"เจริญ"งัดหลากกลยุทธ์กุมตลาด
ขณะเดียวกันวานนี้ ยังได้ยกตัวอย่างของการสะสมทุนธุรกิจครอบครัวไทยชั้นนำ ภายใต้หัวข้อ "การสะสมทุนในประเทศไทย : กรณีศึกษาธุรกิจสุรา " เป็นหนึ่งในงานวิจัย โดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาการสะสมทุนและพัฒนาการของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
ดร.นวลน้อย ระบุว่า การสะสมทุนของอุตสาหกรรมสุราในไทยตั้งแต่ปี 2493-2542 เป็นธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง โดยรัฐได้ใช้แนวคิดในการเข้ามาควบคุมสุราผ่านการจัดเก็บภาษีระดับสูงเพื่อควบคุมการบริโภค และควบคุมการผลิต โดยให้เอกชนที่ต้องการผลิตสุราต้องเข้ามาประมูลสิทธิในการผลิตสุราในโรงงานสุราของรัฐ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการกับกำดูแล (Regulated Economy) ทำให้อุตสาหกรรมสุราในยุคแรก เกิดการแย่งชิงระหว่างกลุ่มสุเมธ เตชะไพบูลย์ และกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองเข้ามาสนับสนุน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับสัมปทานผูกขาดในโรงงานสุราบางยี่ขัน คือ กลุ่มสุรามหาราษฎร ของกลุ่มสุเมธ เตชะไพบูลย์ เป็นระยะเวลา 20 ปี
ขณะที่ กลุ่มสุราทิพย์ ของเจริญ ได้หันไปประมูลโรงเหล้าขนาดเล็กจำนวน 12 โรง จากกรมสรรพสามิต เป็นระยะเวลา 6-7 ปี ซึ่งระหว่างปี 2523-2529 เกิดสงครามการแข่งขันในอุตสาหกรรมสุราระหว่าง 2 ค่ายนี้ในทุกรูปแบบทั้งลด แลก แจก แถม ข้ามเขตการขาย รวมทั้งการช่วงชิงการประมูลโรงเหล้าที่มีการนำเสนอค่าตอบแทนที่สูงจนเกินกว่าที่ผู้ประมูลได้จะมีความสามารถในการจ่าย โดยอาศัยเงินทุนจากธนาคารเข้ามาสนับสนุน
แต่หลังจากนั้นในปี 2502 กลุ่มสุเมธ เตชะไพบูลย์ ได้ยุติการทำธุรกิจสุราลงในที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2529 เนื่องจากถูกแรงกดดันจากธนาคารเจ้าหนี้ เพราะมีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก
ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ต่อจากนั้นจึงเข้าก้าวมาสู่ยุคที่สองของอุตสาหกรรมสุรา หลังจากที่กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เข้ามาครอบครองธุรกิจสุราอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2530- 2542 เป็นผลมาจากนโยบายการเปิดเสรีสุราปี 2542 ด้วยการ 1.เปิดประมูลขายโรงสุราเก่า 2. กำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต และ3. การปรับอัตราภาษีสุราเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2543 แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเจริญ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต-จำหน่ายเพื่อเข้าไปประมูลโรงสุราของรัฐ พร้อมกับสต็อกเหล้าไว้เป็นจำนวนมากก่อนที่จะหมดอายุสัมปทาน ทำให้มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับกลุ่มทุนรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจสุราในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายย่อย เพราะเสียภาษีในอัตราเก่า
เจริญ สะสมทุนขยายเข้าธุรกิจเบียร์
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการสะสมทุนของกลุ่มเจริญ ในช่วงที่ผ่านมานั้นเริ่มต้นจากธุรกิจสุรามาสู่ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุราและเบียร์เพื่อให้ครบวงจร และล่าสุดการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแนวทางการขยายธุรกิจของกลุ่มเจริญ จากสุรามาที่เบียร์ในช่วงปี 2537 นั้น เกิดจากการที่แนวโน้มของธุรกิจเหล้าขาวมีอัตราการเติบโตลดลง จึงได้หันมาทำเบียร์ช้าง โดยใช้กลยุทธ์ราคาเข้ามาแทรกในตลาดจากเดิมที่ตลาดเบียร์จะเป็นตลาดสำหรับผู้บริโภคคนชั้นกลางขยายไปในกลุ่มชนชั้นล่างที่มีกำลังซื้อน้อย และสามารถที่ขยายฐานลูกค้าออกไปวงกว้าง เพราะผู้หญิงดื่มเบียร์ ส่งผลให้ตลาดเบียร์ในช่วงปี 2541-2546 มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10%
