ท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเติบโตราว 2.6% ในไตรมาส 4 แต่สหรัฐก็ยังมีปัญหาที่หมักหมมอยู่ และรอวันปะทุในอนาคต ซึ่งหากเป็นจริงก็อาจลากให้ราว 100 เมืองต้องล้มละลายเลยทีเดียว
โดย เมเรดิธ วิทนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธบัตรรัฐบาลและภาคธนาคาร ที่เคยทำนายวิกฤตการเงินโลกได้อย่างถูกต้อง ให้สัมภาษณ์รายการ 60 มินิตส์ ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า หนี้ของมลรัฐและ เมืองในสหรัฐคือปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐ และอาจทำให้การฟื้นตัวของประเทศหลุดจากเส้นทางที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งเชื่อว่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้ตราสารหนี้เทศบาลมูลค่ามหาศาล หรือหลายแสนล้านดอลลาร์ และเมืองกว่า 100 แห่งใน สหรัฐอาจล้มละลายในปีหน้า หากวิกฤต หนี้ที่เคยทำให้ธนาคารและหลายประเทศล้มมาแล้วจุดชนวนการล่มสลายในระดับเทศบาล
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง จอร์จ ไฟร์ดแลนเดอร์ นักวิเคราะห์พันธบัตรเทศบาลของซิตี้ระบุในบันทึกถึงลูกค้าว่า แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะมีการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรเทศบาลมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่จะมีมูลค่าต่ำกว่าที่วิทนีย์ประเมินไว้มาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันเมืองและมลรัฐในสหรัฐมีหนี้รวมกันมากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หากเทียบกับยุโรปที่คาดกันว่ารัฐบาล ท้องถิ่นกู้ยืมเงินทำสถิติสูงสุดที่เกือบ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้
เพราะปัญหาขาดดุลงบประมาณ ทำให้หลายเมืองจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย อาทิ ดีทรอยต์ เมืองใหญ่สุดของรัฐมิชิแกนจำเป็นต้องลดบริการตำรวจ ไฟฟ้า ซ่อมแซมถนน และทำความสะอาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรมากถึง 20% ข้อมูลระบุว่านับถึงเดือน มิ.ย.ปีหน้า ดีทรอยต์จะขาดดุลงบฯถึง 85 ล้านดอลลาร์
เช่นเดียวกับรัฐข้างเคียงอย่างอิลลินอยส์ใช้จ่ายเงินมากกว่าที่เก็บภาษีได้ราว 2 เท่า โดยมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เพียงแห่งเดียวเป็นหนี้ถึง 400 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ซีเอ็มเอ ดาต้าวิชั่น ผู้ให้บริการข้อมูลตราสารอนุพันธ์เผยข้อมูลว่า รัฐนี้มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ราว 21% หรือสูงกว่าที่อื่น ๆ
และปัญหาทางการเงินที่รุมเร้าส่งผลให้หลายรัฐจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม เช่น แคลิฟอร์เนียได้ปรับขึ้นค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐ 32% แอริโซนาขายอาคารที่ทำการศาลฎีกาและที่ทำการรัฐให้แก่ นักลงทุนก่อนจะขอเช่าต่อ
กาย เจ. เบนสเตด จาก ซีดาร์ ริดจ์ พาร์ตเนอร์ ในซานฟรานซิสโกมองว่า การผิดนัดชำระหนี้อาจเกิดขึ้นในฟลอริดา ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์อันร้อนแรงได้ฟุบไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน สอดคล้องกับความคิดของ ฟิลิป บราวน์ กรรมการผู้จัดการของซิตี้กรุ๊ปในลอนดอน ที่ว่าต้องมีการลดหนี้สาธารณะ และต้องหั่นงบประมาณลงมหาศาล ปัญหาหนี้รุมเร้ารัฐบาลกลางก่อน และตอนนี้กำลังคุกคามรัฐบาลท้องถิ่นอยู่
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์บิสซิเนส อินไซเดอร์ ได้เผยรายชื่อของ 16 เมืองสหรัฐที่เสี่ยงจะล้มละลายหากไม่สามารถลดการใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลได้ในปีหน้า โดยเมืองดัง ๆ ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ซานดิเอโก ที่ยอดขาดดุลงบฯนับถึงเดือน มิ.ย. 2555 เท่ากับ 73 ล้านดอลลาร์ และที่ผ่านมาทางการพยายามลดการ ขาดดุลโดยเพิ่มภาษีการค้าพร้อมหั่น ค่าใช้จ่ายกว่า 200 ล้านดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้นอีกคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ด้าน นิวยอร์กซิตี้ มียอดขาดดุลในช่วงเดียวกันสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ โดย ผู้ว่าการของเมืองอย่าง ไมเคิล บลูมเบิร์ก ได้เรียกร้องให้ปลดพนักงานของรัฐบางส่วน ส่วนเมืองซานโฮเซขาดดุลงบฯ 116 ล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย ซึ่งนำไปสู่การปลดพนักงานรัฐเกือบ 900 คน และคาดการณ์ว่าเมืองจะขาดดุลงบฯราว 90 ล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. 2555
หากมองต่อไปจะเห็นเมืองโฮโนลูลูในฮาวายที่จะขาดดุลราว 100 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน ซึ่งทางการพยายามแก้ปัญหาขาดดุลด้วยการให้พนักงานรัฐ 2,900 คนต้องคืนเงินเดือนที่ได้ปรับขึ้นไป 6% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาให้กับรัฐ นอกจากนี้ ยังขึ้นภาษีอสังหาฯบางประเภทเพื่อชดเชยการขาดดุลมหาศาล 140 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้วด้วย
ขณะเดียวกัน ซานฟรานซิสโกได้ปรับลดการขาดดุลขนานใหญ่ถึง 438 ล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย และคาดว่าจะขาดดุลราว 380 ล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. 2554 ด้านลอสแองเจลิสจะเผชิญยอดขาดดุลถึง 438 ล้านดอลลาร์ แต่ยังน้อยกว่าวอชิงตันที่ คาดว่าจะขาดดุลสูงถึง 688 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ บลูมเบิร์ก นิวส์เคยรายงานว่า เมืองในสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเบี้ยวหนี้มากกว่าเมืองในยุโรป เพราะมักพึ่งพาพันธบัตรที่ขายให้กับนักลงทุน ซึ่งหากเจ้าหนี้ไม่ได้รับการชำระหนี้ก็จะถือเป็นการผิดนัดชำระทันที ต่างจากเมืองในยุโรปที่โดยทั่วไปจะพึ่งพาเงินกู้จากธนาคารและรัฐบาล