--------------------------------------------------------------------------------------ปิดฉากราชาเงินผ่อนรากแก้ว
อวสานราชาเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับรากแก้ว หลังโดน 3 ปัจจัยโหมใส่ จากพิษเศรษฐกิจชะลอ สงครามราคาจากโมเดิร์นเทรด และต้นทุนพุ่ง ซิงเกอร์ พี่ใหญ่ในตลาดสาหัส ส่วนบมจ.ดีอีฯ หันทำเงินผ่อนรถแทกซี่ หลังได้ผู้ถือหุ้นใหม่หนุน ด้านไมด้า แอสเซท เดินหน้าตั้งบริษัทลูกลุยอสังหาฯ เล็งปิดฉากธุรกิจเดิม ขณะที่ดิสเคาท์สโตร์ตีปีกหลังทุบราชาเงินผ่อนตายสนิท
ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ทำให้เข้มงวดในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ การแข่งขันทางด้านสินเชื่อเช่าซื้อรวมถึงบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ธนาคารพาณิชย์ได้มาทำธุรกิจเช่าซื้อขณะที่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า จาก 3 ปัจจัย ได้ส่งผลให้ธุรกิจขายแบบเช่าซื้อหรือธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่มีตลาดใหญ่ในต่างจังหวัดที่ลงลึกไปถึงระดับตำบล หรือที่เรียกว่า"รากแก้ว" ซึ่งปัจจุบันมี 3 รายใหญ่ ๆ ล้วนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซิงเกอร์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) (บมจ.) ,บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท และบมจ.ดีอี แคปปิตอล ที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "ไดสตาร์ "ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้แต่ละรายต่างปรับตัวเพื่อหนีภาวะดังกล่าว
-ไมด้าฯเล็งขายพอร์ตทิ้งลุยอสังหาฯเต็มสูบ
+++ไมด้าหนีไปทำอสังหาฯ
ทั้งนี้"ฐานเศรษฐกิจ"ได้สัมภาษณ์นายกมล เอี้ยวศิวิกูล ประธานกรรมการ บมจ.ไมด้าฯถึงทิศทางการทำธุรกิจเงินผ่อน หลังจากได้ลงทุนในธุรกิจโรงแรม 5 แห่ง มูลค่าลงทุนรวม 860 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย บริษัท สมุย เพนนินซูลาจำกัด, บริษัท ภูเก็ต เพนนินซูลา จำกัด, บริษัท ฮอทสปริง จำกัด บริษัท เดอะ รีทรีท หัวหิน จำกัดและบริษัท ท็อป เอเลเมนทส จำกัด ซึ่งบมจ.ไมด้าฯได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยนายกมล กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม ในส่วนของธุรกิจเงินผ่อนก็จะค่อย ๆลดขนาดลง โดยใช้วีธีการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยเช่าซื้อมากขึ้น(ปัจจุบันมีพอร์ตลูกหนี้เช่าซื้อประมาณ 4,000 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้พอร์ตมีขนาดเล็กลงไปโดยปริยาย นอกจากนี้จะทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร โดยคาดว่าภายใน 2-3 ปี ข้างหน้าจะเหลือประมาณ 60-70 สาขา จากปัจจุบันที่มีสาขาทั่วประเทศ 126 สาขา ส่วนแผนสุดท้ายอาจจะขายพอร์ตลูกหนี้ให้กับผู้ที่สนใจต่อไป ขณะที่รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 80-90 % ของรายได้รวมใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยธุรกิจโรงแรมจะเป็นระดับ 5-6 ดาว
สำหรับแผนการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจะเริ่มต้นที่ 6โครงการ (โครงการที่ 6 อยู่ระหว่างการเจรจา) คิดเป็นมูลค่าลงทุนโครงการละ1,800-2,000 ล้านบาท โดยเงินจากการลงทุนจะมาจากการกู้สถาบันการเงินและกระแสเงินสดจากลูกหนี้เช่าซื้อ ต่อคำถามที่ว่าหลังสัดส่วนรายได้เปลี่ยนแล้วหุ้นจะย้ายไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการหรือไม่ นายกมลกล่าวว่า ต้องดูที่โครงสร้างรายได้และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมกล่าวว่า หากหุ้นไมด้าฯ ซื้อขายในกลุ่มโรงแรม ก็จะน่าสนใจมากเพราะจะทำให้มีแคปปิตอลเกนส์ (ส่วนต่างราคา) สูง และจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีการซื้อขายที่พี/อี เรโช (อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น)สูงถึง 20 กว่าเท่า
อนึ่งผลการดำเนินงานไตรมาส3 ปี 2549 บมจ.ไมด้า ฯ มีรายได้รวม 208.80 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 57.88 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ที่มีรายได้รวม
532.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ 81.01 ล้านบาท บริษัทชี้แจงสาเหตุที่กำไรลดลง 28.5 %ว่ามาจากรายได้
จากการขายลดลงจากปี 2548 จำนวน 323.92 ล้านบาท หรือเท่ากับ 60.80 %เนื่องจากธุรกิจเช่าซื้ออยู่ในสภาวะชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประชาชนชะลอตัวการใช้จ่ายและเก็บออมเพิ่มมากขึ้น
++-ซิงเกอร์ ยังลูกผีลูกคน
ด้านความเคลื่อนไหวของบมจ.ซิงเกอร์ฯ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการสินค้าเงินผ่อนรายแรก ๆที่เน้นรากแก้ว โดย"ฐานเศรษฐกิจ"ได้พยายามติดต่อไปที่บริษัทดังกล่าวเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร แต่ได้รับคำตอบว่าผู้บริหารที่สามารถให้ข้อมูลได้เดินทางไปต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากวงการธุรกิจเช่าซื้อเปิดเผยว่า ปัญหาของบมจ.ซิงเกอร์ฯดูเหมือนจะสาหัสที่สุดเพราะบริษัทดังกล่าวมีการปรับตัวล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่างชาติ 2 กลุ่ม ที่มีความขัดแย้งในการทำธุรกิจ โดยอีกกลุ่มต้องการทำรีเทลไฟแนนซ์ หรือ สินเชื่อเช่าซื้อเพื่อรายย่อย ขณะที่อีกกลุ่มต้องการคงนโยบายธุรกิจขายตรง ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของซิงเกอร์ฯ
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวรายเดิมได้วิเคราะห์ถึงทางออกในการกำหนดทิศทางธุรกิจของซิงเกอร์ว่า มี 3 คำตอบ คือ 1.เดินหน้าทำธรุกิจเดิม คือ ธุรกิจขายตรงเงินผ่อน 2. เปลี่ยนเป็นธุรกิจรีเทล ไฟแนนช์ และ 3. รวม 2 อย่างไว้ด้วยกัน คือ ทำธุรกิจรีเทล ไฟแนนซ์ บนไดเร็คเซล หรือขายสินค้าขณะที่มีการให้บริการสินเชื่อด้วยการดึงนอนแบงก์(ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน)มาเป็นคู่ค้า ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจประเภทที่ 3 นี้ นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นได้แล้ว ยังถือเป็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่คาดว่าจะทำให้ซิงเกอร์สามารถเดินต่อไปได้ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาระบบสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ 200 กว่าสาขา นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุน ซิงเกอร์ควรจะต้องปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรออกไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40-50 สาขา จากปัจจุบันที่มีสาขาทั่วประเทศ 230 สาขา
