สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแพร่ข้อเท็จจริง ทำไมต้องเอา ปตท.คืนมา น้อมรับผลตัดสินคดีปตท.ของศาลวันนี้ เผยอยากให้สังคมรู้ความเสียหายต่อชาติเพื่อผลประโยชน์คนกลุ่มเดียว ทั้งเรื่องตีมูลค่าทรัพย์สินต่ำเกินจริงไม่น้อยกว่า 1.9 แสนล้าน สูบกำไรเกินควรบนกองทุกข์ชาวบ้านปีละกว่าแสนล้าน สร้างวงจรอุบาทว์ผลประโยชน์ทับซ้อนนักการเมือง-ขรก. ด้าน ปตท.ขอตลท.หยุดพักการซื้อขายหุ้นจนกว่าศาลอ่านคำตัดสินเสร็จ ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 8 บาท เหตุนักลงทุนเข้าเก็งกำไรเชื่อผลออกมาเชิงบวก
นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันนี้ (14 ธ.ค.) เวลา 10.00 น.ศาลปกครองสูงสุดจะอ่านคำพิพากษาคดีฟ้องปตท. และในส่วนผู้ฟ้องคดี ได้ทำเอกสาร ข้อเท็จจริงกรณี ปตท. ทำไมต้องเอา ปตท.คืนมา เพื่ออธิบายใน 7 ประเด็นคำถาม เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล
**ประเทศชาติเสียหายกว่าแสนล้าน
ความเสียหายจากการขายหุ้น ปตท. พบว่า การตีมูลค่าทรัพย์สิน การขายหุ้นในราคาต่ำมาก ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไม่น้อยกว่า 190,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขายหุ้นทั้งหมด 25% ของปตท. เมื่อปี 2544 เป็นจำนวน 800 ล้านหุ้น ในราคา 35 บาทต่อหุ้น จะได้เงินสูงสุดไม่เกิน 28,000 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงคือ รัฐและประชาชนถูกโกงไปมากกว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้น เพราะ
หนึ่ง ก่อนกำหนดราคาหุ้นของ ปตท. มีการแก้บัญชีย้อนหลัง ทำให้ทุนและกำไรสะสมของ ปตท. จำนวน 50,121 ล้านบาท ถูกลดเหลือเพียง 14,441 ล้านบาท เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจหายไปถึง 36,000 ล้านบาทมากกว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้น
สอง เงินที่ได้จากการขายหุ้น ต้องจ่ายให้บริษัทผู้ขายหุ้น 800 ล้านบาท
สาม ประกาศจ่ายเงินปันผลก่อนขายหุ้นว่าภายใน 3 เดือน จะปันผลหุ้นละ 2 บาท แม้จะยังไม่ได้คำนวณผลประกอบการเป็นเงิน 1,600 ล้านบาท
สี่ ขายหุ้นให้พนักงานและผู้บริหารในราคาพาร์ 10 บาท จำนวน 48 ล้านหุ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ผู้ว่า ปตท. ขายหุ้นได้เงินมากกว่า 100 ล้านบาท โดยซื้อหุ้นราคาพาร์เพียงหุ้นละ 10 บาท
ห้า การประเมินมูลค่าบริษัทในเครือปตท. ซึ่งรัฐวิสาหกิจ ปตท. เคยลงทุนบริษัทในเครือจำนวน 63,672 ล้านบาท กลับถูกตีมูลค่าติดลบ 5,190 ล้านบาท เท่ากับยกบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ ปตท. ให้ฟรีแล้วยังแถมเงินให้อีก 5,190 ล้านบาท
เมื่อรวมการประเมินลดมูลค่าทรัพย์สิน ปตท. ทั้งหมด ปรากฏว่า มีจำนวนถึง 106,008 ล้านบาท เทียบกับการขายหุ้น ปตท. ได้เงินสูงสุดไม่เกิน 28,000 ล้านบาท เท่ากับการขายรัฐวิสาหกิจ ปตท.แบบขาดทุน คำถามคือ ขายทำไม ?
