http://www.manager.co.th/Business/ViewN ... 0000092882
ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการบังคับประหยัดพลังงาน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2548 16:04 น.
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน
ครม.อนุมัติ 3 มาตรการบังคับประหยัดพลังงาน ปิดปั๊ม 4 ทุ่ม ปิดไฟป้ายโฆษณา 4 ทุ่ม ห้ามหน่วยราชการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเบนซิน ด้าน"เชิดพงษ์" อุบเงียบ ไม่ยืนยันลอยตัวราคาดีเซล หวั่นกักตุนน้ำมัน ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันชี้จะมีปั๊มน้ำมันปิดตัวจากปัญหาน้ำมันแพงจนทำให้เด็กปั๊มตกงานสูงถึง 30,000 คน
วันนี้(12 ก.ค.) นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเรื่องมาตรการบังคับเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศ ดังนี้ 1.ปิดสถานีบริการน้ำมัน ห้ามจำหน่ายเชื้อเพลิงทุกชนิดระหว่าง เวลา 22.0005.00 น. ยกเว้นบริเวณถนนสายหลักและสถานีบริการเอ็นจีวีและสถานีบริการอากาศยาน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป 2.กำหนดเวลาใช้ไฟฟ้าในการโฆษณาป้ายสินค้าหรือบริการหรือประดับสถานที่ทำธุรกิจ ฯลฯ ที่มีขนาดตั้งแต่ 32 ตารางเมตร ขึ้นไป สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 4 เมตร ใช้ไฟส่องสว่างอย่างต่ำ 1,000 วัตต์ ให้ใช้ไฟฟ้าได้ระหว่างเวลา 19.00-22.00 น. โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไป
นายเชิดพงษ์ กล่าวต่อว่า มาตรการที่ 3ห้ามหน่วยงานของรัฐเบิกจ่ายค่าน้ำมันเบนซิน ถ้าใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับรถยนต์เบนซินของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจให้เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันเบนซินเท่านั้น เว้นแต่ไม่สามารถหาสถานีบริหารน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ หรือเป็นรถยนต์รุ่นเก่าที่ผลิตก่อนปี 2538 ซึ่งไม่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้
มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 328 ล้านลิตรต่อปี และประหยัดไฟฟ้าได้ 52 ล้านหน่วยต่อปี รวมคิดเป็นเงิน 6,680 ล้านบาทต่อปี และลดการนำเข้าสาร MTBE ในส่วนรถยนต์ราชการคิดเป็นเงินประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี รวมประหยัดพลังงานทั้งสิ้น เป็นเงิน 6,830 ล้านบาทต่อปี นายเชิดพงษ์ กล่าว
นายเชิดพงษ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เชื่อว่าการลดเวลาเปิดสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 2 ชั่วโมง จะส่งผลทางจิตวิทยากับประชาชนทำให้ลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 1.2 และไม่กระทบต่อการจ้างงานของพนักงานขาย และแม้ว่าการกำหนดเวลาใช้ไฟฟ้าในป้ายโฆษณาเป็นมาตรการบังคับ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการป้ายโฆษณาด้านรายได้ที่ลดลง แต่จะส่งผลทางจิตวิทยากับประชาชนให้ประหยัดพลังงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะลอยตัวราคาดีเซลในเดือนกรกฎาคมหรือไม่ นายเชิดพงษ์ กล่าวว่า กำลังพิจารณาอยู่ โดยเป็นอำนาจนายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้อนุมัติว่าจะลอยตัวหรือไม่ โดยจะไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาการกักตุนดีเซลที่อาจจะทำให้ประชาชนผู้กักตุนเกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 3 มาตรการบังคับประหยัดพลังงานออกมากในวันนี้แล้ว ยังมอบให้กระทรวงพลังงานไปดูแนวทางอื่น ๆ ว่าจะประหยัดพลังงานได้เพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยประเด็นที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เช่น การปิดไฟฟ้าสนามกอล์ฟที่จะกระทบต่อสนามกอล์ฟ 10 แห่ง ประหยัดได้ประมาณ 9 ล้านบาทต่อปี ก็ให้พิจารณาให้รอบคอบว่าจะกระทบต่อบรรดาแคดดี้ที่อาจจะตกงานหรือไม่ ส่วนการคิดค่าไฟฟ้าอัตราก้าวหน้าสำหรับสถานบันเทิง เช่น ผับ อาบอบนวด คาราโอเกะ ก็ให้พิจารณาว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ 4 เมืองใหญ่ในต่างจังหวัดหรือไม่ ซึ่งปัจจัยของการพิจารณาจะใช้มาตรการต่าง ๆ จะดูว่าจะต้องไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน และประชาชนจะต้องไม่เดือดร้อนมากนัก
ด้านนายสมภพ ธนะธีรพงศ์ นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมัน กล่าวว่า การปิดปั๊มน้ำมันเร็วขึ้นจะกระทบทำให้เจ้าของปั๊มทั่วประเทศที่มีประมาณ 15,000 แห่ง คงทยอยปลดคนงาน 2-3 คนต่อปั๊ม หรือรวมแล้วคาดว่าเด็กปั๊มจะตกงานประมาณ 10,000-30,000 คน จากเด็กปั๊มทั่วประเทศกว่า 100,000 คน เพราะขณะนี้ยอดขายน้ำมันก็ลดลงจากราคาแพงขึ้น ค่าการตลาดที่ได้รับก็อยู่ในอัตราที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากถึง 10 ปี จึงอยากให้รัฐบาลมาเจรจากับบริษัทน้ำมันช่วยเพิ่มค่าการตลาดแก่ปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้นตลอดทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า โดยคาดว่าจากปัญหาเศรษฐกิจ และน้ำมันแพงครั้งนี้น่าจะมีปั๊มปิดตัวประมาณ 4,000-5,000 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงการตลาดน้ำมันได้คาดการว่ากระทรวงพลังงานอาจจะประกาศลอยตัวดีเซลในวันนี้ (12 ก.ค.) โดยที่ผ่านมามีการกักตุนน้ำมันด้วยการซื้อล่วงหน้าให้เต็มคลังเต็มถังทั้งในส่วนผู้ใช้น้ำมันและผู้ค้า ซึ่งหากจะลอยตัวเฉพาะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เข้าไปชดเชยราคาก็จะเพิ่มขึ้นทันที 1.36 บาทต่อลิตร