หรือหากซิงเกอร์จะคงธุรกิจเดิมคือ ไดเรคเซล ก็ต้องทำให้มีความแข็งแกร่ง นั่นคือ ซิงเกอร์จะต้องออกมายืนอยู่ในโพซิชั่น(ตำแหน่ง)นี้ให้ชัดเจน นั่นคือ ต้องเน้นเรื่องประโยชน์ของเรื่องการบริการ ซึ่งถือว่า ปัจจุบันซิงเกอร์มีความโดดเด่นเรื่องนี้
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการธุรกิจเช่าซื้ออีกราย กล่าวว่า ปัจจุบันซิงเกอร์ฯได้เลิกขายเช่าซื้อรถมอร์เตอร์ไซด์แล้ว หลังจากที่ลูกหนี้จำนวนมากขาดส่งค่างวด ทำให้บริษัทต้องยึดรถคืนจำนวนมาก จนส่งผลให้ผลประกอบปี 2549 ขาดทุน(งวด 9 เดือนปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 1,009.75 ล้านบาท)อย่างหนักจากการตั้งสำรองหนี้สูญ ขณะที่ปัจจุบันได้หันกลับเน้นขายเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่คาดว่าจะหาสินค้าอื่นมาเพิ่มในอนาคต นอกจากนี้ผู้บริหารบมจ.ซิงเกอร์ฯคาดว่าปี 2550 จะสามารถกลับมามีกำไรได้
+++-ดีอีฯ ดิ้นทำเช่าซื้อรถแทกซี่
ด้านบมจ.ดีอี แคปปิตอล ซึ่งทำธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า"ไดสตาร์" สำหรับการปรับแผนธุรกิจนั้นผู้บริหารฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ให้ข้อมูลกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ในเบื้องต้นว่า หลังจากที่ได้มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นต่างชาติ คาดว่าจะมีสนับสนุนธุรกิจของดีอีฯ โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัทฯเพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจของบริษัทต่อไป แต่คาดว่าจะยังทำธุรกิจเงินผ่อนต่อไป
โดยปัจจุบันบริษัทได้ลดการขายเงินผ่อนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าลง จากเดิมที่มีลูกหนี้ประมาณ 90,000 ราย เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง ขณะที่จะหันมาทำธุรกิจเช่าซื้อรถแท็กซี่มากขึ้น เพราะมองว่าตลาดนี้ยังเติบโตได้ดี โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกหนี้เช่าซื้อรถแท็กซี่ประมาณ 300-400 ราย นอกจากนี้คาดจะมีการเพิ่มประเภทสินค้าที่จะขายด้วย ขณะเดียวกันมีแผนจะสมัครเป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร)
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2549 ของบมจ.ดีอีฯ ขาดทุนสุทธิ 22.93 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนผลขาดทุนจำนวน 38.95 ล้านบาท คิดเป็นผลขาดทุนกว่า 20 % โดยบริษัทดังกล่าวชี้แจงว่า เนื่องจากในไตรมาส 3 ปี 2549 นั้น ได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง 29.16 ล้านบาท
-โมเดิร์นเทรด ตีปีกเบียดราชาเงินผ่อนตาย!
นางสอางทิพย์ อมรฉัตร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพาเวอร์ บาย จำกัด ศูนย์จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บนโมเดิร์นเทรดกล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ธุรกิจเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะนี้ว่า ตลาดในระดับรากแก้วตอนนี้ค่อนข้างแย่ เนื่องจากเงินไม่สะพัดเหมือนก่อน ทำให้ธุรกิจเงินผ่อนที่อิงกับตลาดกลุ่มนี้ย่ำแย่เกิดหนี้สูญจำนวนมาก บวกกับการนำกลยุทธ์ 0 % ผ่อนนาน 24 และ 36 เดือนของดิสเคาน์สโตร์บางแห่งทำให้บริษัทเงินผ่อนค่ายเล็กต้องออกจากตลาดไป เช่น ไมด้า แอทเซ็ท และเจมาร์ทที่เลิกทำเงินผ่อน