**ผลประโยชน์ทับซ้อนวงจรอุบาทว์
การขายหุ้นปตท. เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถึงนายปิยสวัสดิ์ ขณะที่ประชาชนไม่มีโอกาสจองหุ้น แต่ญาติและพรรคพวกนักการเมืองได้รับจัดสรรหุ้นสูงสุดถึงครอบครัวละ 5,106,000 หุ้นโดยเฉพาะตระกูลจุฬางกูล และ มหากิจศิริ ขณะที่นายปิยสวัสดิ์และภรรยา ก็ถือหุ้นอยู่ในกิจการพลังงาน ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน
การแปรรูป ปตท. ได้สร้างระบบอามิสสินจ้างในระบบข้าราชการและนักการเมือง เกิดวงจรอุบาทว์ที่นักการเมืองจะแต่งตั้งข้าราชการเป็นตัวแทนไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทพลังงาน ด้านหนึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ด้านหนึ่งก็เป็นคณะกรรมการในบริษัทพลังงานที่คอยรับผลประโยชน์จากนโยบาย
**กำไรแสนล้านบนกองทุกข์ชาวบ้าน
กำไรของปตท. ปีละกว่า 100,000 ล้านบาท มาจากการผูกขาดธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจก๊าซหุงต้ม และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ทำให้บริษัท ปตท. และบริษัทในเครือ สามารถกำหนดราคาน้ำมันแพงเกินควร ลิตรละ 3.00 บาท ขูดรีดเอากำไรเกินควรปีละประมาณ 84,000 ล้าน และตั้งราคาก๊าซแพงเกินควรไปปีละกว่า 40,000 ล้าน ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าก๊าซแพงขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 10,000 บาท/ครัวเรือน ในปี 2543 ก่อนการแปรรูป ปตท. เป็น 17,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ในเวลานี้
ส่วนการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สิน 500,000 ล้านบาทของปตท. เป็นทรัพย์สินของประเทศที่สูญหายไป เพราะรัฐบาลทักษิณ จัดการให้ท่อส่งก๊าซกลายเป็นสมบัติของบริษัท ปตท. ด้วยการเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานเป็นระบบผูกขาดเจ้าเดียว ทำให้หุ้นของ ปตท. มีมูลค่าเพิ่มมหาศาล
**แก้ พรก.ฟอกความผิด
นอกจากนั้น รัฐบาลยังใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่ออ้างต่อศาลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำฟ้อง ได้ระงับสิ้นไป และทำให้การฟ้องคดีไม่มีมูล ไม่ว่าจะเป็น 1) การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยการตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550
2) การแสดงเจตจำนงที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน ที่บริษัท ปตท. ได้รับโอนมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คืนให้กับกระทรวงการคลัง และ 3) การออกกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ............
ในประเด็นเศรษฐกิจเสียหาย จริงหรือไม่นั้น หากจะพิจารณาจากคำชี้แจงของ ปตท. ต่อผู้ถือหุ้นของตนเองและปรากฎในเว็บไซต์ของ ปตท. ก็ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบแต่ประการใด (อ่านรายละเอียด ใน www.manager.co.th)
**PTTขอหยุดซื้อขายชั่วคราว
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT วานนี้ (13ธ.ค.) มีการซื้อขายอยู่ในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน โดยลดลงไปต่ำสุดที่ 354 บาท ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาช่วงท้ายตลาด ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปปิดที่ 368 บาท เพิ่มขึ้น 8 บาท หรือคิดเป็น 2.22% มูลค่าการซื้อขายรวม 2,953.59 ล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มปตท. ประกอบด้วย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ปิดที่ 156 บาท ลดลง 2 บาท บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ปิดที่ 85.50 บาท ลดลง 1.50 บาท บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)หรือ RRC ปิดที่ 22.80 บาท ลดลง 0.30 บาท บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ATC ปิดที่ 67.50 บาท ลดลง 0.50 บาท บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ปิดที่ 121 บาท ลดลง 3 บาท และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ปิดที่ 5.95 บาท เพิ่มขึ้น 0.45 บาท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า จากการที่ ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่14 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น บริษัทมองว่าอาจมีสารสนเทศ หรือข้อมูลที่มีสาระสำคัญซึ่งอาจกระทบต่อราคาหุ้นของ ปตท. หรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนทั่วไปจากคำพิพากษาของศาล
ดังนั้นเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลดังกล่าวพร้อมเพรียงกัน ปตท. จึงขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งพัก ขึ้นเครื่องหมาย H (Trading Halt) การซื้อขายหุ้นของ ปตท. ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ชั่วคราวจนกว่าศาลจะเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาและ ปตท.แจ้งผลของคดีให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบแล้ว
นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า หากผลการตัดสินออกมาในเชิงบวกจริง ดัชนีตลาดหุ้นก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาปตท. แต่หากออกมาในแง่ลบก็จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมากกว่าราคาหุ้นปตท.เพราะ มีผลกระทบต่อจิตวิทยา การลงทุนโดยรวม โดยมองแนวรับที่ระดับ 825 จุด แนวต้นที่ระดับ 840 จุด
นางสาวมยุรี โชวิกรานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า บริษัทประเมินไว้ 3 กรณี คือ แปรรูปปตท.ไม่ผิด ซึ่งจะดันดัชนีปรับขึ้นไปที่ 850 จุด อีกกรณี คือให้แยกท่อก๊าซให้บริษัทย่อย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และดัชนีจะปรับเพิ่มอยู่ในช่วง 840-845 จุด สุดท้ายให้ถอนออกจากตลาดฯ จะทำให้ดัชนีปรับต่ำกว่า 700 จุด กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งหากสั่งเพิกถอนให้ปตท.พ้นตลาดฯ ต้องใช้เงินประมาณ 3-5 แสนล้านบาท มาซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น คำถามคือภาครัฐจะหาเงินมาจากไหน.