โดย : ไพบูลย์ นลินทรางกูร
สวัสดีครับ พบกันเป็นประจำเช่นเคยเดือนละครั้ง ฉบับที่แล้วผมได้เขียนถึงความเป็นมาของการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในรอบนี้
เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคม ตอนนั้น SET Index อยู่ที่ประมาณ 410 จุด ผมได้เขียนว่าการปรับขึ้นของราคาหุ้นมีลักษณะเป็น Liquidity driven rally ซึ่งไม่น่าจะ sustainable (ยั่งยืน) และระดับสูงสุดของ SET Index ในรอบนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 600 จุด
ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะร้อนแรงกว่าที่ผมคาดไว้ โดย SET Index ได้ขึ้นมาถึง 628 จุด (ระดับสูงสุดของปีนี้) ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมยังมีมุมมองที่เหมือนเดิมครับว่า มีโอกาสสูงที่เราจะเห็นตลาดหุ้นปรับลงแรงในไตรมาสที่ 3 (ประมาณกลางไตรมาส) ส่วนช่วงเวลาที่เหลือจากนี้อีกประมาณ 1 เดือน ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งของไทยจะยังได้รับอานิสงส์จากสภาพคล่องส่วนเกิน (Liquidity) ที่จะยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นและถ้าดูจากปริมาณสภาพคล่องที่มีอยู่ ประกอบกับ Sentiment ที่เป็นบวกมากๆ ในช่วงนี้ โอกาสที่จะเห็น Connection แบบแรงๆ ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น และไม่แน่เราอาจจะได้เห็น SET Index ทำ New High อีกครั้ง ก่อนที่ Bear Market Rally รอบนี้จะจบลง
ทำไมตลาดหุ้นถึงร้อนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ?
ประการที่ 1 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ และยุโรปออกมาเลวร้ายน้อยกว่าที่คาด และโดยเฉพาะของจีนออกมาดีกว่าที่คาดไว้มาก เช่น ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อ การลงทุน และการผลิต ทำให้นักลงทุนส่วนมากเริ่มเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะต้องรอถึงปีหน้า
ประการที่ 2 การที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มที่ดูดีขึ้น ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะน้ำมันดิบและถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งก็ช่วยทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน Commodities ปรับขึ้นตามไปด้วย ตลาดหุ้นไทยเองมีหุ้นประเภท Commodities คิดเป็นสัดส่วน 35% ของมูลค่าตลาดรวม
ประการที่ 3 ผมคาดไม่ถึงว่านักลงทุนจะยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับหุ้น Asia ที่ระดับ Valuations ที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ค่า PER ของตลาดหุ้นใน Asia (ex-Japan) ปรับขึ้นมาสูงถึง 18 เท่า (Forward 2009 PER) ซึ่งเป็นระดับราคาที่แพงมากเมื่อเทียบกับ Earnings growth outlook ที่ยังดูแย่อยู่
ทำไมตลาดหุ้นมีโอกาสปรับลงแรงในไตรมาสที่ 3 ?
