หลังจากที่หลายฝ่ายกังวลและจับตามองถึงมาตรการใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กันยายน
ที่ผ่านมาหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่นานถึงสองวันของคณะกรรมการกำหนดนโยบาย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งตัดสินใจที่จะ
ปรับเปลี่ยนสัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารกลางถืออยู่ หรือที่เรียกกันว่า Operation Twist โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรระยะต่างๆ
ไล่ตั้งแต่ 6 ปี ไปจนถึง 30 ปี คิดเป็นมูลค่ารวม 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในเดือนมิถุนายน 2555 และจะขายพันธบัตรที่มี
กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี เป็นมูลค่าเท่าๆกัน ผลจากวิธีการดังกล่าวจะทำให้ราคาพันธบัตรระยะยาวปรับตัวขึ้น
ซึ่งหมายความว่าดอกเบี้ยจากพันธบัตรดังกล่าวก็จะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคธุรกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์
ที่มีการกู้ยืมเงินระยะยาว โดยผู้อ่านคงสังเกตว่ามาตรการดังกล่าวคล้ายกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ QE
ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่ Operation Twist จะต่างกับ QE ตรงที่ไม่มีการอัดฉีดเงิน
เพิ่มแต่เป็นการขายพันธบัตรระยะสั้น 6 เดือน ถึง 3 ปี ออกและนำเงินดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเม็ดเงินในระบบไม่ได้เพิ่ม
ขึ้นทำให้นักลงทุนมองว่านโยบายดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ ในภาวะที่การว่างงานยังอยู่ในระดับสูง
และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงถึงแม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบทั้ง QE1 และ QE 2 กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แล้วก็ตาม
นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวก็ถูกมองว่าอาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจธนาคาร หรือเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ตามปกติแล้วธุรกิจธนาคารจะ
มีรายได้หลักมาจากการบริหารส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปล่อยกู้ สำหรับส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยก็คือกำไร
ของธนาคารหรือที่เรียกว่า Net Interest Margins (NIM) หรือถ้ามองเป็นเส้นผลตอบแทนก็คือยิ่งเส้นผลตอบแทนชันมากขึ้นธนาคาร
ก็ยิ่งสามารถทำกำไรได้มาก แต่มาตรการดังกล่าวทำให้เส้นผลตอบแทนนั้นชันน้อยลง จึงทำให้ธนาคารโดยเฉพาะที่เน้นรายได้จาก
NIM จะได้กำไรน้อยลง อย่างไรก็ตามหลายๆท่านอาจเพิ่งเคยรู้จักแต่มาตรการ Operation Twist นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่และเคยใช้ได้
ผลมาแล้วเมื่อปี 1961 ซึ่งเป็นช่วงที่ Fed มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ และต่อมาในปี 2009 ก็ได้
ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวอีกครั้งเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการประกาศมาตรการ Operation Twist ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า ประกอบกับความกังวลในปัญหาเรื่องหนี้
ภาครัฐยุโรปที่เริ่มแสดงถึงปัญหาอีกครั้งในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารและกองทุนในสหรัฐไม่มั่นใจในฐานะการเงิน
ของธนาคารในยุโรปที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหา อาทิ กรีซ จึงไม่ให้เงินกู้ระยะสั้นแก่ธนาคารในยุโรปจนส่งผลให้เกิด
การขาดสภาพคล่องในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างหนัก จนธนาคารกลางยุโรป(ECB)ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมและเพิ่ม
สภาพคล่องให้กับธนาคารเหล่านั้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างแรงรวมไปถึงตลาดหุ้นไทยซึ่งปรับตัวลดลง 3 วันติดต่อ
กันกว่า 12% โดย ณ วันที่ 26 กันยายน 2554 ตลาดหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ 904.06 จุด นอกจากนั้นการถอนการลงทุนจาก
ประเทศตลาดเกิดใหม่และกลับไปถือเงินสดซึ่งเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้
ราคาทองคำที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวลดลงกว่า 10% มาปิดตัวที่ 1,615 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ ในวันเดียวกัน
ที่มา:ทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บริษัท