10วันน้ำหมดอีสเทิร์น ไบเออร์บินด่วนเช็กอ่าง !!!!

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
พลพล คนกันเอง
Verified User
โพสต์: 109
ผู้ติดตาม: 0

10วันน้ำหมดอีสเทิร์น ไบเออร์บินด่วนเช็กอ่าง !!!!

โพสต์ที่ 1

โพสต์

นับถอยหลังวิกฤตแล้งภาคตะวันออก เส้นยาแดงถึงต้นก.ย. ฝนไม่ตก อ่างหนองปลาไหล-ดอกกราย มีเหลือใช้เพียง 10 วันเท่านั้น จากที่มีน้ำขอดอ่างกลายเป็นเกลี้ยงอ่าง กลุ่มโรงงานในอีสเทิร์น ดิ้นต่อชีวิตธุรกิจ ล่าสุดบอสไบเออร์ เยอรมัน บินด่วนเข้าไทย ขอความมั่นใจจากรัฐบาล ล่าสุดเร่งผลิตสะต๊อกเม็ดพลาสติกสำรองเพิ่ม 2-3โกดัง ตัดใจปล่อยเงินจมดีกว่าเสียลูกค้า ด้านทุนเท็กซวิ่งนำเข้าพีทีเอ "อภิสิทธิ์"ยกพลปชป.ลุยดูของจริง 26 ส.ค.นี้





"ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจโค้งสุดท้ายวิกฤตน้ำก่อนถึงเส้นยาแดงน้ำขาด! ไม่เพียงพอป้อนโรงงานอุตสากรรมในภาคตะวันออก หลังจากที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลวัดปริมาณได้ในระดับที่เสี่ยงมากจนเกือบจะเกลี้ยงอ่างเก็บน้ำแล้วนั้น มีการตั้งข้อสังเกตุตามมาว่า สุดท้ายแล้วการสูบน้ำจากก้นอ่างขึ้นมาใช้อีก จะทำไม่ได้แล้ว เนื่องจากลักษณะน้ำเป็นโคลน มีความข้นของดินสูง ในขณะที่ภาครัฐบาลนำโดยพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งได้กฤษ์มีกำหนดการณ์จะลงพื้นที่ตรวจวิกฤตน้ำภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกในช่วงวันที่ 27-28 สิงหาคมนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นภาครัฐออมายืนยันว่าน้ำมีเพียงพอ ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้


-"ไบเออร์"ฟันธงน้ำถึงจุดวิกฤติแล้ว


ล่าสุดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆขาดน้ำป้อน เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว เมื่อแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ทุนข้ามชาติจากเยอรมัน ที่มีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับใช้ในการผลิตแผ่นซีดี ดีวีดี ที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ออกมาเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์น้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ว่า ได้มาถึงจุดวิกฤตชัดเจนแล้วเพราะน้ำมีปริมาณไม่เพียงพอกับการรองรับการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมในธุรกิจปิโตรเคมีที่มามากว่า 30 แห่งในจังหวัดระยอง เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ที่ขณะนี้ถ้ากรณีฝนไม่ตกก็จะเหลือน้ำใช้ได้เพียง 7-10 วันเท่านั้น แต่ถ้ามีฝนตกก็จะยืดการใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งดังกล่าวต่อไปได้อีกเพียง 1 เดือน(เดือนกันยายน) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เต็มที่แล้ว ยกเว้นว่าจะมีการดึงน้ำจากที่อื่นมาช่วยเหลือได้ทัน อย่างไรก็ตามขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่งที่ใช้น้ำมาก ได้มีการควบคุมการผลิตให้สมดุลกับน้ำที่ใช้แบบวันต่อวันแล้ว


-บิ๊กไบเออร์ เยอรมัน บินด่วนเข้าไทย


อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์น้ำเป็นเช่นนี้ บริษัทไบเออร์ไทย ถือเป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติที่ต้องเผชิญกับปัญหา และถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด กระทั้งทำให้ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท ไบเออร์จากประเทศเยอรมันซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถึงกับต้องเดินทางมาดูสถานการณ์ด้วยตัวเองในราวต้นเดือนกันยายน 2548นี้ เพื่อขอความมั่นใจ และความชัดเจนว่าวิกฤตน้ำครั้งนี้ รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะไม่เกิดผลต่อการลงทุนของไบเออร์ในประเทศไทย ที่ตั้งโรงงานผลิตมานานนับ 10 ปี เนื่องจากบริษัท ไบเออร์ไทย เป็นฐานการผลิตสำคัญในการป้อนตลาดเอเซียแปซิฟิก ด้วยขนาดกำลังผลิต 200,000 ตัน/ปี


"ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าจะผ่านวิกฤตน้ำไปได้จนถึงสินปีนี้หรือไม่ จึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการเช่าโกดังเก็บสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 2-3 แห่งเพื่อสะต๊อกเม็ดพลาสติกไว้ล่วงหน้า กรณีที่ไม่มีน้ำผลิต ก็นำสะต๊อกดังกล่าววออกมาขายแทน"


สำหรับสาเหตุที่ไบเออร์ไทยยอมให้เงินไปจมอยู่กับของที่สะต๊อกไว้ มองว่าเสียค่าเช่าดีกว่าที่บริษัทต้องเสียตลาดไป เพราะจะต้องส่งออก 85-90% นอกจากนี้ก็ได้ลงทุนเป็นเงินนับ100 ล้านบาทขึ้นไปในการซื้อน้ำ และจ่ายค่าขนส่งเรื่องน้ำ ซึ่งตกเดือนละประมาณ 20 ล้านบาท รวมถึงการเช่าที่ดินที่มีสระน้ำหรืออ่างน้ำขนาดเล็กสำรองไว้ก่อน กรณีถ้าฝนไม่ตกทางบริษัทก็มั่นใจว่าจะมีปัญหาแน่นอน


-"ทุนเท็กซ"พล่านวิ่งน้ำเข้าพีทีเอ


สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากธุรกิจปิโตรเคมีในกลุ่มทุนเท็กซ จากประเทศไต้หวัน ที่ตั้งโรงงานผลิตผงพีทีเอ(Purified Terephthalic Acid) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเรซินสำหรับทำขวดPET ในจังหวัดระยอง ระบุว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกรายเหลือรวมกันเหลือปริมาณน้ำเพียง 8.85 ล้านลบ.ม.(เป็นปริมาณน้ำที่หักน้ำก้นอ่างออกไปแล้วจำนวน 7 ล้านลบ.ม.) เปรียบเทียบกับการบริโภคน้ำในจังหวัดระยองที่มีวันละ 500,000ลบ.ม. ก็น่าจะบริโภคได้ถึงสิ้นเดือนนี้เท่านั้นกรณีที่ฝนไม่ตก หรือกรณีที่บริษัทตั้งสมมติฐานว่า ถ้ามีฝนตกบ้าง มีการทำฝนหลวง มีการผันน้ำรวมแล้วได้น้ำเข้ามาประมาณ 200,000 ลบ.ม./วัน


รวมถึงมีน้ำจากแม่น้ำระยองเข้ามาอีกวันละประมาณ 80,000ลบ.ม. รวมแล้วจะมีน้ำเท่ากับ 280,000ลบ.ม./วัน ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดีเมื่อวัดจากระดับการบริโภคในพื้นที่จังหวัดระยองรวมกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมองต่อไปถึงทางเลือกที่ว่าโครงการตั้งปั๊มสูบน้ำจากคลองน้ำหูมาซึ่งจากแม่น้ำระยองเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดวันละประมาณ 100,000ลบ.ม. ซึ่งจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนกันยายนนี้


ส่วนกรณีดึงน้ำก้นอ่างที่เหลืออยู่ประมาณ 7 ล้านลบ.ม.ขึ้นมาใช้นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะมีลักษณะเป็นโคลนน้ำข้นมากมีส่วนผสมของดินจำนวนมาก ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถใช้ได้เพราะมีผลต่อการผลิต


สำหรับทุนเท็กซเองขณะนี้ไม่สามารถรอดิน ฟ้า อากาศได้ เพราะถ้าพีทีเอขาดมือแล้วจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับลูกค้า ขณะนี้จึงได้ทะยอยสั่งพีทีเอนำเข้ามาขายให้กับลูกค้าต่อเนื่องในประเทศแล้ว โดยมีการนำเข้าต่อเดือนขนาด 4,000-5,000 ตัน ส่วนการผลิตพีทีเอในประเทศไทยตามภาวะปกติก็จะผลิตได้ 1,600 ตัน/วัน ซึ่งภายในเดือนหน้าถ้าปริมาณน้ำขาดตอน จนไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการผลิตก็ต้องลดการผลิตลง


