กลยุทธกองทุน Private Equity:ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
PERFECT LUCKY
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 795
ผู้ติดตาม: 0

กลยุทธกองทุน Private Equity:ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Value Way ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ

กลยุทธการลงทุน Private Equity
ไพร์เวท อิควิตี้ (Private Equity) หรือกองทุนเอกชนเป็นหนึ่งในกองทุนที่น่าจับตามองที่สุดในโลกการเงินปัจจุบัน นักลงทุนมักรู้จักกับเฮดฟันด์ที่มีชื่อเสียงเรื่องการเข้าออกอย่างรวดเร็วในตลาดเงิน ตลาดหุ้นและตลาดโภคภัณท์ทั่วโลกจนถูกรัฐบาลหลายประเทศประนามว่าเป็นตัวการของความล่มสลายของค่าเงินของประเทศนั้นๆ หรือในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูงมากๆ เฮดฟันด์มักถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของราคาสินค้าโภคภัณท์ที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แต่สำหรับไพร์เวท อิควิตี้แล้ว ชื่อเสียงของกองทุนเหล่านี้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนคนทั่วไปเท่าไหร่นัก

สาเหตุหนึ่งเนื่องมากจากการลงทุนในไพร์เวท อิควิตี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะสถาบันใหญ่ๆอย่างกองทุนของมหาวิทยาลัย สถาบันการเงินชั้นนำหรือกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมากๆ (High Networth Individual) เท่านั้น ไพร์เวท อิควิตี้ไม่ตั้งกองทุนระดมทุนจากประชาชนทั่วไปเหมือนกองทุนอื่นๆ นอกจากนั้นกลยุทธการลงทุนของไพร์เวท อิควิตี้ยังต่างจากเฮดฟันด์อีกด้วย

กลยุทธการลงทุนที่ไพร์เวท อิควิตี้ชอบใช้มากคือการทำ Leverage Buyout (ซื้อกิจการด้วยเงินกู้ เรียกกันสั้นๆว่า LBO) การซื้อกิจการเช่นนี้อาจเป็นการซื้อกิจการธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์โดยทำการซื้อขายหุ้นของบริษัทจากเจ้าของกิจการโดยตรง หรืออาจเป็นการซื้อธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้วขอถอนออกจากตลาดสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

การทำ Leverage Buyout ขึ้นกับผู้ให้กู้ยืมเงินกับกองทุนเหล่านี้โดยที่กองทุนไม่ต้องใช้เงินลงทุนของตนเองทั้งหมดในการซื้อกิจการ ผู้ให้กู้จะระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้หรือพันธบัตรโดยใช้กระแสเงินสดของกิจการที่เข้าซื้อมาใช้ในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืน ปกติแล้วหนี้ที่นำมาใช้ในการซื้อกิจการจะถือว่าเป็นการกู้ยืมที่ไม่ต้องการการค้ำประกันจากองทุนเรียกกันว่าเป็น Non-recourse Financing ซึ่งทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกให้กองทุนนำเงินของกองทุนที่เหลือมาใช้หนี้ได้

การลงทุนแบบ Leverage Buyout เช่นนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนในไพร์เวท อิควิตี้ได้รับผลกำไรมากและยังมีความเสี่ยงน้อยเนื่องจากใช้เงินลงทุนเริ่มต้นน้อยในการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ๆด้วยการกู้ยืมมาลงทุน และไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจที่ซื้อมาแล้วขาดทุนต้องนำเงินมาชำระหนี้เพราะสามารถนำบริษัทที่ซื้อเป็นตัวค้ำประกันแทน

สัดส่วนเงินกู้ยืมต่อเงินลงทุนของการเข้าซื้อกิจการของไพร์เวท อิควิตี้จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาพของตลาดการเงินในช่วงนั้น, สถานะของธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย หรือความยากง่ายของผู้ให้กู้ โดยปกติสัดส่วนนี้อยู่ระหว่าง 60%-90% ของราคาที่ตกลงซื้อขาย ในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2000-2005 สัดส่วนเงินกู้ต่อเงินลงทุนอยู่ในช่วง 59%-67% นั่นหมายความว่ากองทุนใช้เงินลงทุนของตนเองไม่ถึงครึ่งในการซื้อกิจการ

ในสหรัฐอเมริกาการซื้อกิจการด้วยเงินกู้แบบ Leverage Buyout ครั้งแรกเริ่มต้นในปี 1955 โดยการเข้าซื้อกิจการของแพนแอตเลนติก (Pan Atlantic Steamship) และ วอร์เตอร์แมน (Waterman Steamship Corporation) โดยบริษัทแมคลีนอุตสาหกรรม (Mclean Industries) ในตอนนั้นบริษัทแมคลีนทำการกู้ยืมเงินจำนวน $42 ล้านเหรียญและออกหุ้นกู้อีก $7 ล้านเหรียญเพื่อทำการเข้าซื้อกิจการทั้งสอง หลังจากตกลงซื้อขายเรียบร้อยแล้ว เงินสดและทรัพย์สินของบริษัทวอร์เตอร์แมนจำนวน $20 ล้านเหรียญได้ถูกนำมาใช้หนี้คืน

ดีลของ Leverage Buyout ที่โด่งดังที่สุดคือการเข้าซื้อกิจการนาบิสโก (RJR Nabisco) โดยกองทุนเอกชนเคเคอาร์ (KKR Private Equity) ในปี 1989 ยอดเงินในการเข้าซื้อกิจการในครั้งนั้นสูงถึง $3.1 หมื่นล้านเหรียญถือว่าเป็นการซื้อขายกิจการที่สูงที่สุดในโลกในช่วงนั้น เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ในเรื่อง Barbarian at the Gate: The Falls of RJR Nabisco

ปัจจุบันสถาบันการเงินในต่างประเทศได้เปิดกองทุนเอกชนของตนเองเพื่อดึงดูดลูกค้าหรือนักลงทุนสถาบันใหญ่ๆที่สนใจลงทุนในการเข้าซื้อกิจการด้วยเงินกู้เช่นนี้มากขึ้น ในประเทศไทยทางการยังไม่เปิดให้มีการตั้งกองทุนลักษณะเช่นเดียวกับไพร์เวท อิควิตี้หรือเฮดฟันด์แต่อย่างใด ถ้าเมื่อไหร่ที่การลงทุนในไทยมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ระบบตลาดทุนตลาดเงินของไทยอาจเปลี่ยนโฉมหน้าก็เป็นไปได้
Miracle Happens Everyday !
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว" :)
โพสต์โพสต์