*** งบผู้ว่า CEO - สตง. ***

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
Britannica
Verified User
โพสต์: 185
ผู้ติดตาม: 0

*** งบผู้ว่า CEO - สตง. ***

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สตง.ไล่เช็กบิลงบฯผู้ว่าซีอีโอ

สตง. เครื่องร้อน เดินหน้าลุยตรวจสอบงบผู้ว่าซีอีโอสกัดการรั่วไหล ล่าสุดพบโครงการตัดถนนจากศรีสะเกษเข้าชายแดนเขมร/ โครงการสร้างเมืองใหม่ ส่อแววใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ เตรียมร่อนหนังสือถึงมหาดไทยพิจารณาทบทวน เตรียมปูพรมตรวจสอบอีก 4 โครงการหลัก สร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ค่า30,000 ล้านบาท โครงการกำจัดขยะ 20,000 ล้านบาท และโครงการใช้ระบบดาวเทียวสำรวจการจัดแบ่งเขตภาษีของอบต. ป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณ





-เจาะตรวจสอบงบลงทุนผู้ว่าซีอีโอ


ศ.พลโทสมชาย วิรุฬหผล กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2548นี้ สตง.ได้ปรับบทบาทหน้าที่จากเดิมที่เน้นการตรวจสอบระบบบัญชีและการเงินของหน่วยงานต่างๆ เป็นการเข้าไปตรวจสอบและประเมินผลความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการ (Performance Audit) ในการลงทุนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบที่จัดสรรให้กับผู้ว่าซีอีโอซึ่งได้มีการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆแล้ว


"ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานภาคของสตง.ทั่วประเทศสุ่มตรวจโครงการที่มีการใช้งบประมาณสูง เพื่อที่จะประเมินประสิทธิภาพของโครงการ โดยหากเห็นว่าโครงการใดที่เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า จะทำหนังสือทักท้วงไปยังจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นต้นสังกัดที่ดูแลงบผู้ว่าซีอีโอ เนื่องจากเงินที่ใช้ในการลงทุนในโครงการเหล่านี้มาจากเงินภาษีของประชาชน"








ศ.พลโทสมชาย กล่าวต่อว่า จากการติดตามผลการลงทุนงบผู้ว่าซีอีโอ พบว่าในบางจังหวัดมีการใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนไม่คุ้มค่า อย่างกรณีล่าสุดมีโครงการที่ผู้ว่าซีอีโอจังหวัดศรีสะเกษได้เสนอ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการตัดถนนจากจังหวัดศรีสะเกษไปยังชายแดนเขมร โดยอ้างถึงว่าเป็นโครงการที่จะเป็นประตูเปิดสู่แหล่งท่องเที่ยวในเขมรคือ นครวัดและนครธม และโครงสร้างเมืองใหม่ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งสตง.ตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นแล้วเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และมีเงื่อนงำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นอยู่


" โครงการที่ตรวจพบดังกล่าว เกิดจากการที่ คตง.ให้ความสนใจที่จะตรวจสอบการใช้งบผู้ว่าซีอีโอว่ามีการใช้งบลงทุนที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งในส่วนของการตัดถนนจากจังหวัดไปยังชายแดนเขมรนั้น คตง.เห็นว่าไม่น่าจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า ประกอบกับตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีวัตถุประสงค์ในเรื่องอื่น นอกเหนือจากที่โครงการระบุไว้ว่าเป็นการเปิดประตูสู่แหล่งท่องเที่ยว"


เนื่องจากขณะนี้ทางเขมรอยู่ระหว่างการสร้างบ่อนการพนัน "สตาร์เวกัส" หากมีการตัดถนนจากศรีสะเกษเข้าไปนอกจากจะต้องใช้งบประมาณสูงแล้ว ยังอาจจะเป็นช่องทางที่เปิดให้คนไทยเข้าไปเล่นการพนันในต่างประเทศได้มากขึ้น ขณะที่เส้นทางที่ตัดถนนไปนั้นก็ยังเป็นเส้นทางเสี่ยงภัยที่ยังมีการวางระเบิดกันอยู่


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายให้ คตง.ภาคที่จังหวัดอุบลฯตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยหลังจากนี้ คตง.จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นต้นสังกัดที่พิจารณางบผู้ว่าซีอีโอเพื่อให้พิจารณาทบทวนว่าควรจะมีการลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงการสร้างเมืองใหม่ของศรีสะเกษ ซึ่ง เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ คตง.เห็นว่าไม่น่าจะเกิดความคุ้มค่าเพราะ เป็นการสร้างเมืองอยู่บนเขา โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการยังเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอยู่ "


