ช่วงนี้ ตลาดหลักทรัพย์ดัชนี ขึ้นมาสูงมากแล้ว หลายๆท่าน ที่เป็นนักลงทุน VI แท้ๆคงได้ปรับพอร์ต ลดต้นทุนหุ้นในพอร์ต กันเรียบร้อยแล้ว ช่วงนี้คงมีกระสุนดินดำเตรียมพร้อมเต็มที่ หลายท่านก็จะมีเวลาและใช้เวลาช่วงนี้ อ่านหนังสือทบทวนความรู้ หรือศึกษาหุ้นตัวใหม่ๆ วางแผนทบทวนกลยุทธ์ หรือเตรียมหาตลาดใหม่ๆ ที่จะลงทุนกันต่อไป
แต่สำหรับน้องๆ หลานๆ ที่ตั้งใจเก็บออมรวบรวม เงินมาลงทุน ก็ควรระมัดระวัง อย่าตกอยู่ในความประมาทน่ะครับ วางพื้นฐานให้แน่นหนา มั่นคง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีครับ
มีความรู้เล็กๆน้อยๆมาฝาก (ส่วนใหญ่จะทราบกันอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงน้องๆหลานๆครับ เลยนำมาทบทวนกันครับ)
นำมาจาก บทความอบรมของ คุณเทพ รุ่งธนาภิรมย์ ที่ลงไว้ใน settrde.com ครับ
แผนการลงทุน
มีประเด็นการลงทุนอยู่เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนมักจะถามเป็นประจำว่าตอนนี้ควรจะถือเงินสดไว้กี่เปอร์เซ็นต์?
ที่น่าสนใจคือ มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยได้ทำหน้าที่ตอบคำถามนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยโยงกับการมองแนวโน้มตลาดหุ้น
ถ้ามองว่าคุณกระทิงจะมาเยือนก็แนะให้ถือเงินสดนิดเดียว เช่นไม่เกิน 5 10%
ถ้ามองว่าคุณหมีจะมาตะปบ ก็จะแนะให้ขายหุ้น เปลี่ยนมาถือเงินสดแทน เช่น 60 70 % เป็นต้น
ผมเองมีความลำบากใจ เพราะนักวิเคราะห์แต่ละท่านก็มีแนวคิดแตกต่างกัน บางทีฟังแล้ว ไม่ทราบจะยืดของใครเป็นหลัก และบางที ผมก็ถูกนักลงทุนคนอื่นถามปัญหานี้ ก็ต้องบอกกันตรง ๆ ว่า ไม่สามารถจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เพราะในความเป็นจริง ถ้าใครสามารถคาดราคาหุ้นในตลาดได้ คงจะรวยล้นฟ้าไปแล้ว
ผมตระหนักดีว่าการลงทุนในตลาดหุ้นมีความเสี่ยงค่อนข้างมากแต่ก็เป็นสถานที่ที่ให้โอกาส สำหรับการเลือกหุ้นดี ๆ มีผลตอบแทนสูงได้ เช่นกัน
ผมจึงได้วางแผนการลงทุนแบบระยะยาว โดยยึดหลัก 4 ข้อ ดังนี้
1. ออมเงินให้เป็นนิสัย
2. จัดให้มีกองทุนฉุกเฉิน
3. ลงทุนในหุ้นปันผล
4. ลดต้นทุนหุ้นในมือ
1. การออมเงิน
ผมได้พูดถึงความสำคัญของการออมเงินไว้พอสมควรแล้ว คราวนี้ก็ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ถ้าผมออมเงินได้ปีละ 100,000 บาทเป็นเวลา 5ปี ผมก็จะมีเงินออมสะสมไว้ถึง 500,000บาท
ซึ่งถ้าเก็บไว้เป็นเงินสดติดตัว ก็จะไม่มีดอกผลงอกเงย ผมจึงต้องนำเงินออมไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน
ผมยังทำการเก็บเงินออมไว้อย่างสม่ำเสมอ ต้องไม่ ทำบ้างหยุดบ้าง เพราะกลัวเดี๋ยวจะเคยตัว พอเก็บเล็กผสมน้อยไปเลยๆ รวมๆกันก็เป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาได้เอง
2. กองทุนฉุกเฉิน
ทีนี้ก่อนที่จะนำเงินทั้ง 500,000 บาท ไปลงทุน ซึ่งอาจจะดีก็ได้ เสียทั้งหมดก็ได้
เพื่อความปลอดภัย ผมจึงนำเงินส่วนหนึ่ง เอาเป็นว่า 200,000 บาท ไปฝากออมทรัพย์ไว้กับธนาคาร เพื่อใช้ในกรณีที่มีความต้องการอย่างฉุกเฉินรีบด่วน และเดี๋ยวนี้ผมมีข่าวดีมาบอก ว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมได้จัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น มีกำหนด 1 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยสะสมทรัพย์ของธนาคารแถมไม่ต้องเสียภาษี 15% อีกด้วย
ผมเลยแบ่งเงิน150,000 ไปฝากกองทุนรวม เพื่อให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น เหลือเงินสะสมทรัพย์ไว้เพียง 50,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ดีเงินทั้ง 2 ก้อนนี้ คือ 150,000บาท กับ 50,000บาท รวมเป็น 200,000บาท ผมจะไม่นำไปใช้ในการลงทุนหุ้น เพราะเป้าหมายหลักคือ เตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น
