สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายสัปดาห์ - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายสัปดาห์ จากการ Conference Call ของ ดร.บันลือศักดิ์ และทีมงานสำนักวิจัย กับบริษัท หลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด
สรุปข่าวในรอบสัปดาห์ 13-17 มิถุนายน 2554
สรุปข่าวในรอบสัปดาห์
สหรัฐอเมริกา
ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์นี้ พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดี แต่ยังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ อาทิ ระดับราคาสินค้า รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณที่อยู่ในระดับสูง โดยทั้งราคาสินค้านำเข้า-ส่งออก และดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น แม้อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลงหลังราคาอาหารและน้ำมันลดลง แต่ก็ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่วิกฤติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นส่งผลให้อุปสงค์ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่สต๊อกสินค้าในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นว่ายอดขายและความต้องการสินค้าภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การที่ยอดขาดดุลงบประมาณยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นหลังการนำเข้าขยายตัว คาดว่าสหรัฐฯ จะยังคงเผชิญกับปัญหาขาดดุลบัญชีในระดับสูงต่อไป และเสี่ยงต่อการเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจได้ สอดคล้องกับที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาระบุว่า ตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นของรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวได้ดีขึ้น โดยพิจารณาได้จาก การเพิ่มขึ้นของยอดก่อสร้างบ้านใหม่ และยอดการยึดบ้านของธนาคารที่ลดลง ขณะเดียวกันยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
๏ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง หลังราคาอาหารและน้ำมันลดลง
- ราคาสินค้านำเข้าในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 0.2% (m-o-m) จากที่ขยายตัว 3.0% และ 2.1% ในเดือนมีนาคมและเมษายนตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง 0.2% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขยายตัวถึง 12.5% (y-o-y) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นที่ 0.2% จากที่ขยายตัว 0.9% ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนราคาสินค้าส่งออกยังคงขยายตัว 9.0%
- ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 0.2% (m-o-m) ชะลอตัวจากที่ขยายตัว 0.8% ในเดือนก่อน ซึ่งอัตราการขยายตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 10 เดือน หลังจากต้นทุนราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% หลังจากที่ขยายตัวถึง 2.5% ในเดือนเมษายน ขณะที่ต้นทุนราคาอาหารลดลง 1.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553
๏ วิกฤติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นส่งผลให้อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง แต่สต๊อกสินค้าภาคธุรกิจยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ยอดค้าปลีกเดือนพฤษภาคมลดลง 0.2% (m-o-m) หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 11 เดือน เนื่องจากยอดขายยานยนต์อ่อนแอลง หลังจากห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น ขณะที่หากไม่นับรวมยอดขายรถยนต์แล้ว ยอดค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3%
- ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาฟิลาเดลเฟียรายงานว่า ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในเดือนมิถุนายนลดลงสู่ระดับ -7.7 จากระดับ 3.9 ในเดือนพฤษภาคม
- สต็อกสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 0.8%(m-o-m) สู่ระดับ 1.4975 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16
๏ ยอดขาดดุลงบประมาณยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นหลังการนำเข้าขยายตัว คาดว่าสหรัฐฯ จะยังคงเผชิญกับปัญหาขาดดุลบัญชีในระดับสูงต่อไป ขณะเดียวกันประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาระบุว่า ตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นของรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ภายในประเทศ
- กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของกลางรัฐบาลสหรัฐในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 42.7% สู่ระดับ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ขาดดุล 4.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน และน้อยกว่าตัวเลขขาดดุลของเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วที่ระดับ 1.359 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (เริ่มคำนวณตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553) ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ มีอยู่ทั้งสิ้น 9.274 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน้อยกว่าระดับของปีงบประมาณ 2553 ที่มีอยู่สูงถึง 1.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประจำไตรมาส 1/2554 เพิ่มขึ้นสู่ 1.193 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1.1335 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/2553 หลังยอดการนำเข้าที่ขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
- เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวในที่ประชุมประจำปี 2554 ของคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐว่า ตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นของรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสปรับเพิ่มเพดานหนี้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ยังระบุว่า การไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องผิดนัดการจ่ายเงินตามกำหนดในด้านต่างๆ ซึ่งจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานะด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐด้วย
