*** THAI ประกาศ Q3ไปหรือยังครับ ***

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
Britannica
Verified User
โพสต์: 185
ผู้ติดตาม: 0

*** THAI ประกาศ Q3ไปหรือยังครับ ***

โพสต์ที่ 1

โพสต์

พอดีไม่เห็นในเว็บตลาด        แต่ไปอ่านเจอในฐานเศรษฐกิจ14-17สค.2548




เจ้าจำปีขาดทุนบักโกรก4.7พันล.
 
แฉ"การบินไทย"ไตรมาส 3 ยับขาดทุนเกือบ 5 พันล้านบาทชี้ น้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนต้นตอ ส่งผลบอร์ดที่ไม่พอใจกรณีปล่อยให้ปัญหาการเมืองในองค์กรยืดเยื้อจึงตัดสินใจยึดอำนาจ "กนก อภิรดี" ดัน "สมใจนึก"ดูชั่วคราว ด้าน"นายกฯทักษิณ"ไล่ส่ง ระบุบริหารองค์กรหย่อนยานไฟเขียวสรรหาดีดีใหม่ ส่วน"หมอเสริฐ" แขวะตั้งอีก 10 ดีดีก็ไม่รอดถ้าการเมืองล้วงลูก หุ้น THAI ร่วงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 2 ปี


.....................................................................................................................


แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บมจ. เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงผลประกอบการของการบินไทย ช่วงไตรมาส 3 (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2548) ที่ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก จนเป็นสาเหตุที่ คณะกรรมการ ใช้เป็นข้ออ้างในการแต่งตั้งนายสมใจนึก เองตระกูล ขึ้นมาทำงานในหน้าที่หลัก ๆ ของกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ แทนนายกนก อภิรดี ว่า


รายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบของ บมจ. การบินไทย ที่มี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ พบว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ขาดทุนรวมอยู่ 6,879 ล้านบาท แต่มีภาษีเงินได้ครึ่งปีที่จ่ายเกินอยู่ 2,099 ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนสุทธิของบริษัทจะอยู่ที่ 4,779 ล้านบาท และขาดทุนต่อหุ้นอยู่ที่ 2.82 บาท อนึ่งงบการเงินดังกล่าวยังไม่ได้ส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสอบทาน


สำหรับผลขาดทุนมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้ การดำเนินงาน 5,935 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการขายและการให้บริการสูงถึง 3,269 ล้านบาท ทั้งนี้การขาดทุนสุทธิดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 2,721 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากค่าเงินบาทอ่อนตัว ขณะเดียวกัน บมจ. การบินไทยยังประสบปัญหาภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงกว่ารายได้จากการขายและการให้บริการ


อย่างไรก็ตามแม้ในช่วงไตรมาส 3 บริษัทจะมีรายได้รวมจากการขายและบริการ จำนวน 37,025 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายภายในประเทศ 4,178.45 ล้านบาท รายได้จากต่างประเทศ 29,842.37 ล้านบาท รายได้เช่าเหมาลำ 1,128.05 รายได้จากเงินค่าประกันภัยเรียกเก็บจากผู้โดยสาร 594.05 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมน้ำมันเรียกเก็บจากผู้โดยสาร 1,385 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 34,128 ล้านบาท


หากในขณะเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกัน บมจ.การบินไทย กลับมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงถึง 40,294 ล้านบาท (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 32,834 ล้านบาท) ส่งผลให้ขาดทุนจากการขายและบริการอยู่ 3,269 ล้านบาท (ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีกำไรอยู่ 1,660 ล้านบาท) ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่สูงขึ้นถึง 40,294 ล้านบาท ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร 8,443 ล้านบาท ค่าน้ำมันเครื่องบิน 12,219 ล้านบาท ค่าสินค้าและพัสดุใช้ไป 2,450 ล้านบาท ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ 1,347 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบิน 9,592 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคา 3,328 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด 1,146 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านการประกันภัย 459 ล้านบาท ค่าตอบแทนกรรมการ 4.243 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่น 1,300 ล้านบาท


อีกทั้งจากการขาดทุนอย่างหนักในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้ผลการดำเนินการของ บมจ. การบินไทยในช่วง 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.48 มีกำไรจากสุทธิลดลงเหลืออยู่ 4,428 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 8,595 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการขายและการให้บริการ 7,955 ล้านบาท ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 17,704 ล้านบาท ทั้งนี้การบินไทยกำลังอยู่ระหว่างการส่งงบให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ และจะทำการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 15 ส.ค.นี้


แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า การลดลงของกำไรที่เกิดขึ้นคณะกรรมการ ที่มีนายวันชัย ศารทูลทัต ประธานคณะกรรมการ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านอาทิ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ,ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช,ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย นายชาติศิริ โสภณ