ต่อจากนั้นมีการสะสมทุนไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับขยายธุรกิจเบียร์ออกไปต่างประเทศ เนื่องจากตลาดเบียร์ในประเทศเริ่มอิ่มตัว โดยมีอัตราการเติบโตปีละไม่เกิน 5% เฉลี่ย 2-3% ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับเบียร์สิงห์ ที่รุกทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการดึงนางงามมาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ขณะที่เบียร์ช้างใช้วิธีการสร้างแบรนด์ผ่านหน้าอกเสื้อทีมฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน
ปรับตัวรับระบบการเมืองใหม่
อย่างไรก็ตาม การอยู่รอดของกลุ่มธุรกิจสุราของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ที่เกิดจากบริบทของการเมืองแบบใหม่ ที่กลุ่มธุรกิจโดดเข้าสู่การเมืองมากขึ้น จากเดิมที่อาศัยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบเก่ากับกลุ่มทุนทางการเมืองในการทำธุรกิจ ถือเป็นยุคที่ 3 ของอุตสาหกรรมสุรา ซึ่งเป็นเหตุให้นายเจริญและคนในครอบครัวต้องเปิดตัวในสังคมมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็พยายามถ่ายโอนอำนาจการบริหารไปสู่คนรุ่นต่อไป พร้อมกับการขยายธุรกิจออกต่างประเทศมากขึ้น เพราะตลาดในประเทศ เริ่มเติบโตลดลง การแข่งขันรุนแรงขึ้น พร้อมไปกับกฎระเบียบที่กำกับดูแลเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางประชาคมสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการบริโภคสุราและเบียร์มากขึ้น
"เชื่อว่าการตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น ไม่ได้มุ่งหวังที่จะระดมทุนเป็นหลัก แต่เป็นการปรับตัว ในภาวะการเมืองแบบใหม่ ที่กลุ่มไม่สามารถอิงกับระบบอุปถัมภ์แบบเดิมๆ ได้อีก" ดร.นวลน้อย กล่าว
เข้าตลาดหุ้นเพื่อความอยู่รอด
จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มเจริญ ตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อความอยู่รอดในระยะยาวมากกว่าเพื่อระดมทุน โดยเริ่มเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2546 ภายใต้บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมีทุนจดทะเบียน 2 หมื่นล้านบาท ต่อมาได้เพิ่มทุนเป็น 2.9 หมื่นล้านบาท และโครงสร้างผู้ถือหุ้น วันที่ 2 กันยายน 2548 นายเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นร่วมกัน 49.1% โดยเป็นการถือหุ้นตรง 28.70% และถือหุ้นทางอ้อม 12.21%
ทั้งนี้มี 58 บริษัทย่อย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเบียร์ น้ำดื่มและโซดา มี 11 บริษัท มีมูลค่าการขายรวมเฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาทต่อปี กลุ่มสุรา มี 28 บริษัท มีมูลค่าการขายรวมเฉลี่ย 4 หมื่นล้านบาทต่อปี และกลุ่มผลิตแอลกอฮอล์ 1 บริษัท มีมูลค่าการขายรวมเฉลี่ย 600-700 ล้านบาทต่อปี กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง อีก 18 บริษัท มีมูลค่าการขายรวมเฉลี่ย 7พันล้านบาทต่อปี โดยรวมมูลค่าการขายเฉลี่ยบริษัทในเครือทั้งหมด 1แสนล้านบาทต่อปี จึงไม่น่าแปลกที่นายเจริญจะติดอันดับเป็นผู้ที่ร่ำรวยอันดับ 1 ในประเทศ และเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน
นักวิชาการแนะรัฐเลิกสัมปทานสุรา
ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริโภคสุราในประเทศ ว่า รัฐบาลควรจะเปลี่ยนนโยบายการให้สัมปทานสุราแก่ภาคเอกชนมาเป็นรัฐดำเนินการเองเหมือนกับประเทศสแกนดิเนเวีย สเปน และสหรัฐอเมริกา ที่บางรัฐเริ่มทำเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนสังคมเพิ่มขึ้นจากการบริโภคสุรา เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบุหรี่ ทำให้สามารถควบคุมการบริโภค และผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่รัฐบาลในต่างประเทศให้ความสนใจและเริ่มดำเนินการกันมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยสามารถที่จะทำได้ ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา หลังจากที่มีกลุ่มเอ็นจีโอออกมาสนับสนุนอยู่แล้ว