กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือธนาคารกสิกรไทยจัดสัมมนาใหญ่ของปีในหัวข้อ Economic Outlook 2012 : Is This Time Different?
โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า ฤๅประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย ชื่อของงานตั้งขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหนังสือขายดีของศาสตราจารย์เคนเนท โรกอฟฟ์ ผู้ประพันธ์ร่วมหนังสือ “This Time Is Different : Eight Centuries of Financial Folly” ผู้เป็นองค์ปาฐกพิเศษ
ครั้งนี้เป็นการมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกของศาสตราจารย์โรกอฟฟ์ โดยในการปาฐกถาในหัวข้อ “Is This Time Different?: A Perspective on Global Economy” นั้นศาสตราจารย์โรกอฟฟ์ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน และโยงไปถึงงานวิจัยเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลกที่ปรากฏในหนังสือขายดีของท่าน ซึ่งใช้เวลาค้นคว้า วิจัยถึง 7 ปี
ถ้าได้อ่านหนังสือของท่านก็จะทราบว่า การตั้งชื่อเรื่องเป็นการตั้งชื่อแบบเสียดสี เพราะทุกๆ ครั้งที่จะเกิดปัญหาและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกคนก็จะออกมาอ้างว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม โดยอาจจะอ้างว่าเรามีบทเรียนจากครั้งก่อนแล้ว เราได้ทำอะไรบางอย่างให้ดีขึ้นแล้ว แต่จากการศึกษา พบว่าผลของวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละครั้งไม่ค่อยจะแตกต่างกัน
วิกฤติเศรษฐกิจของซีกโลกตะวันตกนำโดยวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐอเมริกาเมื่อกว่า 3 ปีก่อนนั้น ศาสตราจารย์โรกอฟฟ์ก็ถือเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา
โดยท่านได้ยกค่าเฉลี่ยของวิกฤติต่างๆ มาให้ดูว่า จากการศึกษาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสเปนเมื่อปี 1977 ในญี่ปุ่นเมื่อปี 1992 นอร์เวย์ ปี 1987 ฟิลิปปินส์ ปี 1997 สวีเดน ปี 1991 ฮ่องกง 1997 โคลัมเบีย 1998 เกาหลีใต้ 1997 มาเลเซีย 1997 ฟินแลนด์ 1991 ไทย 1997 อินโดนีเซีย 1997 และอาร์เจนตินา 2001 พบค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงสูงสุดมาจนถึงช่วงต่ำที่สุดดังนี้
ราคาบ้าน จากช่วงสูงสุดถึงช่วงต่ำสุด ลดลงรวมเฉลี่ย 36% ในช่วงเวลาเฉลี่ยประมาณ 5 ปี (ฟินแลนด์ ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย และฮ่องกง ลดลงมากที่สุดคือประมาณ 50-55%ใช้เวลา 6-7 ปี ไทยลดประมาณ 19% ใช้เวลา 4 ปี)
ราคาหุ้น จากช่วงสูงสุดถึงช่วงต่ำสุดลดลงประมาณ 56% โดยใช้เวลา 3.4 ปี (ไทยลดลง 85% ใช้เวลา 5 ปี)
การว่างงาน มีการว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 7% ใช้เวลา 4.8 ปี (ไทยเพิ่มขึ้น 3% ใช้เวลา 1 ปี)
รายได้ของประเทศ วัดโดย รายได้ประชาชาติ หรือ จีดีพี ต่อหัวของประชากร ลดลงรวมกัน 9.3% ใช้เวลา 1.7 ปี (ไทยลดลง 14% ใช้เวลา 2 ปี)
หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็นแน่ชัดและทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขนาน หรืออาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ จากการศึกษาของศาสตราจารย์โรกอฟฟ์และศาสตราจารย์คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท พบว่าหนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบเท่าตัว คือเพิ่มขึ้นถึง 86% ซึ่งก็คือปัญหาที่กรีซและหลายๆ ประเทศในกลุ่มยูโรเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะบริษัทต่างๆ ในประเทศเกิดล้มละลาย เศรษฐกิจหดตัวลง (ตัวเลขจีดีพีที่เป็นตัวหารลดลง) และรัฐเก็บภาษีได้น้อยลงจึงไม่สามารถใช้คืนเงินต้นให้หนี้ลดลงไปด้วย
