จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ziannoom
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1046
ผู้ติดตาม: 0

จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น จะมีการวิเคราะห์ด้วยกัน 2 แบบ คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณนี้ ก็หนีไม่พ้นต้องวิเคราะห์จากงบการเงิน โดยวิเคราะห์งบการเงินย้อนหลังให้มากที่สุด เท่าที่ข้อมูลเราจะหาได้

ในงบการเงินนั้นจะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญๆ คือ งบดุล(Balance Sheet) งบกำไรขาดทุน (Income Statement) งบกระแสเงินสด(Cash Flow Statement) และหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement) ข้อมูลทั้งหมดนี้จะต้องใช้ร่วมกัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

งบดุล จะให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆบริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สินและทุน มากน้อยเท่าไร มีความมั่นคงเพียงใด

สังเกตง่ายๆว่า หากหนี้สินมากกว่าทุน แสดงว่า บริษัทนี้กู้เงินมาลงทุนเป็นส่วนใหญ่ และมักจะมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นมากมายและยาวนานหลายปี สินทรัพย์ที่มีเกือบทั้งหมดจะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ รายได้ที่ทำมาหาได้จากการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นของเจ้าหนี้ ส่วนที่เหลือถึงจะตกมาถึงผู้ถือหุ้น บริษัทนี้หากเกิดวิกฤติขึ้นมา มักจะเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน

ในทางกลับกัน หากบริษัทมีหนี้น้อย รายได้ส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ถือหุ้น สินทรัพย์ที่บริษัทมีจะเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่

บริษัทที่ Value Investor ชอบ ก็คือ บริษัทที่ไม่มีหนี้สิน หรือมีน้อยมาก เพราะปลอดภัยและรายได้ที่หาได้เป็นของผู้ถือหุ้น

“งบกำไรขาดทุน” จะให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ดำเนินกิจการในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆ มีรายได้จากการดำเนินงานมาจากอะไรบ้าง มีต้นทุนเกิดขึ้นเท่าไรบ้าง ในงบกำไรขาดทุนนี้จะมีการบันทึกบัญชีการได้ค่าใช้จ่ายแบบคงค้าง คือได้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน เมื่อส่งสินค้าแล้วถือว่า ได้ขายออกไปแล้ว

ดังนั้น เวลาวิเคราะห์งบการเงินต้องทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการบันทึกบัญชีให้ละเอียดว่า บริษัทมีนโยบายในการบันทึกบัญชีอย่างไร..?

“งบกระแสเงินสด” จะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงิน 3 ส่วน คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ให้ข้อมูลที่ปรับจากเกณฑ์คงค้างในงบกำไรขาดทุนมาเป็นเกณฑ์เงินสด เราจะได้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆนั้น บริษัทขายสินค้าแล้วสามารถเก็บเป็นเงินสดได้มากน้อยเท่าไร ทั้งนี้ จะมีการปรับรายการที่ไม่ใช่เงินสดออกจนหมด เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือต่างๆ และข้อมูลอีกมาก

ส่วนกระแสเงินสดจากการลงทุน จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทว่า ในเวลางวดนั้น บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปในเรื่องใดบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าใด

กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน ให้ข้อมูลว่า บริษัทจัดหาเงินมาใช้ลงทุนและดำเนินกิจการจากแหล่งใด กู้มาหรือใช้ทุนเดิมหรือเพิ่มทุน

ผมอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆ กับการสังเกตงบการเงินเพื่อการลงทุนที่ปลอดภัย หลายท่านคงจะจำกรณี “หุ้น ROYNET” กันได้ดี หรือหากเป็นนักลงทุนใหม่คงจะต้องกลับไปค้นกันหน่อยครับ เพราะกรณีนี้โด่งดังมากและทำให้นักลงทุนกลายร่าง ปีกงอกเป็นแมงเม่ากันมากมาย จน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต้องลงมาจัดการกันจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต จนทุกวันนี้ยังไม่จบเรื่องเลยครับ

รายการนี้นักลงทุนหลายคนเจออาการที่เรียกว่า ผีหลอกกลางวัน ครับ กำไรอยู่ดีๆตั้งสองไตรมาส 10.2 ล้านบาท ก้าวกระโดดจากขาดทุนสุทธิ 11.19 ล้านบาทในปีก่อน แล้วกลับมาเป็นขาดทุนสุทธิ 36.7 ล้านบาทในไตรมาส 3 ขาดทุนสะสมแล้ว 71ล้านบาท