ส่วนท่านใดจะกันไว้ในกองนี้เท่าใดย่อมขึ้นอยู่กับความสมัครใจสำหรับผมตั้งหลักว่า ถ้ามีอะไรที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผมสามารถอาศัยเงินจากกองทุนนี้เลี้ยงตัวได้ซัก 1 ปีก็พอ
3. การลงทุนในหุ้นปันผล
สำหรับเงินที่เหลืออยู่ 300,000บาท ผมจะนำเข้าฝากสะสมทรัพย์กับธนาคาร เป็นบัญชีเพื่อใช้ในการซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับบัญชีที่มียอด 50,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนฉุกเฉิน
บัญชีสะสมทรัพย์ 300,000 บาทนี้ ผมได้เซ็นยินยอมให้ทางโบรกเกอร์ สามารถหักบัญชีโดยอัตโนมัติเมื่อมีการซื้อหุ้น และ ให้นำเงินเข้าบัญชีนี้เหมือนกับในกรณีขายหุ้น ทำแบบนี้แล้วสบาย ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาในการเคลียร์บัญชี สะดวกจริงๆครับ
(อีกเหตุผลที่แนะนำ Cash balnce ก็ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกบังคับขายหุ้น หากมูลค่าของพอร์ทลดลงเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ซึ่งอันตรายมาก โดยเฉพาะในช่วงตลาดขาลง เพราะเมื่อเราลงทุนในหุ้นพื้นฐานVI เราจะไม่ขาย หากพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน หรือไม่มีเหตุผลพิเศษรองรับ ให้ใช้เงินออม ของเราสร้างพอร์ตลงทุน ดีที่สุดครับ)
หน้าที่หลักของผมในการลงทุน คือพยายามศึกษาค้นคว้า หุ้นปันผลดีๆ เพื่อซื้อลงทุนเข้าพอร์ต
ที่สำคัญคือ พอมีเงินออมเพิ่มขึ้น ผมก็นำมาเติมในกองทุนหุ้นได้อีก ไม่ได้จำกัดว่าต้องมีเพียง300,000บาท
4. การลดต้นทุนหุ้นในมือ
ด้วยหลักการนี้ ผมจึงไม่ต้องกังวลว่า ตอนไหนควรถือเงินสดกี่เปอร์เซ็นต์ หุ้นกี่เปอร์เซ็นต์
ผมมองว่า เมื่อซื้อหุ้นแล้ว ก็เหมือนขึ้นเวทีมวย จำเป็นต้องชก 2 มือ ผมเปรียบเงินสดเหมือนมือซ้าย
หุ้นในมือเหมือนมือขวา คู่ต่อสู้คือราคาหุ้น หน้าที่ผมคือพยายามเก็บคะแนนการชก ด้วยการทำให้ต้นทุนหุ้นในมือลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือบางทีต้นทุนหุ้นอาจสูงขึ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จำเป็นต้องซื้อแพงขึ้นก็ยอม เพราะคำนวณแล้วเห็นว่ามูลค่าหุ้นสูงกว่าเดิมที่ตั้งไว้
เงิน 300,000 บาทที่ผมมีแต่แรกเปรียบเหมือนหมัดซ้ายมีพลังมาก ส่วนหมัดขวายังไม่มีแรง จนเมื่อผมมีการซื้อหุ้นเข้าพอร์ต แปลว่าผมเริ่มทำคะแนนด้วยหมัดซ้าย คราวนี้ พอราคาหุ้นวิ่งสูงขึ้นมาก ผมกลับมาทำคะแนนด้วยหมัดขวาบ้าง ด้วยการขายหุ้นบางส่วน กำไรจากการขายหุ้นก็จะช่วยทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้น
พอทำอย่างนี้ เงินสดผมก็มี ต้นทุนหุ้นในมือก็ลดลง แล้วพอราคาหุ้นเกิดตกลงมา ผมสามารถกลับไปซื้อใหม่ด้วยราคาที่ถูกลง เป็นโอกาสเพิ่มหุ้นในมือให้มีมากขึ้น
ทำๆไปก็ค่อยๆชำนาญ คะแนนผมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
มีบางครั้งที่ผมถูกชกบ้าง เพราะราคาหุ้นบางตัวต่ำกว่าต้นทุน ต้องถอยมาตั้งหลักแล้วแย็บทำคะแนนด้วยการเก็บหุ้นที่ราคาต่ำสุดๆ ที่สำคัญ ผมมีตัวช่วย คือ เงินปันผลที่ได้รับ มาทำให้คะแนนการชกดีขึ้นเป็นของแถม
ผมอยากเรียนว่า การวางแผนลงทุนแบบนี้ ทำให้ผมอยู่ในตลาดหุ้นได้แบบระยะยาว โดยไม่ต้องกังวลว่า ช่วงไหนต้องมีเงินสดหรือหุ้นเป็นสัดส่วนเท่าใดตามภาวะตลาดหุ้น
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า การจัดสัดส่วนของพอร์ต คือ การรู้จักธุรกิจ ผู้บริหาร และมูลค่าหุ้นของบริษัทเป็นอย่างดี
เพราะถ้ารู้จริงทั้ง 3 ข้อ
จะได้ประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหุ้นเต็มๆครับ
เทพ รุ่งธนาภิรมย์
www.earnconcept.com