ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
randomwalk
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 728
ผู้ติดตาม: 0

ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมได้อ่านบทความจาก CNN Money ซึ่งได้นำเนื้อหาจากนิตยสารฟอร์จูนมาเผยแพร่ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงเลือกที่จะแปลมาให้อ่านดังนี้ครับ

บทความนี้เป็นบทความที่ดัดแปลงมาจากจดหมายผู้ถือหุ้น ซึ่งวอร์เรน บัฟเฟตต์ได้อธิบายไว้ว่าทำไมการลงทุนในหุ้นถึงให้ผลตอบแทนเหนือกว่าการลงทุนประเภทอื่นเสมอ


การลงทุนโดยทั่วไปแล้วคนมักให้คำนิยามว่าคือกระบวนการที่วางเงินในปัจจุบันเพื่อคาดหวังให้ได้เงินที่มากกว่าในอนาคต แต่ที่เบิร์กไชร์ ฮาทะเวย์ เราให้คำนิยามไว้ที่มากกว่านั้นคือ การลงทุนคือการวางอำนาจซื้อในปัจจุบัน และคาดหวังอย่างมีเหตุผลเพื่อให้ได้อำนาจซื้อ (หลังจากหักภาษีจากกำไรที่ได้) ที่มากกว่าในอนาคต กล่าวคือ การลงทุนคือการเลื่อนการบริโภคของเราในปัจจุบันเพื่อให้สามารถบริโภคมากกว่าในภายหลัง

จากคำนิยามของเราทำให้ได้หลักการที่สำคัญตามมาคือ ความเสี่ยงของการลงทุนไม่ได้ถูกวัดโดยค่า beta (คำที่ใช้แสดงถึงความผันผวนของตลาด และบ่อยครั้งที่ถูกนำมาใช้ในการวัดความเสี่ยง) แต่ความเสี่ยงของการลงทุนที่แท้จริงจะถูกวัดโดยความน่าจะเป็นที่มีเหตุผล ในช่วงเวลาการลงทุนราคาของสินทรัพย์สามารถเหวี่ยงไปมาอย่างรุนแรงได้ แต่ความผันผวนนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นความเสี่ยงตราบใดที่สินทรัพย์เหล่านั้นมีเหตุผลที่เชื่อถือได้ว่าจะสามารถเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าของได้ในระยะเวลาที่ลงทุน ในทางกลับกัน เรากลับคิดว่าสินทรัพย์ที่ไม่ผันผวนจะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

ทางเลือกการลงทุนในปัจจุบันมีมากและหลากหลาย อย่างไรก็ตามมีประเภทการลงทุนหลัก 3 หมวดหมู่ที่เราควรจะเข้าใจลักษณะของมัน ดังนี้

หมวดหมู่แรกคือ “การลงทุนเกี่ยวข้องกับเงิน” ซึ่งจะรวมถึง กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น พันธบัตร การให้สินเชื่อบ้าน การฝากเงิน และเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ “การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเงิน” โดยส่วนใหญ่แล้วทุกคนจะว่า “ปลอดภัย” แต่ในความเป็นจริงแล้วจัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่อันตรายที่สุด ถึงแม้ว่าค่า beta ของมันจะเป็น 0 (ไม่มีความผันผวน) แต่ความเสี่ยงของมันกลับมีมาก

ในศตวรรษที่ผ่านมา เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ทำลายอำนาจซื้อของนักลงทุนในหลายประเทศ ถึงแม้ว่านักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นครบตามกำหนด แต่ผลลัพธ์แย่ๆที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดค่าสุดท้ายของเงิน และแรงผลักดันจากระบบจะทำให้นโยบายของรัฐผลิตการเฟ้อของเงิน และในบางครั้งนโยบายเหล่านี้ไปไกลจนเกินกว่าที่จะควบคุมได้

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งมีสกุลเงินที่แข็งแกร่ง แต่ดอลล่าร์ก็ยังด้อยค่าไป 86% เมื่อเทียบกับปี 1965 ซึ่งเป็นปีที่ผมได้เข้ามาบริหารที่เบิร์กไชร์ เราต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ดอลล่าร์ในปัจจุบันเพื่อซื้อของ 1 ดอลล่าร์ในเวลานั้นเพียงแค่เพื่อที่จะรักษาอำนาจซื้อให้เท่าเดิม สถาบันการเงินที่ไม่ต้องเสียภาษีต้องการดอกเบี้ยถึง 4.3% ต่อปีจากการลงทุนในพันธบัตรตลอดช่วงเวลาดังกล่าว และคงน่าขันถ้าสถาบันการเงินเหล่านี้เอาดอกเบี้ยเหล่านี้นับเป็น “รายได้” (เพราะที่จริงแล้วเขาเพียงแค่รักษาอำนาจซื้อให้เท่าเดิม แต่ไม่ได้อะไรเพิ่มเลย)

สำหรับนักลงทุนที่ต้องเสียภาษีอย่างคุณกับผมแล้ว ภาพของมันจะแย่กว่านั้น ในระหว่าง 47 ปีเดียวกัน การซื้อตั๋วเงินคลังไปเรื่อยๆจะให้ผลตอบแทน 5.7% ต่อปี ซึ่งมันก็ดูน่าพอใจ แต่นักลงทุนต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่อัตรา 25% นั่นหมายความว่าผลตอบแทน 5.7% ไม่ได้ดูมีค่าอะไรเลยในภาพของผลตอบแทนที่แท้จริง ผลตอบแทนของนักลงทุนจะแบ่งเป็น ส่วนของ “ภาษีเงินได้” ที่ต้องเสียประมาณ 1.4% และ ส่วนของ “เงินเฟ้อ” 4.3% เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนของเงินเฟ้อมีค่ามากกว่า 3 เท่าของภาษีเงินได้ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะกังวลเฉพาะเรื่องภาษีเงินได้เท่านั้น

ดอกเบี้ยที่สูงย่อมชดเชยกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่นักลงทุนเจอใน “การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเงิน” แต่จริงๆแล้ว ดอกเบี้ยในต้นทศวรรษที่ 1980 มีอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว และในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนไม่สามารถชดเชยความเสี่ยงของการด้อยค่าของอำนาจซื้อ ดังนั้นปัจจุบันควรหลีกเลี่ยง “การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเงิน” หรือการลงทุนใน “ตราสารหนี้”

ดังนั้นในสภาวะปัจจุบัน ผมไม่ชอบ “การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเงิน” แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเบิร์กไชร์ก็ยังถือของสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่นั่นก็เป็นเพราะเรื่องสภาพคล่องในระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งเราจะถือ “ตั๋วเงินคลังระยะสั้น” ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่นับได้ว่าถือไว้สำหรับสภาพคล่องท่ามกลางเศรษฐกิจที่วุ่นวายในปัจจุบัน สภาพคล่องของการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจะเราจะไม่ให้ต่ำกว่า 1หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นอกเหนือจากสภาพคล่องและกฎระเบียบของรัฐ เราจะซื้อ “สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องเงิน” ก็ต่อเมื่อมีโอกาสในการทำกำไรได้ในสภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่งการทำกำไรอาจจะมาจากการให้ราคาที่ผิดของตลาดในช่วงที่ตลาดย่ำแย่ หรือมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปสูงมากจนมีความเป็นไปได้ที่จะขายทำกำไรในอนาคตเมื่ออัตราดอกเบี้ยตกลง ถึงแม้ว่าเราได้ทำกำไรในโอกาสหลายครั้งในอดีต และจะทำอีกในอนาคต แต่ตอนนี้เราไม่เห็นโอกาสตรงนั้นแม้แต่น้อย Shelby Cullom Davis ได้กล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วดูเหมือนจะเหมาะสมในตอนนี้ “ตราสารหนี้เคยได้ถูกยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนโดยปราศจากความเสี่ยง แต่ตอนนี้มันได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ความเสี่ยงโดยปราศจากผลตอบแทน"

การลงทุนหมวดหมู่ที่สองคือ “การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่ไม่เคยผลิตอะไรเลย” แต่สินทรัพย์ถูกซื้อโดยความหวังของผู้ซื้อว่าจะมีใครบางคนยอมให้ราคาที่สูงกว่าในอนาคต (ซึ่งใครบางคนนั้นก็รู้เช่นกันว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะไม่ผลิตอะไรเลย) “เรื่องราวของดอกทิวลิป” ในศตรวรรษที่ 17 เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการซื้อในลักษณะดังกล่าว

การลงทุนประเภทนี้ต้องการที่จะขยายฐานของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อก็เชื่อว่าฐานของผู้ซื้อจะยังขยายต่อไปเรื่อยๆ เจ้าของสินทรัพย์จะไม่สนใจว่าสินทรัพย์ของเขาจะผลิตอะไร แต่จะสนใจว่ามันจะคงอยู่ตลอดไป และเชื่อว่าบุคคลอื่นจะต้องการมากขึ้นในอนาคต

สินทรัพย์หลักของการลงทุนหมวดหมู่นี้ก็คือ “ทองคำ” ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่กลัวทรัพย์สินประเภทอื่นๆเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนบัตร (กลัวว่าค่าของเงินจะด้อยค่าลง) อย่างไรก็ตามทองคำมีข้อเสียอยู่ 2 ประการคือ ทองคำไม่ได้ถูกบริโภคเป็นจำนวนมาก และ ทองคำไม่ได้นำไปใช้ผลิตอะไรเป็นจำนวนมาก จริงอยู่ที่ทองคำถูกใช้ในบางอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องประดับ แต่ความต้องการเหล่านี้ถูกจำกัด และไม่สามารถที่จะผลิตทองคำเพิ่มเติมจากที่เราครอบครองอยู่ให้ขยายเป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นเจ้าของทองคำ 1 ออนซ์ ท้ายที่สุดแล้วคุณก็จะมีทองคำอยู่ 1 ออนซ์อยู่ดี

ตัวกระตุ้นผู้ซื้อทองคำที่สำคัญที่สุดก็คือความเชื่อว่า “ความกลัว” จะมากขึ้นทุกวัน ในทศวรรษที่ผ่านมากความเชื่อนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง นอกเหนือไปจากนั้นราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นก็เป็นตัวดึงดูดผู้ซื้อหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็น “กระแสนิยม” ซึ่งผู้ซื้อเหล่านี้จะสร้างความจริงในหมู่ของพวกเขาเอง (แต่เพียงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง)

ใน 15 ปีที่ผ่านมา หุ้นอินเตอร์เน็ต หรือ บ้าน ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความผิดปกติโดยได้รวมสมมติฐานที่น่าจะเชื่อถือได้กับการรับรู้ว่าราคาของมันได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงฟองสบู่นี้มีนักลงทุนที่ตอนแรกยังสงสัย แต่กลับเปลี่ยนใจเมื่อได้เห็น “หลักฐาน” ของตลาด และฐานของผู้ซื้อที่ขยายขึ้นเรื่อยๆจนมากพอที่ทำให้ “กระแสนิยม” ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่ฟองสบู่ก็พองขึ้นจนใหญ่มากพอที่เกินกว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ให้แตก และในที่สุดสำนวนสุภาษิตเก่าแก่ก็กลับมายืนยันอีกครั้งว่า “อะไรที่คนฉลาดทำในตอนแรก คนโง่เขลาจะทำสิ่งนั้นในตอนสุดท้าย”

ในปัจจุบัน ทองคำคงเหลือในโลกมีอยู่ที่ 170,000 ตัน ถ้าทองคำทั้งหมดในโลกหลอมรวมกันจะสามารถสร้างเป็นลูกบาศก์ที่มีความยาวข้างละ 68 feet (สนามเบสบอลเพียงแค่ 1 สนาม) ในราคาทองคำที่ 1,750 เหรียญสหรัฐ ต่อออนซ์ (ราคา ณ ตอนเขียนบทความ) ค่าของทองคำคงเหลือในโลกจะมีมูลค่าประมาณ 9.6 ล้านล้าน เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเรียกลูกบาศก์นี้ว่า “ก้อน A”

เรามาสร้าง “ก้อน B” กันในมูลค่าที่เท่ากัน เราจะได้พื้นที่การเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด (400 ล้านเอเคอร์ ซึ่งมีผลผลิต 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) บวกด้วย บริษัท Exxon Mobils 16 บริษัท (บริษัทที่มีกำไรมากที่สุดในโลก กำไรมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) หลักจากการซื้อแล้วเรายังเหลือเงินใช้เล่นๆอีกประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถึงตอนนี้ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่มีเงิน 9.6 ล้านล้านเหรียฐสหรัฐ คุณจะลงทุนใน “ก้อน A” หรือ “ก้อน B”?