ก่อนหน้านั้นบริษัทรายงานว่า บริษัทพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้อย่างมากมาย จัดว่า “ก้าวกระโดด” เลยก็ว่าได้ ที่มาของอาการผีหรอกก็ไม่มีอะไรมากครับ ผู้บริหารแกล้งทำเป็นไร้เดียงสาบันทึกรายได้เร็ว(เกิน)ไป(ไม่)หน่อยครับ แต่แล้วก่อนประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 พวกท่านก็เกิดรู้เดียงสาขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ โดยนำหุ้นของพวกในตระกูลท่านที่มีอยู่ 60% ของทุนจดทะเบียน เข้าไปขายให้แมงเม่าทั้งหลายจนหมดสิ้น

พอ…งบออกเท่านั้นแหละครับ ซากแมงเม่าก็กองเกลื่อนไปทั่วตลาดหลักทรัพย์

ผมลองเข้าไปดูงบย้อนหลังดูพบว่า บริษัทฯขายชั่วโมง Internet แบบฝากขาย บริษัทย่อยให้บริการอี-คอมเมิร์ซและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการออกแบบ website และการรับรู้รายได้ก็เปิดเผยอย่างชัดเจนในหมายเหตุประกอบงบการเงินในข้อที่ 3 สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ หัวข้อย่อยที่ 3.1 บริษัทรับรู้รายได้ดังนี้

3.1.1 รายได้จากการขายบันทึกรับรู้ เมื่อส่งมอบสินค้า

3.1.2 รายได้จากการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับการชำระเงิน

แต่ในงบกำไรขาดทุนมีหัวข้อ รายได้จากการขาย รายได้จากการให้บริการ รายได้ดอกเบี้ย รายได้อื่นๆ ไม่มีหัวข้อรายได้จากการฝากขาย จึงเป็นช่องทางให้ผู้บริหารเล่นแร่แปรธาตุได้อย่างง่ายดาย โดยผู้สอบบัญชีเองก็ไม่อาจตรวจพบได้ (อันนี้ไม่รับรองนะครับ)

เรื่องของเรื่อง คือ บริษัทเร่งรับรู้รายได้จากการฝากขาย ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับชำระเงินเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ไตรมาส จนไตรมาส 3 ผู้สอบบัญชีทนไม่ได้ จึงทำการปรับงบการเงินให้สะท้อนภาพความเป็นจริง ซึ่งเป็นเหตุให้แมงเม่าวงแตกกระเจิง

โดยไตรมาส 1 รับรู้รายได้ 24 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6.9 ล้านบาท ไตรมาส 2 รับรู้รายได้ 23.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3.24 ล้านบาท

ทีนี้ มาดูที่งบกระแสเงินสด ผมพบตัวเลขในหัวข้อ ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ ในไตรมาสแรกประมาณ 22 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ประมาณ 34,738 บาท ในไตรมาส 2 งวด 6 เดือนประมาณ 42.25 ล้านบาท เทียบกับงวด 6 เดือนของปีก่อนหน้าที่ประมาณ 504,143 บาท พอมาในงวด 9 เดือน ตัวเลขเหล่านี้ถูกปรับใหม่จนมีสภาพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่างที่ยกตัวอย่างมานี่แหละครับ แค่เรื่องการรับรู้รายได้แค่นี้ ก็ทำร้อนไปตามๆกัน เหตุการณ์นี้บอกให้รู้ว่า งบการเงินนั้น หากเราวิเคราะห์และสังเกตให้ดีๆ มันคือแหล่งข้อมูลที่จะบอกพิรุธได้อย่างมาก แต่ก็น้อยคนจริงๆที่จะใส่ใจดูกัน

สำหรับผมและเพื่อน Value Investor อีกหลายท่านมุ่งเน้นว่า ต้องรู้เรื่องธุรกิจให้ชัดเจนทุกขุมขนเลย มีความรู้เรื่องบัญชีเล็กน้อยแต่ให้สังเกตและตั้งข้อสงสัยให้มากไว้ แล้วหาคำตอบให้ได้ก่อนการลงทุน จะปลอดภัยครับ

http://www.sarut-homesite.net/%e0%b8%88 ... %e0%b8%95/
ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า ขายเมื่อมูลค่าต่ำกว่าราคา
Montri M.
Verified User
โพสต์: 105
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับได้ความรู้มากเลย
- จงใช้ชีวิตในแต่ละวันของคุณ ดุจดังว่ามันเป็นวันสุดท้ายของชีวิต
- อย่าเสียเวลาเพื่อเติมเต็มชีวิตผู้อื่น อย่าติดกับดักของกฎเกณฑ์ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลของความคิดของคนอื่น
- จงกล้าที่จะทำตามหัวใจและสัญชาติญาณของคุณ

สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)
Stock lover
Verified User
โพสต์: 448
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณที่เอาความรู้มาแบ่งปันครับ
ชอบศึกษาหุ้นเชิงวิชาการมาก
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pathfinder
Verified User
โพสต์: 89
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ผมกำลังอ่านหนังสือ "รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัฉริยะ" ของคุณ Hongvalue พอดี (ผมไม่มีหุ้น เอ้ยไม่มีค่าเชียร์หนังสือนะครับ)
ในหนังสือแนะนำว่า "เราควรดูว่าตัวเลขกำไรสุทธิใกล้เคียงกับตัวเลขกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไหม"
ตอนแรกผมก็คิดในใจว่าตัวเลขในงบการเงินอื่นๆดูดี แค่ยังไม่ได้เก็บเงินลูกค้าตัวเลขกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจึงไม่เท่ากับกำไรสุทธิ ไม่เห็นต้องน่ากังวลมาก...

