วิกฤตอียูบวกน้ำท่วมกระทืบส่งออกเดือนเมษายนลบอีก 3.67% ขาดดุลหนัก 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ “ภูมิ” ปากแข็งยันเป้าปีนี้ยังโตถึง 15%
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายน 2555 มียอดส่งออกมูลค่า 16,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.67% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 515,987.5 ล้านบาท ลดลง 2.20% ขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคมมีมูลค่า 19,787.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.87% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 611,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.49% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,867.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 95,020.4 ล้านบาท
ส่วนยอดส่งออก 4 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 71,561.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.86% คิดในรูปเงินบาทมี 2.2 ล้านล้านบาท ลดลง 1.76% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 79,615.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.79% คิดในรูปเงินบาทได้ 2,484,301.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.08% ส่งผลให้ 4 เดือนไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 8,054.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทขาดดุลการค้ามูลค่า 276,009 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกขยายตัวติดลบ มาจากผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้การส่งออกสินค้าไปในตลาดหลักขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และที่สำคัญยังเกิดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจยุโรปที่กำลังลุกลามออกไปทั่ว โดยสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว อีกทั้งในเดือนเมษายนยังตรงกับช่วงวันหยุดสงกรานต์ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีวันหยุดเยอะ
ทั้งนี้ เมื่อดูเป็นรายหมวดสินค้าพบว่าสินค้าปรับลดลงทั้งในหมวดสินค้าเกษตร และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 3.9% สินค้าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวลด 32% ยางพาราลด 22.1% แต่สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่ม 41.8% น้ำตาลเพิ่ม 33% สินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 3.9% ได้แก่ ผัก ผลไม้สดและแปรรูปเพิ่ม 4.4% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปเพิ่ม 15%
ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ภาพรวมลดลง 6.4% โดยสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกลด 9.9% สิ่งทอลด 20.3% วัสดุก่อสร้างลด 9.9% อัญมณีและเครื่องประดับลด 49.6% สิ่งพิมพ์ลด 71.3% เครื่องเดินทางและเครื่องหนังลด 6.7% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนลด 13.5% เลนส์ลด 32.4% ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 1.7% เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 2.8% ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบเพิ่ม 28% ผลิตภัณฑ์ยางเพิ่ม 6.5% เครื่องสำอางเพิ่ม 14.6% อาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่ม 12.4% เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมเพิ่ม 6.1%
ส่วนการส่งออกแยกเป็นรายตลาด ในตลาดหลักลดลง 6.8% ได้แก่ ญี่ปุ่นลด 7.7% สหรัฐฯ ลด 1.1% และสหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศลด 11.4% ตลาดศักยภาพสูง ภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.1% ได้แก่ อาเซียนเพิ่ม 6.7% จีนเพิ่ม 16.5% อินเดียเพิ่ม 0.1% และเกาหลีใต้เพิ่ม 13.2% แต่ตลาดอินโดจีนและพม่าลด 0.2% เอเชียใต้ลด 11.4% ฮ่องกงลด 4.3% และไต้หวันลด 15% ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรอง ภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.4% ได้แก่ แอฟริกาเพิ่ม 29.8% ละตินอเมริกาเพิ่ม 19.6% แต่ทวีปออสเตรเลียลด 4.7% ตะวันออกกลางลด 12.4% สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศลด 21.1% รัสเซียและซีไอเอสลด 22.4% และแคนาดาลด 17.7% ส่วนตลาดอื่น ๆ ลดลง 59.2% สวิตเซอร์แลนด์ลด 68.9%)
ด้านปัจจัยที่ส่งผลให้การนำเข้าในเดือนเมษายน 2555 เพิ่มขึ้น ได้แก่ การนำเข้าเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าทุนบวก 23.1% ประเภทเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่ม 2.2% ได้แก่ ทองคำเพิ่ม 424% เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เพิ่ม 3.78%รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่ม 8.1% เพื่อทดแทนสินค้าที่ไม่มีการผลิตภายในประเทศหรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งเพิ่ม 59.8% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อการประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปและจำหน่ายในประเทศ
นายภูมิกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2555 ยังไม่รู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่คาดหวังว่าเป้าหมายทั้งปีการส่งออกยังจะขยายตัวได้ 15% เนื่องจากในครึ่งหลังภาคการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยจะส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น เช่น ข้าวที่ในครึ่งปีแรกส่งออกได้น้อย แต่ครึ่งหลังจะมีการส่งออกมากขึ้น เช่นเดียวกับไก่สดที่ไทยเพิ่งถูกยกเลิกการส่งออกไปสหภาพยุโรปทำให้มีไก่สดส่งออกเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นตัน ขณะเดียวกันยังกำชับให้ทูตพาณิชย์เพิ่มความเข้มข้นในการทำงานเพื่อรักษาตลาดส่งออกหลักไว้ รวมถึงเปิดหาตลาดใหม่ให้มากขึ้น