แนวโน้มอุตสาหกรรมไทยท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจโลก
กระแสหุ้นออนไลน์ - Finance 20/10/2008 11:39:07
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคการเงินสหรัฐฯ ที่อาจนับได้ว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่สร้างความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก แต่ผลกระทบที่ขยายวงกว้างไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลก อาจจะนำไปสู่การชะลอตัวลงรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า สถานการณ์ดังกล่าวคงจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยมีการพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง และการส่งออกเป็นกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตสูงตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนสิงหาคมเริ่มปรากฎสัญญาณการชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) ขยายตัวร้อยละ 6.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงอย่างมากจากร้อยละ 31.2 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ดังนี้
จีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเกือบร้อยละ 9 ในช่วงครึ่งปีแรก แต่เริ่มชะลอลงในไตรมาสที่ 3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ภาคอุตสาหกรรมไทยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากภาคการส่งออก ขณะที่ความต้องการภายในประเทศขยายตัวได้ไม่มากนัก สังเกตได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จำแนกตามระดับสัดส่วนการส่งออก พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 การผลิตในอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมาก (ส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม) มีอัตราการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ คือร้อยละ 17.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีการส่งออกปานกลาง (ส่งออกมากกว่าร้อยละ 30 แต่ไม่เกินร้อยละ 60) ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกน้อย (ส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม) มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.0
ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีอัตราการเจริญเติบโตในเกณฑ์ดี แม้ในบางภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป มีสัญญาณเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ผู้ส่งออกไทยยังสามารถขยายตลาดส่งออกใหม่ได้ดี ประกอบกับอุปสงค์และราคาของสินค้าเกษตรที่นำมาแปรรูปเพื่อการส่งออกขยายตัวสูง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตได้ค่อนข้างดีในระยะที่ผ่านมาของปีนี้ ที่สำคัญ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบ เติบโตร้อยละ 36.0 เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังมีสูงประกอบกับมีการขยายกำลังการผลิตและในอุตสาหกรรมนี้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2550 เป็นต้นมา จึงทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบรายใหญ่ของโลก รถยนต์นั่ง เติบโตร้อยละ 33.9 เติบโตสูงตามความต้องการของตลาดส่งออกหลักอย่าง ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 35.3 11.5 และ 5.5 ตามลำดับ โดยประเทศมาเลเซียมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 114.8 อาจเป็นเพราะการที่มาเลเซียมีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมาก การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจึงไม่ส่งผลให้ความต้องการใช้รถยนต์ลดลงอย่างประเทศที่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ประกอบกับมีการลดหย่อนภาษีภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (เหล็กลวด) เติบโตร้อยละ 23.6 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กลวดขยายตัวตามความต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น เนื่องจากเหล็กลวดส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ภายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เครื่องเรือนไม้ (เฟอร์นิเจอร์) คอมพิวเตอร์ ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 73.0 54.9 และ 32.9 ตามลำดับ (เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ขณะที่การประกอบคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปในประเทศไทยลดน้อยลง)
ทั้งนี้ แรงผลักดันจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 8.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 สูงขึ้นกว่าที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม จากเครื่องชี้รายเดือนในด้านผลผลิตอุตสาหกรรม ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนถึงทิศทางที่ชะลอตัวลงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมอาจชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 7
แนวโน้มอุตสาหกรรมช่วงโค้งสุดท้ายปี 2551 ถึงปี 2552 ... หวั่นตลาดต่างประเทศทรุด ปัจจัยที่จะมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยสำหรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังมีประเด็นที่อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความต่อเนื่องของนโยบาย เช่น การพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคการเมือง ซึ่งอาจทำให้ภาคเอกชนชะลอโครงการลงทุนเพื่อรอคอยความชัดเจนต่อประเด็นดังกล่าว ขณะที่โครงการลงทุนของภาครัฐอาจมีความล่าช้า อุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติในภาคการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบไปสู่การจ้างงาน รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียซึ่งเคยเป็นตลาดที่เข้ามาช่วยชดเชยการชะลอตัวของกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลกก็เริ่มชะลอตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ลงมาเป็นร้อยละ 3.0 (จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.7) ชะลอลงจากประมาณการร้อยละ 3.9 ในปี 2551 โดยสหรัฐฯจะขยายตัวร้อยละ 0.1 จากร้อยละ 1.6 ในปี 2551 ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในกลุ่ม G7 โดยเฉลี่ยจะขยายตัวร้อยละ 0.1 จากร้อยละ 1.2 ในปี 2551 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 7.7 จากร้อยละ 8.4 ในปี 2551 นอกจากปัจจัยลบในด้านอุปสงค์ของตลาดโลกแล้ว ในรายงานของ IMF ยังคาดการณ์แนวโน้มราคาสินค้าส่งออก-นำเข้าประเภทสินค้าอุตสาหกรรมว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 13.8 ในปี 2551
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น บวกกับผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงของปีก่อน (ที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.0 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550) คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 จะชะลอตัวลงมากยิ่งขึ้น โดยถ้าการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยอาจจะขยายตัวต่ำลงมาที่ร้อยละ 5.5 อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลของการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกจะหนุนให้อัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2551 นี้ ขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 7.5 สูงขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในปี 2550
ความเสี่ยงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน่าจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2552 เนื่องจากปัญหาวิกฤติในภาคการเงินคงจะซึมลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่เศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ จะกลับมาฟื้นตัวในระดับปกติ ขณะที่ปัจจัยในประเทศคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง ซึ่งถ้าปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง ก็น่าจะเป็นพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้เกิดแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่จะช่วยผลักดันอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าอุตสาหกรรมให้กลับมาขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในปีหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งนโยบายการเงินอาจจะสามารถผ่อนคลายลง