๏ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น แต่คาดว่าปัญหาจะยังไม่คลี่คลายลงได้ง่ายๆ ฅยอดการเริ่มก่อสร้างบ้านเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 3.5% (m-o-m: annual rate) สู่ระดับ 560,000 ยูนิต ส่วนตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างบ้านเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นดัชนีวัดแนวโน้มการก่อสร้างบ้านในอนาคตนั้น เพิ่มขึ้น 8.7% ต่อปี สู่ระดับ 612,000 ยูนิต
- จำนวนบ้านในสหรัฐฯ ที่ถูกธนาคารยึดในเดือนพฤษภาคมมีทั้งสิ้น 66,879 หลัง ลดลง 4.0% (m-o-m) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 29.0% (y-o-y) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในเรื่องขั้นตอนในการยึดบ้านขณะที่จำนวนการยื่นฟ้องเพื่อยึดทรัพย์ซึ่งได้แก่การแจ้งถึงการผิดนัดชำระหนี้, การประมูล และการเข้าครอบครองทรัพย์สินของธนาคารนั้นลดลง 2% สู่ระดับ 214,927 ราย โดยบ้าน 1 หลังในทุกๆ 605 หลังได้รับใบยื่นฟ้องเพื่อยึดทรัพย์ ขณะที่การเข้าครอบครองทรัพย์สินของธนาคารลดลง 21% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายน แต่การแจ้งผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น 8%
- ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 มิถุนายนลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 414,000 ราย มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 420,000 ราย
สหภาพยุโรป
- ภายหลังจากที่ S&P ปรับลดเครดิตเรทติ้งของกรีซทำให้กรีซได้กลายเป็นประเทศที่มีอันดับเครดิตต่ำสุดในโลกโดย S&P หั่น long-term sovereign credit rating จาก B ไปอยู่ที่ระดับ CCC ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า default 4 ขั้น ขณะที่มูดี้ส์ให้เครดิตกรีซที่ระดับ Caa1 ในขณะที่ฟิทช์ให้กรีซไว้ที่ B+นอกจากนี้ S&P ยังคง outlook เป็น negative ซึ่งเป็นสัญญาณของการปรับลดเรทติ้งที่อาจจะมีขึ้นใน 12-18 เดือนข้างหน้าอย่างไรก็ตาม กรีซได้ออกมาตอบโต้การตัดสินใจดังกล่าวของ S&P ว่า การตัดสินใจของ S&P อ้างอิงจากข่าวลือ โดยมิได้พิจารณาถึงการหารือกันอย่างจริงจังระหว่างกรีซ EU และ IMF โดยการตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวยังเป็นการมองข้ามความพยายามของรัฐบาลกรีซในการแก้ปัญหา ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิต ทางด้านนโยบาย ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในยูโรโซนทำให้เกิดการคาดการณ์ในวงกว้างว่าอีซีบีอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
๏ S&P ปรับลดเครดิตเรทติ้งของกรีซลงอีก ขณะที่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจน่าเป็นห่วง
เอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของกรีซลง 3 ขั้น สู่ระดับ CCC ต่ำสุดในโลก จากระดับ B พร้อมกับกับให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือเป็น "เชิงลบ" พร้อมกับเตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่กรีซจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออีกใน 12-18 เดือนข้างหน้าเนื่องจากกรีซมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้
- รัฐบาลกรีซได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่เอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือโดยกล่าวว่าการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซในช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมาธิการยุโรปไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางยุโรป กำลังทบทวนมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของกรีซนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมฅจำนวนผู้ว่างงานของกรีซเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 24,111 คน ส่งผลให้ ณสิ้นเดือนมีนาคมมีจำนวนผู้ว่างงาน 811,340 คน และอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากมาตรการลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกรีซส่งผลให้เศรษฐกิจกรีซยังไม่ฟื้นตัว
- เศรษฐกิจกรีซไตรมาสแรกปี 2554 หดตัว 5.5% (y-o-y) สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 4.8% ฅสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของกรีซเตรียมจัดการประท้วงเพื่อต่อต้านร่างมาตรการลดยอดขาดดุลงบประมาณฉบับใหม่ซึ่งรัฐบาลกรีซเตรียมเสนอต่อรัฐสภาภายในเดือนมิถุนายน 2554 เพื่อลดรายจ่ายภาครัฐลงอีก 78 พันล้านยูโร
๏ ฝรั่งเศสและอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง
- มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารของฝรั่งเศส3แห่ง ได้แก่ ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสธนาคารโซซิเอเต เจนเนอราล (ซอคเจน) และธนาคารเครดิต อะกริโกลเนื่องจากธนาคารเหล่านี้ได้ลงทุนในกรีซ
- นางซาราห์คาร์ลสัน นักวิเคราะห์อาวุโสของมูดี้ส์กล่าวว่า อังกฤษมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง Aaa หากการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอในขณะที่รัฐบาลอังกฤษเองก็ยังไม่สามารถที่จะลดหนี้สาธารณะได้ตามเป้า
๏ ประเด็นอื่นๆ
- ธนาคารกลางเยอรมนีปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2554 เป็น 3.1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% และได้เพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 เป็น 1.8% จากเดิม 1.5% ฅรัสเซียจะยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าผักสดจากอียูหากทางการของอียูสามารถรับประกันความปลอดภัยได้ฅประชาชนอิตาลีร้อยละ 57 ไม่เห็นด้วยกับแผนรื้อฟื้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้อิตาลีเป็นประเทศที่ 2 ในจี8 ที่เตรียมยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อจากเยอรมนี
