ยิ่งกว่า "เขาพระวิหาร" ต่างชาติ"กลืนเงียบ"ที่ดินไทย
โดย บิสิเนสไทย [26-6-2008]
กรณีต่างชาติเข้ามา ฮุบเงียบที่ดินไทย เป็นปัญหาเรื้อรัง และสะสมมาเป็นหลายสิบปี โดยไม่มีรัฐบาลชุดใดกล้าเข้ามาแก้ไข วันนี้กลับมีข้อมูลเชิงลึกที่ชี้ว่า มีแนวโน้มลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเช่น ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหินและพัทยาได้ถูกต่างชาติใช้ช่องโหว่ของกฏหมายที่ล้าสมัย บุกกว้านซื้อที่ดินไปถือครองแล้วไม่ต่ำกว่า 70-80% โดยใช้คนไทยเป็น นอมินี เป็นหัวหอกในการรุกอย่างแยบยล
ด้านกรมที่ดินยอมรับว่า หมดปัญญาแก้ปัญหาต่างชาติลักลอบซื้อที่ดินเพราะ ตรวจสอบยาก หากปล่อยเข้ามาซื้อกันมากๆ จะเป็นปัญหาร้ายแรงยิ่งกว่าข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารในวันนี้เสียอีก ขณะที่ภาคเอกชนเสนอทางออกว่า
ต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง เปิดให้ต่างชาติเช่าได้ แต่ห้ามซื้อเด็ดขาดในทุกกรณี
ยอมรับสกัดนอมินียาก กฎหมายไทยยังไม่แรงพอ
ปัญหาการเข้ามาซื้อที่ดินของต่างชาตินั้น รู้กันอยู่เต็มอกคนไทยอยู่แล้วว่า "มีแน่นอน" แต่ยังไม่มีหลักฐานมามัดตัวได้ หลายครั้งหลายสมัยที่พยายามคิดหาวิธีที่จะสกัดกั้นปัญหาการเข้ามาซื้อที่ดินของต่างชาติ แต่ก็ดูเหมือนจะยากเย็นเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก เพราะกระบวนการซื้อที่ดินโดยผ่านนอมินีคนไทยนั้นแยบยลมากขึ้น กฎหมายไทยไม่สามารถที่จะไปสกัดกั้นหรือป้องกันเต็มที่ ทำได้ก็เพียงตรวจสอบก่อนซื้อ ถ้าผิดกฎหมายไทยก็ซื้อไม่ได้ หรือทำได้แค่ย้อนหลังไปตรวจสอบหากมีกรณีที่ผิดสังเกตุว่าที่ดินแปลงนั้นๆมีทุนต่างชาติถือครอง
จากการสอบถามไปยังกรมที่ดินถึงแนวทางในการสกัดกั้นหรือป้องกันการเข้ามาซื้อที่ดินของไทยนั้น นายสุชาติ ดอกไม้เพ็ง โฆษกประจำกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า การสกัดกั้นหรือป้องกันการเข้ามาซื้อที่ดินของชาวต่างชาตินั้น ทางกรมที่ดินก็มีมาตราการที่วางไว้อยู่แล้ว คือ มีการตรวจสอบเอกสารการถือหุ้น เอกสารบัญชีผู้ถือหุ้นในกรณีที่มีต่างชาติร่วมถือหุ้นด้วย ถ้าผิดกฎเกณฑ์ที่ระบุทุนจดทะเบียนที่คนไทยต้องถือ 51% และต่างชาติไม่เกิน 49% เป็นต้น ก็จะไม่อนุญาติให้ซื้อที่ดินแปลงนั้นๆได้ ถือว่าเป็นการตรวจสอบและสกัดป้องกันขั้นหนึ่งแล้ว เป็นการป้องกันตั้งแต่ก่อนถือครองที่ดินในไทยแล้ว
ซึ่งตรงนี้กฎหมายไทยระบุโทษกรณีที่ต่างชาติฝ่าฝืนซื้อที่ดิน จะต้องโทษตามมาตรา 86 ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนกรณีที่คนไทยได้มาซื้อที่ดินแทนคนต่างด้าว (เป็นนอมินี) จะมีโทษทั้งจำและปรับเท่ากับความผิดแรก และการจะไปตรวจสอบว่าต่างชาติซื้อที่ดินในไทยโดยผ่านนอมินีนั้นมันทำยากมาก มันพิสูจน์ยากด้วย เพราะส่วนใหญ่ถ้าซื้อในนามนิติบุคค ก็จะจัดตั้งเป็นบริษัทมีคนไทยถือหุ้นตามกฎหมาย หรือถ้าซื้อที่ดินผ่านบุคคลธรรมดาก็ใช้ชื่อภรรยาคนไทยซื้อแทน
"มันตอบยากนะ ที่จะบอกว่าใครเป็นนอมินี หรือที่ดินตรงไหนเป็นของต่างชาติ เพราะยังไม่เห็นข้อเท็จจริง พอลงไปตรวจสอบจริงๆก็เจอคนไทยเป็นเจ้าของทั้งสิ้น" นี่คือคำกล่าวของ โฆษกกรมที่ดิน
ส่วนกรณีถ้าให้มองว่าปัญหาการเข้ามาซื้อที่ดินของชาวต่างชาติในเมืองไทยทุกวันนี้มันร้ายแรงแล้วหรือยัง ผมก็อยากจะบอกว่า ถ้ามันมีจริงๆ ก็ร้ายแรงมาก และร้ายแรงกว่ากรณีเขาพระวิหารเสียอีก เพราะตามข่าวที่ออกมามีการซื้อที่ดินจำนวนมากเป็นร้อยเป็นหมื่นไร่ ที่บอกน่ากลัวเพราะที่ดินโดยเฉพาะที่ดินการเกษตรเป็นแหล่งที่ทำมาหากินของคนไทย ถ้าใครมีข้อมูลหรือรู้แหล่งไหนว่ามีต่างชาติซื้อที่ดินผิดกฎหมายไทยก็แจ้งมาได้ จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ไม่นิ่งนอนใจเร่งสั่งสอบ สกัดนายทุนนอมินีต่างด้าว
พร้อมกันนี้นายสุชาติ ได้กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมที่ดินไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สอบสวนอย่างละเอียด โดยคำสั่งนี้ออกมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2551 ถึงที่มาของการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของนิติบุคคล อาทิ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีบุคคลต่างด้าวถือหุ้น หรือมีเหตุน่าสงสัยว่าอาจจะมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทน รวมถึงสอบสวนข้อมูลต่างๆ อาทิ รายได้ ต่อเดือน อาชีพต่างๆ ของผู้ถือหุ้น ฯลฯ โดย ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัทจะต้องแสดงหลักฐานที่มาของแหล่งเงินในการเข้าซื้อหุ้น และการได้มาของที่ดินแปลงนั้นๆ