ขณะที่ในด้านนโยบายการคลัง ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลน่าจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย และอาจจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ รวมถึงการเริ่มดำเนินการโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดส่งออกอาจมีแนวโน้มชะลอตัว ผลจากการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (จีดีพี โลก) เพื่อดูผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมของไทย พบว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงร้อยละ 1 จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยลดลงร้อยละ 0.9
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งภายในและภายนอกประเทศในปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปี 2552 ไว้ในกรอบที่ค่อนข้างกว้าง คือระหว่างร้อยละ 4.5-5.5 ชะลอลงจากปี 2551 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมที่มีโอกาสถูกกระทบค่อนข้างมากในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ได้แก่
อุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก (ส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากพลาสติก) รองเท้าและชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องไม้ (เฟอร์นิเจอร์) เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯยังซบเซา ทำให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนไม้ยังไม่ฟื้นตัว
อุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (การส่งออกอาหารกระป๋องแปรรูปยังคงเติบโตได้ แต่สินค้ากุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง จะได้รับผลกระทบมากเนื่องจากสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก) อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ (เพราะตลาดหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย) อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มทรงตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก ปูนซีเมนต์) แม้ว่าในช่วงปลายปีจะล่วงเลยฤดูฝนไปแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ยังมีความไม่ชัดเจน คาดว่าอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างน่าจะยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการที่ราคาพลังงานปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการที่เงินบาทค่อนข้างแข็งค่า คือ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ (ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช อุตสาหกรรมสี) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
สรุปและข้อเสนอแนะ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ภาคอุตสาหกรรมไทยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการส่งออก โดยปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตในเกณฑ์ดี แม้ในบางภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป มีสัญญาณเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ผู้ส่งออกไทยยังสามารถขยายตลาดส่งออกใหม่ได้ดี ประกอบกับอุปสงค์และราคาของสินค้าเกษตรที่นำมาแปรรูปเพื่อการส่งออกขยายตัวสูง
แรงผลักดันจากภาคการส่งออกส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 8.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551สูงขึ้นกว่าที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม จากเครื่องชี้รายเดือนในด้านผลผลิตอุตสาหกรรมสะท้อนถึงทิศทางที่ชะลอตัวลงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้คาดว่า จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมอาจชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 7
ปัจจัยที่จะมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2551 ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล คือ วิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปอาจยังคงอ่อนแอหรือถึงขั้นถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียซึ่งเคยเป็นตลาดที่เข้ามาช่วยชดเชยการชะลอตัวของกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลกก็เริ่มชะลอตัวลงเช่นกัน จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงของปีก่อน (จีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.0 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550) คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 จะชะลอตัวลงมากยิ่งขึ้น ถ้าการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยอาจจะขยายตัวต่ำลงมาที่ร้อยละ 5.5 อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลของการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกจะหนุนให้อัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2551 นี้ ขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 7.5 สูงขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในปี 2550
ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน่าจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2552 เนื่องจากปัญหาวิกฤติในภาคการเงินคงจะซึมลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปี 2552 ไว้ในกรอบที่ค่อนข้างกว้าง คือระหว่างร้อยละ 4.5-5.5 ชะลอลงจากปี 2551 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมที่มีโอกาสถูกกระทบค่อนข้างมากในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก (ส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากพลาสติก) รองเท้าและชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องไม้ (เฟอร์นิเจอร์)ข้อเสนอแนะ
ในระยะสั้นที่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ผู้ผลิตอาจหันมามองโอกาสในการขยายตลาดภายในประเทศ เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศยังมีความเอื้ออำนวยอยู่บ้าง โดยภาวะค่าครองชีพสูงของประชาชนเริ่มบรรเทาลงทั้งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงประกอบกับมาตรการลดผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพสูงของรัฐบาลที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาจขยายตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีรายรับเพิ่มขึ้นจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงปีหน้าอาจจะอ่อนตัวลง แต่กลุ่มตะวันออกกลางถือเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกค่อนข้างน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกันภาครัฐควรสนับสนุนการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงของการทำเอฟทีเอที่มีอยู่ และส่งเสริมให้เกิดการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านหรือการค้าชายแดนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวกขึ้นจากการที่มีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน จากเส้นทางขนส่งที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นนี้จะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า อีกทั้งควรจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยเพื่อส่งเสริมให้การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้น
ในระยะยาว การพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงทักษะความสามารถของบุคลากรและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการคงต้องพัฒนากระบวนการผลิตและใช้นวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นรวมทั้งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้