พี่ที่คุย MSN กันบ่อยๆ แกทำงานบริษัทด้านน้ำมัน เคยบอกผมว่า ก๊าซโซฮอลเนี่ย ปั้มไม่อยากจะขาย เพราะจริงๆแล้ว ขายแล้วขาดทุน .... ผมก็ว่าแปลกดี .. พออ่านข่าวนี้แล้ว อืมมม ...
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews ... 0000093306
รัฐ "คุมราคาเอทานอล" โรงงานป่วน ผลผลิตต่ำ-แก๊สโซฮอล์ขาดตลาด
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 กรกฎาคม 2548 13:50 น.
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รัฐคุมราคาเอทานอล 15 บาท/ลิตร ป่วนอุตสาหกรรมผลิตทั้งระบบ เหตุราคาต่ำกว่าต้นทุนผลิต โรงงานเก่าหยุดเดินเครื่อง ส่วนโรงงานใหม่ที่กำลังจะเปิดอาจต้องชะลอไปก่อนจนกว่าระดับราคาจะคุ้มต่อการผลิต เผยโรงงานใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลกระทบหนักสุด เจอต้นทุนพุ่งถึง 20 บาท/ลิตร ส่วนโรงงานใช้มันสำปะหลังเจอปัญหาไม่ต่างกัน ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งเกือบเท่าตัว ขณะที่ความต้องการเอทานอลสูงขึ้นเรื่อยๆ หวั่นแก๊สโซฮอล์อาจไม่พอต่อความต้องการ
สถานการณ์ปัญหาน้ำมันแพงส่งผลให้พลังงานทางเลือกได้รับความสนใจในสังคมเพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงดีเซลและเบนซิน โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์มีการใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าพลังงานชนิดอื่น ผู้ให้บริการน้ำมันในประเทศคือ บางจาก และปตท. กำหนดเป็นนโยบายขยายหัวปั๊มแก๊สโซฮอล์สู่สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ พร้อมตั้งราคาขายปลีกที่ต่ำกว่าเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 1.50 บาท
อย่างไรก็ตาม ในแง่วัตถุดิบคือเอทานอลยังมีปัญหาในการผลิตเพื่อป้อนให้แก่บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน มีเพียง 1 โรงงานที่ยังคงผลิตเอทานอลป้อนให้กับบางจากและ ปตท. ส่วนอีก 2 โรงงานหยุดเดินเครื่องจักรผลิตชั่วคราวจากปัญหาราคาเอทานอลที่ผู้ประกอบการมองว่าไม่คุ้มต่อการผลิต แม้จะปรับเพิ่มจาก 12.75 บาท/ลิตร เป็น 15 บาท/ลิตร แล้วก็ตาม
แหล่งข่าวจากโรงงานผู้ผลิตเอทานอลรายหนึ่งเปิดเผยว่า การคุมราคาเอทานอลไว้ที่ 15 บาท/ลิตร เป็นราคาที่ต่ำเกินไป กระทบต่อความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลทั้งระบบ หากฝืนเดินเครื่องผลิตอาจประสบปัญหาขาดทุน เพราะต้นทุนผลิตเอทานอลเฉพาะที่โรงงานเฉลี่ย 16 บาท/ลิตรแล้ว หากรัฐยังยืนยันราคาที่ 15 บาท/ลิตร โรงงานคงไม่สามารถเดินเครื่องจักรผลิตได้ โดยผู้ประกอบการจะหาทางร่วมกันเจรจากับรัฐบาลให้ปรับราคาเอทานอลอีกครั้ง
สำหรับสถานการณ์ของโรงงานผลิตเอทานอล ขณะนี้มีโรงงานเอทานอลที่กำหนดจะเปิดเดินเครื่องจักรผลิตภายในปี 2548 หลายแห่ง แต่เมื่อต้องเผชิญปัญหาราคาขายที่ต่ำเกินไป เชื่อว่าโรงงานส่วนใหญ่จะชะลอการเดินเครื่องจักรออกไปจากกำหนดเวลาเดิมที่แจ้งต่อคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ จนกว่าเอทานอลจะปรับราคาขึ้นสู่ระดับที่เหมาะสม ทางผู้ผลิตใหม่จึงจะเริ่มเดินเครื่องผลิตป้อนตลาดให้
ด้านรศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงการผลิตเอทานอลว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงมาก โดยเฉพาะโรงงานเอทานอลที่ใช้วัตถุดิบจากโมลาส หรือกากน้ำตาล ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมตันละ 1,250-1,500 บาท ล่าสุดปรับขึ้นถึงตันละ 4,500 บาท
ต้นทุนผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลเฉลี่ย 17.30 บาท/ลิตร บวกค่าการตลาดอีก 3 บาท รวมต้นทุนผลิตสูงถึง 20 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าราคาเอทานอลที่รัฐประกาศไว้ 15 บาท/ลิตร ไม่คุ้มต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลขณะนี้คือ โรงงานเดิมทั้ง 3 แห่งมีเพียง 1 โรงงานเท่านั้นคือ โรงงานไทยอะโกรเอนเนอร์จี ที่ จ.สุพรรณบุรี ที่ยังคงเดินเครื่องจักรผลิตอยู่ที่ระดับ 150,000 ลิตร/วัน ส่วนอีก 2 โรงงานหยุดเดินเครื่องจักรผลิตชั่วคราว ทำให้ปริมาณผลผลิตเอทานอลไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
