เปิดกลโกงไซฟ่อนเงินตลาดหุ้น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Mon money
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 3134
ผู้ติดตาม: 0

เปิดกลโกงไซฟ่อนเงินตลาดหุ้น

โพสต์ที่ 1

โพสต์

แหล่งที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/2005/07/2 ... s_id=24820
เปิดกลโกงไซฟ่อนเงินตลาดหุ้น

27 กรกฎาคม 2548 22:24 น.
ก.ล.ต.เผยข้อมูลไซฟ่อนส่วนใหญ่ มาจากพนักงาน ในบริษัทเอง พร้อมระบุ 70 บจ.ที่ผู้สอบบัญชี ไม่แสดงความเห็น

ก.ล.ต.ขยายเวลาไทยฟิล์มส่งงบ


นักวิชาการ-นักบัญชีเตือนระวัง งบการเงิน 4 ลักษณะส่อเค้าไซฟ่อนเงิน แฉบางรายมาแปลกให้เช่าที่ดินของผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทยาวเกือบ 100 ปี ตีค่าความนิยมสูงเกินจริง และให้อีสปผู้บริหาร-พนักงานราคาต่ำ ด้านนักบัญชีเปิดวิธีนิยมสุดโดยกู้ยืมเงินแบบไม่คิดคืน ขณะที่ ก.ล.ต.ชี้ข้อมูลไซฟ่อนเงินส่วนใหญ่มาจากพนักงานในบริษัทเอง แย้มปีที่ผ่านมา มี 70 บจ.ที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น

ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "งบการเงิน การปั่นหุ้น และการกำกับดูแล" ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ biz week และสถาบันภาภัทร-ธุรกิจบัณฑิตย์ ว่า ลักษณะบัญชีที่ส่อเค้าว่าอาจมีการไซฟ่อนเงินเกิดขึ้นนั้น จะมีด้วยกัน 4 ลักษณะคือ 1.มีการตั้งค่าความนิยม (กู๊ดวิว) ที่สูงเกินความจริง 2.มีการลงทุนในสินทรัพย์อื่นสูง 3.มีการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมจำนวนมาก และ 4.มีการให้เงินกู้ยืมแก่ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

สำหรับค่ากู๊ดวิวที่สูงเกินจริงนั้น ที่ผ่านมามักคิดจากส่วนต่างราคาที่จ่ายจริงกับมูลค่าทางบัญชีของกิจการที่ซื้อมา โดยไม่มีการแยกรายละเอียดที่ชัดเจนว่ามี ค่าเครือข่าย ค่าบัญชีลูกค้า หรือค่าทีมบริหาร ที่สามารถสร้างประโยชน์ทางธุรกิจในอนาคตได้เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งโดยปกติต้องมีการประเมินส่วนนี้ตามหลักบัญชีจึงจะเรียกว่าราคายุติธรรม ที่เหลือจึงคิดเป็นค่ากู๊ดวิว

ส่วนกรณีที่มีการลงทุนในสินทรัพย์อื่นสูงนั้น จากข้อมูลที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของค่าเช่าที่ดิน โดยที่ดินที่เช่านั้นมักเป็นที่ดินของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท บางแห่งมีการเช่าที่ดินกันยาวถึง 99 ปี คิดค่ารวมแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งที่สัญญาเช่ามีอายุเพียง 3 ปี และสามารถต่ออายุได้เรื่อยๆ

"มีข้อสังเกตว่าบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มักดำเนินการคล้ายๆ กัน คือเช่าที่ดินของผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำเป็นโรงงานหรือสำนักงาน ซึ่งตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดหากเป็นราคายุติธรรม แต่กรณีเหล่านี้ อาจมองได้ว่า ทำให้บริษัทขาดโอกาสที่จะเลือกทำเลในการทำธุรกิจหรือโอกาสที่จะมี strategic partner ที่เหมาะสมได้"ดร.วรศักดิ์ กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ส่วนการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมนั้น ประเด็นนี้ต้องระวังว่าบริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น มีการตีความหรือลงบัญชีถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าเป็นการลงทุนในบริษัทย่อยนั้น งบการเงินต้องนำมารวมกับบริษัทแม่ แต่ถ้าเป็นบริษัทร่วมไม่ต้อง ที่ผ่านมาได้มีบางบริษัทที่ลงทุนในบริษัทย่อยแต่ตีความว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทร่วม

