 ด้วยว่าจะยังคงใช้บังคับ ทีเดียวทั้งหมดหรือทยอยใช้บังคับเป็นขั้นเป็นตอนไปจะเป็นผลดีต่อระบบสถาบันการเงินไทย มากกว่ากัน ทั้งนี้ การทบทวนดังกล่าวไม่ใช่การ ยกเลิกไม่ใช้หรือการชะลอการประกาศใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ การเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์สากล รวมทั้งบาเซิล 2 ไปจากเดิมที่ธปท.ได้ประกาศออกไป แต่อาจจะเป็นการทบทวนว่า ควรจะเริ่มใช้มาตรฐานเหล่านี้อย่างไรเช่นทยอย ใช้ในส่วนที่เหมาะสมกับระบบธนาคารพาณิชย์ และการปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มในการดูแลบริหารความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เพราะธุรกรรมบางประเภทสถาบันการเงินไทยยังไม่มีการทำ หรือค่อยๆ ทยอยบังคับโดยใช้เกณฑ์ระดับเบาก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นจนเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

ขณะที่มุมมองของ เกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) มองแนวโน้มการดำเนินงานของสถาบันการเงินใน 2551 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวว่า แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่เติบโตตาม ภาวะเศรษฐกิจ หรือต้องพึ่งพาการเจริญเติบโตของภาวะเศรษฐกิจก็ตาม แต่เชื่อมั่นว่าภาพรวมของการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินใน ปีหน้ายังขยายตัวได้ และไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้เงิน กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง ขณะที่ผลการดำเนินงานก็ยังเข้มแข็งดี แม้ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวก็ตาม

แม้ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ จนถึงปีหน้าจะยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว แต่ก็เชื่อว่าการดำเนินการของแบงก์จะสามารถขยายตัวได้ดี เห็นได้จากเงินกองทุนฯของแบงก์ยังแข็งแกร่ง และผลกำไรของแบงก์ดี และเชื่อว่าช่วงปิดงบปลายปีนี้ผลกำไรจะออกมาดี จึงเชื่อว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

เกริก ระบุด้วยว่า ขณะนี้เห็นว่าการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเติบโตได้ดีกว่าเงินฝาก โดยการให้สินเชื่อขณะนี้ขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3% อย่างไรก็ตามเงินฝากขยายอยู่ที่ ประมาณ 2% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามีการปล่อย สินเชื่อได้สูง ขณะที่การเงินฝากจะหดตัวลง

ทำให้ขณะนี้ผู้ฝากส่วนใหญ่จะหันไปลงทุนผ่านหุ้นกับพันธบัตร (บอนด์) กันมากขึ้น เพราะไม่อยากได้รับดอกเบี้ยในระดับต่ำ ขณะที่หุ้นกลับดีขึ้นี

ทั้งนี้จากข้อมูลการให้สินเชื่อเงินฝาก และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก รวมทุกสำนักงาน ล่าสุดของธปท.ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา พบว่าการให้สินเชื่ออยู่ที่ 6,073,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2,636 ล้านบาท ขณะที่เงินฝากอยู่ที่ 6,813,122 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 52,101 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 89.15%

หันมาดูความคิดของนายธนาคารพาณิชย์ อย่าง ยุทธชัย เตยะราชกุล ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ที่มีต่อธุรกิจธนาคารในปีหน้า (2551) โดย ยุทธชัย มองว่า ปัจจัยที่เป็นกังวลที่อาจ จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2551 คือ ความไม่แน่นอนของรัฐบาลใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งรวมถึงนโยบายที่ภาครัฐจะออกมาว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนในประเทศได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปีหน้าจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์น่าจะขึ้นอยู่กับผู้บริโภค

สำหรับในส่วนของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) นั้น ยังวางเป้าหมายในอีก 3 ปี โดยหวัง ว่าสินเชื่อบ้านน่าจะอยู่ใกล้เคียง 50% สินเชื่อส่วนบุคคล 30% และบัตรเครดิตการ์ด 20% โดยธนาคารพยายามรุกทั้ง 3 สินเชื่อให้ครอบคลุมกับลูกค้าทุกประเภท
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... s_id=10217
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news03/01/08