ศาสตราจารย์โรกอฟฟ์ ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาของยุโรปที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้จะยืดเยื้อ โดยธนาคารกลางหรืออีซีบี จะเข้ามารับหน้าที่ในการอัดฉีดสภาพคล่อง ซึ่งจะสามารถทำได้อีกค่อนข้างนาน และปัญหาจะแตกเมื่อเยอรมนีไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป โดยมองว่ายังไม่เกิดขึ้นในปีนี้
กลับมาเรื่องการลงทุนบ้าง ทุกปีดิฉันจะเขียนถึงพระเอกของการลงทุนในปีที่ผ่านมา ปีนี้ก็เช่นกันนะคะ แต่เนื่องจากในปี 2554 พระเอกไม่โดดเด่นมาก จึงจะขอนำท่านไปดูข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุนต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี คือตั้งแต่ต้นปี 2009 หรือ พ.ศ. 2552 ถึงสิ้นปี 2011 หรือสิ้นปี พ.ศ. 2554 ที่เพิ่งจะผ่านไปด้วย
ในปี 2554 เมื่อดูทั้งโลก การลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์หลักๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดคือทองคำ ให้ผลตอบแทน 10.06% ถัดมาเป็นน้ำมัน ให้ผลตอบแทน 8.15% ตามด้วยดัชนีพันธบัตรไทย ได้ผลตอบแทน 5.61% และสินทรัพย์กลุ่มสุดท้ายที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกคือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ หรือ REITs ให้ผลตอบแทน 1.7%
ที่เหลือให้ผลตอบแทนติดลบหมดเลยค่ะ คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยให้ผลตอบแทน -0.72% ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทน -1.18% ดัชนี MSCI หุ้นทั่วโลก -7.62% ดัชนี MSCI หุ้นตลาดเกิดใหม่ -20.41%
แต่ถ้าดูย้อนหลังไป 3 ปี จะพบว่า หุ้นไทยให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่น คือ 127.87% ตามมาด้วยน้ำมัน 121.59% ทองคำ 77.8% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ 67.89% ดัชนี MSCI หุ้นตลาดเกิดใหม่ 61.28% ดัชนี MSACI หุ้นทั่วโลก 28.51% ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ 22.27% ดัชนีพันธบัตรไทย 7.02%
ดูผลตอบแทนอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูความเสี่ยงด้วย ความเสี่ยงวัดได้จากความผันผวนค่ะ ค่าความผันผวนเฉลี่ยของสินทรัพย์หลักๆ เรียงจากมาก (เสี่ยงมาก) ไปหาน้อย มีดังนี้
น้ำมันมีค่าความผันผวนเฉลี่ยใน 5 ปีที่ผ่านมา 37.07% ต่อปี กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (REITs) 26.37% ต่อปี สินค้าโภคภัณฑ์ 23.97% ต่อปี ดัชนี MSCI หุ้นตลาดเกิดใหม่ ผันผวน 22.56% ต่อปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยหรือ SET Index ผันผวน 20.11% ต่อปี ดัชนี MSCI หุ้นทั่วโลก ผันผวน 18.91% ต่อปี ทองคำมีค่าความผันผวน 18.29% ต่อปี และดัชนีพันธบัตรไทยมีความผันผวน 3.2% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยค่าความผันผวนของสินทรัพย์ทุกๆ กลุ่มในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง เพราะ 5 ปี จะรวมถึงปีที่ตลาดเป็นขาขึ้นในช่วงปี 2550-2552 ก่อนจะตกลงมาในครึ่งหลังของปี 2552 ด้วย
ในฐานะผู้ลงทุน ความผันผวนทำให้เกิดทั้งโอกาสทำกำไร และโอกาสขาดทุน ผู้ลงทุนจึงต้องระมัดระวังมากขึ้น ตามที่ดิฉันเขียนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าต้องวางแผนการเงินให้ดีขึ้นค่ะ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ
Ref: http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... B8%A2.html
“Is This Time Different?: A Perspective on Global Economy”
- kabu
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 2149
- ผู้ติดตาม: 0
“Is This Time Different?: A Perspective on Global Economy”
โพสต์ที่ 1
"หนทางเดียวที่จะก้าวพ้นขอบเขตของความเป็นไปได้ คือก้าวเข้าสู่ความเป็นไปไม่ได้", Arthur C. Clarke
สมุดบันทึก: http://kabuvi.wordpress.com/
สมุดบันทึก: http://kabuvi.wordpress.com/