นอกจากนี้กรมที่ดินยังได้สั่งการให้สำนักงานที่ดินทุกสาขาต้องจัดส่งรายชื่อนิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นหรือเป็นกรรมการในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อให้สำนักบริการข้อมูลธุรกิจหรือสำนักพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดตรวจสอบว่ามีการเพิ่มทุนจนกลายสภาพเป็นนิติบุคคลต่างด้าวหรือไม่ มิฉะนั้นจะต้องจำหน่ายที่ดินส่วนที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด รวมถึงตรวจสอบกรณซื้อขายที่ดินโดยไม่กู้จากสถาบันการเงินทั้งๆ ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงกว่าทุนจดทะเบียนบริษัท หากมีความผิดจะมีโทษปรับและจำคุกตามกฎหมาย
สมศักดิ์เจ้ากระทรวงเกษตร งัดสารพัดวิธีสกัดทุนนอกซื้อนา
เมื่อประเมินกันว่าไทยอาจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้ามาของทุนต่างประเทศแล้ว แนวทางในการสกัดกั้นและป้องกันนายทุนต่างชาตินั้นมีหลายแนวทาง แต่ต้องรีบดำเนินการเพราะไม่เช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนาไทย และประชาชนคนไทย
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอธิบายถึงมาตรการเพื่อป้องกันการคลุกคามจากทุนใหญ่ต่างชาติว่า ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าทีกระทรวงเกษตรฯ รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ดิน กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอาชีพและวิชาชีพพระราชบัญญัติการร่วมทุน
ผมให้เอาทุกฉบับมาสังเคราะห์จุดอ่อน ถ้าพบก็จะปลุกผู้คนในสังคมให้มาร่วมมือกันจับให้ได้คาหนังคาเขา เพราะหากมีการทำนาจะต้องเสียภาษีค่านา เกษตรกรพื้นที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในชนบทพื้นที่มันแคบจะรู้ว่าจริงๆ แล้วใครเป็นเจ้าของ แล้วเราต้องกล้าที่จะออกพระราชบัญญัติเพิกถอนสิทธิ เอาพื้นที่เหล่านั้นกลับคืนมาให้รัฐ โดยไม่ใช่เป็นการซื้อหรือเวนคืน แต่เป็นการถอนสิทธิเลยเขาย้ำ
และกล่าวเสริมอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ผมกำลังจะปลุก คือพื้นที่ของ ส.ป.ก.ให้ ส.ป.ก.เข้ามาดำเนินการบ้าง เพราะเกษตรกรสามารถที่จะทำกิน และจะไปเปลี่ยนถ่ายโอนมือไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะได้ ส.ป.ก.4-01 แต่คุณต้องเป็นคนทำในเขตพื้นที่นี้เอง ให้ใครมาทำแทนไม่ได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิกลับมาเป็นของรัฐทันที ส่วนนี้ง่ายต่อการควบคุม บริษัทอื่นจะมาร่วมทุนไม่ได้ เพราะพื้นที่ ส.ป.ก.นั้น มีไว้สำหรับเกษตรกรอย่างแท้จริง
สิ่งที่ผมหวาดกลัวคือ คิดว่านับจากนี้พื้นที่ 62% ที่อยู่ในมือนายทุน(นายทุนไทยที่ชาวนาปัจจุบันเช่าอยู่) ซึ่งไม่ใช่ชาวนา นายทุนพวกนี้จะไม่มีวิญญาณของเกษตรกร จะไม่มีความรู้สึกรักหวงแหนแผ่นดิน พวกนี้จะนึกอยู่อย่างเดียว ผลประโยชน์ ถ้าได้กำไร 2-3 แสนขายแล้ว พื้นที่เหล่านี้ก็พร้อมจะถูกเปลี่ยนสภาพจากภาคเกษตรไปเป็นสนามกอล์ฟ ไปเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมหวาดกลัวที่สุด
เป็นสิ่งที่แสดงถึงความกังวลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอยู่ต่อกระแสทุนต่างชาติ เพราะเครื่องมือทางกฎหมายบางอย่างก็มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่บางฉบับยังทิ้งร้างอยู่ในสภา โดยเฉพาะกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ไม่ได้อยู่ความดูแลของเขา เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะจัดทำบัญชีแบ่งกลุ่มอาชีพสงวน และอาชีพที่เปิดสำหรับชาวต่างชาติว่าควรจะเป็นสัดส่วนเท่าใด แม้จะเป็นกฎหมายที่มีการผลักดันมานานกว่า 4-5ปีก็ตาม แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถออกมามีผลบังคับได้ จึงต้องรอวัดใจรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชว่าจะเดินหน้าดำเนินการปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกลาวอย่างไร หลังจากนั่งบริหารประเทศมากว่า 4 เดือนเศษ
ในขณะเดียวกัน นายบุญเชิด คิดเห็น รักษาการอธิบดีกรมที่ดิน ก็ได้ออกกล่าวยืนยันว่า ต่างชาติไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรในประเทศไทยได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต และขัดกับการประกอบอาชีพพื้นฐานของประชาชน โดยปัจจุบันกฎหมายที่ดินได้เอื้อให้ต่างชาติรับโอนที่ดินในประเทศไทยได้ 3 กรณีเท่านั้นคือ 1.รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม 2.ซื้อที่ดิน 1 ไร่ เพื่อการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่กำหนด และจะต้องนำเงินลงทุนเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และห้ามถอนการลงทุนภายใน 5 ปี 3.รับโอนที่ดินตามกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และพ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม "สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็จะต้องถือหุ้นไม่เกิน 49% ซึ่งตั้งแต่ปี 2549 กรมที่ดินมีการเข้มงวดในเรื่องนี้มาก หากพบข้อสงสัยว่าถือหุ้นเกิน จะดำเนินการตามมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินในการบังคับขายส่วนเกิน 49% ออกไป