โพสต์ที่ 296

โพสต์

แบงก์ใหญ่-เล็กพาเหรดปันผลหรู
วัดปันผลแบงก์ปี 2550  คาดแบงก์ใหญ่จ่ายปันผลดีกันถ้วนหน้า  ทั้งBBL KBANK และSCB เพราะยังโชว์ฟอร์มกำไรโต  ชูแบงก์กรุงเทพจ่ายสูงสุดถึง 2.75 บาท/หุ้น   ส่วนBAYและSCIBกอดคอชวดปันผลเพราะอ่วมขาดทุนตั้งสำรองปีก่อน  ขณะที่แบงก์เล็กTISCO ,KKไม่น้อยหน้าจ่ายหรูไม่ต่ำกว่าปีก่อน 2.00 บาท/หุ้นและ 2.20 บาท/หุ้น
    น.ส.สิริณัฏฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ไซรัส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการจ่ายปันผลของธนาคารพาณิชย์งวดปี 2550 หลายธนาคารอาจมีการจ่ายปันผลลดลงจากปีก่อน หรืออาจจะงดการจ่ายปันผล เนื่องจากผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์โดยรวมปรับตัวลดลง
    อย่างไรก็ตามในส่วนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี จึงคาดว่าจะจ่ายปันผลเท่ากับปี2549 โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) KBANK คาดว่าทั้งปี2550จะสามารถจ่ายปันผลได้ 1.75 บาท/หุ้น  ซึ่งครึ่งปีจ่ายปันผลไปแล้ว 0.50 บาทต่อหุ้น ,ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) BBL คาดว่าทั้งปีจะจ่ายปันผลได้ 2.75 บาท/หุ้น ซึ่งจ่ายไปแล้ว 1.00 บาทต่อหุ้น และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) SCB คาดว่าจะสามารถจ่ายปันผลทั้งปีได้ 2.00 บาท/หุ้น
     
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news04/01/08

โพสต์ที่ 297

โพสต์

อนาคตตลาดทุนไทยภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Thursday, January 03, 2008
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว และกำลังรอขึ้นทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ทาง ก.ล.ต. จะมีการออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกับหมายฉบับนี้ด้วย

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ยังได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย ซึ่งโครงสร้างใหม่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยคณะกรรมการชุดนี้จะดูแลด้านนโยบาย นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เพื่อทำหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ในระดับปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ ก.ล.ต.มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระการทำงานของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย

นายธีระชัยบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ยังได้เพิ่มอำนาจของนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งยังช่วยคุ้มครองนักลงทุนด้วย เพราะได้กำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ การออกกฎหมายควบคุมก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริหารมีบรรษัทภิบาลที่ดีได้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งผู้บริหาร กรรมการอิสระ พนักงานลงบัญชี ผู้ตรวจบัญชี รวมถึงผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน ควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองด้วย

นายธีระชัยยังกล่าวถึงสิ่งที่จะทำเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมี 3 ข้อคือ

1. ก.ล.ต. จะศึกษารูปแบบการลงทุน รวมถึงทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้ามาระดมทุนของภาครัฐ หากรัฐต้องการนำเงินไปลงทุนโครงการขนาดใหญ่
2. ก.ล.ต. จะหาวิธีและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ทำให้เงินทุนไหลออกไปนอกประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับตลาดทุนไทย หากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%

3. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หาวิธีรับมือกับการลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ ของตลาดทุนโลก ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง

ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดทุนไทยก็มีตลาดตราสารหนี้ (BEX) และตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) (TFEX) เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดย TFEX ก็มีการขยายตัวและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ส่วน BEX ยังต้องพัฒนาอีกมาก นอกจากนี้ก็มีแนวคิดที่จะให้บริษัทต่างประเทศสามารถเข้ามาออกหุ้นกู้ในไทยเพื่อไปลงทุนต่างประเทศด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีสินค้ามากขึ้น รวมทั้งเป็นการตอบสนองความต้องการของนักลงทุนสถาบันที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดทุนไทยยังไม่มีด้วย

นายธีระชัยเชื่อว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล ก็จะให้ความสำคัญกับตลาดทุนไทยแน่นอน เพราะเป็นแหล่งที่ให้ผู้ออมกับผู้ลงทุนมีการเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ส่วนการบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็น่าจะมีส่วนให้ผู้ฝากเงินมาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทต่าง ๆ ที่กู้เงินกับธนาคารพาณิชย์ ก็อาจจะเปลี่ยนมาระดมทุนในตลาดทุนแทนการกู้เงินด้วย
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Har ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news07/01/08

โพสต์ที่ 298

โพสต์

แบงก์ไล่ขึ้นดอกเบี้ยฝาก

ธนาคารทหารไทยได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน 2.9% โดยมีเงื่อนไขว่าต้องฝากขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท และ 24 เดือน ดอกเบี้ย 3.5% ขั้นต่ำ 1 แสนบาท เริ่มตั้งแต่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังได้ประกาศจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทั่วไปที่ฝากเงิน 50 ล้านบาท ขึ้นไปเป็นเวลา 1-2 เดือน จะได้รับดอกเบี้ย 2% จากเดิมไม่จ่ายดอกเบี้ย ส่วนลูกค้า นิติบุคคล สถาบันไม่แสวงหากำไร ราชการ กองทุน และรัฐวิสาหกิจที่ฝากเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลา 7 วัน, 14 วัน, 21 วัน, 30-60 วัน จะได้ดอกเบี้ย 2% จากเดิมที่ไม่จ่าย
นายลือชา ศุกรเสพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายจะระดมเงินให้ได้ 2 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน ส่วนปีนี้การขยายธุรกิจของธนาคารจะมากกว่าปีก่อน และเชื่อว่าจะแข่งขันกันขยายสินเชื่อ ระดมเงินฝาก เพื่อขยายธุรกิจและรักษาฐานลูกค้าตัวเอง