ด้านแหล่งข่าวจากคตง.กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 2 โครงการซึ่งเป็นโครงการที่ใช้งบผู้ว่าซีอีโอนั้น เป็นการของบประมาณตั้งแต่ในช่วงของการผู้ว่าทดลองใน 5 จังหวัดเมื่อหลายปีก่อน โดยจังหวัดศรีสะเกษ เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดทดลองดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมามีการเริ่มดำเนินโครงการไปแล้วในบางส่วน ซึ่งคตง.ประเมินว่าไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร และล่าสุดในช่วงของผู้ว่าซีอีโอคนปัจจุบันก็มีการของบประมาณเพื่อดำเนินการในโครงการข้างต้นต่อ ทางคตง.จึงเห็นว่าควรจะมีการทบทวนโครงการเหล่านี้ ก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก


ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณจากงบกลางเพิ่มเติม ปี 48 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อกระจายไปสู่โครงการยุทธศาสตร์ผู้ว่าซีอีโอ ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงเม็ดเงินที่จะกระจายลงไปยังจังหวัดต่างๆ แต่คาดว่าโดยภาพรวมแล้วจะใช้งบประมาณประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท


โฆษกคตง.กล่าวเพิ่มเติมว่า สตง.จะติดตามการใช้งบส่วนกลางที่รัฐบาลจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในบางส่วนได้เริ่มมีการกระจายเงินไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 โดยเท่าที่ได้ติดตามในเบื้องต้นพบว่าการกระจายเงินลงไปในส่วนท้องถิ่นหรือภูมิภาคยังมีการใช้เงินดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากคนในพื้นที่ที่รับเงินมาแล้วจะคิดว่าเป็นเงินที่ได้ฟรีนอกเหนือจากงบประมาณที่จัดไว้ ทำให้การพิจารณาลงทุนในโครงการต่างๆยังไม่รอบคอบ หรือการลงทุนในส่วนที่ไม่จำเป็นในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างอาคารสำหรับขายสินค้าแต่ไม่ได้ใช้อาคารดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น





สตง.ในยุคใหม่ จะปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากเดิมที่งานของสตง. เน้นในเรื่องของการตรวจสอบบัญชี การเงินของหน่วยงานราชการต่างๆ แต่เมื่อกฎหมายใหม่เปิดกว้างขึ้น จะลดน้ำหนักในเรื่องของการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินลง แต่จะเพิ่มน้ำหนักการตรวจสอบความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในการลงทุนในโครงการต่างๆแทน


โดยในปีนี้ ทางสตง.จะตรวจสอบแบบปูพรม เพื่อดูว่ามีการนำเงินงบประมาณไปใช้แล้วประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะเงินเหล่านี้ก็เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น หากเข้าไปสำรวจพบว่าการดำเนินการของเก่ายังไม่คุ้มค่าแต่จะของบประมาณใหม่เพิ่มเติม ทางสตง.ก็จะทำบันทึกถึงรัฐบาลเพื่อท้วงติง ซึ่งการเข้าไปตรวจสอบในลักษณะนี้อาจจะสามารถโยงไปถึงการตรวจสอบทางการเงิน รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างด้วย แต่จะเป็นประเด็นรอง ส่วนกรณีที่จะมีการอนุมัติงบประมาณใหม่หรือไม่นั้น คงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของรัฐบาลเพราะสตง.มีอำนาจในการตรวจสอบเท่านั้น โฆษก คตง.กล่าว





-ลุยสอบ 4 โครงการหลักทั่วประเทศ


โฆษกคตง. กล่าวย้ำอีกว่า ปีนี้มีโครงการหลักๆที่สตง.จะเข้าไปสำรวจความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะโครงการที่มีการดำเนินการกระจายอยู่ทั่วประเทศ คือ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งระบบ ที่มีงบประมาณทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท ซึ่งพบว่าหลายแห่งที่ไม่ได้ประโยชน์ และอาจมีเรื่องของความทุจริตอยู่ด้วย เช่น การใช้งบไปซื้อที่ตาบอด ฯลฯ ในขณะที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะของบประมาณเพื่อดำเนินการต่ออีก 20,000 ล้านบาท โครงการกำจัดขยะ ใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท โครงการนำระบบ GIS หรือระบบข้อมูลดาวเทียม(Geographic Information System) มาใช้สำรวจพื้นที่เพื่อการจัดแบ่งเขตภาษี ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะก่อนหน้านี้มีเทศบาลบางแห่งที่เริ่มนำระบบดังกล่าวมาใช้แล้ว และในขณะนี้ยังมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่นำระบบดังกล่าวมาใช้ด้วย ซึ่งอบต.บางแห่งใช้งบประมาณดำเนินการถึง 5 ล้านบาท สตง.ค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ เพราะหาก อบต.ทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่งใช้ระบบดังกล่าวเหมือนกัน ก็จะใช้งบประมาณถึง 35,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวของเทศบาลต่างๆ


