ยุคใหม่บรอดคาสต์ไทย อนาคตบนโอกาสและความเสี่ยง

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
sirimethagul
Verified User
โพสต์: 320
ผู้ติดตาม: 0

ยุคใหม่บรอดคาสต์ไทย อนาคตบนโอกาสและความเสี่ยง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ข้าสู่โค้งสุดท้ายของการยกร่าง 3 แผนแม่บทหลักของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การเปิดเวทีเพื่อแสดงความเห็นต่อร่างดังกล่าวจึงมีขึ้นเป็นระยะ โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 ก.พ. 2555) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) เปิดเวทีในหัวข้อ "ทิศทางและโอกาสของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ยุคใหม่"

โดย "พันเอกนที ศุกลรัตน์" กรรมการ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง (กสท.) กล่าวว่า แนวคิดปฏิรูปกิจการวิทยุและโทรทัศน์เกิดขึ้นเพราะสื่อด้านนี้มีมากขึ้นทุกวัน อาทิ วิทยุชุมชนกว่า 6,000 สถานี, ทีวีดาวเทียมและเคเบิลอีก 900 สถานี การกำกับดูแลโดย "กสทช." จึงจำเป็นที่จะให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสนำเสนอคอนเทนต์และมีเสรีในการแข่งขัน พร้อมส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลภายใน 4 ปี ทั้งด้านวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกจากจำนวนช่องรายการที่มากขึ้นกว่า 100 ช่อง

"อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้งกล่าวว่า แผนแม่บทของ กสทช.จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ การก้าวสู่ดิจิทัลทีวี เกิดมัลติแชนเนล ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น มูลค่าของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ต้นทุน ผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4% เนื่องจากมีต้นทุนตามกฎหมายทั้งจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และการแบ่งรายได้ให้กองทุนพัฒนาสื่อ ซึ่งอาจทำให้มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 5-7 กลุ่ม มีรายย่อยเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็น เครือข่ายภายใต้การนำของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะที่การผลิตเนื้อหาต้องเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ลึกมากขึ้น และนำไปต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ได้

ปัจจุบันผู้ให้บริการเคเบิลรายใหม่มี ผู้ชมกว่า 15,000 ครัวเรือน มี 19 ราย มีจำนวนช่อง 80-150 ช่อง ผู้ให้บริการขนาดกลาง 125 ราย มีช่องตั้งแต่ 60-80 ช่อง ขณะที่ผู้ให้บริการรายเล็กที่มีผู้ชมต่ำกว่า 5,000 ครัวเรือน มี 206 ราย มีจำนวนช่อง 60 ช่อง ขณะที่อัตราการขยายตัวของครัวเรือนที่ติดตั้งจานดาวเทียมเติบโตแบบก้าวกระโดด จากที่มี 642,000 ครัวเรือน เมื่อ ก.ย. 2549 เป็น 8,083,000 ครัวเรือนในปีที่แล้ว

สวนทางกับอัตราการเติบโตของเคเบิลทีวีที่เคยมีถึง 1,678,000 ครัวเรือนในปี 2549 และสูงถึง 2,618,000 ครัวเรือนในปี 2553 แต่ลดลงเหลือ 2,370,000 ครัวเรือนในปีก่อน โดยเฉพาะครัวเรือนในเขตเทศบาล ตลาดสำคัญของเคเบิลทีวีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีจานดาวเทียมที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงเข้ามาแทนที่ แต่เชื่อว่าปีที่แล้วเป็นช่วงพีกสุดของธุรกิจทีวีดาวเทียมแล้ว

"การประมูลคลื่นสำหรับดิจิทัลทีวี หรือคลื่นวิทยุธุรกิจ อาจเป็นความ ผิดพลาดอีกครั้งของอุตสาหกรรมนี้ เพราะทุกคนต่างมีสื่อกระจายอยู่หลายช่องทางมากพอที่จะเลือกว่าจะอยู่บนสื่อไหน ไม่ว่าจะออนไลน์, โมบาย, ดาวเทียม ฯลฯ ซึ่งผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากอยู่แล้ว ณ เวลานั้น ทีวีดาวเทียมน่าจะเข้าถึงหมดทุกครัวเรือนแล้ว การต่อสู้จึงเป็นการต่อสู้ด้านคอนเทนต์ เป็นความท้าทายอย่างมากของธุรกิจที่เดิมผูกขาดอยู่เพียงฟรีทีวี 6 ช่อง ซึ่งไม่ต้องรอ กสทช.จัดให้ก็เกิดอยู่แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าหากจัดประมูลจริงจะมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมแค่ไหน เวลานี้การแข่งขันรุนแรงยิ่งกว่า Red Ocean กสทช.ควรเน้นไปที่การวางกติกาไม่ให้ใครเอาเปรียบใคร มากกว่า"

