อย่าเพิ่งร้อง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
chansaiw
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 710
ผู้ติดตาม: 1

อย่าเพิ่งร้อง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

อย่าร้อง โดย ดร . นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การตกต่ำลงของดัชนีตลาดหุ้นในช่วงนี้คงทำให้นักลงทุนหลายคนเจ็บปวดไม่น้อย ที่น่าห่วงมากไปกว่านั้นก็คือ การขายหุ้นสุทธิของผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งดูเหมือนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้นตกลงติดต่อกันหลายวัน ปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยรวมของตลาดก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นี่เป็นการเริ่มต้นของตลาดหมีที่น่ากลัวหรือไม่ ? ในการตอบคำถามนี้ ผมอยากจะเล่าถึงพฤติกรรมของดัชนีหุ้นไทยที่ผ่านมา 30 ปีเพื่อที่จะทำให้เราเห็นว่า การตกลงของหุ้นในรอบนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ไม่ต้องร้องโอดครวญ

การศึกษาแบบคร่าว ๆ ตั้งแต่สิ้นปี 2518 ที่เป็นปีก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์จนถึงสิ้นปี 2548 เป็นเวลา 30 ปี ดัชนีตลาดมีการปรับตัวขึ้น 17 ปี และปรับตัวลดลง 13 ปี ปีที่ดัชนีเป็นบวกนั้น โดยเฉลี่ยแล้วดัชนีปรับขึ้นถึง 39% ในขณะที่ปีที่เป็นลบนั้น ดัชนีลดลงโดยเฉลี่ย ถึง 22% ดูแล้ว การปรับตัวของดัชนีหุ้นบ้านเรานั้นดูผันผวนน่ากลัวมาก โอกาสที่จะทำกำไรมหาศาลในเวลาเพียงปีเดียวมีพอ ๆ กับการขาดทุนมหาศาลในเวลาเพียง 1 ปีเช่นเดียวกัน

ตัวเลข 39% กับ 22% อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าในปีที่กำไร เราน่าจะได้ถึงเกือบ 40% ในขณะที่ปีที่ขาดทุน จะขาดทุนใกล้ ๆ 20% แต่ความเป็นจริงก็คือ มีปีที่ดัชนีปรับตัวขึ้นสูงมากบางปีที่ทำให้ตัวเลขค่าเฉลี่ยสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับการที่มีปีที่ขาดทุนมากบางปีมาดึงให้ตัวเลขค่าเฉลี่ยขาดทุนสูงมากเช่นกัน

ปีที่ดัชนีทำกำไรให้กับนักลงทุนสูงมากดูเหมือนจะมีอยู่ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์บูมเป็นครั้งแรกหลังจากที่ตลาดเปิดขึ้นมาด้วยความเงียบเหงามา 2-3 ปี สิ้นปีนี้ ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นถึง 120% นับเป็นผลตอบแทนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย อย่างไรก็ตาม มีคนน้อยมากที่ได้กำไรจากการลงทุน เนื่องจากช่วงนั้นตลาดยังเล็กมากและตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดปิดจากโลกภายนอก

ตลาดบูมมากครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 2536 ซึ่งเป็นหนึ่งในปีทองของเศรษฐกิจไทย ดัชนีตลาดหุ้น ที่จริง เริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งน่าจะเกิดจากผลของการเปิดตลาดหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ หลังจากนั้นดัชนีก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและมาปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 2536 ซึ่งดัชนีหุ้นบวกขึ้นไป 88% และดัชนีปิดที่ 1683 จุด

ครั้งสุดท้ายที่หุ้นให้ผลตอบแทนสูงมากคือช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่แล้วหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 นั่นคือในปี 2546 ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปถึง 117% ดัชนีปรับตัวขึ้นจากสิ้นปี 2545 ที่ 356 จุดเป็น 772 จุด กำไรที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยม แต่น่าจะเป็นเพราะว่าดัชนีหุ้นก่อนหน้านั้นที่ตกลงมาต่ำมากซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทจดทะเบียนประสบปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ว่าที่จริงดัชนีหุ้นเมื่อสิ้นปี 2546 ก็ยังต่ำกว่าดัชนีหุ้นในปี 2539 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤติที่ 832 จุด

หันมาดูปีที่เลวร้ายบ้าง ผมเลือกเฉพาะปีที่ขาดทุนเกิน 40% ก็พบว่าปีที่เป็นตลาดหมีร้ายแรงเริ่มครั้งแรกในปี 2522 ที่ดัชนีติดลบไป 42% ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นมีปัญหาจากวิกฤติของบริษัทเงินทุนโดยเฉพาะกรณีราชาเงินทุนซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปั่นหุ้นซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเรื่องของสภาพคล่องตามมา อย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นก็ไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนนักลงทุนยังมีไม่มาก การที่ดัชนีตกลงมามากส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ตลาดหุ้นบูมมากก่อนหน้านั้นอันเป็นผลจากการปั่นหุ้นในช่วงปี 2520-2521

หุ้นตกหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยเกิดขึ้นในปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากการลดและปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ดัชนีหุ้นที่ปรับลดลงมาก่อนหน้าถึง 3 ปี ปรับลดลงต่ออีกถึง 55% ดัชนีลดลงจาก 832 จุดเหลือเพียง 373 จุด ผลของวิกฤติ เศรษฐกิจครั้งนี้คงจะรุนแรงมาก ทำให้ปี 2543 นักลงทุนได้เห็นดัชนีหุ้นปรับลดลงไป 44% อีกครั้งหนึ่งซึ่งทำให้ดัชนีลดลงเหลือเพียง 269 จุด ซึ่งถือเป็นโอกาสทองในการซื้อหุ้นที่ทำให้คนหลาย ๆ คนร่ำรวยจากตลาด เพราะเพียง 3 ปี ต่อมา ดัชนีหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปถึง 772 จุดในปี 2546 เป็นการเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าในเวลาเพียง 3 ปี

ข้อสรุปของผมก็คือ ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยนั้นสูงมากทั้งทางด้านบวกและลบอัตราของการทำกำไรและขาดทุนเองก็รุนแรงพอ ๆ กัน เพราะตัวเลขดัชนีเป็นบวก 39% นั้น อาจจะดูเหมือนว่าสูงกว่าดัชนีลบที่ 22% มาก แต่นี่เป็นตัวเลขที่มีภาพลวงอยู่นั่นคือ ถ้าสมมุติว่าดัชนีเริ่มจาก 100 จุด เวลาดัชนีขึ้นไปเป็น 200 จุด เราบอกว่าหุ้นปรับขึ้น 100% แต่เวลาที่ดัชนีหุ้นลดกลับลงมาจาก 200 จุดเป็น 100 จุด เราบอกว่าหุ้นปรับตัวลงเพียง 50% ทั้ง ๆ ที่ดัชนีกลับมาเท่าเดิม นั่นแปลว่า ในกรณีนี้ ดัชนีบวก 100% เท่ากับดัชนีลบเพียง 50% ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ตลาดหุ้นไทยนั้น การได้เสียของนักลงทุนนั้นรุนแรงทั้งสองด้าน แต่การปรับตัวของดัชนีหุ้นในรอบนี้เมื่อเทียบกับดัชนีเมื่อสิ้นปีก่อนก็ยังไม่รุนแรงนัก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็ติดลบเพียง 5-6% ยังห่างไกลจากพฤติกรรม ปกติ ของตลาดหุ้นไทยมาก เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งร้องเลยครับ


ท่าน ดร.คงจะบอกว่าถ้าลงหนักกว่านี้ค่อยร้อง 555
"Failure is the only way to start again intelligently"
โพสต์โพสต์