ชำแหละสารพัดงบกู้อันดามัน แผนเลิศหรูแต่ปฏิบัติการเหลว
การพาเรดปิดกิจการของภาคธุรกิจฝั่งอันดามันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 48 นับเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักภูเก็ต กระบี่ พังงา มีการแจ้งของเลิกกิจการผ่านทางประกันสังคมจังหวัดและสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในพื้นที่ภาคใต้เขต 2 ที่มีอยู่นับพันราย ทั้งยังข้อมูลล่าสุดที่ทางสำนักงานประกันสังคม ออกมาแจกแจงถึงสถิติการเลิกกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่มีกว่า 8.3 พันบริษัท ในจำนวนนี้เป็นการปิดกิจการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องการบริการท่องเที่ยว การเดินเรือ และการบิน รวมกว่า 2 พันแห่งทีเดียว กระทบลูกจ้างร่วม 8 หมื่นต้องเผชิญชะตากรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการกอบกู้และการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่เห็นได้ชัดเจน
++ธุรกิจเอสเอ็มอีตายก่อน
โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสาหัส จนล้มระเนระนาด คงหนีไม่พ้นธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะมีสายป่านสั้น เช่น บริษัทนำเที่ยว มีการยกเลิกกิจการไปแล้ว 152 แห่ง ธุรกิจเรือท่องเที่ยวที่จอดคาท่าเรืออีกเพียบ หรือแม้กระทั่งธุรกิจเรือสำราญที่เปิดให้บริการมากว่า 14 ปี อย่าง อันดามัน ปริ๊นเซส ก็ฝ่ามรสุมไปไม่ได้ ประกาศปิดกิจการไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไม่อาจประคองตัวเองอยู่ได้ในสภาวะที่ทัวร์ริสต์หดหายไปกว่า 70% ขณะที่ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆอยู่
อีกทั้งส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้ แม้จะไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์สึนามิ แต่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์ อันเป็นผลพวงจากความซบเซาของธุรกิจการท่องเที่ยว และยังเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไปเจรจาขอสินเชื่อกับธนาคารต่างๆ เพื่อสร้างสภาพคล่องให้ธุรกิจได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากสึนามิ
+++โรงแรมยังปิดอยู่นับ 200 แห่ง
ขณะที่ในภาคของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสึนามิ จนโรงแรมพังพาบเป็นแถบๆ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้แม้จะเข้าข่ายสามารถจะขอกู้เงินได้ตามเงื่อนไขสินเชื่อผ่อนปรนหรือซ็อฟโลนของแบงก์ชาติได้ แต่ในความเป็นจริงการกระจายเม็ดเงินออกมาก็ไม่ถือว่ามากนัก เพราะทางแบงก์ต่างๆก็ให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ของแบงก์อยู่เดิม เพื่อนำเงินซ็อฟโลนมาทำการรีไฟแนนท์ให้ลูกค้าก่อน
ดังนั้นจึงจะเห็นได้จากข้อมูลแสดงจำนวนโรงแรมและห้องพักหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ได้รวบรวมไว้ พบว่า จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.48 ยังคงมีโรงแรมปิดกิจการอยู่ถึง 201 แห่ง ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยเป็นโรงแรมในภูเก็ต 73 แห่ง โรงแรมที่พังงา 88 แห่ง และโรงแรมที่กระบี่ 40 แห่ง (ตารางประกอบ) ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ใกล้เคียงกับช่วงการเกิดเหตุ
สึนามิใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ททท.ก็ได้ทำข้อมูลไว้ ช่วงวันที่ 5 ม.ค.48 ว่า มีโรงแรมที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ จำนวน 258 แห่ง เป็นโรงแรมในภูเก็ต 101 แห่ง พังงา 98 แห่ง และกระบี่ 59 แห่ง
จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กว่า 6 เดือนที่ผ่านมา มีโรงแรมเปิดให้บริการได้เพิ่มขึ้นเพียง 58 แห่งเท่านั้น โดยโรงแรมที่พังงา โดยเฉพาะเขาหลัก ยังคงมีโรงแรมปิดกิจการอยู่สูงถึง 61.97% ส่วนที่ภูเก็ตและกระบี่ มีปิดกิจการอยู่น้อยกว่า คือมีเหลืออยู่ 12.43% และ 11.30% ตามลำดับ สำหรับโรงแรมต่างๆที่ยังคงเปิดให้บริการได้อยู่ เพราะไม่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ ที่มีอยู่จำนวน 509 แห่งในภูเก็ต 54 แห่งที่พังงา และ 314 แห่งที่กระบี่ ต่างก็ต้องประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะเหลืออยู่เพียงไม่เกิน 30% เท่านั้น แต่กลุ่มธุรกิจนี้ยังไม่ได้มีรายใดปิดกิจการ เพราะมีสายปานยาว จึงมีเพียงการนำมาตราการประหยัดมาใช้ ที่จะกระทบต่อภาคแรงงานเป็นหลัก เช่น การลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือน เป็นต้น
