FED:เจาะลึกทางเลือกเฟดกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐหลัง QE2 หมดอายุสิ้นเดือนนี้
นิวยอร์ค--20 มิ.ย.--รอยเตอร์
การที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงในช่วงนี้ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ
(เฟด) ต้องเลื่อนเวลาในการคุมเข้มนโยบายการเงินออกไป และเพิ่มความเป็น
ไปได้ที่เฟดอาจจะต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับใกล้ 0 % ในช่วงที่ผ่านมา และ
จะเสร็จสิ้นการซื้อพันธบัตรรวมกันทั้งหมด 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในช่วงสิ้นเดือนนี้
มาตรการซื้อพันธบัตรรอบล่าสุดของเฟดมีวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์
โดยมาตรการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง (QE2)
ซึ่งทำให้เฟดถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ
เจ้าหน้าที่เฟดแสดงออกอย่างชัดเจนว่า มีอุปสรรคหลายประการที่ขัดขวาง
เฟดจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายต่อไป และนักวิเคราะห์ก็กล่าวว่านโยบาย
ของเฟดลดประสิทธิภาพลงแล้ว อย่างไรก็ดี เฟดสามารถดำเนินขั้นตอนแบบพิเศษ
บางขั้นตอนได้ถ้าหากมีความจำเป็น
นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด เคยกล่าวในเดือนส.ค. 2010
เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆที่เฟดอาจนำมาพิจารณาถ้าหากเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่าง
รุนแรง และเขาเคยกล่าวในปี 2002 เกี่ยวกับมาตรการสกัดกั้นภาวะเงินฝืด
ในสหรัฐด้วย
ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการที่นายเบอร์นันเก้เคยกล่าวถึงในปี 2002
และ 2010 เกี่ยวกับขั้นตอนที่เฟดสามารถนำมาใช้ได้ถ้าหากมีความจำเป็น:-
*ถ้อยแถลงในเดือนส.ค.2010
--การซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม
การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้
โดยเฟดเชื่อว่ามาตรการซื้อพันธบัตรสองรอบในช่วงที่ผ่านมาสามารถกดดันอัตราดอกเบี้ย
ระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ และกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เฟดไม่เลือกใช้วิธีการนี้ ก็คือการที่เฟดถูก
วิพากษ์วิจารณ์จากทั้งภายในและภายนอกประเทศเกี่ยวกับ QE2 และการที่นายเบอร์นันเก้
กล่าวในเดือนนี้ว่า ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่น่ากังวล
นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า การขยายขนาดงบดุลเฟดออกไปอาจเป็นการทำลาย
ความเชื่อมั่นในความสามารถของเฟดในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
โดยขณะนี้งบดุลเฟดมีวงเงินสูงกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับระดับราว 9 แสน
ล้านดอลลาร์ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
--การเพิ่มการรับประกันเรื่องการดำเนินนโยบายผ่อนคลาย
เฟดได้ให้สัญญาไว้แล้วว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในระดับต่ำมาก
ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และเฟดสามารถส่งเสริมภาระผูกพันนี้ได้ด้วยการให้สัญญาว่า
จะตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0 % ต่อไปจนถึงกำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็น
กำหนดเวลาที่นานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า การปรับถ้อยแถลงของเฟดแม้เพียงเล็กน้อย
ก็สามารถส่งผลดีต่อตลาดได้ โดยนายไมเคิล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน
กล่าวว่า ตลาดอาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม ถ้าหากเฟดให้สัญญาว่าจะนำเงินที่ได้รับ
จากหลักทรัพย์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมาลงทุนใหม่ต่อไปเป็นเวลาระยะหนึ่ง
--การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เฟดจ่ายให้กับทุนสำรองส่วนเกินของธนาคาร
พาณิชย์
เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ที่ฝากทุนสำรอง
ส่วนเกินไว้ที่เฟด โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ที่ 0.25 % ในปัจจุบัน
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำทุนสำรองออกมา
ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้น แต่นายเบอร์นันเก้เคยกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้อาจ
ส่งผลกระทบน้อยมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว
--การปรับเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด
เฟดอาจจะกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นการชั่วคราวให้อยู่ในระดับ
ที่สูงกว่าระดับที่เฟดมองว่าสอดคล้องกับเสถียรภาพของราคาในระยะยาว โดยการ
ทำเช่นนี้จะเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดว่า จะต้องใช้เวลาอีกนานมากก่อนที่เฟดจะ
เริ่มต้นคุมเข้มนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ดี นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า แนวคิดนี้ก่อให้เกิดความคิดเห็น
ที่ขัดแย้งกันเองระหว่างผู้กำหนดนโยบายของเฟด และไม่มีแนวโน้มที่เฟดจะเลือก
ใช้วิธีการนี้
*ถ้อยแถลงในเดือนพ.ย. 2002
--การกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง
ภายใต้แผนการนี้ เฟดจะประกาศเพดานอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาว
และเฟดจะปกป้องระดับเพดานนี้ด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ประเภทนั้นในปริมาณใดก็ตาม
ที่มากพอที่จะกดดันอัตราผลตอบแทนเอาไว้ได้
นายบิล กรอส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนร่วมของบริษัทพิมโค ระบุในวันที่
14 มิ.ย.ว่า ขั้นตอนนี้มีความเป็นไปได้ และกล่าวว่า เฟดอาจส่งสัญญาณว่าเฟดเต็มใจ
จะใช้วิธีการนี้ในแถลงการณ์หลังการประชุมเฟดในวันที่ 21-22 มิ.ย.
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนไม่ได้รับความ
นิยมในเฟดในระยะหลัง เนื่องจากวิธีการนี้จะส่งผลให้เฟดสูญเสียอำนาจควบคุมขนาด
งบดุลของตน และงบดุลของเฟดก็มีขนาดสูงมากอยู่แล้ว นอกจากนี้ ถ้าหากเศรษฐกิจ
ฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา เฟดก็จะยังคงมีภาระผูกพันในการเข้าซื้อหลักทรัพย์ตามอัตรา
ผลตอบแทนที่กำหนดไว้
--การกดดันอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เอกชนให้ปรับตัวลง
เฟดสามารถปล่อยกู้ระยะ 3 เดือนหรือ 6 เดือนแก่ธนาคารพาณิชย์ผ่านทาง
ช่องทาง discount window โดยธนาคารพาณิชย์สามารถนำหลักทรัพย์หลากหลาย
ประเภทมาใช้ค้ำประกันการกู้ยืมนี้ ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้เอกชน, ตราสารพาณิชย์ หรือสัญญา
จำนอง ซึ่งโครงการปล่อยกู้นี้จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของหลักทรัพย์ค้ำประกันเหล่านี้
ปรับตัวลง
--การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่างชาติ, การปรับลดค่าเงินดอลลาร์
การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่างชาติอาจส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง
เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ อย่างไรก็ดี นายเบอร์นันเก้พยายามกล่าวย้ำในปี 2002
ว่าเขาไม่แนะนำทางเลือกนี้--จบ--