ด้าน "ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ" นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวถึงโครงสร้างทีวีไทยในปัจจุบันว่า หากนับเป็นช่องมีทั้งหมด 440 ช่อง แบ่งเป็นฟรีทีวีที่ใช้เสาถ่ายทอดสัญญาณ (ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส) อีก 6 ช่อง ทรูวิชั่นส์ 111 ช่อง ทีวีแบบบอกรับสมาชิก (pay tv) 63 ช่อง ฟรีทีวีตามเคเบิล-ทีวีดาวเทียมอีก 260 ช่อง โดยใช้การถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม 5 จำนวน 304 ช่อง ดาวเทียม NSS-6 จำนวน 120 ช่อง และ AsiaSat จำนวน 16 ช่อง

"เทคโนโลยีไม่ใช่ข้อจำกัดอีกแล้ว เพราะมีการพัฒนากล่องรับสัญญาณที่ดูรายการได้จากดาวเทียมทั้ง 3 ดวง และยังเริ่มมีการพัฒนาให้รับสัญญาณจากช่องทางอื่น ๆ นอกจากดาวเทียมได้แล้วด้วย แต่อุปสรรคสำคัญของธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมคือ การวัดเรตติ้ง ผู้ชมที่ยังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพวัดข้อมูลที่จะนำมาแจกแจงให้เจ้าของงบฯโฆษณาเชื่อถือมากพอ"

โดยข้อมูลส่วนใหญ่ที่เอเยนซี่ให้ความสำคัญยังเป็นข้อมูลจากบริษัทวิจัยหลักอย่าง "นีลเส็นฯ" ซึ่งใช้ฐานประชากรที่ชมเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมน้อยมาก ทำให้ในปี 2554 ที่ผ่านมางบฯโฆษณาที่เข้ามาในอุตสาหกรรมสื่อที่มี 10,612 ล้านบาท กว่า 83% หรือ 51,626 ล้านบาท นำไปใช้ในฟรีทีวีเดิม แบ่งกัน 6 ช่อง อีก 17% เข้ามาในวงการทีวีดาวเทียมและเคเบิล ซึ่งมีผู้ประกอบการเป็น 100 รายแย่งชิงกัน ทั้ง ๆ ที่ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ดูทีวีของนีลเส็นฯเองที่สำรวจจาก 260 ครัวเรือน พบว่า ผู้บริโภคใช้เวลาดูทีวี 4 ชั่วโมง 28 นาที และดูประมาณ 80 ช่องต่อวัน เป็นการดูฟรีทีวี 6 ช่องหลัก 2 ชั่วโมง 35 นาที คิดเป็น 57.8% ที่เหลืออีก 42.2% หรือราว 1 ชั่วโมง 53 นาที ดูเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม

"โจทย์สำคัญของ กสทช.จึงอยู่ที่การเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเครื่องมือวัดเรตติ้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนที่จะนำไปพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ให้ธุรกิจเดินต่อไป"

ขณะที่ "ชนิตร ชาญชัยณรงค์" รอง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำธุรกิจบรอดคาสต์มาก่อน พบว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ยิ่งนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ยิ่งต่อยอดธุรกิจได้มาก แต่ กสทช.ต้องวางกฎกติกาให้ชัดเจน หากไม่ชัดหรือไม่แน่นอนโอกาสระดมทุนได้จะลดลง

"ถ้าจะมีการประมูลใบอนุญาตด้านบรอดคาสต์ อยากให้ กสทช.คำนึงถึงต้นทุนของผู้ประกอบการให้รอบด้าน ไม่ใช่คำนึงถึงเม็ดเงินที่จะได้จากการประมูลอย่างเดียว แม้กลุ่มบรอดคาสต์จะมีมูลค่าตลาดราว 100,000 ล้านบาท ไม่ได้มากเท่าโทรคมนาคมที่เป็นแสน ๆ ล้าน แต่โอกาสเติบโตมีอีกมาก ก่อนหน้านี้ที่ กทช.จะประมูล 3G ตลท.เคยเสนอให้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ชนะประมูลต้องนำบริษัทเข้าตลาดใน 5 ปี เพื่อให้กลไกของตลาดบังคับให้เปิดเผยข้อมูลและมีธรรมาภิบาล จึงอยากจะเสนอให้นำไปใช้กับการประมูลด้าน บรอดคาสต์เหมือนกัน"