นายวิจิตร ณ ระนอง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่า ปัญหาหลักของภาคธุรกิจอันดามัน คือปัญหาสินเชื่อ ที่มีการปล่อยกู้ออกมาช้ามาก เนื่องจากติดเงื่อนไขในการพิจารณาของธนาคาร โดยเฉพาะพื้นที่เขาหลัก ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการไม่ทันในปลายปีนี้ รวมถึงงานด้านการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวและสภาพภูมิทัศน์ในจุดต่างๆของอันดามัน ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆเลย มีเพียงแต่มาตราการด้านการตลาดเท่านั้น ซึ่งก็สามารถกระตุ้นได้ดีในระดับหนึ่ง
+++รัฐขายฝันแผนอันดามัน
ทั้งหมดล้วนเป็นภาพของวิกฤตธุรกิจในพื้นที่อันดามันที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งสวนทางกับภาพที่รัฐบาลทักษิณ เคยให้ความหวังหลังสึนามิไว้ว่า จะมีแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาจากธรณีพิบัติใน 6 จังหวัดภาคใต้ ขึ้นมา พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆมาถึง 13 ชุด เพื่อแตกย่อยให้แก้ปัญหาให้ครอบคลุมทุกด้าน ด้วยเม็ดเงิน การให้ความช่วยเหลือทั้งงบกลาง งบบริจาค ที่มีมากขึ้น 5.5 พันล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็น คณะอนุกรรมการให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ,คณะอนุกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย, คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอาชีพประมง ,คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงาน ,คณะอนุกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย, คณะอนุกรรมการจัดหาที่พักอาศัยแก่ผู้ประสบภัย, คณะอนุกรรมการให้การช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ,คณะอนุกรรมการให้การช่วยเหลือส่วนราชการที่ได้รับความเสียหาย 10 หน่วยงาน , คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยค่าใช้จ่ายของหน่วยงานที่สำรองจ่ายแล้วและงบฟื้นฟูภายหลังภัยพิบัติ 9 หน่วยงาน, คณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตอบแทนข้าราชการ, คณะอนุกรรมการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือและคณะอนุกรรมการบูรณะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและโยธา
รวมไปถึงการขายฝันให้เห็นถึงภาพการฉวยวิกฤตเป็นโอกาสในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ด้วยการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามันขึ้นมา มีการกำหนดวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ ที่จะฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว การสร้างภาพลักษณ์และคุณภาพการบริการท่องเที่ยวและการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว เบ็ดเสร็จอนุมัติงบให้ 1.1 พันล้านบาท ทั้งๆที่เคยมีการเสนองบเข้าไปมากถึงหลักหมื่นล้านบาท
ส่วนการฟื้นฟูทรัพย์กรธรรมชาติ ที่จะให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิมเพื่อใช้เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวก็มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนพื้นที่ประสบธรณีพิบัติภัย ขึ้นมา ใช้งบดำเนินการ 723 ล้านบาท และคณะกรรมการศึกษาระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไทยมีระบบเตือนภัยเทียบชั้นระบบเตือนภัยสากล ใช้งบไปแล้วในการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 13 ล้านบาท
+++นโยบายดีแต่ปฏิบัติเอื่อย