นอกจากนี้เขายังกล่าวถึง แนวโน้มของการเข้าไปตรวจสอบระบบบัญชีและการเงินของหน่วยงานต่างๆว่า เนื่องจากในขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานมาก มีความซับซ้อนของการบริหารงานของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ คตง.ต้องปรับตัว เพราะการตรวจสอบจะยากขึ้น


นอกจากนี้ สตง.ยังได้ตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดและเสนอแนะรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสำหรับการใช้งบประมาณให้เหมาะสมกับการลงทุนแต่ละประเภท โดยในเบื้องต้นจะเน้นพิจารณารายละเอียดในเรื่องของการสร้างถนนและอาคารก่อน คาดว่าน่าจะนำรูปแบบดังกล่าวมาเสนอใช้ได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้








บี้หน่วยงานเสนอผลรายงานระบบควบคุมภายใน


โฆษกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ยังได้กล่าวถึง การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดระบบการควบคุมภายในให้ได้มาตรฐานซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องปรามการทุจริตที่ต้นเหตุ ซึ่งหน่วยรับตรวจจะต้องนำเสนอผลการรายงานเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในต่อ คตง.ตามระเบียบข้อ 6 แต่หลังจากที่ให้เวลาไปแล้ว 1 ปี พบว่าหน่วยตรวจรับ (กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ) กว่า 80 % ที่ยังค้างส่งรายงานดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานในภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งคตง.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อวิเคราะห์สาเหตุและข้อขัดข้องต่างๆ เพื่อเร่งหามาตรการหรือแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป


ทั้งนี้ การวางระบบของหน่วยงานต่างๆเพื่อที่จะช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจนและไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง คตง.ชุดที่ผ่านมา โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ.2544 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดระบบการควบคุมภายในให้เหมาะสมกับลักษณะและความสลับซับซ้อนของแต่ละหน่วยงาน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2544 ซึ่ง คตง.ชุดปัจจุบันได้ดำเนินการสานต่อและติดตามผลอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากถือเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องปรามการทุจริตที่ต้นเหตุ


ที่ผ่านมา คตง.ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบโครงการที่อาจจะมีการทุจริตในหลายโครงการ เช่น การตรวจสอบการจัดซื้อรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งพบว่า 19 หน่วยงานจัดซื้อรถยนต์ไม่ถูกต้อง จำนวน 24 คัน การติดตามผลโครงการทุจริตลำใยอบแห้ง โดยอยู่ระหว่างการติดตามร่วมกับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา การติดตามข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีโครงการรถไฟรางคู่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนว่าโครงการของกระทรวงคมนาคมมีการทุจริตสูงที่สุด เป็นต้น
Britannica
Verified User
โพสต์: 185
ผู้ติดตาม: 0

*** งบผู้ว่า CEO - สตง. ***

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เปิดผลสตง.แฉงบผู้ว่าฯ

ล้วงงบผู้ว่าฯซีอีโอ 30 จังหวัด สตง. แฉเจอ 105 โครงการ ใน196 โครงการ เข้าข่ายผิดชัดเจน ส่วนที่เหลือยังมีความเสี่ยง แจง 5 จังหวัดติดโผขาดประสิทธิภาพในการจัดซื้อ จัดจ้าง เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครปฐม ชลบุรี และสงขลา มูลค่าโครงการรวม 447 ล้านบาท "วราเทพ" ยอมรับบางโครงการอาจเกิดข้อบกพร่องได้ ด้านนายกฯตำหนิสตง.ควรส่งรายงานให้รัฐบาลก่อน ยืนยันระบบผู้ว่าฯซีอีโอช่วยพัฒนาศก.ประเทศ


..............................................................................................................................


แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผย " ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากการรายงานผลของเจ้าหน้าที่สตง. ในการเข้าไปสุ่มตรวจโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด (ผู้ว่าฯซีอีโอ) ใน 30 จังหวัด 196 โครงการ พบว่ามีประมาณ 105 โครงการ มูลค่ารวม 447 ล้านบาท ที่เข้าข่ายในลักษณะของโครงการที่มีความผิดอย่างเห็นได้ชัด ส่วนที่เหลือเป็นโครงการที่มีความเสี่ยง โดยส่วนใหญ่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองงานในแต่ละชั้น เช่น กรณีการจัดจ้างบริษัทเข้ามารับเหมาหรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบราคากลาง เป็นเพียงการส่งให้คณะกรรมการประจำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จากระเบียบที่กำหนดไว้ว่าให้การดำเนินการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเสนอแบบ ประกวดราคา การยื่นความจำนงในการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นชุดๆ ไป


"ลักษณะความผิดในเบื้องต้นมีการตรวจพบมาก โดยคตง.ได้รับข้อมูลการรายงานจากเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบโครงการของผู้ว่าฯซีอีโอในปีงบประมาณ 2547 วงเงิน 3,750 ล้านบาทพบว่ามีโครงการที่เข้าข่ายผิดชัดเจน 105 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 447 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีโครงการที่เข้าข่ายผิดชัดเจนสูงสุด ได้แก่ โครงการของผู้ว่าฯซีอีโอ ในจังหวัดเชียงใหม่ 11 โครงการ นครสวรรค์ 11 โครงการ นครปฐม 11 โครงการ ชลบุรี 10 โครงการ และสงขลา 9 โครงการ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นประเภทของโครงการเกษตร ท่องเที่ยว โอท็อป เป็นต้น"


พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การทำงานของผู้ว่าฯซีอีโอ จนถึงขณะนี้ทำได้กว่า 60 % แต่อาจมีบางส่วนที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับระบบการทำงาน ส่วนการใช้จ่ายในโครงการต่างๆของผู้ว่าฯซีอีโอนั้น เป็นเงินที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว หากมีการใช้ไม่ถูกต้องตามโครงการก็ต้องมีการตรวจสอบ หากพบว่ายังไม่ดีพอ ก็ต้องพัฒนาต่อไป เพื่อให้สามารถทำงานกับระบบได้ โดยขอยืนยันว่าระบบผู้ว่าฯซีอีโอจะเป็นประโยชน์และสามารถพัฒนาพื้นที่ให้มีความก้าวหน้า


"ความจริง สตง.จะต้องส่งรายงานมาให้รัฐบาล ไม่ใช่ไปวิจารณ์หรือแถลงข่าวว่ารัฐบาลทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้ามีอะไรที่บกพร่องหรือไม่ดีก็ควรมาบอกกัน ไม่ใช่ว่ามาบอกว่าบริหารไม่ดี เพราะไม่ใช่หน้าที่ของสตง. หน้าที่ของสตง.คือ ตรวจการใช้เงินให้ถูกต้อง "นายกรัฐมนตรีกล่าว


ทางด้าน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ได้เข้าไปดำเนินการสุ่มตรวจการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด(ผู้ว่าฯซีอีโอ)ในปี 2547 นั้น น่าจะเป็นการดำเนินการตามข้อกำหนดและระเบียบที่มีการวางไว้ เพราะจะมีระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวดมาก แต่เนื่องจากบางกรณีอาจเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ จึงอาจเกิดข้อบกพร่องขึ้นได้ แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ามีการใช้จ่ายที่ผิดระเบียบตามที่คตง.กล่าวหาหรือไม่


"ยอมรับว่าในปีงบประมาณ 2548 ที่เดิมมีการตั้งรายจ่ายไว้ 5,000 ล้านบาท และมีการตั้งรายจ่ายเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีอีก 15,000 ล้านบาท ทำให้ยอดรายจ่ายในส่วนนี้สูงถึง 20,000 ล้านบาทนั้น จะต้องมีการระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้นในการเบิกจ่ายแต่ละโครงการ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายไว้แล้วว่า ต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดรับกันกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้วางไว้ เพื่อให้สามารถช่วยในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณ" นายวราเทพ กล่าว


ก่อนหน้านี้ นายนรชัย ศรีพิมล ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาผลการตรวจสอบการดำเนินงานระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการของปีงบประมาณ 2547 เกี่ยวกับความพร้อมของจังหวัดในการปฏิบัติราชการ ทั้งในเรื่องความพร้อมของการบริหารจัดการและความพร้อมในการริเริ่มจัดทำและดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยได้สุ่มตรวจ 30 จังหวัด (ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน - 30 พฤศจิกายน 2547) จำนวน 196 โครงการ


ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2547 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ (งบกลาง) รวมทั้งสิ้น 3,750 ล้านบาท โดยมีการจัดสรรงบประมาณใน 2 ลักษณะ คือ งบโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด วงเงินไม่เกิน 2,250 ล้านบาท และงบบริหารจัดการของจังหวัด จังหวัดละ 20 บาท (ในปีงบประมาณ 2548 คาดว่าจะได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 20,000 ล้านบาท และปี 2549 คาดว่าจะได้รับงบประมาณ 40,000 ล้านบาท)
ล็อคหัวข้อ