บิ๊กบจ.ขาดทุนรับเฉียด13ล./ปี ตลาดหุ้นงงสูง..บริษัทไหนบ้างคับ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
prasits
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 219
ผู้ติดตาม: 1

บิ๊กบจ.ขาดทุนรับเฉียด13ล./ปี ตลาดหุ้นงงสูง..บริษัทไหนบ้างคับ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

พอดีวันนี้ไปอ่านเจอมา
เลยอยากหาผู้รู้ครับว่า  ได้แก่บริษัทไหนบ้าง

ขอบคุณครับ

บิ๊กบจ.ขาดทุนรับเฉียด13ล./ปี ตลาดหุ้นงงสูงกว่าปกติ2เท่า

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 ธันวาคม 2549 07:52 น.


      ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยผลสรุปข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการ-ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณาตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดีในช่วงต้นปีหน้า "สุทธิชัย" ชี้ ปี 48 กลุ่มแบงก์มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ-ผู้บริหารสูงสุด 9.4-9.7 ล้านบาทต่อคนต่อปี ขณะที่พบบริษัทที่มีผลขาดทุนจำนวน 67บริษัท จาก 427 บริษัท มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารเฉลี่ยสูงถึง 12.92 ล้านบาทต่อคนต่อปี มากกว่า 2 เท่าของบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 50 ล้านบาท ที่มีการจ่ายเพียง 6.62 ล้านบาท
     
      นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการสายงานกำกับองค์กรและส่งเสริมบรรษัทภิบาล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาการกำกับดูและกิจการบริษัทจดทะเบียนหรือ GC Center ได้จัดทำสรุปข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน 472 บริษัท 29 หมวดอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ56-1) ประจำปี2548 ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
     
      โดยวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางให้กับบริษัทจดทะเบียนใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับกิจการและอุตสาหกรรม เนื่องจากในช่วงต้นปีจะเป็นช่วงที่บริษัทจะประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งกรรมการและกำหนดค่าตอบแทนและจะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติในการ ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในเดือนเมษายน
     
      สำหรับหลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดีเกี่ยวกับค่าตอบแทน มี 2 ส่วน คือ การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการที่โปร่งใส มีการเปรียบเทียบกับระดับที่มีการปฏิบัติอยู่ในอุตสาหกรรม และเปรียบเทียบกับประสบการณ์ ภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่จะได้รับจากกรรมการ ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินที่เกินสมควร โดยจะต้องมีการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น และการกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหาร ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้กำหนดในเรื่องหลักการและกำหนดโยบายการจ่าย โดยระดับค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับผลการดำเนินของบริษัทและผลงานของผู้บริหารแต่ละคน
     
      ทั้งนี้ ผลสรุปจากข้อมูลพบว่า ในปี 2548 บริษัทจดทะเบียนทุกอุตสาหกรรม มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 503,739 บาท จากการคิดค่าตอบแทนต่ำสุดที่ไม่มีการจ่าย และการจ่ายค่าตอบแทนสูงสุดที่ที่ 9.43 ล้านบาทต่อคนต่อปี ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารของบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 3.23 ล้านบาทต่อคนต่อปี จากการคำนวณผลตอบแทนต่ำสุดที่ 200,000 บาท และจ่ายค่าตอบแทนสูงสุดที่ 27.75 ล้านบาท ซึ่งในบางอุตสาหกรรมอาจมีการจ่ายค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และบางอุตสาหกรรมมีการจ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่แต่ละบริษัทจะต้องพิจารณาในการใช้ข้อมูลโดยคำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบเช่น คุณสมบัติ ความสามารถประสบการณ์ รวมถึงการทำกำไรของบริษัท ฯลฯ โดยช่วงปี 2544-2548 การจ่ายผลตอบแทนกรรมการเพิ่มขึ้นปีละ 11% และการจ่ายผลตอบแทนผู้บริหารเพิ่มขึ้นปีละ 8%
     
      นายสุทธิชัย กล่าวว่า หากพิจารณาการจ่ายผลตอบแทนกรรมการและผู้บริหารตามหมวดอุอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมที่มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มธนาคาร พลังงานและสาธารณูปโภค และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการจ่ายน้อยที่สุด 3 อันดับแรก คือ หมวดฟื้นฟูกิจการ (รีแฮปโก้) กลุ่มบริการเฉพาะกิจ และยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการจ่ายผลตอบแทนผู้บริหารสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มธนาคาร พาณิชย์ และกลุ่มเหมืองแร่ ส่วนกลุ่มที่มีการจ่ายต่ำที่สุด 3 อันดับ คือ กลุ่มรีแฮปโก้ กระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดบริการเฉพาะกิจ
     