แต่ผ่านมา 6 เดือน โครงการต่างๆที่เคยขายฝันเอาไว้ก็ยังไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมมากนัก อย่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ยังไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์ขนาดเตือนภัยสึนามิได้ 100% หอเตือนภัยต่างๆก็ยังติดตั้งได้ไม่ครบทุกจุดในพื้นที่อันดามัน โครงการต่างๆที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวก็ไม่มีความเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะทำเสร็จแล้วอย่างการปรับภูมิทัศน์หาดป่าตอง หาดกมลา จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิ ก็ยังมีการเบิกจ่ายงบล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการในการขอรับการช่วยเหลือ
ความล่าช้าต่างๆในการแก้ไขปัญหาและกอบกู้อันดามัน ที่แม้แผนจะดี แต่กลับไม่เห็นผล เป็นเพราะมีปัญหาในเรื่องของความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ อย่าง คณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาจากธรณีพิบัติใน 6 จังหวัดภายใต้ ล่าสุดจากข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค.48 คณะอนุกรรมการชุดต่างๆมีการเบิกจ่ายงบไปแล้วแค่ 2.8 พันล้านบาทเท่านั้น จากวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่ครม.อนุมัติไว้ 5.5 พันล้านบาท เป็นต้น รวมไปถึงความล่าช้าในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่กำกับดูแล
+++อุ้มเฉพาะหนี้รีไฟแนนซ์
ส่วนมาตราการช่วยเหลือด้านการเงินหรือการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ก็เป็นไปแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า ทั้งๆที่มีช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ภาคธุรกิจไปแล้วทั้งระบบรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท (ตารางประกอบ)อาทิ สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนชำระหรือซ้อฟโลน 37,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.01%เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆนำไปปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่ในทางตรงกันข้ามกับได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนอย่างมากว่าความช่วยเหลือไปไม่ถึง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะวงเงินในส่วนการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินต่างๆ ที่กว่า 80% เป็นเงินซ็อฟโลนของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการใช้วงเงินของธนาคารต่างๆเองที่สมทบเข้ามาอีก 20% นั้น ธนาคารต่างๆ ส่วนใหญ่จะให้การช่วยเหลือลูกหนี้เดิมมากกว่า เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ยให้เหลือไม่เกิน 2% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ จะมีน้อยมาก ขณะที่มีจำนวนการร้องขอสินเชื่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยธนาคารจะแบ่งประเภทการปล่อยสินเชื่อเป็น 3 ประเภท 1.สินเชื่อเดิมที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อปรับโครงสร้างหนี้ และสินเชื่อใหม่
อย่างไรก็ตามการไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ เกิดจากทางสถาบันการเงินไม่มั่นใจด้านการตลาดและการเพิ่มรายได้จากการประกอบธุรกิจในขณะนี้ โดยเฉพาะโรงแรมที่เขาหลัก ส่วนใหญ่จะไม่มีการปล่อยสินเชื่อให้ เนื่องจากเห็นว่าถ้าปล่อยสินเชื่อให้ก่อสร้างโรงแรมได้ แต่บรรยากาศโรงแรมอื่นๆยังขึ้นไม่ได้ ก็ไม่เกิดบรรยากาศในการท่องเที่ยว รวมไปถึงการจัดระเบียบผังเมืองที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย เพราะติดปัญหาการแย่งกันจัดผังเมืองเขาหลักระหว่างกรมโยธาธิการและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอพท. ที่ล่าสุดเพิ่งได้ข้อสรุปว่าให้กรมโยธาธิการ เป็นผู้ดำเนินการ หรือแม้กระทั่งการตกลงระหว่างบริษัทประกันที่ภาคธุรกิจหลายรายยังเคลมเงินประกันไม่ได้ ทำให้ธนาคารต่างๆจึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่ออกมามากนัก
ทั้งหมดเป็นตัวแปรที่ทำให้มาตราการกู้อันดามันกว่าครึ่งปีแล้วก็ยังไม่บรรลุตามแผนที่วางไว้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการสารพัดโครงการ ภายใต้การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือนับ 6 หมื่นล้านบาท