วิเคราะห์ทางเลือกเฟดอาจใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
jaetom
Verified User
โพสต์: 35
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห์ทางเลือกเฟดอาจใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังพิจารณาเรื่องการดำเนินมาตรการกระตุ้น
เศรษฐกิจเพิ่มเติม ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงและอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ถึงแม้การจ้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้น 117,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และ
อัตราการว่างงานลดลง 0.1 % สู่ 9.1 % ในเดือนก.ค. แต่ทุกคนก็มองว่าตลาดการ
จ้างงานของสหรัฐไม่ได้อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และเจ้าหน้าที่จะยังคงเฝ้าระวังต่อไป
เพื่อมองหาสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลา
นานหรือไม่ หรือเศรษฐกิจจะยุติการเติบโตหรือไม่
เฟดมีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่จะพิจารณามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลังจากตลาดการเงินได้รับแรงกดดันจากวิกฤติหนี้ยุโรป และจากการที่สถาบัน
จัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความ
น่าเชื่อถือระยะยาวของสหรัฐลง 1 ขั้นจาก AAA สู่ AA+ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา
เฟดได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหญ่ไปแล้วในช่วง
ก่อนหน้านี้ โดยเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับใกล้ 0 % ในเดือนธ.ค.
2008 และได้เข้าซื้อสินทรัพย์ไปแล้ว 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระบุว่า เฟดยังคงมีมาตรการอื่นๆอีกที่สามารถ
นำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตตามความเหมาะสมของสถานการณ์

*เฟดสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง
-เฟดสามารถกลับไปใช้เครื่องมือแบบดั้งเดิมที่ทรงอิทธิพลที่สุด ซึ่งได้แก่
การดำเนินมาตรการซื้อสินทรัพย์ครั้งใหญ่อีกรอบ
-เฟดสามารถใช้มาตรการที่มีขนาดเล็กกว่านั้น เช่น การจงใจเพิ่มสัดส่วน
ของพันธบัตรระยะยาวในงบดุลของเฟดเอง เพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลง
-เฟดสามารถเน้นย้ำถึงภาระผูกพันในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ
และในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยเฟดอาจใช้วิธีเสริมความ
หนักแน่นให้แก่คำสัญญาที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง
หรือเฟดอาจใช้วิธีให้สัญญาว่าจะรักษางบดุลให้มีขนาดใหญ่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่ามาตรการทางการสื่อสาร หรือการปรับสัดส่วน
พันธบัตรในพอร์ทลงทุนของเฟด เป็นขั้นตอนที่เฟดมีแนวโน้มจะนำมาใช้เป็นขั้นตอนแรก
มากที่สุด และเชื่อว่าเฟดจะเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมก็ต่อเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ตกต่ำลงอย่างรุนแรง
-เฟดสามารถกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนสำหรับอัตราเงินเฟ้อและระดับ
ราคา โดยการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นที่ว่า เฟดจะไม่
ปล่อยให้ภาวะเงินเฟ้ออยู่นอกเหนือการควบคุม ส่วนการกำหนดเป้าหมายระดับราคา
จะเปิดโอกาสให้เฟดมีช่องทางมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับควบคุมภาวะ
เงินเฟ้อไปด้วยในขณะเดียวกัน
-เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับ
ทุนสำรองส่วนเกินที่นำมาฝากไว้ที่เฟด โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
จะเป็นการบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้นเพื่อแลกกับอัตราผล
ตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

*ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เฟดไม่ดำเนินมาตรการข้างต้น
-ความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อ: ในช่วงที่เฟดดำเนินมาตรการผ่อนคลาย
เชิงปริมาณรอบสอง (QE2) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 6 แสนล้านดอลลาร์นั้น
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานได้พุ่งขึ้นทั่วโลก และเฟดก็ถูกตำหนิว่ามีส่วนกระตุ้นภาวะ
เงินเฟ้อ ถึงแม้นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด และนักเศรษฐศาสตร์รายอื่นๆระบุว่า
อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกคือสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในปัจจุบันนี้อยู่ใกล้กับระดับที่สร้างความ
พึงพอใจให้แก่เฟด โดยอยู่ที่ระดับ 2 % หรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ
เคยอยู่ในระดับใกล้สถิติต่ำสุดในช่วงที่เฟดเริ่มต้นใช้ QE2
นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐคืออุปสรรค
อย่างหนึ่งที่ขัดขวางการผ่อนคลายนโยบายของเฟด
-แรงกดดันทางการเมือง: เฟดได้รับคำตำหนิจากทั้งนักการเมืองสหรัฐ
และต่างชาติในเรื่อง QE2 โดยสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐกล่าวหาเฟดว่าทำในสิ่ง
ที่เสี่ยงต่อการกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ และสมาชิกสภาคองเกรสได้เสนอที่จะตัดภาระ
หน้าที่ของเฟดลงเหลือเพียงการรักษาเสถียรภาพของราคา เพื่อที่เฟดจะได้ไม่ต้อง
มุ่งความสนใจไปยังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกต่อไป
ถึงแม้เฟดสามารถรักษาความเป็นอิสระทางการเมืองไว้ได้เป็นอย่างดี
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผู้กำหนดนโยบายของเฟดก็อาจจะไม่ต้องการกระตุ้น
กระแสต่อต้านเฟดในสภาคองเกรสให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
-ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของมาตรการ: ถึงแม้ผลการศึกษาของ
นักเศรษฐศาสตร์เฟดระบุว่า มาตรการซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่ส่งผลให้อัตรา
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภท 10 ปีปรับลดลง 0.30-1.00 %
แต่ประเด็นดังกล่าวก็ยังคงมีการโต้แย้งกันเป็นอย่างมาก
ผู้ต่อต้าน QE ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตต่ำกว่า 1 % ต่อปี
ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า QE มีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ แต่กลุ่ม
ผู้สนับสนุน QE ระบุว่า ถ้าหากเฟดไม่ดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตร เศรษฐกิจ
ก็จะยิ่งตกต่ำลงไปกว่านี้อีก
-ผลกระทบที่ลดลงของมาตรการ: หลังจากเฟดเข้าซื้อตราสารหนี้
ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนองไปแล้วเกือบ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และเข้าซื้อ
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไปแล้ว 9 แสนล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์หลายรายก็ตั้ง
ข้อสงสัยว่า การเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมจะส่งผลกระทบที่น้อยลงหรือไม่
เจ้าหน้าที่เฟดบางรายเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว
ขึ้นในอนาคต และขั้นตอนต่อไปที่เฟดควรทำคือการคุมเข้มนโยบาย ไม่ใช่การ
ผ่อนคลายนโยบาย
-ทางออกที่ยากลำบาก: นักวิเคราะห์กังวลว่า เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจ
สหรัฐเริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เฟดก็จะประสบความยากลำบากในการลด
ขนาดงบดุลลงจากระดับ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ซึ่งการที่เฟดไม่สามารถ
ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ทันเวลา อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหม่
เจ้าหน้าที่เฟดกล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่มีเครื่องมือเตรียมไว้เพื่อใช้ในการ
คุมเข้มนโยบายการเงินถึงแม้งบดุลมีขนาดสูง อย่างไรก็ดี การถอนนโยบายการเงิน
แบบผ่อนคลายที่มีขนาดใหญ่แบบนี้เป็นสิ่งที่เฟดไม่เคยทำมาก่อน

*เฟดคาดหวังสิ่งใดในการดำเนินขั้นตอนเพิ่มเติม
-ผลตอบรับที่รวดเร็ว: ถึงแม้เฟดถูกตำหนิว่าดำเนินการล่าช้าในการรับมือ
กับวิกฤติการเงินที่เริ่มต้นในช่วงกลางปี 2007 แต่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด
ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจในการดำเนินขั้นตอนที่กล้าหาญอย่างรวดเร็วเพื่อตอบ
รับต่อสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลง
-การเน้นย้ำเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ: ถึงแม้เฟดดำเนินขั้นตอน
ขนาดเล็ก อย่างเช่นการให้สัญญาว่าจะรักษางบดุลให้มีขนาดใหญ่ต่อไป การกระทำ
ดังกล่าวก็จะเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดว่า เฟดมองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ที่อ่อนแอคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่ใช่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
และเฟดจะจัดการกับปัจจัยเสี่ยงนี้โดยไม่ดำเนินขั้นตอนที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งสูง
เช่น การเข้าซื้อพันธบัตรรอบใหม่
-การกระตุ้นการลงทุนแบบเสี่ยงสูง: การที่เฟดเพิ่มสัดส่วนการถือครอง
พันธบัตรระยะยาวอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของหลักทรัพย์ระยะยาวปรับลดลง
ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นนักลงทุนให้เข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่นหุ้นมากยิ่งขึ้น
-การลดลงของอัตราดอกเบี้ย: การที่เฟดเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม
เพื่อเพิ่มสัดส่วนของพันธบัตรระยะยาวในพอร์ทลงทุน จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย
ระยะยาวปรับตัวลง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการกู้ยืม, การจับจ่ายใช้สอย, การลงทุน
และการจ้างงาน--จบ--
โพสต์โพสต์