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอังกฤษเพิ่มขึ้นจาก 44 ในเดือนเมษายน เป็น 55 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่งฅอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในเดือนพฤษภาคมทรงตัวที่ 4.5% ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18
๏ ทางด้านนโยบาย
ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในยูโรโซนหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงเช่นนี้ในอีกหลายเดือนข้างหน้าซึ่งการส่งสัญญาณดังกล่าวทำให้เกิดการคาดการณ์ในวงกว้างว่าอีซีบีอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
เอเชีย
- เศรษฐกิจจีนเดือนพฤษภาคมยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องแม้ธนาคารกลางจีนได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 4 ครั้งนับจากเดือนตุลาคม 2553 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมยังคงสูงขึ้น และสูงเกินเพดานเป้าหมายของทางการจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้สัปดาห์นี้ธนาคารกลางจีนได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองฯของธนาคารพาณิชย์อีก 0.50% โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ฅการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 13.3% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 13.4% สำหรับยอดขายปลีกเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 16.9% จากเดือนเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ในเดือนเมษายนขยายตัว 17.1% ในขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
- อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนพฤษภาคมขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 5.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นจากเดือนมีนาคมและเมษายนซึ่งอยู่ที่ 5.4% และ 5.3% ตามลำดับ ทั้งนี้ทางการจีนกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 4% สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 6.8% จากเดือนเดียวกันปีก่อน
ฅ จีนเกินดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดย การส่งออกเพิ่มขึ้น 19% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 28% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ธนาคารกลางจีนประกาศเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองฯของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ขึ้นอีก 0.50% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มิถุนายน และเป็นการปรับเพิ่ม RRR เป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
- รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจระบุว่าจีนมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีก 2 ครั้งในปีนี้ แต่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1 ครั้ง ก่อนที่จะหยุดพักการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินในปัจจุบัน โดยธนาคารกลางจีนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 4 ครั้งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 และปรับขึ้นสัดส่วนการกันสำรองฯของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ไปแล้ว 9 ครั้ง
- ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรในญี่ปุ่นเดือนเมษายนลดลง ขณะที่ดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจไตรมาส2ลดลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นลงมติให้มีการใช้โครงการปล่อยกู้ฯอีก 5 แสนล้านเยน ฅยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นในเดือนเมษายนลดลง 3.3% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกใน 4 เดือนหลังสุด หลังจากที่ในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ชี้ถึงการลงทุนใน 3-6 เดือนข้างหน้า
- ผลสำรวจความคิดเห็นในภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า ดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ของกลุ่มผู้ผลิตขนาดใหญ่ในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ยืนอยู่ที่ระดับ -23.3 จุด ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ระดับ -3.2 จุด เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตขนาดใหญ่มีมุมมองที่เป็นลบต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิได้สร้างความเสียหายต่อโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วประเทศ
- ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงมาตรการหลักที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไว้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ 0-0.1%และคงกองทุนซื้อสินทรัพย์วงเงิน 10 ล้านล้านเยนไว้ ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ลงมติให้มีการใช้โครงการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ มูลค่ารวม 5 แสนล้านเยน เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเติบโต
- ธนาคารกลางในเอเซียยังมีแนวโน้มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ โดยธนาคารกลางอินเดียเพิ่มอัตราดอกเบี้ยฯอีก 0.25% ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ตรึงอัตราดอกเบี้ย แต่เพิ่มสัดส่วนการกันสำรองฯของธนาคารพาณิชย์ ฅธนาคารกลางอินเดียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย repo rate ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ 0.25% จาก 7.25%เป็น 7.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553