"เพาเวอร์บายเองก็เคยนำกลยุทธ์ 0 % ผ่อนนาน 24 เดือนมาใช้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จริงๆแล้วไม่อยากทำแต่ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะห้างอื่นทำกัน เราทำเพื่อดึงคนเข้าห้าง และสินค้าที่ใช้เป็นแม่เหล็กดึงคนก็มีไม่กี่ตัว ส่วนบริษัทคู่ค้านอนแบงก์จากที่ใช้เฉพาะจีอี แคปปิตอล ปัจจุบันก็เข้าไปจับมือกับค่ายเซ็ทเทอเล็มด้วย ไม่งั้นก็อยู่ยาก ซึ่งกลยุทธ์นี้มองว่าได้ผลดูจากยอดขายปีก่อนปิดเกือบ 10,000 ล้านบาท" รองกรรมการผู้จัดการเพาเวอร์บายกล่าว
ด้านร้านดีลเลอร์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า นายสุวิทย์ เตชะดีพร้อม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีพร้อม เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีโมเดิร์นเทรดใช้กลยุทธ์เงินผ่อนดอกเบี้ย 0 % ผ่อนนาน 24 และ 36 เดือนกับบริษัทนอนแบงก์ขณะนี้ว่า ส่วนใหญ่ซัพพลายเออร์หรือเจ้าของสินค้าในแต่ละแบรนด์จะทำโปรโมชั่นร่วมกับทางห้าง เนื่องจากต้องการสร้างวอลุ่ม(ปริมาณการขาย) และสร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้าที่บริษัทกำหนดในรอบปี
โดยสินค้าราคาสูงในกลุ่มไฮเอนด์ อาทิ พลาสม่าทีวี,แอลซีดี,ชุดโฮมเธียเตอร์ เป็นต้น จะมีการนำมาทำเงินผ่อนสูงสุด ส่งผลให้บริษัทสินเชื่อเงินผ่อนที่ฐานตลาดส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด อาทิ ไมด้า แอสเซ็ท,ซิงเกอร์ อาจต้องทำตลาดเหนื่อยขึ้นและถอยตัวเองออกมาในที่สุด เนื่องจากปัจจุบันนอนแบงก์รายใหญ่ๆ อาทิ อิออน,เฟิร์สช้อย,อีซี่ส์บาย,แคปปิตอล โอเค เริ่มขยายฐานลูกค้าออกไปยังตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ฐานตลาดจะอยู่ในกรุงเทพ ฯและเขตปริมณฑล ซึ่งบริษัทเองก็ทำเงินผ่อนอิงกับนอนแบงก์กลุ่มนี้เช่นกัน เพราะทำเองไม่ไหว ประสบปัญหาต้นทุนสูง
ลำดับ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวนหุ้น (หุ้น) % หุ้น
1 SINGER ( THAILAND) B.V. 129,600,000 48.00
2 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 31,848,870 11.80
3 บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว จำกัด โดยลงทุนในหุ้นบมจ 14,565,300 5.39
4 ธนาคาร กสิกรไทย 13,489,000 5.00
5 บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด 5,400,000 2.00
6 บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 4,514,900 1.67
7 กองทุนเปิด พรีมาเวสท์ สเปซิฟิกเฟล็กซิเบิ้ลฟันด์ 4,448,000 1.65
8 นายนิติ โอสถานุเคราะห์ 3,929,700 1.46
9 ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 3,000,000 1.11
10 นางนันทา รุ่งนพคุณศรี 2,334,000 0.86
11 นายวรพจน์ ดีจริยา 1,765,100 0.65
12 นายประเสริฐ อัครประถมพงศ์ 1,570,400 0.58
13 BEAR,STEARNS INTERNATIONAL LIMITED-CUSTOMER REG.ACCOUNT 1,500,000 0.56
14 นายบรรยง อนรรฆธรรม 1,500,000 0.56
15 นางงามพิศ ธาราอมรรัตน์ 1,480,000 0.55
16 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 1,383,770 0.51
พอจะจำสโลแกนนี้กันได้บ้างมั๊ยครับ...
แค่อยากรู้ว่าอนาคตของ SINGER จะเป็นเช่นไร...
สงสัยว่าคุณ นิติ โอสถานุเคราะห์ มองบอสัดนี้อย่างไร... :shock: :shock: