ดร.โกร่ง วิเคราะห์ เงินหยวนของจีน เหตุผลจากเศรษฐกิจหรือการเม

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
matee
Verified User
โพสต์: 535
ผู้ติดตาม: 1

ดร.โกร่ง วิเคราะห์ เงินหยวนของจีน เหตุผลจากเศรษฐกิจหรือการเม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.โกร่ง หรือ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร วิเคราะห์เรื่อง"เงินหยวนของจีน"ในคอลัมน์คนเดินตรอก ใน"ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับล่าสุด อยากรู้ว่า จีนยอมขึ้นค่าเงินหยวน เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือ เหตุผลทางการเมือง กันแน่ ? ต้องอ่านโดยพลัน

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน รัฐบาลจีนประกาศเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไม่พูดว่ากระไร มาถึง 2 ปีว่าทางการจีนจะเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากที่เคยตรึงค่าเงินของจีนไว้ที่ 6.28 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี โดยอ้างว่าจีนจำเป็นต้องตรึงค่าเงินหยวนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐเพราะปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกอันสืบเนื่องมาจากปัญหา "หนี้ด้อยคุณภาพ" ของสหรัฐซึ่งกระทบกระเทือนจีนด้วย


บัดนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จีนอาจจะสามารถให้เงินหยวนของจีนเมื่อเทียบค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วอาจจะมีค่ายืดหยุ่นได้มากขึ้น แทนที่จะตรึงไว้ตายตัวที่ประมาณ 6.28 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์


ทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินตะวันตกก็ขานรับกันด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง


เหตุที่ชาวตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาพากันยินดี ก็เพราะทั้งยุโรปและอเมริกาหมดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังลุกลามใหญ่โตอยู่ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่เรียกกันว่า PIGSE หรือโปรตุเกส อิตาลี กรีซ สเปน และอังกฤษ ที่ร่อแร่และกำลังจะลุกลามเป็นโรคระบาดไปที่อเมริกาและส่วนอื่น ๆ ของโลก


เครื่องมือทางการเงินที่เหลืออยู่สำหรับอเมริกาและอังกฤษก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็ไม่ควรจะทำเพราะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้หนักยิ่งขึ้น


ครั้นจะตัดงบประมาณแผ่นดิน ขึ้นภาษี ลดการขาดดุลงบประมาณก็เหมือนกัน เศรษฐกิจก็จะย่ำแย่ลงไปอีก


แม้ค่าเงินยูโรจะลดค่าลงไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้เยอรมนีและฝรั่งเศสดีขึ้น ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในเขตที่ใช้เงินยูโรก็จะแย่ลง


ถ้าเงินยูโรลดค่าลงเรื่อย ๆ ก็เท่ากับว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็คงจะแย่ลงไปเพราะสินค้าส่งออกของตัวก็จะแพงขึ้น ส่วนสินค้าส่งออกของยุโรปจะถูกลง การขยายตัวการผลิตของอเมริกาและญี่ปุ่นก็จะไม่เกิดขึ้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะไม่ลดลง ปัญหาหนี้สินก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีใครอยากให้กู้ ครั้นจะลดการขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ต้องตัดการบริโภคและการลงทุนลง ลดความเป็นอยู่ของผู้คนลง ลดค่าจ้างเงินเดือนลง ถ้าลดไม่ได้ก็ต้องปลดคนงานออก ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองก็เกิดขึ้น


ทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ ขอร้องให้จีนขึ้นค่าเงินหยวนของตนเพื่อช่วยให้สินค้าของจีนที่เข้าไปตีตลาดในยุโรปและอเมริกามีราคาแพงขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันสินค้าของยุโรปและอเมริกาในสายตาของคนจีนมีราคาถูกลงบ้าง จีนจะได้ซื้อของอเมริกาและยุโรปมากขึ้น ยุโรปและอเมริกาจะได้ซื้อของจีนน้อยลง การขาดดุลของอเมริกาและยุโรปจะได้ลดลงบ้าง


ส่วนญี่ปุ่นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กล้าหาญชาญชัยขัดใจอเมริกาและไอเอ็มเอฟ ประกาศว่าจะไม่ยอมให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งขึ้นตามเงินดอลลาร์ แต่จะทำได้แค่ไหนก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป


ผู้คนพากันสงสัยว่าจีนจะทำจริงอย่างประกาศหรือไม่ เพราะในคำประกาศก็ยังกำกวมว่าการขึ้นค่าเงินหยวนจีนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จีนจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำอย่างฮวบฮาบ ดังนั้นคำประกาศของจีนจึงน่าจะมีนัยอย่างนี้


อย่างแรก จีนจะคงระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับตะกร้าที่ไม่ประกาศว่าในตะกร้าเงิน มีเงินอะไรไว้บ้างต่อไป โดยมีทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ และประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเป็นวัน ๆ ไป ณ อัตราที่ประกาศ ทุนรักษาระดับรับซื้อและรับขายเงินดอลลาร์ไม่อั้นเหมือนกับระบบของเราเมื่อก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ผิดกับของเราแต่เพียงทุนรักษาระดับของเราประกาศอัตราซื้อขาย เวลา 09.00 น.ของจีนเขาประกาศ 17.00 น.เวลาปิดทำการ


อย่างที่ 2 จีนไม่เคยแสดงตนเลยว่าอยากจะเปลี่ยนฐานะจากการเป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟตามมาตรา 8 มาเป็นสมาชิกตามมาตรา 14 เพราะการเป็นสมาชิกตามมาตรา 14 ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น มีฐานะทุนสำรองที่มั่นคง ไม่ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันหลายปี เมื่อเป็นสมาชิกตามมาตรา 14 แล้วก็ต้องเปิดตลาดเสรี ต้องลดการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุน การเลื่อนฐานะการเป็นสมาชิกจากประเทศที่ไม่มั่นคงมาเป็นสมาชิกที่มั่นคงแล้วซื้อบ้านในต่างประเทศจะได้มั่นใจว่าเขาสามารถนำเงินเข้า-ออกได้อย่างเสรี และต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินอย่างโปร่งใส ผู้ลงทุนจะได้ใช้วิจารณญาณได้


ประการที่ 3 ธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือของเอกชน ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือบีไอเอส


แต่เนื่องจากจีนไม่ยอมขยับฐานะของตนกับไอเอ็มเอฟ ไม่เหมือนกับไทย เราลืมขยับฐานะของเราทันทีที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเมื่อปี 2533 เพราะต้องการเงินทุนให้ไทยเข้ามาลงทุนในตลาดทุนของเรา แต่จีนไม่ต้องการเงินเช่นนั้นเพราะเขาหาได้จากการเกินดุลการค้าก็มากมายอยู่แล้ว


เมื่อจีนไม่ได้สมัครขอเลื่อนฐานะสมาชิกภาพกับไอเอ็มเอฟ จีนก็ไม่มีพันธะจะต้องลอยตัวค่าเงินหยวน ความจำเป็นก็ไม่มี ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ในบัญชีเงินทุนของตน


ประเทศต่าง ๆ จะลอยตัวค่าเงินของตัวเมื่อค่าเงินของตนแข็งเกินฐานะทางเศรษฐกิจการเงินของตน แต่กรณีของจีนนั้นกลับกัน เชื่อกันว่าค่าเงินของจีนอ่อนกว่าฐานะทางเศรษฐกิจการเงินของตัว ทุก ๆ วันทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของจีนต้องซื้อดอลลาร์สุทธิกว่าวันละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปีหนึ่งก็ร่วม 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลจีนทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลรวมทั้งภาคเอกชนลงทุนอย่างหนัก


เงินก็ไม่เฟ้อเพราะปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงเท่า ๆ กับการขยายตัวของปริมาณเงินหยวน ทั้ง ๆ ที่จีนไม่ยอมให้เงินหยวนไหลออกนอกประเทศเพราะการค้าและการลงทุน ให้ไหลออกได้นิดหน่อยสำหรับนักท่องเที่ยว ความต้องการเงินหยวนในประเทศก็ยังเพียงพอรองรับการขยายตัวของปริมาณเงินที่ขยายตัวจากการรับซื้อเงินตราต่างประเทศเข้าไว้ในทุนรักษาระดับแลกเปลี่ยน


การรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจ กึ่งรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่สูงตัวเลข 2 หลักมาเป็นเวลานานโดยไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงิน


เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมจีนจึงยอมประกาศว่าจีนจะยอมขยับอัตราแลกเปลี่ยนของตนบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ที่คิดว่าจีนกลัวอเมริกาและไอเอ็มเอฟก็ไม่น่าจะใช่ เพราะจีนไม่มีปมด้อยกับอเมริกา และยุโรป เหมือนญี่ปุ่นหรือไทย จีนไม่เคยคิดว่าตนด้อยกว่าฝรั่ง หรือฝรั่งเก่งกว่าจีน


จีนไม่เคยกลัวว่าอเมริกาหรือยุโรปจะกล้าปิดตลาดสำหรับสินค้าจีน เพราะถ้าทำอย่างนั้นจีนอาจจะตอบโต้ และผู้ที่จะเจ็บกว่าก็คืออเมริกาและยุโรปเพราะจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ถ้าจีนทุ่มขายพันธบัตรของอเมริกาและยุโรปเมื่อไร ราคาของพันธบัตรเหล่านั้นจะลดลงอย่างฮวบฮาบ กลายเป็นเศษกระดาษ ดอกเบี้ยจะพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล อเมริกา และยุโรปอาจจะล้มละลาย ทั้งอเมริกา และยุโรปคงไม่กล้าทำ


แต่ที่จีนยอมประกาศเช่นนั้น ถ้าทำจริงก็คงจะเป็นเพราะเห็นประโยชน์ของตนเองมากกว่า เพราะขณะนี้ยุโรปกำลังย่ำแย่ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้ มีแนวโน้มว่าจะระบาดลุกลามไปที่อเมริกา


ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผลก็จะย้อนกลับมาที่เอเชีย รวมทั้งจีน อินเดีย และรัสเซียก็ได้ มีอยู่ 2 วิธีที่จีนอาจจะหนีได้ คือ เอาเงินทุนสำรองมากมายเข้าไปซื้อกิจการต่าง ๆ แบบญี่ปุ่นเคยทำในทศวรรษที่ 1980 แล้วญี่ปุ่นก็ขาดทุนมหาศาล


อีกวิธีหนึ่งก็คือ เลี้ยงอเมริกา และยุโรปไม่ให้ตาย แต่ก็ไม่ให้โต โดยการค่อย ๆ ขึ้นค่าเงินหยวนไปทีละน้อย ๆ เพื่อรอเวลาให้จีนมีความเป็นที่หนึ่งทางเทคโนโลยีในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านอวกาศ ด้านชีวภาพ ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางวัตถุดิบ และในที่สุดทางด้านการทหารซึ่งจีนยังล้าหลังสหรัฐอเมริกา และยุโรปอยู่อย่างน้อย 2 ทศวรรษ
จีนต้องระมัดระวังที่จะไม่ต้อนยุโรปและอเมริกาเข้ามุมอับทางเศรษฐกิจ มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายต่อจีนและชาวโลกเอง


ในสมัยพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ฉิง ยุโรปขาดดุลกับจีนมหาศาล อังกฤษเกือบล้มละลายเพราะจีนไม่มีอะไรต้องซื้อจากยุโรปนอกจากอาวุธ ส่วนยุโรปต้องการทุกอย่างจากจีน อังกฤษจึงต้องนำฝิ่นเข้าไปขายในจีน เมื่อจีนสั่งห้ามนำฝิ่นเข้า อังกฤษจึงถือโอกาสทำสงคราม จีนแพ้สงครามและสูญเสียอย่างมหาศาล


จีนคงไม่ยอมให้เกิดภาวะเช่นนั้นอีก อย่างน้อยใน 20 ปีข้างหน้า


คราวนี้จีนคงยอมขึ้นค่าเงินหยวนจริง ๆ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแต่เป็นเหตุผลทางการเมือง
โพสต์โพสต์