สกุลเงินของแต่ละประเทศอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนแสดงความเป็นอธิปไตยของชนชาติตนเอง แต่ละประเทศก็จะต้องมีเงินสกุลของตนเอง เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และเมื่อต้องติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ ก็จะมีธุรกรรมที่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน เราจึงเห็นการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินของแต่ละประเทศ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการนำมาอ้างอิง กับสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ ค่าเงินของแต่ละประเทศยังเป็นเครื่องสะท้อนความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ กล่าวคือ ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงมักมีค่าเงินที่แข็งตามไปด้วย ในขณะที่ประเทศที่มีภาวะความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมักจะต้องเผชิญกับการอ่อนตัวลงของค่าเงิน ดังจะเห็นได้จากในอดีตของประเทศไทยในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ปรับตัวและสามารถเผชิญกับความผันผวนได้อย่างดี ทิศทางของเงินบาทกลับแข็งตัวขึ้นเป็นอย่างมาก จนทำให้ต้องหามาตรการบริหารค่าเงินนี้เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อบางภาคธุรกิจ หน้าที่ของการกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของเงินในประเทศจึงเป็นหน้าที่สำคัญต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะมอบหมายให้กับธนาคารกลางของแต่ละประเทศในการทำหน้าที่นี้
เงินสกุลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่นั้นมีตัวย่อหรือสัญลักษณ์ที่เป็นชื่อเรียกเป็นอักษรภาษาอังกฤษ สองลำดับแรกเป็นชื่อประเทศและลำดับที่สามเป็นชื่อของเงินสกุลของประเทศนั้น เช่น USD (USA Dollar), GBP (Great Britain Pound), JPY (Japan Yen), SGD (Singapore Dollar), THB (Thailand Baht), IDR (Indonesia Rupiah), INR (India Rupee) เป็นต้น สัญลักษณ์นี้ใช้เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณธุรกรรมเป็นจำนวนมหาศาลในโลกทางการเงิน โดยเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อธุรกิจการส่งออกและนำเข้าของแต่ละประเทศ และธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั่วโลกจึงมีหน่วยงานให้บริการด้านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและตราสารทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน โดยการทำธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดโอทีซี (Over the Counter) ที่แต่ละธนาคารจะพิจารณาความเสี่ยงของคู่สัญญา (Credit Risk) และดำเนินการด้านการชำระราคาด้วยตนเอง ทั้งนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินสามารถที่จะออกแบบเครื่องมือหรือตราสารทางการเงินที่เหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในตลาดโอทีซีนี้
ปัจจุบัน ตลาดอนุพันธ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายอนุพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเป็นลำดับ จากจุดเริ่มต้นที่ตลาดอนุพันธ์ Chicago Mercantile Exchange (CME) ในสหรัฐอเมริกา และได้ขยายมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย รัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา สัญญาที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ USD Futures ที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของเงินสกุลท้องถิ่นกับดอลลาร์ เช่น USD เทียบกับ เงินรูปีของอินเดีย USD เทียบกับเงินรูเบิลของรัสเซีย และเมื่อตลาดพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็น Cross Currency ระหว่างเงินสกุลหลักอื่นๆ ก็จะตามมา จากสถิติปริมาณการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบนอัตราแลกเปลี่ยนของตลาดอนุพันธ์ในโลกนี้ คาดว่ามีสูงถึงกว่า 2,000 ล้านสัญญา ในปี 2554 โดยส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการซื้อขายใน USD Futures ที่มีขนาดเล็ก คือ ประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งสัญญา ของผู้ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั้งในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้
การจัดให้มีสัญญาดอลลาร์ล่วงหน้า หรือ USD Futures นั้น ตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถมีทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ จากปัจจุบันที่การใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่มี Underlying หรือมีธุรกรรมเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเท่านั้น โดยเชื่อว่าการมีธุรกรรมในตลาด TFEX น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน สามารถที่จะเลือกใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์ หรือจากตลาด TFEX
และที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็คือ การดำเนินงานของตลาดอนุพันธ์นั้น มีหลักการที่สำคัญในเรื่องของการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล ความเคลื่อนไหวของราคาที่เป็น Real Time และที่เป็นสถิติต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถรับรู้และอาจตระหนักถึงความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ว่ามีความผันผวนและความไม่แน่นอน จึงน่าจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ของประเทศไทย ได้เริ่มตื่นตัวในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกการแข่งขันเสรี ที่ประเทศไทยเองก็ต้องเปิดประเทศมากขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกนั้น เราคงหลีกเลี่ยงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน และเริ่มที่จะเรียนรู้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว การมี USD Futures ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว
Tags : Futures World • เกศรา มัญชุศรี
usd future มีผลดีกับบริษัทหลักทรัพย์ไหมครับ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 430
- ผู้ติดตาม: 0
Re: usd future มีผลดีกับบริษัทหลักทรัพย์ไหมครับ
โพสต์ที่ 2
มองในแง่หลักทรัพย์ หรือธุรกิจเป็นรายๆดีกว่า
อย่างบาง บริษัท ต้องมีการซื้อขายกับต่างประเทศบ่อยๆก็ดี
แต่ปัญหาคือ ถ้าบริษัท เอาไปเล่นเก็งกำไรล่ะ
ที่ผ่านมา เห็นหลาย บริษัท ที่ชอบเก็งกำไร ได้ทีนิดหน่อย เสียทีเดียวที่ได้มายังไม่พอเลย
สำหรับผม ก็ดี เพราะก็มีบางกลุ่มชอบเทรดพวกนีออยู่แล้ว
อย่างบาง บริษัท ต้องมีการซื้อขายกับต่างประเทศบ่อยๆก็ดี
แต่ปัญหาคือ ถ้าบริษัท เอาไปเล่นเก็งกำไรล่ะ
ที่ผ่านมา เห็นหลาย บริษัท ที่ชอบเก็งกำไร ได้ทีนิดหน่อย เสียทีเดียวที่ได้มายังไม่พอเลย
สำหรับผม ก็ดี เพราะก็มีบางกลุ่มชอบเทรดพวกนีออยู่แล้ว
ปล ความเห็นส่วนตัว