ส่วนมุมมองของนายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อันที่จริงกระแสทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่นาของเกษตรไทย น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก เหตุทะเลาะกันใหญ่โต ระหว่างพรรคชาติไทยกับพรรคพลังประชาชน และภายในพรรคชาติไทยด้วยกันเอง
ภายหลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เชิญมหาเศรษฐีน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียไปชมกิจการโรงเรียนชาวนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี และไปดูการทำนาที่ หมู่บ้านควายไทย สุพรรณบุรีโดยมีนายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยเป็นผู้ให้การต้อนรับ
แต่ปรากฏว่านายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคการเมืองเดียวกันออกมาโจมตีว่า การนำเอาเศรษฐีต่างชาติมาซื้อแผ่นดินไทยเพื่อปลูกข้าวแข่งกับคนไทยด้วยกันเอง เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนเรื่องราวลุกลามใหญ่โต
"ทางพรรคตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงถือว่าเป็นการขายชาติ โดยลงทุนซื้อขายผ่านนอมินีที่เป็นคนไทย เข้าไปกว้านซื้อในพื้นที่การเกษตรหลายแห่ง ไม่ว่าจะภาคกลางอย่างสุพรรณบุรี ,เพชรบุรี รวมไปถึงภาคอีสาน ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร เข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้ว่ามีมูลความจริงเพียงใด คาดว่าเรื่องนี้จะกระจ่างชัดเร็วๆนี้" สาธิตระบุ
กฎหมายคนต่างด้าว ช่องโหว่ใหญ่ที่ต้องแก้ไข
อย่างไรก็ตามหากมองในแง่มุมกฎหมายที่ไทยมีอยู่นั้น คงเป็นการยากที่จะควบคุมไม่ให้ต่างชาติเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในการสกัดกั้นกลุ่มทุนต่างชาติครั้งนี้
แม้กฎหมายคนต่างด้าว จะมีหลักเกณฑ์ในการควบคุมไม่ให้ต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการที่เป็นอาชีพสงวนของไทย โดยเฉพาะอาชีพทำนา ซึ่งถือเป็นอาชีพสงวนที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย 1 ซึ่งไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ
ส่วนอาชีพโรงสีอยู่ในบัญชี 3 ของ พ.ร.บ.คนต่างด้าว แต่มีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มทุนต่างชาติที่มีการจัดตั้งบริษัทร่วมกับคนไทย ซึ่งหากต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% จะถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นนิติบุคคลไทย สามารถประกอบธุรกิจภายใต้บัญชี 1 ได้ทันที
ประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่า คนไทยที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนกับต่างชาตินั้น เป็นเจ้าของกิจการตัวจริง ไม่ใช่การถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ให้กับคนต่างชาติ
ถ้าย้อนกลับไปช่วง 1-2 ปีก่อน จะพบว่าปัญหานอมินี ได้กลายเป็นประเด็นระดับชาติ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างกว้างขวาง จากกรณีที่กลุ่มทุนเทมาเซก ประเทศสิงคโปร์ เข้าซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร ซึ่งมีบริษัทลูกในเครือชินคอร์ป ที่ห้ามคนต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการหลายธุรกิจ เช่น สื่อสาร ดาวเทียม และสายการบิน เป็นต้น จนกลายเป็นประเด็นลุกลามทางการเมืองนำไปสู่การรัฐประหารในช่วงวันที่ 19 ก.ย. 2549 ที่ผ่านมา
จนนำไปสู่การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวครั้งใหญ่ ในสมัยรัฐบาลก่อน ที่ต้องการจะแก้ไขคำนิยามคนต่างด้าวใหม่ เพื่ออุดช่วงโหว่การเป็นนอมินีของคนไทยให้กับชาวต่างชาติ โดยได้เพิ่มสัดส่วนสิทธิการออกเสียง และเกณฑ์ควบคุมกิจการ เข้าไปดูควบคู่กับสัดส่วนการถือหุ้น จากเดิมที่คำนิยามคนต่างด้าวจะดูเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นเพียงอย่างเดียว
ทว่า การปรับปรุงดังกล่าวมีอันต้องยุติลง และกลับมาใช้คำนิยามตามร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตามเดิม เนื่องจากนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ 3 ไม่ทัน
เท่ากับว่าประเด็นนอมินี ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงยังเป็นช่องโหว่ใหญ่ของกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ขุนพลของรัฐบาลพลังประชาชน ออกมายืนยันแล้วว่า จะไม่มีการแก้ไขกฎหมายต่างด้าวตามความเห็นรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะหวั่นจะกระทบการลงทุนจากต่างชาติ
ดังนั้นการเลือกยืนข้างนักลงทุนต่างชาติของรัฐบาลพลังประชาชนอย่างชัดเจนในครั้งนี้ เท่ากับส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพสงวนของคนไทยได้โดยง่าย แม้ไทยจะมีกฎหมายที่ดินอีกฉบับในการดูแลไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในไทยได้ แต่กลับมีช่องโหว่ไม่ได้ต่างอะไรจากกฎหมายคนต่างด้าว เพราะกฎหมายที่ดินได้ยึดนิยามคนต่างด้าวตามคำนิยามที่ใช้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว
เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายหนึ่ง ยอมรับว่า การตรวจสอบว่าบริษัทไหนมีคนไทยเป็นนอมินีทำได้ยาก เพราะมีบริษัทนิติบุคคลไทย ได้อนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากถึง 2 แสนราย จนถึงปัจจุบันมีเพียง 71 บริษัท ที่มีคนต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 0.01-49.99% ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกข้าว ผลิตข้าว และสีข้าว หากจะตรวจนอมินี คงทำได้แค่การสุ่มตรวจ เพราะทั้งหมดถือหุ้นไม่เกิน 49% อยู่แล้ว และการสุ่มตรวจบริษัทที่มีแนวโน้มว่าจะทำผิดกฎหมายก็ต้องใช้เวลา เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลทางบัญชี
ต่างชาติลุยซื้อที่ดินมากขึ้น ก่อปัญหาโอเวอร์ไพร์ซซิ่ง
รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการกิตติมศักดิ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นเสาหลักอสังหาฯเมืองไทย ได้กล่าวว่า การเข้ามาของนายทุนต่างชาติทุกวันนี้มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นที่ภูเก็ต ยังมีการตั้งนอมินี เพื่อเป็นนายหน้าซื้อที่ดินให้ต่างชาติกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และโดยเฉพาะตอนนี้มีทุนต่างชาติจากประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ ดูไบ เริ่มเข้ามาไล่ซื้อที่ดินในทำเลดี โดยไม่เกี่ยงราคาเลย ส่งผลทำให้ราคาที่ดินในภูเก็ตพุ่งสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง โดยขณะนี้ราคาที่ดินที่แพงที่สุดคือ 60-70 ล้านบาทต่อไร่ และสังเกตุได้เลยว่าทุนต่างชาติเหล่านี้ใช้เงินสดซื้อที่ดิน
ในขณะเดียวกัน นายวสันต์ คงจันทร์ รองประธานศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน หรือ AREA ได้กล่าวสอดคล้องในประเด็นเดียวกันว่า ปัจจุบันมีทุนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในเมืองไทยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯประเภทบ้านพักตากอากาศและคอนโดมิเนียมตามหัวเมืองใหญ่ๆ 4 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต พัทยา สมุย และชะอำ-หัวหิน
ซึ่งผลจากการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย-พค.51 ที่ผ่านมานี้เอง พบว่า กำลังซื้อของต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่ดินหรืออสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต และสมุย รองลงมาเป็นพัทยากับหัวหินและชะอำ หากให้ประเมิณสัดส่วนการถือครองของต่างชาติตอนนี้ทั้งในรูปแบบที่ผ่านนอมินี หรือกองทุนก็แล้วแต่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70-80% แล้ว ส่วนที่หัวหินนั้น ยังมีปริมาณไม่มากประมาณ 50% และที่พัทยาประมาณ 60%
และในผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบอีกว่าราคาที่ดินที่เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆที่เป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนของต่างชาตินั้น มีราคาแพงลิบลิ่วเลย ยกตัวอย่างเช่นที่ ภูเก็ต ปัจจุบันราคาที่ดินแพงที่สุด 70-80 ล้านบาทต่อไร่ (ตรงหาดป่าตอง) ส่วนที่สมุยราคาแพงสุดอยู่ที่ 50-60 ล้านบาทต่อไร่ และต่อมาเป็นพัทยาราคาอยู่ที่ 40-50 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนที่หัวหินนั้นราคาที่ดินแพงขึ้นเป็น 30-40 ล้านบาทต่อไร่แล้ว
พร้อมกันนี้หากประมาณการณ์ตัวเลขเม็ดเงินที่ต่างชาติใช้ซื้อที่ดินและอสังหาฯในแถบหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆทั้ง 4 แห่งนั้น คิดว่าปีหนึ่งๆจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท และหากรวบรวมตัวเลขประมาณการณ์ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีเม็ดเงินของทุนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินและอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยราวเกือบ 2 แสนล้านบาท
ภูเก็ต-สมุยทุนนอกฮุบเกลี้ยง เตรียมตั้งฐานธุรกิจอนาคต
รศ.มานพ กล่าวต่อว่า หากวิเคราะห์ถึงภาพรวมในการเข้ามาถือครองที่ดินประเภทอสังหาฯในไทยของทุนต่างชาติแล้วนั้น คิดว่าทำเลตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆจะถูกมองเป็นเป้าหมายหลัก เท่าที่รู้ตอนนี้ที่ดินในจังหวัดภูเก็ตถูกต่างชาติครอบครองไปแล้วไม่ต่ำกว่า 25% แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วมหาศาลเลย คาดว่าไม่ต่ำกว่า 50% ของมูลค่าตลาดซื้อขายอสังหาฯในภูเก็ต
ส่วนสมุยนั้นก็ตามมาติดๆ มีการเข้าไปกว้านซื้อที่ดินของทุนต่างชาติจำนวนมาก ตอนนี้น่าจะเกิน 30% ของพื้นที่ในจังหวัดนี้แล้ว และส่วนใหญ่นายทุนที่เข้ามาซื้อที่ดินที่นี่จะนิยมซื้อเป็นประเภทรีสอร์ท ,โรงแรม หรือที่ดินเปล่าที่ทำเลสวยๆ โดยจะนิยมซื้อยกโครงการเลย เพื่อใช้ทำธุรกิจสร้างรายได้ในอนาคตด้วย ตรงนี้จะเข้ามาลงทุนโดยวิธีการตั้งเป็นกองทุนเข้ามาซื้อ และมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังใช้วิธีเดิมๆคือใช้นอมินีซื้อแทน