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ก็ประกาศอัตราดอกเบี้ยใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ระยะสั้นสำหรับลูกค้านิติบุคคลพิเศษ ส่วนนิติบุคคลที่ฝากเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป และฝากออมทรัพย์ต่อเนื่อง 7 วันถึง 13 วัน จ่ายดอกเบี้ย 1.65-1.9% จากเดิมที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย ส่วนออมทรัพย์ฝากต่อเนื่อง 14 วันแต่ไม่ถึง 1 เดือน ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25-0.95% เป็น 1.65-2.15% จากเดิมที่จ่าย 0.8-1.9% และถ้าฝากต่อเนื่อง 1 เดือนแต่ไม่ถึง 3 เดือน ปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็น 1.9-2.5% จากเดิมจ่ายแค่ 0.8-2.15%

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ฝากออมทรัพย์ต่อเนื่อง 7 วันถึง 13 วัน จ่ายดอกเบี้ย 0.75% จากเดิมไม่จ่ายดอกเบี้ย, นิติบุคคลที่มีเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยใน 1 เดือน วงเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ปรับเป็น 0.95-1.2%
ขณะที่ธนาคารกรุงไทยก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประจำ วงเงิน 50 ล้านบาทขึ้นไป กรณีฝาก 7-14 วัน เป็น 1.75-2% ถ้าฝาก 1 เดือน ดอกเบี้ย 1.75-2.25% มีผลตั้งแต่ 2 มกราคมที่ผ่านมาเช่นกัน
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mor ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news07/01/08

โพสต์ที่ 299

โพสต์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดดอกเบี้ยในตลาดเงินสัปดาห์หน้ายืนระยะใกล้สัปดาห์นี้ ส่วนเงินบาทไม่หลุด 33.20
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Friday, January 04, 2008

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกรายงาน คาดหมายแนวโน้มตลาดเงิน และแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า สรุปสาระสำคัญได้ว่า ตลาดเงิน และค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าน่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ต่อเนื่องจากสัปดาห์นี้

โดยตลาดเงินนั้น ตลอดสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2551 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัว ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดเงินที่ยังมีอยู่มาก โดยมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) รวมทั้งระดับปิดของอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน และ 7 วัน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยอยู่ที่ระดับ 3.25% ในขณะที่มีธุรกรรมตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 14 วัน ปิดที่ระดับเดียวกันในวันพฤหัสบดีด้วย

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 4.39% ในวันศุกร์แรกของปี 2551 ปรับลงจาก 4.49% เมื่อสิ้นปี 2550 อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับตัวลงโดยเฉพาะระยะกลางและยาว โดยมีแรงหนุนจากความต้องการลงทุนและอิทธิพลความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ แต่การลดลงของอัตราผลตอบแทนได้ถูกจำกัดไว้ในช่วงปลายสัปดาห์จากแรงขายพันธบัตรทางเทคนิคและความกังวลต่อเงินเฟ้อ

ส่วนแนวโน้มในสัปดาห์หน้า ศูนย์สวิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกรอบการเคลื่อนไหวเดิมอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจะมีการชำระเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบธนาคารพาณิชย์

ส่วนค่าเงินบาทในประเทศ ตลอดสัปดาห์แรกของปีใหม่ เงินบาทในประเทศ (Onshore) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากได้แรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ของผู้ส่งออก และมุมมองเชิงบวกที่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะนำไปสู่การใช้นโยบายที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นไปตามทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค (เงินดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินริงกิตแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี) ในขณะที่ เงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอีกด้วย สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.43 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากวันศุกร์ สัปดาห์สุดท้ายของปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 33.68 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ใน2550)

ส่วนสัปดาห์หน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหว ในกรอบระหว่าง 33.20 - 33.50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ควรจับตาได้แก่ แรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออก การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของ ธปท. และความคืบหน้าทางการเมือง ตลอดจนทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่ง เดือนพฤศจิกายน และดัชนีราคานำเข้าและส่งออก เดือนธันวาคม
http://www.moneychannel.co.th/BreakingN ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news08/01/08

