ก.แรงงาน เร่งหารือคลัง และ สศช.เพื่อหาแผนรองรับ เหตุสภาที่ปรึกษาฯเตือนกองทุนประกันสังคม อาจล้มละลาย โดยบอร์ด สปส.เสนอขยายอายุรับเงินบำนาญจากอายุ 55 ปี เพิ่มเป็น 58-60 ปี และมีมติตั้ง 3 บริษัทบริหารเงินลงทุนต่างประเทศ 600 ล้านเหรียญ แบ่งรายละ 200 ล้านเหรียญ มีทั้งลงทุนหุ้น ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ คาดเริ่มลงทุนได้กลางปีหน้า
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม เปิดเผยถึงกรณีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้ส่งรายงานการคาดการณ์ปัญหาความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคม อาจอยู่ในภาวะล้มละลาย หากปล่อยให้มีการจัดเก็บเงินสมทบในอัตรา 5% ของเงินเดือน โดยเรื่องดังกล่าวได้ส่งความเห็นไปที่คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนรับมือ ว่า ในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ กระทรวงแรงงาน ได้เชิญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น มาหารือเพื่อหาทางออกดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นความมั่นคงของกองทุนสปส.ยังมีหลายฝ่ายเป็นห่วงเม็ดเงินไหลออกจากกองทุนประกันสังคมไม่สมดุลกับรายรับที่เข้ามา โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยที่มียอดใช้จ่ายจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี บวกกับกองทุนบำเหน็จบำนาญกรณีชราภาพที่จะต้องเริ่มจ่ายในปี 2557 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะของกองทุนด้วย ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สปส.เมื่อวันที่27 ธ.ค.เสนอให้ขยายอายุการรับเงินบำนาญ หรือเกษียณจากอายุ 55 ปี เพิ่มเป็น 58-60 ปี โดยเพื่อชะลอการไหลออกของเม็ดเงิน ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการพูดถึงการเพิ่มการจัดเก็บเงินสมทบแต่อย่างใด
“ผมยังไม่เห็นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้คงต้องรอหารือกับทางกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ในเบื้องต้นยังไม่มีการพูดถึงเรื่องที่จะเพิ่มเงินสมทบ มีแต่ข้อเสนอให้ขยายอายุรับเงินบำเหน็จบำนาญ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ ต้องยึดข้อตกลงเดิม จะต้องรอผลการหารือให้เสร็จสิ้นก่อนในวันที่ 30 ธันวาคมนี้” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ยังได้มีมติเห็นชอบให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งได้ออกกฎระเบียบให้ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ มติที่ประชุมได้ให้ดำเนินการคัดเลือกบริษัทจัดการหลักทรัพย์เข้ามาบริหารการลงทุน จำนวน 3 บริษัท และแบ่งเงินลงทุนให้บริษัทละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้เข้าไปลงทุนใน 3 ประเภท ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ โดยยึดนโยบายให้ลงทุนในตราสารหนี้ 60% และอีก 40% ลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกบริษัทจัดการหลักทรัพย์จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อมาคัดเลือกโดยเฉพาะ โดยกำหนดคุณสมบัติของบริษัทจะต้องเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 19 บริษัท และบริษัทที่ได้รับคัดเลือกนั้นจะต้องหาบริษัทร่วมทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 200 บริษัท โดยบริษัทร่วมทุนต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันรายละ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้จะดูในเรื่องของประวัติ ผลงาน แผนการลงทุน รวมถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คาดว่า จะได้ข้อสรุปกลางปี 2554
นายสมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า การลงทุนในต่างประเทศช่วงนี้ มีความได้เปรียบ เนื่องจากเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า มูลค่าของเงินบาทมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ส่วนตลาดในต่างประเทศที่ สปส.สนใจจะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น ขณะนี้มองไปที่ตลาดในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนอสังหาริมทรัพย์ มองไปที่แถบยุโรป ซึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์ถูกลงมาก
ทั้งนี้ การไปลงทุนในต่างประเทศครั้งนี้ คาดว่า จะได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5-8% ซึ่งดีกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การลงทุนนี้คิดเป็นสัดส่วนเงินลงทุนเพียง 2% หรือประมาณ 60 ล้านบาท จากเงินทุนที่ต้องลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 10% ของเงินกองทุนที่มีทั้งหมด 7 แสนล้านบาท