จะเห็นว่ารูปแบบการเข้ามาถือครองที่ดินในเมืองไทยของทุนต่างชาตินั้นเปลี่ยนไป คือ ตอนนี้เข้ามาซื้อเพื่อมาตั้งเป็นฐานธุรกิจในอนาคต ต่างจากอดีตที่ต่างชาติมาซื้อที่ดินในไทยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปอย่างนี้ อีกหน่อยคนไทยก็จะไม่เหลืออะไรเลย
สำหรับรูปแบบการซื้อที่ดินของต่างชาติในส่วนของภาคอสังหาฯนั้น ตอนนี้มีอยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ 1.ซื้อเพื่ออยู่เอง สัดส่วนตรงนี้มีน้อยมาก ณ ปัจจุบัน 2.ซื้อที่ดินเปล่าตั้งแต่ขนาดแปลงเล็กๆไปจนถึงแปลงใหญ่ๆ กระแสตรงนี้เริ่มมีมากขึ้น เพราะต้องการที่ดินทำเลดีๆไว้ทำธุรกิจในอนาคต 3. ซื้อกิจการประเภทโรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ ในทำเลดีๆ วิธีนี้เห็นชัดมากขึ้น ยกตัวอย่าง โรงแรมแห่งหนึ่งที่หาดกระรนในจังหวัดภูเก็ตก็ถูกต่างชาติซื้อไปแล้ว เป็นต้น
รศ.มานพ กล่าวเพิ่มอีกว่า ส่วนที่ดินที่หัวหิน และพัทยานั้น ก็มีต่างชาติเข้าไปซื้อถือครองกันมากขึ้นเช่นกัน แต่ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าภูเก็ตและสมุย เพราะทำเลดังกล่าวอย่างพัทยานั้น เป็นเมืองอุตสาหกรรมด้วย จึงมีคนไทยไปซื้อเพื่ออยู่อาศัยด้วยจำนวนหนึ่ง แต่อนาคตก็ไม่มีใครบอกได้ ว่านายทุนต่างชาติจะกวาดที่ดินในทำเลดังกล่าวเหล่านี้ไปอีกมาขนาดไหน ถ้าเราคนไทยด้วยกันไม่หาทางสกัดกั้นการเข้ามาถือครองของนายทุนต่างชาติ
ทางด้าน นายวสันต์ กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องพฤติกรรมการเข้ามาซื้อหรือถือครองที่ดินพร้อมอสังหาฯของต่างชาติว่า ตอนนี้พฤติกรรมการเข้ามาซื้อที่ดินหรืออสังหาฯของต่างชาตินั้น เปลี่ยนไป คือเข้ามาซื้อเพื่อการลงทุนมากขึ้น
ในฟากของตลาดทุน "นางสาวอัจฉรา สุทธิศิริกุล" กรรมการผู้จัดการ บลจ. นครหลวงไทย กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ว่ามีกองทุนต่างประเทศใดบ้างที่เข้ามาซื้อที่ดินการเกษตร เพราะส่วนใหญ่ไม่มีใครเปิดเผยข้อมูล แต่ถ้าเป็นตัวบุคคลอันนี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก
"ส่วนใหญ่กองทุนต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากกว่า เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนได้ทันที ขณะที่พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นตัวนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อ แต่ให้คนไทยร่วมถือหุ้น เพราะติดข้อกฏหมายของประเทศไทยที่ระบุว่า ให้ต่างชาติถือครองหุ้นได้ไม่เกิน 49% ส่วนที่เหลือเป็นคนไทย แต่ในทางปฏิบัติพบว่าคนไทยที่ถือหุ้นนั้นเป็นเพียงนอมินี " นางสาวอัจฉรา กล่าว
เธอ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ในเขตพื้นที่ภาคใต้ มีนักลงทุนจากมาเลเซียเข้ามาซื้อที่ดินเกษตรเพื่อทำธุรกิจยางพารา โดยอาศัยชื่อคนไทยเป็นเจ้าของกรมสิทธิ์ที่ดิน
กระทุ้งแก้กฎหมายครั้งใหญ่ ดันนโยบายชาติเช่าได้ซื้อไม่ได้
รศ.มานพ กล่าวในมุมมองด้านกฎหมายไทยในการแก้ปัญหาการเข้ามาถือครองที่ดินของต่างชาติว่า อย่างที่บอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ ไม่มีการกีดกันเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนา และราคาของที่ดินพร้อมอสังหาฯยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ประกอบกับคนไทยมีจิตรใจดี อาหารก็สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ต่างชาติมุ่งหมายที่อยากมาอยู่และอยากมาทำธุรกิจ
ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันว่าการเข้ามาของทุนต่างชาตินั้นมีเจตนาอย่างไร มันเหมือนดาบสองคมนะ เรารู้กันดีว่าเราไม่สามารถปิดประเทศได้ แต่ก็ไม่ใช่เปิดจนหมดตัว ต้องหาวิธีที่จะเดินสายกลางอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงแล้วได้ ในความคิดเห็นของตนนั้นคิดว่าน่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดินใหม่ โดยเพิ่มระยะเวลาเช่าเป็น 80-90 ปีก็ได้ จากปัจจุบันเช่าได้นานแค่ 30 ปี ตรงนี้จะช่วยให้ทุกอย่างโปร่งใส ตัดปัญหาเรื่องนอมินีด้วย ดูอย่างประเทศจีนเค้าหัวโบราณขนาดได้ ยังต้องปรับให้มีการเช่าเป็นระยะยาวเลย
"ผมขอย้ำนะว่าต่างชาติไม่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินในไทย การจะเข้ามาทำธุรกกิจอะไรก็แล้วแต่ ทำได้ด้วยวิธีการเช่าเท่านั้น ปัญหาการเข้ามาซื้อที่ดินของทุนต่างชาติทุกวันนี้ถ้าไม่รีบช่วยกันแก้ไขอีกหน่อยไทยจะกลายเป็นเบี้ยล่างของนายทุนเหล่านี้ หากเค้ายึดครองได้หมดแล้ว ทางออกระยะยาวคือต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของชาติ ระบุเลยว่าต่างชาติซื้อที่ดินไม่ได้ แต่เช่าได้ ถ้าทำได้แล้วแก้กฎหมายให้เข้มแข็งทั้งกฎหมายของกรมที่ดินในเรื่องการถือครองที่ดินของต่างชาติ ,กฎหมายต่างด้าวของกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าไทยเราก็จะยังเป็นไทยอยู่ได้เหมือนเดิม" รศ.มานพ กล่าว