      "การจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารในช่วง 2544-2548 ยกเว้นปี 2545 กลุ่มธนาคารมีการจ่ายสูงสุด โดยปี 2548 จ่าย 9.71 ล้านบาทต่อคนต่อปี ในปี2547 จ่าย 7.68 ล้านบาทต่อคนต่อปี ปี 2546 จ่าย 6.44 ล้านบาทต่อคนต่อปี และปี 2544 จ่าย 5.77 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งในปี2545 กลุ่มสื่อสารมีการจ่ายค่าตอบแทนสูงสุด 5.24 ล้านบาทต่อคนต่อปี "นายสุทธิชัย กล่าวว่า
     
      ทั้งนี้ การรจ่ายค่าตอบแทนตำแหน่งประธานกรรมการจะมีการจ่ายที่สูงกว่ากรรมการ 2 เท่า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ่ายค่าตอบแทนสูงสุด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธนาคาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และ กลุ่มแฟชั่น ซึ่งกลุ่มที่มีการจ่ายค่าตอบแทนต่ำสุด คือกลุ่ม รีแฮปโก้ ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน และบริการเฉพาะกิจ ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการตรวจสอบ จากที่มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 146 บริษัท มีการรายงาน โดยมีการจ่ายผลตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีจำนวน 2.23 แสนบาท
     
      อย่างไรก็ตาม จากการสรุปข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งหมด 472 บริษัท พบว่ามี 67 บริษัทที่มีผลการดำเนินงานเป็นขาดทุนสุทธิที่ 0 บาท แต่กลับให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารเฉลี่ยสูงถึง 12.9 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับบริษัทกำไรสุทธิไม่เกิน 50 ล้านบาท จาก 88 บริษัท กลับให้ค่าตอบแทนผู้บริหารเฉลี่ยที่ 6.6 ล้านบาทบาท
     
      "ถ้ากรรมการและผู้บริหารมีการบริหารที่ดี เขาก็ควรน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีไปด้วย ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการประชุมผู้ถือหุ้นด้วยว่าจะให้เขาหรือไม่ ส่วนการให้ค่าตอบแทนแก่คณะกรรมการและผู้บริหารในรูปของการแจกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอแรนต์) หรือหุ้น มีให้เห็นเหมือนกันใน บจ.ไทย โดยแบ่งเป็นค่าตอบแทนลักษณะดังกล่าวแก่กรรมการ ทั้งหมด 57 บริษัท และผู้บริหาร 50 บริษัท ซึ่งในต่างประเทศการให้ค่าตอบแทนเช่นนี้จะเป็นที่นิยมมากกว่าประเทศไทย"นายสุทธิชัยกล่าว
     
      สำหรับในปี2549 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมการมีบรรษัทภิบาลที่ดีอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าความรู้ ความสามารถ และการมีจริยธรรม ของกรรมการเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพของบริษัทจดทะเบียน จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีในหลายรูปแบบ โดยในปี 2549 CG Center ได้ให้คำปรึกษาแก่บริษัทจดทะเบียนโดยตรงกับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงรวม 50 บริษัท โดยรวมจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เข้าพบแล้วตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ เมื่อปี 2545 รวม 451 บริษัท
     
      นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้กรรมการบริษัทจดทะเบียนเข้าอบรมหลักสูตร DAP (Directors Accreditation Program) รวม 524 คน โดยใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 4 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการอื่น ๆ ทั้งการจัดสัมมนาและบรรยายให้ความรู้แก่กรรมการบริษัทจดทะเบียนรวม 52 ครั้ง รวมถึงการจัดทำแนวทางและข้อมูลประกอบเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้แก่ แนวปฏิบัติเพิ่มเติมเรื่องการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในการเสนอวาระการประชุมเป็นการล่วงหน้า แนวทางในการจัดทำจรรยาบรรณธุรกิจ ประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนปี 2548
     
      "สำหรับแผนงานที่ CG Center จะดำเนินการในปี 2550 คือ เน้นการพัฒนาให้ผู้ถือหุ้นและบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ถือหุ้น รวมทั้ง สนับสนุนให้กรรมการบริษัทจดทะเบียนมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของตนมากขึ้น และผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีหน่วยงานที่ดูแลงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ (IR Function) โดยเฉพาะเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถสื่อสารข้อมูลกับผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอกได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นมีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทและนำไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนในบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายสุทธิชัยกล่าวเสริม
โพสต์โพสต์