-ซื้อน้ำยกสระผูกขาดรายเดียว


แหล่งข่าวจากบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มปูนใหญ่ในการผลิตเม็ดพลาสติก กล่าวว่า ขณะนี้หลายโรงงานแก้ปัญหากันเจียนตัวมาก เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลบอกว่าไม่มีปัญหา โรงงานปิโตรเคมีเดินการผลิตได้เต็มที่ แต่หลังจากนั้นมาก็เริ่มเกิดความมุ่นวายมากขึ้นเมื่อแต่ละบริษัทวิ่งาทางออกเองโดยการหาน้ำมาใช้ ด้วยวิธีต่างๆ รวมไปถึงการเช่าพื้นที่เพื่อทำสัญญาการใช้น้ำแบบเหมาสระเก็บน้ำของชาวบ้านแล้ว ซึ่งบริษัทก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น นอกจากนี้ก็มีการซื้อน้ำจากผู้รับเหมาส่งน้ำทั้งทางรถ ทางเรือ บางรายที่หนักสุดก็ถึงขั้นซื้อที่ดินที่มีอ่างเก็บน้ำไว้เป็นสมบัติของตัวเองโดยไม่ต้องไปเสียเวลาขุดสระเอง


-กลุ่มปิโตเคมีเสียหายยับเยิน


ด้านกลุ่มลูกค้าของกลุ่มปิโตรเคมีในเครือปตท. กล่าวว่าเวลานี้ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทุกบริษัท พยายามเตรียมหาน้ำมาสำรองไว้ให้มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อน้ำจากชาวบ้านในราคา 120 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากไม่มีเงินลงทุนมากพอที่จะไปหาซื้อน้ำจากแหล่งอื่นๆได้ ทำให้เวลานี้รางระบายน้ำจากที่เคยเป็นที่ทิ้งน้ำ ต้องปรับมาเป็นที่เก็บน้ำสำรองไว้แทน เพราะต้องหาที่เก็บน้ำให้มากที่สุด


อย่างไรก็ตาม การจะลดกำลังการผลิตหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยว่า จะลดกำลังการผลิตหรือไม่ เพราะหากกลุ่มปตท.มีน้ำผลิตเพียงพอ แต่กลุ่มลูกค้าไม่มีน้ำผลิต ถ้ายังผลิตได้เต็ม 100 % ก็ไม่รู้ว่าจะไปขายให้ใครอีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องมองเป็นลูกโซ่ รัฐบาลต้องคิดแล้วว่ามันเป็นปัญหาใหญ่





-บิ๊ก"ซีพี"แนะทำเขื่อนทุกจุด


นายธนินท์ เจียวนนท์ ประธานกรรมการบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี แสดงความเห็นต่อปัญหาวิกฤตน้ำครั้งนี้ว่า ปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้งมีเกิดขึ้นทุกปี แต่ที่อยากจะฝากให้"ฐานเศรษฐกิจ"บอกต่อคือเขื่อนจะต้องทำทุกจุด ที่ เวลาเรื่องน้ำมันก็ทำให้ ทำไมคนที่ต่อต้านไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ว่าเวลานำน้ำมันเข้ามานั้นมันเสียหายกว่าที่เราไปทำเขื่อนขนาดไหน! เวลานี้มองว่าการทำเขื่อนเสียหายอย่างเดียวคือ ทำให้พันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งมันหายไป เพราะพันธุ์ปลาบางชนิดต้องไปออกไข่ตามน้ำจืด น้ำเค็ม แต่พอโตแล้วต้องว่ายกลับไป ว่ายไม่ขึ้นก็จะไปติดเขื่อนทำให้สูญพันธุ์


"จริงๆ แล้วรัฐบาลก็คิดจะทำเขื่อนอยู่แล้วแต่มีการต่อต้านอยู่ ทำให้เสียหายมหาศาล"นายธนินท์ กล่าว