พนิช เป็นต้น เห็นพ้องกันว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ผลประกอบการของไตรมาสสุดท้ายปีนี้ของ บมจ.การบินไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงตัดสินใจ ยึดอำนาจนายกนกและ ตั้ง นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังซึ่งเป็นกรรมการอยู่แล้วให้ เข้ามาคุมสถานการณ์เฉพาะหน้า


นอกจากประเด็นเรื่องผลการดำเนินงานแล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจยึดอำนาจจาก นายกนก อาทิปัญหาความแตกแยกในองค์กร ด้วยการเข้ามาล้วงลูกการทำงานของฝ่ายการพาณิชย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทำรายได้ให้บริษัทสูงถึง 80% โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา นายกนก ได้ออกคำสั่งประกาศมอบหมายให้นายประจักษ์ แจ่มรัศมีโชติ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจการพาณิชย์ ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการปฏิบัติงานของฝ่ายการพาณิชย์ แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้ทุกประการ


แหล่งข่าวกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวสร้างความแปลกใจให้คนใน บมจ.การบินไทย มากเพราะ นายประจักษ์จะเกษียณอายุสิ้นเดือนกันยายนนี้ และส่งผลให้นายวสิงห์ กิติกุล ที่กำลังอยู่ระหว่างการดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อได้ยินข่าวนี้ถึงขั้นโทร.ทางไกลมาให้เลขาฯพิมพ์จดหมายลาออกจากตำแหน่งดีเอ็นหรือ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ทันที อนึ่งก่อนหน้านี้ นายวสิงห์ เคยยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งนี้กับนายวันชัย ศารทูลทัต ประธานบอร์ดและปลัดกระทรวงคมนาคม


มาแล้วแต่ถูกยับยั้งไว้


แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่าช่วงที่ผ่านมาโครงการตามนโยบายของนายกนกไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อาทิ โครงการแจกตั๋วฟรี ที่มีการแจกไปแล้วกว่า 5 หมื่นใบ จุดนี้ทำให้การบินไทยเสียค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่จะได้รับ หรือการยื้อเรื่องขึ้นเงินเดือน รวมไปถึงการแต่งตั้งพนักงานที่ดึงเฉพาะพรรคพวกตัวเองขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ทำให้ในช่วงที่การบินไทยทำโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ จึงมีผู้บริหารที่มีฝีมือลาออกไปหลายคน


แหล่งข่าวเดียวกันระบุว่า คณะกรรมการ ได้ รับรายงานผลการทำงานที่ผิดพลาดของนายกนก หลายเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับ บมจ. การบินไทย ไม่ว่าจะเป็น กรณีการดึงระบบสำรองที่นั่งคู่แข่งอย่างแซนแดนท์ เปิดให้เข้าสู่ระบบจองตั๋วภายในประเทศของการบินไทย ทำให้บริษัทไทยอะมาดิอุส ฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกได้รับความเสียหาย หรือ การจ้างบริษัทอินเตอร์แบรนด์ฯ จำนวน 70-80 ล้านบาทเข้ามาออกแบบโลโก ให้การบินไทย ที่ทำออกมาก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก หรือการจ้างบริษัทสปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ช่วงการบินไทยจะขายหุ้น ก็มีเนื้องานออกมาน้อยมาก เมื่อเทียบกับวงเงินค่าจ้าง 50 ล้านบาท เป็นต้น


ทางด้าน นายสมใจนึก เองตระกูล กรรมการบมจ. การบินไทย และปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แถลงงานนี้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีการออกระเบียบการบริหารงานบริษัทใหม่เพิ่มเติม 1 ฉบับ โดยให้คณะกรรมการ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่บริหารงานในภาวะฉุกเฉิน เป็นระยะเวลา 3 เดือน


โดยมีตนเป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว และคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะตัดสินใจแทนนายกนก


สำหรับสาเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นายสมใจนึก ระบุว่าเป็นผลมาจาก ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 3 ของบริษัทมีแนวโน้มลดต่ำลงไปอยู่ในระดับซี จากเดิมที่ในไตรมาส 1 ผลประกอบการของบริษัทอยู่ในระดับเอ และลดลงมาอยู่ในระดับบีในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก ปัญหาต่างๆดังนี้คือ ภาวะการท่องเที่ยวที่ซบเซา ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และยังมีปัจจัยอื่นๆด้วยเช่น การปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ และการจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่สมัครใจลาออกก่อนเกษียณอายุ