โพสต์ที่ 300

โพสต์

เก็บหุ้นแบงก์รอปันผล ทิสโก้-SCB จ่ายสูงสุด โดย กระแสหุ้น

สำรวจปันผลกลุ่มแบงก์ พบทิสโก้ให้อัตราตอบแทนสูงสุด จ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 2 บาท แถมราคาหุ้นต่ำกว่าเพื่อน รองลงมาเป็น SCB ให้ปันผล 2.50 บาท แต่ราคาหุ้นสูงกว่า เช่นเดียวกับ BBL ที่ให้ปันผลทั้งปี 3 บาท แต่ให้ระหว่างกาลไปแล้ว 1 บาท ด้าน KBANK จ่าย 2 บาท KTB 0.30 บาท KK 1.80 บาท ส่วนผู้ถือหุ้น SCIB-BAY-TMB-BT เศร้าหมดสิทธิรับเงินปันผล เพราะงบขาดทุน

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวว่า คาดว่าจะมีธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งที่จ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 50 เนื่องจากผลประกอบการธนาคารในช่วงดังกล่าวมีการขาดทุน ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรอง IAS 39 ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจากการประเมินเงินปันผลปี 50 ที่คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จ่ายเงินปันผลอยู่ที่ราคา 3 บาทต่อหุ้น โดยมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วประมาณ 1 บาทต่อหุ้น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จ่ายปันผลราคา 1.90 และมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วประมาณ 0.50 บาทต่อหุ้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จ่ายเงินปันผลอยู่ที่ราคา 2.50 บาท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จ่ายเงินปันผลอยู่ที่ระดับ 0.30 บาท ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO จ่ายเงินปันผลอยู่ที่ระดับ 2 บาท และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 1.80 บาทต่อหุ้น และได้มีการจ่ายระหว่างการไปแล้วประมาณ 1 บาทต่อหุ้น

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลปี 50 ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เนื่องจากขาดทุนจากการตั้งสำรอง

ดังนั้น หากนักลงทุนที่ต้องการจะเข้าไปลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีเงินปันผล ก็ยังคงยืนยันว่าสามารถทำได้ โดยแนะนำซื้อ หุ้นธนาคาร ทิสโก้ ราคาเป้าหมายปี 51 อยู่ที่ 32 บาท และธนาคารไทยพาณิชย์ ราคาเป้าหมายปี 51 อยู่ที่ 91 บาท ซึ่งถือว่าหุ้นทั้งสองตัวนี้มีการจ่ายเงินปันผลดี แต่ทั้งนี้ ควรดูภาวะตลาดในการลงทุนเป็นสำคัญประกอบด้วย

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับงบปี 50 มีเพียง 4 แห่ง ประกอบด้วย BBLจ่ายเงินปันผลที่ราคา 3 บาทต่อหุ้น และได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วประมาณ 1 บาทต่อหุ้น KBANK จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 2 บาท และมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างการไปแล้วประมาณ 0.50 บาทต่อหุ้น

ส่วน KTB จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 0.30 บาท SCB จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 2.50 บาทต่อหุ้น ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ SCIB แม้ว่าจะต้องการจ่ายเงินปันผล แต่คาดว่าจะไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องของผลกำไรขาดทุนและเรื่องการทำกำไร

สำหรับ TMB เป็นที่แน่นอนว่าไม่มีเงินปันผลให้นักลงทุน ดังนั้น หากนักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะดูในเรื่องของเงินปันผลแนะนำ ซื้อ SCB ราคาเป้าหมายปี 51 ที่ 105 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมายปี 51 ที่ 115 บาท

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงปี 51 มองว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงปีที่ผ่านมาแน่นอน และเชื่อว่าธนาคารต่างๆจะหันมาทำกำไรโดยเน้นในเรื่องของค่าธรรมเนียม(ฟี)มากขึ้น ซึ่งยังคงมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารน่าสนใจที่สุดสำหรับปีนี้

ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารที่จ่ายเงินปันผลสำหรับงบปี 50 ประกอบด้วย BBLจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 3.25 บาท KBANK จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 1.70-1.80 บาทต่อหุ้น KTB จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 0.30 บาทต่อหุ้น และ TISCO จ่ายเงินปันผลที่ระดับ 2 บาทต่อหุ้น โดยหากนักลงทุนต้องการที่จะซื้อหุ้นธนาคารเพื่อลงทุน แนะว่าไม่ควรดูในเรื่องของการจ่ายเงินปันผลเป็นหลัก เพราะทิศทางหุ้นกลุ่มธนาคารยังมีหลายตัวที่น่าสนใจ เนื่องจากทิศทางธนาคารในปีนี้น่าจะดีกว่าปี 50
http://www.settrade.com/S17_ContentDisp ... okerId=IPO