คำตอบของผมก็คือหัวเรื่องของบทความของผมในวันนี้ ใช่ครับ คำตอบคือ The Exit Strategy (กลยุทธ์ในการออก) ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยอยู่บ้างว่าผมหมายถึงอะไร ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะคิดว่าผมหมายถึงการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะพึงพอใจกับกำไรที่ได้ในรอบนี้ไปแล้ว ซึ่งฟังดูก็น่าจะมีเหตุผล เพราะตลาดหุ้นรอบนี้ขึ้นไปแล้วถึง 50% ตั้งแต่เดือนมีนาคม และหุ้นหลายตัวก็ปรับขึ้นมากกว่า 100% ก็มี แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุหลักที่จะทำให้ตลาดหุ้นเกิด Correction ในครั้งนี้ ที่ผมเป็นห่วงมากกว่าก็คือ มุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มองว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกใกล้จะจบแล้ว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงนักลงทุนเหล่านี้ก็ย่อมจะต้องคาดการณ์ต่อไปว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ รวมถึง US Federal Reserve และรัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องเริ่มวางแผนทำ Exit Strategy หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ จะต้องวางแผนลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน และลดการใช้จ่ายภาครัฐ (Fiscal Stimulus) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Inflation ในอนาคต
ผมมองว่าความเป็นไปได้มีสูงมากที่นักลงทุนทั่วโลกจะเริ่มกังวลเรื่อง Exit Strategy เพราะการดึงสภาพคล่องออกจากระบบจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นราคาหุ้นก็จะปรับลดลง นอกจากเหตุผลทางด้านทฤษฎีแล้ว สภาพคล่องที่น้อยลงก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นน้อยลงไปด้วย ที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนอกจากจะทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นน้อยลงไป ยังจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย
ท่านผู้อ่านที่ติดตามดู Yield Curve ของสหรัฐฯ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มสะท้อนถึง Exit Strategy ที่ว่านี้แล้ว พันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ในวันนี้ให้ผลตอบแทนเกือบ 4% ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จากผลตอบแทนที่ระดับ 2% เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และถ้า Fed จะต้องเริ่มคิดเรื่อง Exit Strategy จริง อัตราดอกเบี้ย 10 ปี ก็มีโอกาสขึ้นไปได้อีก ที่น่ากลัวก็คือดอกเบี้ย Fixed Mortgage Rate (ดอกเบี้ยกู้ยืมซื้อบ้าน) 30 ปี ของสหรัฐฯ ก็ขึ้นไปเกินกว่า 5% แล้วจากประมาณ 3% เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งก็จะทำให้การแก้ปัญหา Housing Crisis ของสหรัฐฯ ยากขึ้นด้วย
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เริ่มมีนักลงทุนพูดกันแล้วว่า Fed อาจจะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นภายในปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า จากระดับปัจจุบันที่ 0-0.25% ซึ่งเป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 3 เดือนก่อน ซึ่งไม่น่าจะมีใครกล้าคิดว่าดอกเบี้ย Fed Funds Rate มีโอกาสปรับสูงขึ้นในปีนี้ และมุมมองที่ว่านี้ก็ได้เริ่มสะท้อนออกมาในรูปของการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรระยะสั้น 2 ปีของสหรัฐฯ แล้ว
นอกจาก Exit Strategy ที่ว่านี้ ผมคิดว่าการที่ Valuations ของหุ้นส่วนใหญ่ (ทั่วโลก) ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วย่อมจะต้องทำให้เกิดแรงเทขายตามธรรมชาติอยู่แล้ว บวกกับการปรับขึ้นของดอกเบี้ยรวมทั้งโอกาสที่ Inflation อาจจะกลับมาในไตรมาส 4 จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกฉีดเข้ามาสู่ระบบโดยธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่จะนำมาสู่ Correction ของหุ้นในรอบนี้ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้ตลาดหุ้นปรับลงไปสู่ระดับ 500 ต้นๆ ภายในไตรมาสที่ 3 นี้
ในมุมมองของผม ผมไม่เชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกใกล้จะจบลงแล้ว สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากก็คือ สถาบันการเงินในยุโรปและอเมริกายังไม่มีความแข็งแรงพอที่จะดำเนินธุรกิจตามปกติได้ และตราบใดที่สถาบันการเงินเหล่านี้ยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก Exit Strategy ที่ผมกล่าวถึงก็อาจจะไม่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ นักลงทุนส่วนใหญ่จะคิดอย่างไร?
พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี
http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... ategy.html
ระวังๆ กันไว้บ้างนะครับ... สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ของ ส่วนท่านที่ได้ของที่ประมาณ 400 จุดคงไม่ต้องกังวลมากมายอะไร :roll:
The Exit Strategy
-
- Verified User
- โพสต์: 112
- ผู้ติดตาม: 0
The Exit Strategy
โพสต์ที่ 1
" บทเรียนที่สำคัญที่สุดในการลงทุนก็คือการมองหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่สิ่งที่มีราคาขึ้นๆ ลงๆ