"จุดที่น่าเป็นห่วง ผลกระทบการผลิตเอทานอลอาจไม่จำกัดแค่โรงงานที่เปิดแล้วเท่านั้น แต่อาจขยายไปสู่โรงงานเอทานอลที่กำลังก่อสร้างและจะเปิดดำเนินงานภายในปี 2548 อีก 3 บริษัท และปี 2549 อีก 17 บริษัทอาจจะต้องชะลอการผลิตไปด้วย โดยเฉพาะโรงงานผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล ทำให้ผลผลิตเอทานอลไม่ได้ตามเป้าหมาย และเป็นไปได้ที่แก๊สโซฮอล์อาจไม่พอต่อความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้" รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวและว่า
กำลังการผลิตเอทานอลตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้ปี 2547 จะได้ผลผลิต 275,000 ลิตร/วัน ณ ปัจจุบันเหลือเพียง 150,000 ลิตร/วันเท่านั้น ส่วนที่จะเพิ่มอีก 430,000 ลิตร/วันภายในปี 2548 และได้ตามเป้าหมายที่กำหนด 4,060,000 ลิตร/วัน ภายในสิ้นปี 2549 คงไม่ได้ตามเป้าหมายแน่หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาราคารับซื้อเอทานอลได้
ทั้งนี้มีโรงงานเอทานอลที่มีกำหนดเดินเครื่องผลิตจำนวน 3 โรงงานในปี 2548 คือ บริษัท ไทยง้วนเอทานอล จำกัด กำลังผลิต 130,000 ลิตร/วัน ใช้วัตถุดิบมันสำปะหลัง ตั้งโรงงานที่ จ.ขอนแก่น กำหนดผลิตภายในสิงหาคม 2548, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กำลังผลิต 170,000 ลิตร/วัน ใช้มันสำปะหลังที่ จ.ระยอง กำหนดผลิตภายในตุลาคม 2548 และบริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด กำลังผลิต 85,000 ลิตร/วัน ใช้วัตถุดิบกากน้ำตาล ตั้งโรงงานที่ จ.ขอนแก่น กำหนดผลิตภายในพฤศจิกายน 2548
ไทยง้วนเตรียมทดลองเดินเครื่อง
นายวิชัย หวังพรพระ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยง้วนเอทานอล จำกัด โรงงานที่มีกำหนดเปิดในปี 2548 เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงงานเอทานอลของบริษัทคืบหน้ามากกว่า 95% แล้วเหลือเพียงงานภายในบางส่วนเท่านั้น ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2548 บริษัทจะทดลองเดินเครื่องจักรผลิตว่าจะเกิดปัญหาเชิงเทคนิคหรือไม่ จากนั้นจะกำหนดเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการต่อไป
ปัญหาต่อการผลิตเอทานอล ณ ปัจจุบัน คือราคาวัตถุดิบที่ใช้หัวมันสำปะหลังสดปรับตัวเกือบเท่าตัวจากระดับราคาที่ประเมินไว้ ปัจจุบันราคารับซื้อหัวมันสดเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1.60-1.80 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาเอทานอลรัฐควบคุมไว้ที่ 15 บาท/ลิตรนั้น ราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังสดไม่ควรเกิน 1 บาท/กิโลกรัม จึงจะคุ้มต่อการผลิตเอทานอลจำหน่ายในราคาที่รัฐควบคุม
"ราคามันสำปะหลังที่สูงขึ้นจากอดีต ไม่อยากให้มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการผลิตเอทานอล แต่ราคาที่สูงขึ้นจะเกิดผลดีต่อเกษตรกร และส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศ การแก้ปัญหาเอทานอลไม่ควรเน้นวิธีแก้ปัญหาไปที่การลดต้นทุนวัตถุดิบเกษตร แต่น่าจะมีกระบวนการเจรจาให้รัฐบาลยืดหยุ่นราคาเอทานอลให้สูงขึ้นให้คุ้มต่อการผลิตของโรงงาน" นายวิชัยกล่าวและว่า
ทั้งนี้ หากราคาเอทานอลยังควบคุมที่ 15 บาท/ลิตร อาจจะทำให้การเดินเครื่องจักรผลิตเอทานอลไม่สามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพกำลังผลิตที่ 130,000 ลิตร/วัน โดยระยะเริ่มต้นอาจจะเดินเครื่องผลิตในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อปรับสภาพเครื่องจักรให้สมบูรณ์ อาจจะผลิตประมาณ 50% ขณะเดียวกันโรงงานจะหาวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาเสริมการผลิตด้วย
อนึ่งการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนการผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของไทย ระหว่างปี 2547-2554 มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลทั้งสิ้น 23 บริษัท 25 โรงงาน
เป้าหมายกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 4,060,000 ลิตร/วัน ภายในปี 2549 ในจำนวนนี้ผลิตได้แล้วประมาณ 275,000 ลิตร/วัน ภายในปี 2547 และผลิตเพิ่มได้อีกประมาณ 715,000 ลิตร/วัน ภายในสิ้นปี 2548 ส่วนที่เหลือคาดว่าจะผลิตได้ตามประมาณการภายในปี 2549