-กรมชลลุ้นเทวดาโปรยฝนกู้หน้า


นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า หากฝนไม่ตกนับจากนี้ไปปริมาณน้ำที่เหลือใช้ได้ถึงเดือนตุลาคม แต่มั่นใจว่าฝนจะตกลงมามากในเดือนกันยายนนี้ ส่วนการสูบน้ำก้นอ่างขึ้นมาใช้นั้น สามารถสูบขึ้นมาได้จนกว่าจะสูบไม่ได้ และอ่างเก็บน้ำจะไม่ได้รับความเสียหายอย่างที่เป็นห่วงกัน เพราะถ้าสังเกตให้ดีๆเวลาสร้างเขื่อนมีการทำฐานรากไว้ 1-5 ปี ซึ่งขณะนั้นน้ำก็ยังไม่มีลงอ่าง ก็ยังไม่เป็นไร


"ขณะนี้เริ่มมั่นใจว่านับจากนี้ไปจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว ก็จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำได้วันละเป็นแสนลบ.ม. ปัญหาวิกฤตน้ำก็น่าจะบรรเทาลงได้"


-ฝ่ายค้านลุยพื้นที่ดูของจริง


ด้านนายไพฑูรย์ ปฎิบัติ เลขาธิการสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดระยอง กล่าวว่า ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด จะเปิดพื้นที่รวมตัวระหว่างตัวแทนภาคเกษตร ชาวบ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จาก 6 อำเภอ และอีก 2 กิ่งอำเภอคือ อำเภอเมือง,แกลง,บ้านค่าย,ปลวกแดง,บ้านฉาง,วังจันทร์ และกิ่งอำเภอเขาชะเมา กับกิ่งอำเภอนิคมพัฒนา รวมตัวกันเพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อปัญหาวิกฤตน้ำในภาคตะวันออกอีกครั้ง ก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อไปฝ่ายค้านที่มีนาย อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนาย อลงกรณ์ พลบุตร รงอหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ในวันที่ 26 สิงหาคม เพื่อพบพี่น้องประชาชนที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อฟังความเดือดร้อนจากภาคเกษตร จากนโยบายแก้ปัญหาจากรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา


-ชาวสวนขายเสื้อตั้งกองทุนค้านผันน้ำ


นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า เวลานี้ดูแล้วปัญหาจะลากยาวไปไกล เพราะความไม่เข้าใจของรัฐบาล ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ต้องมีการประชุม หารือกันต่อเนื่อง รวมถึงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อร้องเรียน ชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ได้รับความเดือดร้อน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ารถ ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ทำหนังสือคัดค้านเรื่อง การนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม แจกชาวบ้าน ล่าสุดจึงมีการทำเสื้อขายตัวละ 200 บาท โดยในเบื้องต้นผลิตเสื้อขายประมาณ 1,000 ตัว โดยที่ตัวเสื้อมีโลโก้รูปอ่างน้ำและมีธงชาติไทยปักอยู่ และมีคำเขียนว่า "อ่างประแสร์ สร้างเพื่อคนแกลง วังจันทร์ เขาชะเมา


ส่วนรายได้ที่เข้ามาจะตั้งเป็นกองทุนกลางสำหรับเป็นงบในการใช้จ่ายกรณีวิ่งเต้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเป็นทุนในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการทำหนังสือรณรงค์การคัดค้านการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์เพื่ออุตสาหกรรมแจกชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกร


-เช็กปริมาณน้ำ กรมชล-กรมทรัพย์ฯ


สำหรับปริมาณน้ำในอ่างหนองปลาไหลและดอกกราย ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ระยอง ณ วันที่ 22 สิงหาคม2548 มีน้ำอยู่ในอ่างรวมกันประมาณ 15.846 ล้านลูกบากศก์เมตร(อ่านตารางประกอบ) แบ่งเป็นน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย 5.88 ล้านลูกบาศก์เมตร และหนองปลาไหล 9.966 ล้านลูกบากศก์เมตร ซึ่งสามารถนำน้ำมาใช้ได้อีก ประมาณ 9.376 ล้านลูกบากศก์เมตรเท่านั้น โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างในปริมาณ 3 แสนลูกบากศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ต้องจ่ายน้ำออกในปริมาณกว่า 5 แสนลูกบากศก์เมตรต่อวัน ซึ่งหากมีปริมาณน้ำไหลเข้าระดับนี้ จะยังทำให้มีน้ำใช้งานไปได้อีกประมาณ 50วัน


ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ จะมองปริมาณน้ำทั้งภูมิภาค ซึ่งได้รายงานตัวเลขปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและระบายออก รวมทุกพื้นที่ในภาคตะวันออกจำนวน 11 อ่าง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้าอ่างทั้งสิ้น 656,000 ลูกบากศก์เมตรต่อวัน การการระบายน้ำออก 539,000 ลูกบากศก์เมตรต่อวัน ทำให้มีน้ำในอ่างที่สามารถใช้การได้อยู่ 17.37 ล้านลูกบากศก์เมตร


นอกจากนี้ ทางด้านกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รายงานว่าขณะนี้ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลไปแล้วกว่า 259 บ่อ มีปริมาณน้ำที่ได้ 130,000 ลูกบากศก์เมตรต่อวัน และอยู่ระหว่างการขุดเจาะเพิ่มเติมให้เป็นไปตามเป้าที่จะให้ได้น้ำ 180,000 ลูกบากศก์เมตรต่อวัน ให้แล้วเสร็จในวันที่ 5 กันยายน นี้ ซึ่งปริมาณน้ำที่ได้เวลานี้ จะแบ่งนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งจะป้อนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค ส่วนราชการและประปาหมู่บ้าน
พลพล คนกันเอง
Verified User
โพสต์: 109
ผู้ติดตาม: 0

10วันน้ำหมดอีสเทิร์น ไบเออร์บินด่วนเช็กอ่าง !!!!

โพสต์ที่ 2

โพสต์

การรับรู้ข้อมูลข่าวสารภัยแล้งของทำเนียบรัฐบาล คงจะมีขีดจำกัดเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือย่านอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอีสเทิร์น ซีบอร์ด ในขณะที่ข้อเท็จจริงนั้นมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และเรื่องน่าใจหายมากไปกว่านั้นก็คือ คนในทำเนียบไม่เชื่อว่าฝั่งตะวันออกขาดน้ำหรือแล้งน้ำจริง จะมาเชื่อเอาเมื่อแทบจะไม่มีน้ำกินน้ำใช้กันแล้ว





ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับขณะนี้อ่างเก็บน้ำลำตะคลองเริ่มไต่เส้นวิกฤต แม้แต่ทำเลสวิตเซอร์แลนด์ของเมืองไทยที่ป่าเขาใหญ่ก็แล้งหนักขึ้นทุกวัน กาฬสินธุ์ ภูเก็ต กำลังขาดน้ำ จังหวัดกาญจนบุรีหลายอำเภอประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ และอำเภอหนองปรือ เป็นปัญหาหนักกว่าท้องที่อื่นในจังหวัดนี้





เข้ามาย่านใกล้กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรีมีปัญหาแหล่งน้ำดิบเช่นกัน ผู้คน 3 อำเภอทั้งเดิมบางนาบวช สามชุก หนองหญ้าไซก็ต้องการน้ำทั้งอุปโภคบริโภค และกำลังคิดอ่านจะสูบน้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองมาใช้ อ่างเก็บน้ำหลังเขื่อนกระเสียวตกอยู่ในระดับวิกฤต ถัดขึ้นไปย่านนครสวรรค์ กำแพงเพชรก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดฝนในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน





สถานการณ์ภัยแล้งในรอบปีนี้ รัฐบาลน่าจะจัดตั้งเจ้าภาพหรือคณะกรรมการมารับผิดชอบให้เป็นระบบและเต็มรูปแบบ ไม่ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดเหมือนกันการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรกับผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมนั้นแตกต่างกัน





ในเบื้องต้นเรารับทราบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นข้อมูลภัยแล้งย่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งประเมินว่าภัยแล้งปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตข้าวอย่างแน่นอน เนื่องจากข้าวนาปรังหลุดไปจากวงจรแล้ว และข้าวนาปีเสียหายจากฝนทิ้งช่วง และหากน้ำจะมาก็ไม่เกิดประโยชน์กลับจะเป็นการซ้ำเติมให้เสียหายหนักเข้าไปอีก ผลผลิตมันสำปะหลังก็จะลดลงไปเช่นกันคาดว่าจะเสียหายมากถึง 30-40 % และพื้นที่แถวนี้เป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังใหญ่สุดในประเทศด้วย ข้าวโพดก็เสียหายอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 %