นอกเหนือจากการประเมินมูลค่าของทองคำคงเหลือในปัจจุบันแล้ว ราคาทองคำที่สูงในปัจจุบันดึงดูดให้มีการผลิตทองคำเพิ่มเติมประมาณ 1.6 แสนล้านเหรียญต่อปี ผู้ซื้อ (ผู้ใช้เครื่องประดับ อุตสาหกรรมที่ใช้ทองคำ นักลงทุน หรือนักเก็งกำไร) จะต้องบริโภคเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อสอดคล้องกับอุปทานเหล่านี้เพื่อให้รักษาราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

100 ปีต่อจากนี้ 400 ล้านเอเคอร์ของพื้นที่การเกษตรจะผลิตข้าวโพด ข้าวสาลี ฝ้าย และ ผลิตผลอื่นๆ เป็นจำนวนมหาศาล และจะยังคงให้ผลผลิตที่มีคุณค่าอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆโดยไม่สนใจว่าค่าของเงินจะเปลี่ยนไปเช่นไร Exxon Mobil ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐในรูปแบบของเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น และยังคงมีสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ในบริษัทอีกหลายล้านล้าน (อย่าลืมว่าคุณมี Exxon 16 บริษัท) สำหรับทองคำ 170,000 ตันแล้วก็ยังมีขนาดเท่าเดิม และยังคงไม่สามารถผลิตอะไรออกมาได้ คุณอาจจะสามารถทะนุถนอมก้อนลูกบาศก์นี้ได้ แต่มันก็อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ตอบสนองอะไรแก่เรา

แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อคนอีกหนึ่งร้อยปีนับจากนี้มีความกลัว ก็ดูเหมือนจะมีคนวิ่งเข้าหาทองคำเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่า “ก้อน A” ที่ถูกประเมินด้วยมูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบันจะให้ผลตอบแทนในอัตราที่ทบต้นที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ “ก้อน B”
การลงทุนใน 2 หมวดหมู่แรกจะให้ผลดีเมื่อมีความกลัวเกิดขึ้นที่จุดสูงสุด เมื่อเศรษฐกิจล่มสลายนักลงทุนจะย้ายการลงทุนมาสู่ “สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเงิน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารที่ออกโดยรัฐบาลอเมริกา และถ้ามีความกลัวในการล่มสลายของค่าของเงิน นักลงทุนก็จะย้ายเข้าการลงทุนสู่ “สินทรัพย์คงทนที่ไม่ผลิตอะไร” เช่น ทองคำ เราเคยได้ยินคำว่า “เงินสดคือพระเจ้า” ในปลายปี 2008 ซึ่งเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อเงินสดต้องการถูกใช้ มากกว่าที่ต้องการถูกถือครอง ในลักษณะเดียวกัน เราได้ยินคำว่า “เงินสดคือขยะ” ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่การลงทุนในตราสารหนี้น่าดึงดูดที่สุดในความทรงจำของผม


คุณคงรู้ว่าการลงทุนหมวดหมู่ที่สาม ซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่ผมชอบคืออะไร นั่นก็คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลิตผลไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ เกษตรกรรม หรือ อสังหาริมทรัพย์ ในทางอุดมคติแล้วทรัพย์สินเหล่านี้มีความสามารถที่จะให้ผลผลิตเพื่อรักษาอำนาจซื้อโดยต้องการเงินลงทุนเพิ่มที่ต่ำ เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ และหลายๆธุรกิจ เช่น Coca-Cola IBM See’s Candy ส่วนบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคที่ถูกควบคุมจะไม่ดีเพราะต้องการเงินลงทุนที่สูง เพื่อที่จะได้กำไรมากขึ้นพวกเขาจำเป็นต้องลงทุนสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนพวกนี้ก็ยังคงดีกว่าการลงทุนใน “สินทรัพย์ที่ไม่ผลิตอะไร” กับ “สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเงิน”

ไม่ว่าอีกร้อยปีต่อจากนี้เงินจะอ้างอิงกับทองคำ เปลือกหอย ฟันของฉลาม หรือเศษกระดาษ (เช่น ธนบัตรในปัจจุบัน) คนยังคงต้องการแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่งของแรงงานของเขากับ Coca-Cola หรือ ขนมเนยถั่วของ See ในอนาคตประชาชนในสหรัฐจะแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น บริโภคอาหารมากขึ้น และต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่มากขึ้น มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนจะยังคงแลกเปลี่ยนสิ่งที่เขาผลิตกับสิ่งที่คนอื่นผลิตตลอดไป