ด้านนายวสันต์ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ทางแก้ปัญหาการเข้ามาถือครองของต่างชาตินั้น ก่อนอื่นต้องบอกให้ต่างชาติรู้เลยว่าไม่มีสิทธิ์ถือครองที่ดินในประเทศนี้ได้ แต่สามารถเช่าได้ และในขณะเดียวกันทางด้านกฎหมายก็ต้องปรับปรุงให้เป็นการเช่าระยะยาว
ส่วนกรณีที่คนไทยกลัวว่า เราจะเสียอาณานิคมไป ถูกฝรั่งซื้อไปหมด ตรงนี้อยากให้มองกว้างมากขึ้น เพราะกระแสการเคลื่อนของทุนต่างชาติไม่ใช่มีเฉพาะในประเทศไทย แม้แต่จีน หรือเวียดนามก็มี เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเค้าไม่สามารถเอาที่ดินกลับไปประเทศเค้าได้ ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง แต่สิ่งที่ต้องคิดกันให้มากขึ้นคือถ้าทุนต่างชาติเหล่านี้คิดเอาที่ดินหรืออสังหาฯในบ้านเราไปทำธุรกิจสร้างรายได้กลับประเทศเค้า ตรงนี้คิดว่ารัฐบาลต้องหาวิธีป้องกัน อาจจะใช้กฎหายทางด้านภาษีมาเป็นตัวสกัดก็ได้
"วิกรม"มองห้ามทุนนอกไม่ได้ ก็ต้องหาประโยชน์เติมเต็มคนไทย
สำหรับมุมมอง นายวิกรม กรมดิษฐ์ ซีอีโอ บริษัท .อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเคลื่อนของทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่ดินในเมืองไทยมากขึ้นว่า หลายคนหลายกระแสต่อต้านการลงทุนของทุนต่างชาติ แต่ต้องยอมรับกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่มีการเคลื่อนไหวของเงินทุนจากทั่วโลก มีข้อสังเกตสำหรับการลงทุนข้ามชาติดังนี้
กระแสการลงทุนของต่างชาติ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยก็อยู่ในระบบทุนนิยม หากแต่ว่าเราจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนในประเทศเป็นสำคัญ โดยเลือกเอาทุนต่างชาติที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์เกื้อกูลกันแก่คนไทย เช่น เลือกประเภทของการลงทุนที่มีเทคโนโลยีที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนไทย และต้องไม่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม , หรือเลือกpartner ที่มีเครือข่าย มีตลาด มีความชำนาญที่ประเทศไทยขาด ก็จะเกิดการขยายและการเติมเต็มแก่คนไทยได้
ตัวอย่างเช่น เรื่องพืชผลการเกษตร หากเราขายสินค้าเกษตรในขั้นต้น โดยไม่แปรรูปและมีแบรนด์สินค้าที่ทำตลาดระดับโลกก็จะทำให้รายได้เกษตรกรต่ำ ในทางกลับกันหากเราใช้โอกาสการลงทุนของอุตสหากรรมเกษตรอย่างเช่น ซีพี ของต่างชาติมาลงทุน เกษตรกรก็จะเรียนรู้เทคโนโลยี และลดความเสื่ยงทั้งด้านราคาพืชผล มีตลาดรองรับ นี่คือสิ่งที่ควรพิจารณา
แต่สำหรับข้อกังวลของหลายฝ่ายถึงการเข้ามาครอบครองกรรมสิทธิ์หรือมีการเอารัดเอาเปรียบคนไทยนั้น เห็นว่าหากมีความโปร่งใสและรับฟังเสียงประชาชน โดยความถูกต้องและเป็นธรรม ทั้งการควบคุมด้านกฏกติกา กฏหมาย และสื่อมวลชนร่วมกันตรวจสอบ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐที่จะต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ข้อกังวลนี้ก็จะไม่มีปัญหา
แฉกวาดที่นาภาคกลางเกินแสนไร่ วางหมากตั้งฐานอุตสหกรรมนา
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการเข้ามาถือครองที่ดินด้านการเกษตรของนายทุนต่างชาตินั้น ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนมากนัก แต่เท่าที่ทราบมาจากชาวนาในแต่ละพื้นที่นั้น รวมๆกันแล้วกว่า 1 แสนล้านไร่ ส่วนใหญ่เกือบ 100% เข้ามาซื้อที่นา และใช้วิธีการซื้อโดยผ่านนอมินีคนไทยเรานี่แหละ
พื้นที่นาที่ถูกต่างชาติกว้านซื้อไปส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลาง เช่น อยุธยา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี (ตรง อ.สามชุก) และพบว่าราคาที่ดินที่ต่างชาติซื้อไปนั้นมีราคาแพง บางทำเลขายกันไร่ละเป็นแสนบาท ด้วยราคาที่ต่างชาติให้สูงขนาดนี้จึงเป็นสิ่งล่อใจให้ชาวนาไทยขายที่ให้ต่างชาติ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ คิดแต่ว่าจะได้เงินก้อนจะเป็นคนรวยกันแล้ว ในส่วนตัวผมตลอดที่ทำงานตรงนี้พยายามต่อสู้มาโดยตลอดโดยเฉพาะพวกนายทุนคนไทยที่เป็นคนรวมที่ดินที่นาแล้วนำไปขายให้ต่างชาติ ทำไมไม่คิดกันให้มากกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยให้ต่างชาติซื้อไปหมดแล้วอีกหน่อยลูกหลานจะเอาข้าวที่ไหนกิน
นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวต่ออีกว่า รู้กันหรือไม่ว่าทุกวันนี้ต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่ดินในไทยนั้น เค้าไม่ได้คิดแค่ซื้อไว้เฉยๆ เท่านั้น เค้าคิดกันไปไกลถึงไหนแล้วรู้ไหม เค้าซื้อเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตข้าวต่างหาก กระบวนการเริ่มต้นที่การซื้อที่ดินให้ได้ปริมาณมากๆ แล้ว ก็ใช้เทคโนโลยีและเม็ดพันธ์ใหม่ๆมาปลูกข้าว จากนั้นเมื่อได้ผลผลิตแล้วนำมาแปรรูปเป็นข้าวสาร โดยผ่านโรงสีที่ลงทุนเอง ไม่ต้องพึ่งคนกลาง จากนั้น ก็ทำการตลาด โดยใช้พนักงานที่ฝึกฝนมาอย่างดี จากนั้นก็ทำการขายข้าวทั้งในและส่งออกไปต่างประเทศ