เหล่านี้เป็นตัวอย่างผลกระทบที่เกษตรกรได้รับจากภัยแล้งในรอบปี และถ้าไม่สามารถเยี่ยวยาหรือแก้ไขได้ นั่นก็หมายถึงว่ากำลังซื้อของประเทศที่มาจากภาคเกษตร ทั้งผู้เพาะปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะต้องลดลงไปทันที ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้จะปรับตัวสูงขึ้นถ้าหากกลไกดีมานด์-ซัพพลายส์ทำงาน และท้ายสุดรายได้จากการส่งออกของภาคเกษตรจะลดลง อาจจะมีปัญหาดุลการค้าในภาพรวม
พลพล คนกันเอง
Verified User
โพสต์: 109
ผู้ติดตาม: 0

10วันน้ำหมดอีสเทิร์น ไบเออร์บินด่วนเช็กอ่าง !!!!

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอนแก่นแล้งจัดในรอบ10ปี เตือนห้ามปลูกข้าวเพิ่ม  
 
เกษตรและสหกรณ์ขอนแก่นออกโรงเตือนชาวนาประหยัดน้ำ อย่าขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มจากที่มีอยู่ ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ให้หันมาปลูกพืชทนแล้งแทนข้าว เผยเหตุจากปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี








นายปวิต ถมยาวิทย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรในจังหวัดขอนแก่น กำลังได้รับความเดือดร้อนเรื่องปริมาณน้ำฝน เนื่องจากต้นฤดูฝนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีปริมาณฝนตกน้อยมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยปีก่อนมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 790 ม.ม. แต่ปีนี้ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเพียง 455 ม.ม. ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ประกอบกับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งใช้ในการอุปโภคและบริโภคสำคัญในพื้นที่เหลือเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก


ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งชี้แจงให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัด รวม 5 อำเภอ คือ อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอหนองสองห้อง อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอพล ให้ระมัดระวังในการใช้น้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวไม่ให้เพิ่มพื้นที่ในการปลูกจากที่มีอยู่แล้ว เพราะเกรงว่า ปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ผู้ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทางเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ได้แนะนำให้ปลูกพืชทนแล้ง เช่น มันสำปะหลัง เป็นต้น


"รอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ถือว่า น้ำน้อยและฝนตกลงมาช้ามาก ปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณร้อยละ 62 ได้ลงมือดำนาลงแปลงข้าวแล้ว เหลืออีกเพียงร้อยละ 32 ที่ยังไม่ได้ปลูก หากปริมาณน้ำยังคงเป็นอย่างนี้ อาจสร้างความเสียหายให้กับผลผลิต จึงอยากให้เกษตรกรกักน้ำไว้ในนา ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด ที่สำคัญอย่าเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าว เพราะน้ำอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับต้นข้าว ทำให้ผลผลิตที่ได้น้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนผู้ที่อยู่นอกเขตชลประทานไม่ควรทำนา แนะนำให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ปกติเกษตรกรจะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ในปีนี้คาดว่าจะลดลง ขอให้เกษตรกรทำนาเท่าที่จำเป็น เพื่อเก็บไว้บริโภคเอง หากคิดขายเอากำไรคงลำบาก " นายปวิต กล่าวและว่า


สำหรับการให้ความช่วยเหลือในขณะนี้ ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดำเนินการขึ้นบิน เพื่อโรยสารเคมีในการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องทุกวัน ๆ ละ 2 รอบ โดยนำเครื่องบินขึ้นปฏิบัติการครั้งละ 3 ลำด้วยกัน เน้นการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากท้องฟ้าปิด ทำให้การโรยสารเคมีเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในอ่างเก็บน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะเร่งดำเนินการแก้ไขและจัดทำฝนหลวงต่อไป
พลพล คนกันเอง
Verified User
โพสต์: 109
ผู้ติดตาม: 0

10วันน้ำหมดอีสเทิร์น ไบเออร์บินด่วนเช็กอ่าง !!!!

