คู่แข่งของ it ครับ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6483
ผู้ติดตาม: 1

คู่แข่งของ it ครับ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

จาก  kb  วันนี้ครับ


ค้าปลีกไอที "ฉีก" รูปแบบ แข่งปรับโฉมชิงผู้นำตลาดไทย

วงการค้าปลีกไอที กำลังถึงจุดเปลี่ยนของธุรกิจอีกครั้ง เมื่อโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ ปรับตัวรุกตลาดไอทีมากขึ้น นำร่องโดยพาวเวอร์มอลล์ ชิงเปิดพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร ในสยามพารากอน โดยใช้โมเดลธุรกิจใหม่ให้บริษัท ฟิวเจอร์แอดนาว มาจัดการขายสินค้าไอที แบบไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ และได้รับส่วนแบ่งรายได้เป็นการตอบแทน กดดันให้ทางเพาเวอร์บาย ที่ตระกูลจิราธิวัฒน์เข้ามาบริหารเต็มตัว ประกาศท้าชนผ่านทำเลกลางเมือง ที่ เซ็นทรัล เวิลด์

นอกเหนือจากค้าปลีกสัญชาติไทยแล้ว ตลาดนี้ก็กำลังดึงดูดกลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท คอร์ทส์ ค้าปลีกจากอังกฤษ เริ่มปูพรมตั้งสาขาในต่างจังหวัด และบริษัท ฮาร์วีย์ นอร์แมน จากออสเตรเลีย ก็เตรียมพร้อมเข้ามาลงทุน

ล่าสุด มีผู้คาดการณ์ว่าภายใน 10 ปี ธุรกิจค้าปลีกไอที จะพร้อมแยกออกเป็นธุรกิจเฉพาะทางไม่ต้องอิงกับพื้นที่ห้างสรรพสินค้า อย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐปัจจุบัน

แบ่งรายได้แทนเก็บค่าเช่า

นายธงชัย พรรควัฒนชัย กรรมการบริษัท เดอะแวลลู ซิสเตมส์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฟิวเจอร์แอดนาว ได้ตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกับพาวเวอร์มอลล์ เข้าบริหารพื้นที่ค้าปลีกไอที ในห้างเอ็มโพเรี่ยมและสยามพารากอน แล้ว โดยใช้รูปแบบแบ่งส่วนแบ่งรายได้ แทนการคิดค่าเช่าพื้นที่

"เดิมพาวเวอร์มอลล์สนใจที่จะให้บริษัททำ แต่เรามองว่าไม่ใช่ความชำนาญหลักของบริษัท จึงประสานให้ทั้งสองฝ่ายพบกัน ซึ่งถือเป็นโมเดลในธุรกิจใหม่ และโมเดิร์นเทรดก็ถือเป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งของบริษัทอยู่แล้ว"

เอสไอเอส นำร่อง "สมาร์ท"

นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับตัวแทนค้าปลีกที่มีอยู่ ทดลองนำร่องร้านค้าปลีกไอทีแนวคิดใหม่ "สมาร์ท" โดยเน้นสินค้าเฉพาะทาง ใน 3 รูปแบบ จำนวน 15 แห่ง

ได้แก่ "สมาร์ทซิงค์" ทำสินค้าด้านโน้ตบุ๊ค และอุปกรณ์พีดีเอ "สมาร์ทโฟโต้" ขายกล้องดิจิทัล รวมถึง "สมาร์ทแมค" เน้นขายสินค้าแอปเปิล ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปิดหน้าห้างเอ็มโพเรี่ยม และสยามพารากอน แล้ว

แนวคิดใหม่นี้ บริษัทจะใกล้ชิดกับดีลเลอร์มากขึ้น ตั้งแต่การจัดหาสินค้า (ซอร์สซิ่ง) ซึ่งจะได้สินค้าใหม่ล่าสุดทันกับตลาด การจัดวางดิสเพลย์สินค้า การตลาด รวมถึงภาระสต็อกสินค้า

"พาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามา ต้องมีทำเลของร้านที่ดี มีพนักงานขายที่เก่ง และไม่ต้องการแบกภาระระบบบริหารงานสนับสนุน รวมถึงจะได้รับสินค้าใหม่ๆ เข้ามาขายในร้านได้เร็วกว่าปกติ จากระบบเดิมต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อหลายขั้นตอน โมเดลนี้ทั้งสองฝ่ายจะรับความเสี่ยงร่วมกัน และมีการตกลงส่วนแบ่งผลกำไรที่ชัดเจนในสัญญา" นายสมชัย กล่าว

ค้าปลีกไอทีไทย 10 ปีเทียบชั้นสหรัฐ

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ค้าปลีกไอที รายหนึ่ง กล่าวว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า แนวโน้มค้าปลีกไอที จะเริ่มเข้าสู่การตั้งแบบสแตนอะโลน แยกเป็นอิสระที่ไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ห้างสรรพสินค้า เหมือนธุรกิจค้าปลีกสหรัฐซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มีร้านค้าปลีกเฉพาะทางขนาดใหญ่อย่างกีฬา รองเท้า และไอที ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร

โดยต้องให้ขนาดการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อประชากรให้ถึง 50% จากปัจจุบันที่ไทยมีต่ำกว่า 10% มีเครื่องราว 6.3 ล้านเครื่อง ต่อ 65 ล้านคน

"ผมมองว่า อีก 3-5 ปี หากรัฐอัดฉีดงบมาสนับสนุนตลาดน่าจะเพิ่มได้ 3-4 เท่าต่อปี หรือควรมียอดขาย 5-6 ล้านเครื่องต่อปี จากปัจจุบันตลาดอยู่ที่ 1-1.1 ล้านเครื่องต่อปี ซึ่งหากทำได้ผู้ค้าปลีกไอทีจะมีระดับปริมาณการขายมากเพียงพอ จนได้อีโคโนมีออฟสเกล ที่ไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า" แหล่งข่าวกล่าว

นายณภพ นุตสติ ผู้อำนวยการ ส่วนธุรกิจพีซี บริษัท ฟูจิตสึ กล่าวว่า ปีนี้จะเริ่มต้นเห็นค้าปลีกไอทีมีความใกล้เคียงกับธุรกิจคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ราคาสินค้าจะเป็นราคาเดียว โดยการควบคุมจากไอทีเชนสโตร์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไอทีซิตี้ หรือผู้ค้าปลีกจากต่างประเทศอย่างคอร์ทส์ (Courts) ผู้ค้าปลีกไอที-เฟอร์นิเจอร์จากอังกฤษ ที่มาเปิดสาขาในต่างจังหวัดของไทยแล้ว หรือ ฮาร์วีย์ นอร์แมน ผู้ค้าส่งออสเตรเลียที่น่าจะเข้ามาภายในปีนี้เช่นกัน

"การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์หันไปติดต่อตรงกับไอทีเชนสโตร์เหล่านั้น ลดบทบาทของผู้ค้าส่งลง โดยผู้ค้าส่งจะเริ่มหันไปเน้นสินค้าเฉพาะทางที่มีมาร์จินสูงอย่างแลนการ์ด และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ มากกว่าการมุ่งขายเฉพาะโน้ตบุ๊คและเดสก์ทอป ที่จะถูกโมเดิร์นเทรดเข้าไปแบ่งตลาดมากกว่า" นายณภพ กล่าว

ดังนั้น การแข่งขันของซัพพลายเออร์ด้านราคาจะดุเดือดน้อยลง และหันไปแข่งขันในทางอ้อม ทั้งการผ่อน 0% โปรแกรมการเงินและรายการส่งเสริมการขาย สินค้าพรีเมียม

นอกจากนั้น การขายจะมุ่งที่บริการหลังการขาย และเน้นซื้อสินค้าใกล้บ้าน (ช้อป เนียร์บาย) เป็นเครื่องมือการสร้างความได้เปรียบด้านทำเลของที่ตั้งร้าน เนื่องจากความได้เปรียบด้านความแตกต่างด้านราคาจะลดลง ทำให้ผู้ใช้ไม่เสียเวลาเดินทางไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์เช่นเดิม