ถ้านายทุนต่างชาติเหล่านี้ทำได้ตามแผนที่วางไว้นั้น เชื่อได้เลยว่าวันข้างหน้าคนไทยจะต้องซื้อข้าวที่ผลิตโดยต่างชาติกิน และวันนี้ราคาจะแพงลิบลิ่ว เพราะพวกนี้จะเป็นผู้กำหนดราคาเอง และวันนั้นต่างชาติจะมาควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เลย เพราะข้าวเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศ เชื่อผมเถอะคำทำนายผมไม่ต้องไปดูหมอดูหรอก ผมบอกได้เลย
และผมอยากให้สังคมช่วยกันติดตามดูการทำงานของบริษัท ร่วมใจชาวนาไทย จำกัด ที่มีสำนักงานอยู่ที่ศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องการทำนาจริงๆ ไม่ได้มีอะไรที่นอกเหนือจากนี้ เพราะถ้ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลจะได้ช่วยกันแก้ไขได้ทันเวลา
นาภาคกลางโดนกว่าพันไร่
ไม่ใช่แค่เพียงภาคเหนือเท่านั้น แต่ในพื้นที่อย่างภาคกลาง ก็มีร่องรอยของการกว้านซื้อที่นาขนาดมหึมาอยู่ในหลายจังหวัดด้วยกัน ล่าสุด นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย ได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้าตรวจสอบการเข้ากว้านซื้อที่นาในจ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี กว่า 1,000 ไร่ เพราะอาจเป็นการซื้อในลักษณะนอมินีให้กับนายทุนต่างชาติ
เขา อธิบายว่า เทคนิคการเข้าซื้อที่นาจะเลือกแปลงที่ติดถนนใหญ่ 4 ทิศ เพื่อบีบบังคับให้ที่นาตรงกลางเป็นที่ตาบอดจนเจ้าของที่นาไม่มีทางเข้า-ออก จากนั้นนายทุนเหล่านั้นจะเข้าเจรจาซื้อ โดยกดราคาให้ต่ำกว่าการซื้อขายจริงในท้องตลาด ซึ่งชาวนาก็ต้อง จำใจขายให้ เพราะหากไม่ขายก็ไม่มีทางเข้าออกที่นาของตนเอง
เมื่อซื้อที่ดินไปแล้ว กลุ่มนายทุนและนายหน้าก็บอกชาวนาว่า อนุญาตให้ทำนาต่อไปในที่นาซึ่งซื้อขายกันไปแล้ว แต่จะไม่มีการทำสัญญาเช่าที่นา หากนายทุนต้องการใช้ที่ดินหรือขายที่ดิน จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ชาวนาก็ต้องทนขายที่นาให้
อุปนายกสมาคมชาวนาไทย เชื่อว่า การกว้านซื้อเพื่อให้นายทุนต่างชาติครั้งนี้ เพื่อเตรียมเข้ามาปลูกข้าวจีเอ็มโอหรือไม่ เนื่องจากพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังประเภทข้าวไวแสงที่ชาวนานำมาปลูกใช้เวลาหลังปลูกจนเก็บเกี่ยวแค่ 75 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ เพราะการทำนาปลูกข้าวนาปรังปกติพันธุ์ข้าวประเภทไวแสงใช้ระยะเวลาตั้งแต่หว่านข้าวจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาถึง 120 วัน หากเร่งปุ๋ยและใช้ยาฆ่าแมลง รวมทั้งน้ำสมบูรณ์ อาจลดระยะเวลาเหลือ 90 วัน ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ตัดแต่งพันธุกรรมหรือไม่
ทุนจีน,อาหรับ ฮุบที่นาภาคเหนือ
นายชัยวัฒน์ จันธิมา นักวิชาการท้องถิ่น ซึ่งทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เล่าว่า ทราบข่าวจากประชาชนในพื้นที่ว่า ขณะนี้มีนายหน้าชาวไทยกำลังเร่งกว้านหาซื้อที่ดิน โดยเฉพาะที่นาในพื้นที่ทุ่งลอ ซึ่งเป็นที่ราบใหญ่ มีอาณาเขต 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เทิง จ.เชียงราย อ.จุน และ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อขายต่อให้กับกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางเพื่อทำนา
ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งลออันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของประชาชน อ.เชียงคำ อ.จุน จ.พะเยา และ อ.เทิง จ.เชียงราย นับว่าเป็นทุ่งขนาดใหญ่ที่มีนายทุนหลายแหล่งต้องการอย่างมาก เช่น เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาได้มีบริษัทเข้ามาขอซื้อที่ดินบริเวณริมแม่น้ำอิง
ปรากฏว่าที่ดินบริเวณสองฝั่งแม่น้ำอิงทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก ตั้งแต่ ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย เรื่อยมาถึง ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ ต.ทุ่งรวงทอง ต.หงส์หิน อ.จุน จ.พะเยา อันเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและทรงคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำอิง ได้กลายเป็นที่ดินของนายทุนใหญ่ของไทยไปทั้งหมดแล้ว
"ที่ดินเหล่านี้มีการซื้อขายกันมานาน 2-3 ปีแล้ว มีการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเป็นผู้ซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน แล้วให้ชาวนาเจ้าของที่ดินเดิมเช่าทำนาต่อ แต่พอมาปีนี้บริษัทก็แจ้งชาวนาที่เช่าที่ว่า บริษัทต้องการทำนาเอง โดยจะว่าจ้างชาวนาเหล่านี้เป็นลูกจ้าง และการกว้านซื้อที่ดินจากชาวนามีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากราคาที่ดินไร่ละ 1 หมื่นบาท ขณะนี้พุ่งสูงขึ้นมาถึงไร่ละ 5 หมื่นบาท"
เขาเผยต่อว่า ล่าสุดพื้นที่ ต.หงส์หิน อ.จุน และ ต.อ่างทอง จ.เชียงคำ มีทุนจากนักธุรกิจประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามให้นายหน้าคนไทยเข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินผืนใหญ่ขนาด 1,000 ไร่ขึ้นไป ปรากฏว่าในพื้นที่ทุ่งลอเป็นที่ต้องการของกลุ่มทุนจีนอย่างมาก แต่ไม่สามารถซื้อได้เนื่องจากมีชาวนาทุ่งลอหลายรายไม่ยอมขายเพราะยังใช้ทำนาอยู่จนถึงทุกวันนี้
เอ็นจีโอทางภาคเหนือผู้หนึ่ง กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบในหลายๆ พื้นที่ พบว่าในช่วงปี 2549-2550 มีกลุ่มนายหน้าค้าที่ดินชาวไทยติดต่อขอซื้อที่ดินจากเกษตรกรเป็นจำนวนมากในหลายๆ พื้นที่ โดยอ้างกับเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินว่า มีนายทุนจะซื้อที่ดินไปเพื่อปลูกปาล์มและยางพารา เนื่องจากกำลังมีราคาดี ประกอบกับราคาข้าวในขณะนั้นไม่ได้มีราคาดีอย่างเช่นในขณะนี้ เกษตรกรจำนวนมากจึงยอมขายที่ดินให้
ยิ่งในภาคเหนือ ยิ่งมีข่าวว่ามีนายทุนใหญ่จากจีนจะเข้ามาลงทุนทำสวนยาง จึงมีการขายที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นากันมาก พอขายที่ดินแล้วก็พากันไปบุกรุกพื้นที่ ป่าสงวน ซึ่งขณะนี้มีการจับกุมฟ้องร้องกันไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ทุนไต้หวันยึดที่ดินปราจีนบุรี ยึดครองไปได้แล้ว 1,200 ไร่
ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ก็ประสบปัญหาชาวต่างชาติกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านเพื่อทำการเกษตร ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยเพื่อป้อนให้กับโรงงานน้ำตาลที่อยู่ใกล้เคียง และปลูกข้าว โดยมีลูกจ้างเป็นเกษตรกรชาวไทยในพื้นที่ ส่วนมากเป็นนายทุนชาวไต้หวัน เข้าในรูปแบบตั้งบริษัทร่วมทุนไต้หวัน-ไทย
ที่ผ่านมาได้กว้านซื้อที่ดินร่วมสองพันไร่เพื่อปลูกอ้อยป้อนให้กับโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่ ต.บางเดชะ อ.เมือปราจีนบุรี ฤดูกาลที่แล้วอ้อยถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงได้พลิกสถานการณ์แบ่งที่ดินเป็นแปลงเล็กลงประมาณ 200-300 ไร่ ให้เกษตรกรที่เป็นชาวบ้านใน ต.บางเดชะ เช่าทำนา
นอกจากนี้ยังใช้ช่องว่างของกฎหมายใช้ชาวไต้หวันที่โอนสัญชาติเป็นไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคู่สมรสเป็นคนไทยถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแทน ด้วยการกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่มาครอบครอง
การที่ชาวนาไทย ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ต้องไปเช่าที่นาจากชาวต่างชาติ ที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ถ้าปล่อยให้เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยอำนาจสิทธิ์ขาดในการสั่งการ ก็ตกไปอยู่ในมือชาวต่างชาติ ในอนาคตเรายังอาจถูกแย่งพื้นที่การผลิต หรือแผนการผลิตด้านเกษตร อาจถูกกำหนดโดยทุนต่างชาติ คล้ายกับที่เวลานี้ธุรกิจด้านสื่อสาร การเงิน และธนาคารของเรา ตกอยู่ในเงื้อมมือต่างชาติ สุดท้ายเราจะไม่เหลืออะไร แม้แต่อิสรภาพทางความคิด นายอุดร เสนากัสป์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ปราจีนบุรี กล่าวด้วยความเป็นห่วง
นายอุดร ยังบอกอีกว่า การปล่อยให้นายทุนต่างชาติ และนายทุนไทยเข้ามาถือครองที่ดินมากๆ เชื่อเหลือเกินกว่าเกษตรกรรายย่อยของไทยจะตกเป็นแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตรไม่ใช่นอมินีทางการเกษตรอย่างที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปในอนาคต
นายจำลอง นาคคล้าย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านย่านยาว หมู่ที่ 5 ต.บางเดชะ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ที่มีชาวต่างชาติเข้าไปถือครองที่ดินมากที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.ปราจีนบุรี กล่าวยอมรับว่า ในพื้นที่ปกครองของเขามีการซื้อขายที่นากันมากจริง
เพราะการทำนายุคนี้ต้องลงทุนสูง เงินทุนที่ได้ต้องไปกู้จากนายทุนมาเอาที่นาค้ำประกัน คนใหญ่ในย่านนี้ต้องเช่าที่ดินนายทุนทำนา ผลผลิตที่ได้ขายแล้วหักลบกลบหนี้แล้วแทบไม่เหลืออะไร บางรายไม่มีเงินใช้หนี้เงินกู้ต้องถูกยึดที่ดินไป
"ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาในพื้นที่ตำบลบางเดชะมีชาวบ้นถูกยึดที่ดินไปกว่า 400 ไร่ แต่ในปี 2539 ทำสถิติสูงสุดชาวบ้านถูกยึดที่ดินไปกว่า 1,200 ไร่ ขณะนี้หมู่บ้านผมมีที่นาทั้งหมด 3,450 ไร่ แต่ทุกวันนี้ลูกบ้านผมต้องไปเช่าที่นาจากนายทุนกว่า 2,000 ไร่ ปีนี้ข้าวราคาดี เขาคิดค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ปีไหนข้าวราคาร่วง เขาคิดเป็นเงินสด เห็นมั้ยครับชีวิตชาวนาไร้ที่นาที่สุดแล้วก็ตกเบี้ยล่างนายทุนวันยังค่ำ" นายจำลอง กล่าวอย่างหมดความหวัง