โพสต์ที่ 4

โพสต์

"ภูเก็ต"วิกฤต1เดือนน้ำหมด เอกชนดิ้นเตรียมรับไฮซีซั่น

ปัญหาภัยแล้งระบาดหนัก ลามถึง "ภูเก็ต" คาดเหลือน้ำใช้แค่เดือนเดียว เผยล่าสุดอ่างเก็บน้ำบางวาดแห้งขอด ประปาวิ่งซื้อน้ำจากเอกชน R.E.Q.Water Service แก้ปัญหาเฉพาะหน้าสุดฤทธิ์ ด้านผู้ประกอบการโรงแรมต้องวิ่งซื้อน้ำจากขุมเหมือง ฟากหอการค้าได้ทีเตรียมเสนอปัญหาเข้าที่ประชุม ครม.สัญจรที่พังงา หวั่นกระทบท่องเที่ยว

นอกจากพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการลงทุนนับแสนล้านบาท กำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักแล้ว ล่าสุดภูเก็ตแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ไข่มุกอันดามัน ก็กำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำชนิดที่คาดไม่ถึง ขณะที่ฤดูท่องเที่ยวใหม่หรือไฮซีซั่นจะมาในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้

หลังจากที่ปลายปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ

นายอิสระ อนุกูล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ สำนักงานชลประทานจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำบางวาดภูเก็ตว่า ปริมาณน้ำวัดได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของความจุ โดยเมื่อต้นปีมีน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำบางวาดจำนวน 7.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคได้นำไปใช้หมดแล้ว ปัจจุบันจะเหลือน้ำที่ใช้ได้เพียง 80,000 ลูกบาศก์เมตร เพราะเป็นส่วนน้ำก้นอ่างหรือ dead storage 270,000 ลูกบาศก์เมตร

สำหรับแหล่งน้ำสำรองในภูเก็ตมีประมาณ 9 ขุมเหมือง ปริมาณน้ำที่วัดได้ในแต่ละขุมเหมือง ประกอบด้วย 1.ขุมเหมือง REQ 0.4 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.ขุมเหมืองล็อคปาล์ม 0.3 ลูกบาศก์เมตร 3.ขุมเหมืองอนุภาษเจ้าฟ้า 0.13 ลูกบาศก์เมตร 4.ขุมเหมืองพะเนียง 0.01 ลูกบาศก์เมตร 5.ขุมเหมืองวชิระ 0.02 ลูกบาศก์เมตร 6.ขุมเหมืองอนุภาษกะทู้ 0.6 ลูกบาศก์เมตร 7.ขุมเหมืองแฝก 0.13 ลูกบาศก์เมตร 8.ขุมเหมืองเฉลิมพระเกียรติ 0.03 ลูกบาศก์เมตร 9.ขุมเหมืองเทศบาล 0.08 ลูกบาศก์เมตร รวมมีปริมาณน้ำที่วัดได้เหลืออยู่ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

"น้ำจากที่ต่างๆ เมื่อคำนวณดูแล้วสามารถเพียงพอใช้ได้ 1 เดือนนับจากวันนี้ ซึ่งปริมาณความต้องการใช้น้ำของภูเก็ตเดือนละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร" นายอิสระกล่าว

ด้านนายสายัณห์ วารีอรุณโรจน์ ผู้จัดการประปาภูเก็ต การประปาส่วนภูมิภาค กล่าวถึง การแก้ปัญหาว่าได้ติดต่อขอซื้อน้ำดิบจากขุมเหมืองเอกชนมาเพิ่มเติมแล้ว รวมกับน้ำที่สูบจากคลองบางใหญ่และจากอ่างเก็บน้ำบางวาดส่วนหนึ่ง จะเพียงพอให้บริการถึงกลางเดือนกันยายน นอกจากนี้ก็ได้ติดต่อการทำฝนเทียม หากฝนตกลงมาต่อเนื่องก็หวังว่าจะไม่น่ามีปัญหา

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า ขณะนี้การประปาฯกับบริษัท R.E.Q.Water Service นำน้ำจากขุมเหมือง REQ มาใช้อีกวันละ 500 ลบ.ม./ช.ม. รวมกับที่มีอยู่อีก 1,000 ลบ.ม./ช.ม. คาดว่าจะสามารถจ่ายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1,500 ลบ.ม./ช.ม.ได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในระยะยาวนั้น กรมชลประทานเตรียมที่จะทำอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 อ่างคือ อ่างเก็บน้ำบางเหลียวดำ กับอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ขนาดความจุ 7 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำได้ในปี 2551