พอมาอ่าน case นี้จึงเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่าหากยังไม่เห็นเงินสดเข้ามาในบัญชี นอกจากแค่เรื่องสภาพคล่องแล้วยังไงก็ยังมีเรื่องความเสี่ยงโดยเฉพาะกับบริษัทที่ผู้บริหารที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาลเช่นกรณี Roynet นี้

บทเรียนที่ผมได้คือต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าการเลือกบริษัทที่จะลงทุน ถ้าจะให้ความสำคัญเรื่องตัวเลขงบการเงินแล้ว ให้่ดูให้รอบคอบ โดยเฉพาะงบกระแสเงินสด ถ้ามีตัวเลขใดแปลกๆทะแม่งๆ ให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์และความชอบในการพิจารณา และให้ตระหนักว่ามันมีความเสี่ยง ถ้ายังสนใจหุ้นตัวนั้นอยู่ก็ให้ขุดต่อไปจนเจอต้นเหตุ หรือไม่ก็เลิกยุ่งกับบริษัทนั้น

ขอบคุณมากสำหรับบทความดีๆแบบนี้ ผมขอ bookmark ไว้เป็น case study เอาไว้ย้ำเตือนตัวเอง

สำหรับเพื่อนที่สนใจดูงบที่คุณมนตรีกล่าวถึง สามารถ download งบปี 2545 Q2,Q3 ได้ที่
http://capital.sec.or.th/webapp/corp_fi ... mp_id=0654
Focusing on quality and cheapness simultaneously helps investors beat the market!
woodooshy
Verified User
โพสต์: 185
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ไม่ค่อยเข้าใจครับ จากบทความ

3.1.2 รายได้จากการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับการชำระเงิน

ย่อหน้าต่อมา
เรื่องของเรื่อง คือ บริษัทเร่งรับรู้รายได้จากการฝากขาย ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับชำระเงินเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ไตรมาส

ในเมื่อยังไม่ได้ชำระเงิน แล้วทำไมรับรู้รายได้ได้ครับ ในเมื่อ สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ บอกไว้ว่าต้อง
ชำระก่อน

งงครับ :D อธิบายให้ฟังหน่อยครับ
ลงทุนในความรู้ นำไปสู่อิสระภาพทางการเงิน

ลงทุนในบุญกุศล นำไปสู่อิสระภาพทางใจ
ziannoom
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1046
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 6

โพสต์

woodooshy เขียน:ไม่ค่อยเข้าใจครับ จากบทความ

3.1.2 รายได้จากการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับการชำระเงิน

ย่อหน้าต่อมา
เรื่องของเรื่อง คือ บริษัทเร่งรับรู้รายได้จากการฝากขาย ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับชำระเงินเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ไตรมาส

ในเมื่อยังไม่ได้ชำระเงิน แล้วทำไมรับรู้รายได้ได้ครับ ในเมื่อ สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ บอกไว้ว่าต้อง
ชำระก่อน

งงครับ :D อธิบายให้ฟังหน่อยครับ
มันคือการบันทึกรายได้แบบนึงไปลงอีกแบบนึง ทำให้เหมือนรายได้โตแต่ที่จริงแค่การบันทึกล่วงหน้า แต่งบกระแสเงินสดบ่งบอกได้ว่ามันไม่จริง
ประมาณนี้ครับรอคนข้างล่างมาอธิบายอีกที
ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า ขายเมื่อมูลค่าต่ำกว่าราคา
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pathfinder
Verified User
โพสต์: 89
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 7

โพสต์

woodooshy เขียน:ไม่ค่อยเข้าใจครับ จากบทความ

3.1.2 รายได้จากการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับการชำระเงิน

ย่อหน้าต่อมา
เรื่องของเรื่อง คือ บริษัทเร่งรับรู้รายได้จากการฝากขาย ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับชำระเงินเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ไตรมาส

ในเมื่อยังไม่ได้ชำระเงิน แล้วทำไมรับรู้รายได้ได้ครับ ในเมื่อ สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ บอกไว้ว่าต้อง
ชำระก่อน