สำหรับการให้เงินกู้ยืมแก่ผู้เกี่ยวข้องนั้น ซึ่งลักษณะนี้จะอยู่ในรูปของเงินลงทุนเช่นกัน ซึ่งต้องดูว่ามีการชำระคืนหนี้เป็นปกติหรือไม่ หรืออีกลักษณะคือ การให้ออปชั่นกับผู้เกี่ยวข้องของบริษัทในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทหลายแห่งได้แจกใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนท์) ให้กับกรรมการ พนักงาน และผู้บริหาร โดยมีราคาใช้สิทธิในราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายในกระดาน เท่ากับว่าพนักงานเหล่านี้จะได้กำไรทันทีจากวอร์แรนท์ที่ทางบริษัทแจกให้ ซึ่งลักษณะนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นรายย่อยเพราะทำให้เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นควรได้ลดลง ซึ่งลักษณะนี้จะพบมากในบริษัทกลุ่มสื่อสาร

ด้านนายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต.ในการควบคุมดูแลการปั่นหุ้น การไซฟ่อนเงิน การคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย รวมถึงวิธีการตรวจสอบว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต.จะดูแลการเปิดเผยข้อมูล หากมีการเปิดเผยที่ไม่ถูกต้อง ก.ล.ต.ก็จะเข้าไปตรวจสอบทันที โดยที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต.มักจะได้ข้อมูลจากพนักงานหรือผู้เกี่ยวข้องของบริษัทจดทะเบียนรายนั้นเอง

"ปกติ ก.ล.ต.มักจะได้ข้อมูลของบริษัทแต่ละแห่งจากพนักงานหรือผู้เกี่ยวข้องของบริษัทนั่นเอง และก.ล.ต.ก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้พิจารณาประกอบไป เมื่อมีข้อมูลเท็จจริงก็จะดำเนินการทันที อย่างกรณี ไทยฟิล์ม ทาง ก.ล.ต.ก็มีข้อสงสัยมานานแล้ว โดยเริ่มสงสัยตั้งแต่ปี 2544-2545 แต่ขณะนั้นข้อมูลเรายังมีไม่เพียงพอ ต่อมาเมื่อเรามีข้อมูลเพียงพอก็แจ้งไปยังเขาเพื่อให้ชี้แจงมา"นายชาลีกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า สำหรับงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่ก.ล.ต.ดูแลอยู่นั้นมีจำนวน 433 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นจำนวน 70 บริษัท และผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตประมาณ 28 บริษัท นอกจากนี้ยังมี 3 บริษัทที่ไม่แสดงความเห็น ส่วนที่เหลืออีก 332 บริษัทเป็นงบการเงินที่ถูกต้อง ซึ่งงบที่ผู้สอบบัญชีสงสัยหรือตั้งข้อสังเกตนั้น ทาง ก.ล.ต.จะหยิบขึ้นมาตรวจสอบก่อน

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาด้านบัญชีขึ้นมา เพื่อพิจารณางบบัญชีบางบริษัทที่มีความซับซ้อน ซึ่งในปี 2547 ที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนที่ถูกสั่งแก้งบการเงิน 10 บริษัท ในจำนวนนี้มี 5 บริษัทที่งบการเงินมีความซับซ้อนจนต้องนำเข้าคณะที่ปรึกษาด้านบัญชีตีความ ส่วนปี 2548 มีบริษัที่ถูกสั่งแก้งบรวม 8 บริษัท เข้าคณะกรรมการชุดนี้ 6 บริษัท

