น้ำตาลล้นโลก ทุบราคาน่วม! 46รง.ไทยกระอัก
สัญญาณอันตรายอุตฯอ้อยและน้ำตาลปี50 เผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง "อำนวย ปะติเส"ชี้
เป็นปีแห่งการพลิกผันทั้งปริมาณและราคารวมถึงการแข่งขัน ฟันธง46 โรงงานน้ำตาลเลือดซิบแน่ เมื่อยักษ์"แซมบ้า"ประกาศศักดากลืนตลาดเอเชีย ส่งผลปริมาณและมูลค่าส่งออกไทยลดฮวบในตลาดหลักอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม
นายอำนวย ปะติเส ผู้อำนวยการบริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดย3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ประกอบด้วย สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล มีสมาชิกมาจากโรงงานน้ำตาลทรายในประเทศทั้ง 46 แห่ง เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลทรายในช่วงฤดูการผลิตปี2549/2550 ว่า ปีนี้เป็นปีที่ภาคอุตสากรรมอ้อยและน้ำตาล ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก เพราะเป็นช่วงจังหวะที่เกิดการพลิกผันในอุตสาหกรรมน้ำตาลโลก ทั้งในแง่ของปริมาณและราคาน้ำตาล
โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 140 ล้านตัน/ปี เป็น 149-150 ล้านตัน/ปี ส่วนผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นใหม่ในตลาดโลกมีประมาณ 9-10 ล้านตัน/ปี ซึ่งเมื่อปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกมีจำนวนมากขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงไปด้วย อย่างราคาน้ำตาลทรายดิบในช่วงเดือนมกราคมปี2550 ได้ลดลงมาอยู่ที่ 10-11 เซนต์/ปอนด์แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลทรายดิบในช่วงเดียวกันของปี2549 หรือตามฤดูการผลิตปี 2548/2549 ที่ราคาน้ำตาลทรายดิบได้ทะยานสูงถึง 19 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำตาล
สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลปี 2548/2549 จะต่างกับปี2549/2550 เป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อปี2548/2549 พอเริ่มเปิดหีบอ้อย ก็มองว่าปริมาณอ้อยได้เพิ่มขึ้นเป็น 46.69 ล้านตัน ซึ่งยังใกล้เคียงกับปี 2547/2548 ที่มี 47.81 ล้านตัน จากเดิมที่คิดว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมา จะมีปริมาณอ้อยตกต่ำลงไปกว่าเดิม เพราะสถานการณ์น้ำตาลทั่วโลกไม่ดี มีภาวะภัยแล้ง คนแตกตื่นว่าน้ำตาลจะขาดแคลน จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมาก โดยเริ่มเห็นว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน2547/2548 ราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 7 เซนต์/ปอนด์ ต่อมาน้ำตาลทรายดิบขยับขึ้นมาเป็น 10-11 เซนต์/ปอนด์ และต่อเนื่องถึงช่วงฤดูการผลิตปี2548/2549 ในเดือนมกราคม ราคาน้ำตาลทราบดิบได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 19 เซนต์/ปอนด์ มาตามลำดับ
นายอำนวยกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยปี2549/2550 จะเพิ่มเป็น 59.78-60 ล้านตัน โดยจะได้ปริมาณน้ำตาลที่ประมาณ 63.9 ล้านกระสอบหรือประมาณ 6.3 ล้านตัน ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปี2548/2549 ที่มีปริมาณอ้อย 46.69 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาลทราย 47.85 ล้านกระสอบ หรือประมาณ 4.7-5 ล้านตัน
"จากผลพวงที่ฤดูการผลิตปี2548/2549 ที่คนตื่นตระหนก ว่าน้ำตาลทรายจะขาดแคลน ทำให้รัฐบาทเข้า แทรกแซงการขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงาน ทำให้ปริมาณการซื้อ-ขายและการบริโภคน้ำตาลได้ชะลอตัวไป ส่งผลให้น้ำตาลทรายขาวที่บริโภคในประเทศมียอดคงเหลือ 2 ล้านกระสอบ ยิ่งไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายขาวในปี2549/2550ให้มากยิ่งขึ้นอีก" (อ่านต่อรายละเอียด "46โรงงานน้ำตาลบ่นอุบ" หน้า6)