ธุรกิจในประเทศของเราจะยังคงส่งมอบสินค้าและบริการที่มีความต้องการจากประชาชนอย่างประสิทธิภาพ เปรียบเหมือน “วัว” ที่จะมีอายุยืนยาวหลายร้อยปีและให้ “น้ำนม” ที่มากขึ้นเรื่อยๆ คุณค่าของมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตนม กำไรที่ได้จากการขายน้ำนมจะทบต้นให้แก่เจ้าของวัว เหมือนกับที่ดัชนีดาวโจนส์ได้ทำไว้ในศตรวรรษที่ 20 ที่ขึ้นมาจาก 66 ไป 11,497 (และยังจ่ายเงินปันผลจำนวนมหาศาลในระหว่างนั้น)

เป้าหมายของบริษัทเบิร์กไชร์คือการเพิ่มความเป็นเจ้าของในธุรกิจชั้นเยี่ยม ถ้าเลือกได้เราจะเป็นเจ้าของกิจการนั้นทั้งหมด อย่างไรก็ตามเราก็อาจจะเป็นเจ้าของโดยการถือหุ้นที่ในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญเช่นกัน ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้วการลงทุนประเภทนี้จะพิสูจน์ว่าเป็นผู้ชนะในการลงทุน 3 ประเภทที่เราได้กล่าวถึง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเป็นการลงทุนที่ “ปลอดภัยที่สุด” เช่นกัน

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติมได้ที่ http://randomwalk.bloggang.com
แนบไฟล์

ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6483
ผู้ติดตาม: 1

Re: ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณที่แปลให้อ่านครับ
100 ปีต่อจากนี้ 400 ล้านเอเคอร์ของพื้นที่การเกษตรจะผลิตข้าวโพด ข้าวสาลี ฝ้าย และ ผลิตผลอื่นๆ เป็นจำนวนมหาศาล และจะยังคงให้ผลผลิตที่มีคุณค่าอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆโดยไม่สนใจว่าค่าของเงินจะเปลี่ยนไปเช่นไร Exxon Mobil ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐในรูปแบบของเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น และยังคงมีสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ในบริษัทอีกหลายล้านล้าน (อย่าลืมว่าคุณมี Exxon 16 บริษัท) สำหรับทองคำ 170,000 ตันแล้วก็ยังมีขนาดเท่าเดิม และยังคงไม่สามารถผลิตอะไรออกมาได้ คุณอาจจะสามารถทะนุถนอมก้อนลูกบาศก์นี้ได้ แต่มันก็อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ตอบสนองอะไรแก่เรา
คนไหร่ที่คนคิดว่าราคาทองไม่มีวันลง อันนี้น่ากลัว
ตอนนี้ราคาลงก็มีคนเข้าไปช้อน เพราะมันเด้งทุกครั้ง
เมื่อไหร่ที่มันไม่เด้งละก็....

ตราสารทองคำที่เป็นอนุพันธ์นี่น่ากลัวครับ
ผิดทางแค่ 3-4% ก็เหนื่อยแล้วเพราะ leverage เยอะ
คล้ายๆ tfex ซื้อแล้วนอนไม่หลับ สับสน ตอนนี้ผมเลิกหมดแล้ว :?
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6483
ผู้ติดตาม: 1

Re: ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

โพสต์ที่ 3

โพสต์

:shock: เพิ่งสังเกต
บล็อคคุณ random มีบทความดีๆทั้งนั้นเลย
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
randomwalk
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 728
ผู้ติดตาม: 0

Re: ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ลูกอิสาน เขียน::shock: เพิ่งสังเกต
บล็อคคุณ random มีบทความดีๆทั้งนั้นเลย
ขอบคุณมากครับที่พี่ลูกอิสานให้เกียรติชม
ภาพประจำตัวสมาชิก
newbie_12
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2912
ผู้ติดตาม: 1

Re: ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

โพสต์ที่ 5

โพสต์

แจ่มมากครับ จะแวะเข้าไปอ่านบ่อยๆ
.
.
อดีตอันรุ่งโรจน์ ไม่ได้การันตีอนาคตจะรุ่งเรือง

----------------------------
tigerroad197
Verified User
โพสต์: 390
ผู้ติดตาม: 0

Re: ทำไม “หุ้น” ดีกว่า “ทองคำ” และ “ตราสารหนี้”

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
โพสต์โพสต์