ดร.ภาพร เอกอรรถพร ผู้อำนวยการสถาบันภาภัทร กล่าวว่า วิธีไซฟ่อนเงินที่นิยมกันมากที่ผ่านมามักจะมี 3 วิธี คือ 1.กู้เงินแบบไม่ตั้งใจจ่ายคืน 2.เอาเงินออกมาก่อน และ 3.กำไรที่ได้เอาไว้ก่อน โดยตัวอย่างการกู้เงินแบบไม่ตั้งใจจ่ายคืนนั้น เช่น บริษัท a ได้ขอผู้ถือหุ้นให้กู้เงินแก่บริษัทส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยอ้างว่านำเงินไปลงทุนในโครงการซึ่งโครงการนั้นยังไม่มีความแน่นอน ต่อมาโครงการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ทำให้บริษัทส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่บริษัท a ได้ ทำให้ต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญทั้งจำนวน

ส่วนวิธีเอาเงินออกมาก่อนนั้น เช่น รายใหญ่และรายย่อยซื้อหุ้นของบริษัท ก. โดยรายใหญ่เปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมาโดยบริษัทที่ตั้งขึ้นมาอาจไม่มีมูลค่าสินทรัพย์มากนัก หลังจากนั้นให้ บริษัท ก. ซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองที่ตั้งขึ้นมา โดยรายใหญ่ได้รับเงินสดคืนจาก บริษัท ก. ซึ่งทรัพย์สินที่ยังอยู่ในบริษัท ก. ล้วนเป็นเงินของรายย่อยและอาจด้อยค่า สำหรับการเอากำไรออกมาก่อนนั้น ที่ผ่านมามักอยู่ในรูปการค้า ค่าตอบแทน และให้จ่ายค่าใช้จ่ายแทน โดยที่ผ่านมามักอยู่ในรูปแบบการจ่ายค่าใช้จ่ายแทนให้เป็นต้น

ก.ล.ต.ขยายเวลาส่งงบให้ไทยฟิล์ม

ด้านสำนักงาน ก.ล.ต.รายงานว่า สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท ไทยฟิล์ม อินดัสตรี่ แก้ไขงบการเงินประจำปี 2547 และไตรมาส 1 ปี 2548 โดยให้นำงบการเงินของบริษัท ริเวอร์ไซด์ ทาวเวอร์ มาจัดทำงบการเงินรวม เนื่องจากพบว่าการขายหุ้นริเวอร์ไซด์ให้แก่บริษัท ดาราวดี เมื่อปลายปี 2544 ไม่ถือเป็นการขายแบบเบ็ดเสร็จตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งต่อมา ไทยฟิล์ม อินดัสตรี่ ได้มีหนังสือชี้แจงว่าไม่สามารถแก้ไขงบการเงินตามการสั่งการของ ก.ล.ต. ได้ เพราะไม่ได้ถือหุ้นริเวอร์ไซด์แล้วจึงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบงบการเงินของริเวอร์ไซด์เพื่อนำมาทำงบการเงินรวมกับไทยฟิล์ม อินดัสตรี่ ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ไทยฟิล์ม มีหนังสือแจ้งว่า ไทยฟิล์ม ได้รับความยินยอมจากดาราวดีให้ยกเลิกสัญญาขายหุ้น ริเวอร์ไซด์ และดาราวดีได้โอนหุ้นริเวอร์ไซด์ทั้งหมดคืนให้แก่ ไทยฟิล์ม แล้ว ทำให้ไทยฟิล์ม กลับมามีสิทธิสั่งการและควบคุมริเวอร์ไซด์ เหมือนเดิม จึงสามารถทำงบการเงินรวมตามการสั่งการของ ก.ล.ต.ได้ และขอขยายระยะเวลาส่งงบการเงินประจำปี 2547 และไตรมาส 1 ปี 2548 ฉบับแก้ไข ออกไปอีก 30 วัน เป็นวันที่ 22 สิงหาคม 2548 เพื่อให้ผู้สอบบัญชีมีเวลาเพียงพอในการตรวจสอบและสอบทานงบการเงินฉบับแก้ไข ก.ล.ต. จึงขยายระยะเวลาส่งงบการเงินฉบับแก้ไขดังกล่าวตามที่ ไทยฟิล์ม ขอมา
เป็นบุญหนักหนาเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย เป็นคนไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ล็อคหัวข้อ