งงครับ :D อธิบายให้ฟังหน่อยครับ
นโยบายการบัญชีนี้เป็นนโยบายของ Q3 ครับ (ผมเข้าใจว่าถูกแก้ไขหลังจากที่ผู้ตรวจสอบบัญตรวจพบความผิดปกติ)
ส่วนการรับรู้รายได้ทั้งสอง Q ก็เป็นไปตามนโยบายทางบัญชีที่กำหนดไว้เพราะถ้าไปดูงบของ Q2 (Q1 ก็แบบเดียวกัน) จะมีนโยบายการบัญชีดังนี้

3. สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ


บริษัทได้ใช้นโยบายบัญชีและวิธีการคำนวณในงบการเงินระหว่างกาลเช่นเดียวกับที่ใช้ในงบการเงินสำหรับปี 2544 และในปี 2545 บริษัทรับรู้รายได้จากการขายสินค้าสุทธิจากค่าเผื่อสินค้ารับคืนและรับรู้รายได้จากการฝากขายเมื่อผู้รับฝาก ขายสินค้านั้นให้บุคคลที่สาม


ผมเข้าใจว่าหลังจากที่ผู้ตรวจสอบตรวจพบความผิดปกติแล้วจึงได้แก้ไขงบการเงินของ Q3 โดยมีข้อมูลสำคัญที่เกิดขึ้นคือ
3.1 บริษัทบันทึกรับรู้รายได้ดังนี้
3.1.1 รายได้จาการขายบันทึกรับรู้ เมื่อส่งมอบสินค้า
3.1.2 รายได้จาการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับชำระเงิน
3.2 บริษัทตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนโดยประมาณที่อาจขึ้นจากการเก็บเงินจากลูกหนี้ไม่ได้

และต่อด้วย
14. การจัดทำงบการเงินใหม่
บริษัทได้มีการแก้ไขงบการเงิน สำหรับงวดสามเดือนและเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2545 ใหม่ เนื่องจากผู้สอบบัญชีพบเหตุการณ์บางประการที่ทำให้เชื่อว่างบการเงินสำหรับงวดสามเดือนและเก้าเดือนสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2545 ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมกรรมการครั้งที่ 7/2545 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 ได้ปฏิบัติต่อเนื่องจากงวดก่อนแต่ไม่สอดคล้องกับวิธีอันควรตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในเรื่องนโยบายบัญชีการรับรู้รายได้ และการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ บริษัทจึงได้แก้ไขปรับปรุงงบการเงินตามที่กล่าวใหม่

เจอไป 2 ข้อนี้..พอประกาศงบการเงิน Q3 (ฉบับตรวจสอบแล้ว) ที่เปลี่ยนจากกำไรตามที่ผู้บริหารได้ออกข่าวก่อนหน้านั้น....เป็นขาดทุนทันที!...ทำให้ซากแมงเม่ากองเกลื่อนไปทั่วตลาดหลักทรัพย์ตามที่คุณมนตีเขียนไว้ครับ

สุดท้ายเมื่องานเลี้ยงเลิกลา....
ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ทำตามหน้าที่ (เอาเมื่อตอน Q3)
ผู้บริหารถูกสั่งห้ามเป็นผู้บริหารหรือกรรมการในบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 10 ปี
คนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารที่ขายหุ้นช่วงสร้างราคา...คงรวยไปตามๆกัน
แมงเม่า...ขาดทุนยับ...ตายตอนจบเหมือนทุกเรื่องที่เคยเกิดขึ้น
Focusing on quality and cheapness simultaneously helps investors beat the market!
ziannoom
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1046
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ชัดเจน เอาไป 1 บวก
ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า ขายเมื่อมูลค่าต่ำกว่าราคา
woodooshy
Verified User
โพสต์: 185
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 9

โพสต์

อ่อ ขอบคุณมากครับ บทความไม่เคลียร์จริงๆด้วย :B
ลงทุนในความรู้ นำไปสู่อิสระภาพทางการเงิน

ลงทุนในบุญกุศล นำไปสู่อิสระภาพทางใจ
koolton
Verified User
โพสต์: 58
ผู้ติดตาม: 0

Re: จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ขอติงคุณ woodooshy นะครับการใช้คำว่า
woodooshy เขียน:บทความไม่เคลียร์จริงๆด้วย :B
ผมรู้สึกว่ามันไม่เหมาะสมนะครับ บทความที่ลงให้อ่านก็เคลียดีนะครับ ส่วนเราจะตีความยังไง ไม่เข้าใจ รึเข้าใจยังไง ก็แล้วแต่ตัวเองนะครับจะไปโทษบทความว่าไม่เคลียอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง เพราะคนที่เขาโพสเพื่อให้ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ดี และปราถนาดีต่อทุกคน นะครับ
โพสต์โพสต์