นอกจากนี้นายอำนวยยังกล่าวถึงบรรยากาศในการส่งออกน้ำตาล ว่า ในวันนี้เริ่มเดินไปสู่ภาวะที่ถดถอยแล้ว เนื่องจากคุณภาพน้ำตาลทรายดิบของไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างบราซิลได้ หลังจากที่บราซิลเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดคู่ค้าของไทยมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดค้าน้ำตาลทรายกับประเทศในแถบเอเชีย
"ที่ไทยต้องเสียโอกาสทางการค้าไป เพราะในช่วงที่ผ่านมาคุณภาพน้ำตาลทรายมีสีที่คล้ำ ทำให้ผู้ซื้อต้องลงทุนเพิ่มในการทำสีน้ำตาลให้ดีขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าสีของน้ำตาลทรายดิบจากบราซิล จะอยู่ที่ 400-500 ICUMSA ถือว่าอยู่ในคุณภาพสีที่ดี ขณะที่ค่าสีน้ำตาลทรายดิบของไทยอยู่ที่ 10,000 ICUMSAเช่นเดียวกับค่าความหวานหรือค่าPOL ของบราซิลอยู่ที่ 99 องศา แต่ค่าความหวานของไทยอยู่ที่ 96-97 องศา ซึ่งค่าความหวานน้อยกว่าบราซิล"
อย่างไรก็ตามจากสถิติการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยเป็นรายประเทศ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน2548 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี2549 ระบุชัดว่า
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในการส่งออกน้ำตาลทรายได้ลดปริมาณการซื้อน้ำตาลลงแล้ว เช่น อินโดนีเซีย เคยนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวน 1,111,234.33 ตัน มูลค่า 10,424.33 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันกับปี2549 มีปริมาณนำเข้าลดลงเหลือเพียง 313,159.40 ตัน มูลค่า 3,725.41 ล้านบาท ประเทศมาเลเซีย เคยนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยจำนวน 143,508.00 ตัน มูลค่า 1,398.40 ล้านบาท เหลือเพียง 31,258.00 ตัน มูลค่า 340.02 ล้านบาท ประเทศเวียดนาม มีการนำเข้า 74,250.00 ตัน มูลค่า 635.60 ล้านบาท มีปริมาณการนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยที่ลดลงเหลือเพียง 60,393.88 ตัน มูลค่า 700.26 ล้านบาท เป็นต้น (ดูตารางประกอบ)
"จากตัวเลขการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยที่ลดลง ชี้ชัดแล้วว่าผู้ผลิตน้ำตาลของไทยในปีนี้ต้องผจญกับวิบากกรรมการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นกับประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างบราซิล นอกจากนี้อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่มีบทบาทในภูมิภาคเอเซียก็เริ่มมองเรื่องการส่งออกมากขึ้นแล้วหลังจากที่ผลผลิตส่วนใหญ่ที่ออกมาจะป้อนตลาดในประเทศทั้งหมด เพราะบริโภคน้ำตาลมาก "
ผู้อำนวยการบริษัท ไทยซูการ์ กล่าวย้ำอีกว่า ในฤดูการผลิตปี2549/2550 นี้เป็นอีกปีที่วงการอ้อยและน้ำตาลมองว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ พร้อมกัน กับแรงกดดันในการแข่งขันในตลาดหลักๆที่มีอยู่แล้ว รวมถึงราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงตามหลักเศรษฐศาสตร์ ตามความต้องการใช้และกำลังผลิต และอัตราแลกเปลี่ยนจาก 40 ดอลลาร์สหรัฐลงมาอยู่ที่ 35-37 ดอลลาร์สหรัฐ
อนึ่งการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยเป็นรายประเทศระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน2549 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปริมาณส่งออกน้ำตาลทราย รวมทั้งสิ้น 2,025,787.69 ตัน มูลค่า 25,103.29 ล้านบาท เทียบกับปี2548 ในช่วงเดียวกันมีปริมาณการส่งออกจำนวน 2,930,100.42 ตัน มูลค่า 27,311.08 ล้านบาท
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่เป็นเบอร์2ของโลกรองจากบราซิล โดยมีออสเตรเลียตามมาติดๆ เป็นอันดับที่3