พร้อมกันนั้นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ ยังมีนโยบายที่จะลดรายจ่ายในส่วนต่างๆ ของบริษัทลงด้วย โดยเฉพาะในส่วนของเส้นทางบินที่ขาดทุน อาจจะต้องมีการปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทาง ซึ่งเรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้นายวสิงห์ กิตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งเชื่อว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งนี้


น่าจะทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 4 ของปี


"ยืนยันว่าเราไม่ได้ปลดดีดีออกจากตำแหน่ง เพราะคุณกนกยังคงทำหน้าที่อยู่ตามปกติ ส่วนผมจะเข้ามาดูแลเรื่องการบริหารแทน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ ทำได้เร็วขึ้นเพื่อให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันที่จะมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เป็นเพียงระยะสั้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้หากสถานการณ์ดีขึ้น คณะกรรมการก็อาจจะถอยออกมาแล้วให้คุณกนกเข้ามาบริหารตามเดิมก็ได้" นายสมใจนึกกล่าว


ส่วน นายกนก กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย กล่าวระหว่างการแถลงข่าวคราวเดียวกันว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการมาถูกทางและปฏิเสธว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง


อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า สาเหตุพักงานนายกนก พร้อมให้นายสมใจนึก ขึ้น เป็นประธานบริหารการตรวจสอบการทำงานในองค์กร และทำหน้าที่แทนนายกนกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการขาดการทำงานเป็นทีม ขาดการรวมพลังในการแก้ปัญหา และการบริหารจัดการที่หย่อนยานภายในองค์กร ดังนั้นจึงต้องให้นายสมใจนึก เข้าไปตรวจสอบในรายละเอียดเชิงลึก เช่น เรื่องระบบการทำบัญชี ระบบการรายงานบัญชี เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร


พ.ต.ท.ดร.ทักษิณมั่นใจว่าสถานการณ์ของบริษัทจะคลี่คลายและระหว่างนี้ให้เริ่มกระบวนการสรรหา กรรมการผู้อำนวยการใหม่ของบริษัทควบคู่ไปด้วย


ส่วย ดร. ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตประธานคณะกรรมการ บมจ. การบินไทย กล่าวว่า เรื่องการขาดทุนของการบินไทย ตนไม่รู้เรื่องเพราะออกมานานแล้ว ให้ไปถามนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังที่เป็นกรรมการอยู่น่าจะรู้เรื่องดีกว่า ด้านนายศุภรัตน์ ยอมรับว่าผลประกอบการที่ตกต่ำเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการยึดอำนาจนายกนก


ด้านนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เผยว่าการเปลี่ยนตัวดีดีในขณะนี้ถ้าอ้างถึงผลประกอบการในไตรมาส 3 ขาดทุนนั้นถือว่าไม่ส่งผลดีธุรกิจการบินเนื่องจากทุกสายการบินทั่วโลก


ขาดทุนถ้วนหน้าจากวิกฤติราคาน้ำมันอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการแต่งตั้งนายสมใจนึก เองตระกูล ขึ้นมาทำหน้าที่แทนดูไม่เหมาะสม เนื่องจาก นายสมใจนึกอาวุโสเกินไปควรจะทำหน้าที่ดูแลกำกับด้านนโยบายน่าจะเหมาะสมกว่า


"ผมไม่เคยวิจารณ์การบินไทยมาก่อนแต่เรื่องนี้มองว่าประเทศชาติจะเสียหายเพราะการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ดังนั้นทางออกที่ดีควรจะหานักบริหารมืออาชีพมาจากภาคเอกชนไม่ใช่ข้าราชการประจำ เข้ามารับตำแหน่งดีดี และการเมืองไม่ควรเข้ามาล้วงลูก ปล่อยให้การบริหารจัดการทำได้อย่างอิสระ ฝ่ายบริหารควรจะดูเฉพาะตัวเลขผลประกอบการอย่างเดียวเท่านั้น เน้นนโยบายบริหารการตลาดตามสภาพความเป็นจริง ฝ่ายบริหารต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยบอร์ดไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว เป็นต้น ไม่เช่นนั้นแต่งตั้งอีก 10 ดีดีก็เชื่อว่าไม่เกิดผลดีกับการบินไทยแต่ประการใด และผลประกอบการในไตรมาส 4 ก็ไม่น่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 "


อนึ่งวันที่ 11 ส.ค. หุ้นการบินไทยปิดลดลง 4.25 บาท มาอยู่ที่ 35.75 บาท ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
Britannica
Verified User
โพสต์: 185
ผู้ติดตาม: 0

*** THAI ประกาศ Q3ไปหรือยังครับ ***

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ถ้ายังไม่ประกาศ  ยังไม่แจ้งตลาด          ไหงหลุดออกมาทางสื่อก่อนล่ะครับ
ล็อคหัวข้อ