"เพาเวอร์บาย" เพิ่มสินค้าไอทีดึงลูกค้า ย้ำศูนย์ครบวงจรรับมือเศรษฐกิจหด

เพาเวอร์บาย เพิ่มสินค้าไอทีรับเทรนด์ตลาด เพิ่มแบรนด์-สินค้า ชูบริการหลังการขายครบวงจร หวังกระตุ้นตลาดช่วงเศรษฐกิจชะลอ พร้อมรุกขยายสาขาอีก 20 แห่งในปีนี้ ไฮไลต์เซ็นทรัลเวิลด์ คาดรายได้ปีนี้ทะลุหมื่นล้านบาท

นายสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพาเวอร์ บาย จำกัด ศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปีนี้ภาพรวมการแข่งขันธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีการแข่งขันรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เพราะภาวะเศรษฐกิจทรงตัว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ผู้ประกอบการต้องวางกลยุทธ์กระตุ้นกำลังซื้อ เพาเวอร์บาย จึงหันมาเพิ่มแบรนด์และเพิ่มหมวดในการขายสินค้าให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจำหน่ายครบวงจร ทั้งประเภทไอที เอวี และไวท์กู๊ด

"ปีนี้เราจึงเพิ่มแบรนด์มากขึ้น และสินค้าที่ขายเพิ่มขึ้นอีก 30-40% โดยหมวดที่เพิ่มมากที่สุดคือ กลุ่มไอที" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวและว่า การที่เพาเวอร์บายเพิ่มสินค้าในหมวดไอทีเนื่องจาก ปีที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มไอทีมีสัดส่วนยอดขายที่เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมคิดเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขายรวม ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40% คาดว่าปีนี้ยังโตต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ โน้ตบุ๊คและเอ็มพี 3

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเพิ่มแบรนด์และสินค้าแล้ว สิ่งที่เพาเวอร์บายจะดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ เน้นบริการหลังการขาย โดยเฉพาะเรื่องของการซ่อม ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการแล้ว มีทั้งบริการซ่อมแซม และจัดเครื่องสำรองให้ใช้ระหว่างซ่อม ซึ่งรวมถึงการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไปด้วย

ส่วนผลประกอบการปีที่ผ่านมา นายสุทธิสาร เผยว่า รายได้ปีที่ผ่านมาบริษัทตั้งเป้าไว้ 1 หมื่นล้านบาท แต่พลาดเป้าไป 2-3% เนื่องจากการขยายสาขาไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ ประกอบกับการควบคุมเงินผ่อน ทำให้ยอดขายชะงักไปในช่วงกลางปี ปีนี้บริษัทจะเร่งขยายสาขาอีก 20 แห่ง เป็นต่างจังหวัด 70% โดยเน้นขยายในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ขณะที่ในกรุงเทพฯ ช่วงกลางปีบริษัทจะเปิดศูนย์เพาเวอร์บายขนาดใหญ่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา ซึ่งเป็นศูนย์แบบครบวงจร บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนถึง 100 ล้านบาท

"ศูนย์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซาจะเป็นแบบแฟลกชิพ ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์จำหน่ายเท่านั้น แต่จะมีบริการหลังการขายแบบครบวงจร มีสินค้าให้ทดลองใช้ มีมุมเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ขายครบ ซึ่งหากเปิดสาขาได้ตามเป้าที่วางไว้ จะทำให้รายได้ปีนี้เติบโต 15% จากปีที่ผ่านมา สำหรับงบการตลาดปีนี้วางไว้ 100 ล้านบาท" นายสุทธิสาร กล่าว
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
ภาพประจำตัวสมาชิก
worapong
Verified User
โพสต์: 929
ผู้ติดตาม: 0

น่ากลัวเหมือนกันนะครับ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ฟังข่าวนี้แล้วรู้สึกว่าน่ากลัวจังครับ
margin of safety
circle of competence
waiting for the perfect pitch
ล็อคหัวข้อ