สำหรับการประมูลนั้น "ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช" ประธาน ISEP กล่าวว่า กสทช.ไม่ควรนึกถึงแต่เม็ดเงินที่จะได้จากประมูลอย่างเดียว ควรจัดสรรคลื่นใหม่ด้วยการประกวด หรือ "beauty contest" เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีทุนไม่มากแข่งกับรายใหญ่ได้ โดยเสนอเงื่อนไขที่สังคมจะได้รับจากการประกอบการที่ดีกว่า เป็นการใช้ความสามารถเป็นหลัก ไม่ใช่วัดกันที่เงิน ที่สำคัญกิจการด้านบรอดคาสต์เป็นการใส่สาระเข้าไปในสมองผู้บริโภค จึงควรระวังเรื่องการครอบงำหรือชี้นำทางความคิดของประชาชนด้วย

"สุระ เกนทะนะศิล" รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท กล่าวว่า หาก กสทช.มุ่งแต่เม็ดเงินจากการประมูล ยักษ์ตัวแรกที่จะล้มอาจเป็น อสมท เพราะไม่มีเงินมากพอจะไปแข่งกับใครได้ ที่ผ่านมาวงการบรอดคาสต์มีบทเรียนจากการประมูลโทรทัศน์ไอทีวีมาแล้ว สิ่งแรกที่อยากให้ กสทช.ทบทวนคือจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลเพื่ออะไร ไม่ควรมุ่งแต่สร้างความเจริญให้สังคมจนเป็นการปลูกฝังความเชื่อค่านิยมทำให้ทุกจังหวัดกลายเป็นกรุงเทพฯ และควรมองเรื่องความมั่นคงของประเทศด้วย

"เวลานี้เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม โฆษณามอมเมาประชาชนมาก เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นมากมายจนทำให้คนทะเลาะกัน แตกแยกรุนแรง ถ้าเปลี่ยนเป็นวิทยุ เป็นทีวีดิจิทัลมีช่องเกิดขึ้นอีกมาก กสทช.จะกำกับดูแลเนื้อหาอย่างไร เงินสำหรับการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลราว 5,000 ล้านบาท หากต้องสร้างโครงข่ายเอง แม้ไม่มากแต่ถามว่ามีเงินตอนนี้จะลงทุนดิจิทัลหรือไม่ คงตอบว่าไม่ ทำไปก็สู้ทีวีดาวเทียมไม่ได้ เพราะระบบดิจิทัลผู้ชมต้องลงทุนเครื่องรับเพิ่ม และยังไม่รู้ว่า กสทช.จะสนับสนุนการลงทุนอะไรบ้าง ขณะที่ทีวีดาวเทียมไม่แน่ว่า กสทช.จะกำกับดูแลได้แค่ไหน ตอนนี้ใครจะทำอะไรก็ได้"

ขณะที่ประเด็นการห้ามครอบงำสื่อด้วยการครองสิทธิ์ข้ามสื่อนั้น "อดิศักดิ์" จากเนชั่น บรอดแคสติ้งกล่าวว่า แนวคิดการห้ามครองสิทธิ์ข้ามสื่อในต่างประเทศมุ่งไปที่การห้ามมีอำนาจเหนือตลาด คือไม่ให้ผู้ใดมีอำนาจในการชี้นำหรือครอบงำความคิดของผู้บริโภค ไม่ใช่ห้ามใช้สื่อหลายแบบเผยแพร่ข้อมูล หากไม่ยอมให้มีการเผยแพร่คอนเทนต์ในหลายช่องทาง ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์หลายรายคงต้องล้มหายตายจากไปโดยเฉพาะกลุ่มหนังสือพิมพ์ กสทช. จึงควรวางจุดยืนให้ถูกต้อง

เช่นเดียวกันนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมเห็นว่า การห้ามครองสิทธิ์ข้ามสื่อควรเป็นการแบ่งลักษณะการประกอบกิจการระหว่างเน็ตเวิร์กโพรไวเดอร์กับคอนเทนต์โพรไวเดอร์ให้แยกกันชัดเจน ไม่ให้มีการครอบงำโดยบริษัทเดียว
ไม่ต้องบินให้สูงอย่างใครเข​า…
จงบินเอาเท่าที่เราจะบินไหว
ท่าที่บินไม่จำเป็นต้องเหมื​อนใค­ร
แค่บินไปให้ถึงฝัน เท่านั้นพอ :)
โพสต์โพสต์