- ดัชนีราคาค้าส่งของอินเดียเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 9.06% จากเดือนเดียวกันปีก่อน หลังจากเดือนเมษายนเพิ่ม 8.66% ฅผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียกล่าวว่าอาจจำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้าโดยตัวเลขอัตราเงินเพ้อเดือนหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดช่วงเวลาที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ธนาคารกลางออสเตรเลียได้คงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ 4.75% ในการประชุม 6 ครั้งหลังสุด หลังจากที่ธนาคารกลางฯได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยฯรวม 1.75% ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2552- พฤศจิกายน 255 3 ฅธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ2 ปีที่ 4.5% แต่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศปรับเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ขึ้น 1% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 มิถุนายน
ไทย
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าอุปสงค์ในประเทศและนอกประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการเดือนเมษายนลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลด้านต้นทุน อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นทั้งของภาคอุตสาหกรรมและของผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าลดลงทั้งคู่ โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งวัตถุดิบ และน้ำมัน ฅสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 108.3 จาก106.6 ในเดือนเมษายน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ราคาผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในระดับสูง ทำให้การบริโภคขยายตัวดี การส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งกิจกรรมรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนการประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 116.2 ในเดือนเมษายน
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการ เดือนเมษายน ลดลงสู่ระดับ 45.6 จากระดับ 48.0 ในเดือนมีนาคมเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนค่าครองชีพก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 48.8 จากระดับ 51.4
- ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ใช้อินเตอร์เน็ตที่จัดทำโดย บริษัทนีลเส็น ประเทศไทย ซึ่งจัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มีนาคม -12 เมษายน 2554 พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2554 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4 จุด สู่ระดับ 106.0 หลังจากที่มีมุมมองในเชิงบวกต่อความคาดหวังด้านงานและได้รับอิทธิพลเสริมจากความรู้สึกดีเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงิน อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลในเรื่องค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับความกังวลในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ, ภาวะโลกร้อน, ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น, เสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น
สรุป
- สหรัฐฯ ยังคงเผชิญปัญหาขาดดุลบัญชีแฝด โดยยอดขาดดุลงบประมาณของกลางรัฐบาลสหรัฐในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 42.7% สู่ระดับ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ขาดดุล 4.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประจำไตรมาส 1/2554 เพิ่มขึ้นสู่ 1.193 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นของรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสปรับเพิ่มเพดานหนี้ในอนาคตอันใกล้นี้
เอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของกรีซลง 3 ขั้น สู่ระดับ CCC ต่ำสุดในโลก
- รัฐบาลกรีซได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่เอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือ
- จำนวนผู้ว่างงานของกรีซเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมาที่ 16.2% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- มูดีส์ชี้ว่าฝรั่งเศสและอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง
- ธนาคารกลางเยอรมนีปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2554 เป็น 3.1% จากเดิม 2.5%
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอังกฤษเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง
- อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในเดือนพฤษภาคมทรงตัวที่ 4.5% ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18
- เศรษฐกิจจีนเดือนพฤษภาคมยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมก็ยังคงสูงขึ้น และสูงเกินเพดานเป้าหมายของทางการจีน โดยสัปดาห์นี้ธนาคารกลางจีนได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองฯของธนาคารพาณิชย์อีก 0.50% โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้
- ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรในญี่ปุ่นเดือนเมษายนลดลง ขณะที่ดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจไตรมาส2ลดลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นลงมติให้มีการใช้โครงการปล่อยกู้ฯอีก 5 แสนล้านเยน ธนาคารกลางในเอเซียยังมีแนวโน้มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ โดยธนาคารกลางอินเดียเพิ่มอัตราดอกเบี้ยฯอีก 0.25% ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ตรึงอัตราดอกเบี้ย แต่เพิ่มสัดส่วนการกันสำรองฯของธนาคารพาณิชย์
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการเดือนเมษายนลดลง อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นทั้งของภาคอุตสาหกรรมและของผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าลดลงทั้งคู่
โดย สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2554
----------------------------------------------------------------------------------------------------------