นายปมุข อัจฉริยะฉาย กรรมการบริหารโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป กล่าวว่า ทางโรงแรมมีขุมเหมืองส่วนตัว มีรถน้ำของโรงแรม 2 คัน ซึ่งบรรทุกน้ำเข้าโรงแรมทุกวัน ทำให้ระดับน้ำในขุมเหมืองลดลงจำนวนมากจนน่าเป็นห่วง จะมีปัญหาแน่หากฝนไม่ตก

ด้านนายพัฒนพงษ์ เอกวานิช นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ใช้วิธีซื้อน้ำจากเอกชน แต่ติดปัญหารถขนน้ำไม่สามารถขนส่งน้ำมายังป่าตองได้ตลอดเวลา เพราะมีการห้ามรถบรรทุกขึ้นเขาในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า เย็น และรถน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการให้บริการ บางโรงแรมจึงซื้อรถน้ำเป็นของตนเอง ส่วนการใช้น้ำบาดาลมีน้อย เพราะว่าคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม

"ปัญหาเกี่ยวกับน้ำของภูเก็ตยังไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาชัดเจน และเป็นปัญหาเกิดขึ้นทุกปี จึงมีแผนนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จะมีขึ้นที่ จ.พังงา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาหนักกระทบการท่องเที่ยว" นายพัฒนพงษ์กล่าว ในที่สุด

นางธนัสนี สวัสดิรักษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้ประสานงานไปยังกระทรวงเกษตรฯขอจัดทำฝนเทียม มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แล้วโปรยสารเคมี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา และจะทำต่อเนื่องทั้งสัปดาห์

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากจังหวัดภูเก็ตว่า จากการเดินทางเข้าไปดูสภาพของน้ำในเขื่อนบางวาด ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำดิบเพียงแห่งเดียวที่นำมาผลิตประปาป้อนจังหวัดภูเก็ต พบว่ามีปริมาณน้ำน้อยมาก สามารถมองเห็นก้นอ่างแห้งเหือดได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตก็มีปัญหาขาดแคลนน้ำเรื้อรังมาทุกปี เพราะเมืองโตขึ้นทุกวันจากภาคการท่องเที่ยว บริการ และอสังหาริมทรัพย์ที่ยังบูมต่อเนื่องต่างก็ประสบปัญหาซ้ำซากเช่นนี้ทุกปี แต่ทางจังหวัดก็ยังไม่มีการวางแผนแก้ไขที่เป็นระบบว่าจะดึงน้ำดิบจากที่ไหนมาเสริม และลงทุนสร้างแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติม

สำหรับประชาชนที่ใช้น้ำประปาในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ขณะนี้ก็เริ่มเจอปัญหาน้ำไหลน้อยแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาว่า ทางกลุ่มสิ่งแวดล้อม ล็อกซเล่ย์ ได้เปิดตัวเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาด้วยการใช้เยื่อเมมเบรน หรือที่เรียกว่าระบบวอเตอร์รียูส (water reuse) ด้วยการนำน้ำทะเล-น้ำผิวดิน-น้ำบาดาล มาผลิตเป็นน้ำประปา มีต้นทุนการผลิตประมาณ 20 บาท/ลบ.ม. โดยปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการติดตั้งระบบรีเวิร์สออสโมซิสให้กับบริษัท ยูนิเวอร์แซลยูทิลิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออีสท์

วอเตอร์ ให้กับการประปาส่วนภูมิภาคเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีกำลังการผลิต 2,500 ลบ.ม./วัน ในมูลค่า 100 ล้านบาท และกำลังดำเนินการติดตั้ง ระบบเดียวกันนี้ที่เกาะล้าน กำลังผลิต 250 ลบ.ม./ วัน รวมทั้งการติดตั้งระบบการผลิตน้ำประปาโดยใช้เยื่อเมมเบรน (micro filtration) ให้กับฐานทัพเรือที่พังงาเพื่อทดแทนระบบประปาเดิมที่เสียหายจากภัยสึนามิด้วย
ล็อคหัวข้อ