แนะนำหนังสือ รวมข่าวเหตุการณ์ในอดีต

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
BHT
Verified User
โพสต์: 1822
ผู้ติดตาม: 0

แนะนำหนังสือ รวมข่าวเหตุการณ์ในอดีต

โพสต์ที่ 1

โพสต์

พอดีมีกระทู้ใหม่เพิ่งตั้งขึ้นมา เป็นการสอบถามถึงเหตุการณ์ในอดีต ผมว่ามีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศไทย ในเรื่องทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และเกี่ยวกับตลาดหุ้นโดยตรง ออกขายอยู่เรื่อยๆ

ก็เลยมาแนะนำว่า ให้ไปหาอ่านดูครับ หลายๆเล่มรวบรวมไว้ดีทีเดียว หรือไม่ก็ google ครับ มีอยู่ให้อ่านฟรี

มาแนะนำเพราะเห็นว่า อีกกระทู้ก็บอกว่าให้ read history ก็เลยมาตั้งกระทู้นี้ครับ

ใครที่จะแนะนำเล่มไหนดีๆแล้วยังหาซื้อได้ตอนนี้ก็แนะนำได้นะครับ ส่วนพวกของเก่ามือสองคงรอหาในงานหนังสือเอาแล้วกัน

ปล ถ้ามีรายชื่อหนังสือดีๆ ก็ค่อยย้ายกระทู้นี้ไปร้อยคนร้อยเล่มแล้วกันนะครับ
puktiwit
Verified User
โพสต์: 102
ผู้ติดตาม: 0

Re: แนะนำหนังสือ รวมข่าวเหตุการณ์ในอดีต

โพสต์ที่ 2

โพสต์

2530 -2551 จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis
หนังสือเล่มนี้รวมข่าวเศรษฐกิจสำคัญๆที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2530

http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... ml#picture
puktiwit
Verified User
โพสต์: 102
ผู้ติดตาม: 0

Re: แนะนำหนังสือ รวมข่าวเหตุการณ์ในอดีต

โพสต์ที่ 3

โพสต์

puktiwit เขียน:2530 -2551 จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis
หนังสือเล่มนี้รวมข่าวเศรษฐกิจสำคัญๆที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2530

ทุกๆ เหตุการณ์ข่าวสำคัญ ในหนังสือ 2530-2551
จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis
เพื่อทำให้เข้าใจปัจจุบัน และมองอนาคตได้อย่างถูกต้อง

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก
Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด
ผ่านเลยมาแล้ว 73 ปี (เกิดขึ้นระหว่างปี 2472-2478) จวบจนวันนี้
ยุคข้าวยากหมากแพงก็หมุนกลับซ้อนทับประวัติศาสตร์อีกครา
สัจธรรมของเหรียญที่มีสองด้าน ภายใต้วิกฤติจึงแฝงเร้นไว้ซึ่งหนทาง
อยู่ที่ใครจะพลิกวิกฤตินั้นเป็นโอกาส

เหตุการณ์ Black Monday วันจันทร์ทมิฬที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2530
นับเป็นวิกฤติตลาดหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ของโลกและของไทย กระทบ
มายังตลาดหุ้นทั่วทั้งโลก เป็นวิกฤตการณ์ที่ต้อนรับการถือกำเนิดของ
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 2530) เพียงไม่กี่วัน
เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงกับนักลงทุน
ในตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมากแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ดัชนีราคาหุ้น
ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 472.86 จุด มาอยู่ที่ระดับต่ำสุด
ที่ 243.97 จุด ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2530 โดยระดับดัชนีลดลง
ถึง 228.89 จุด หรือ 48.4 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน

พอเกิดเหตุการณ์ Black Monday ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและ
เอกชนต่างตระหนักถึงผลกระทบและระดมกำลัง ทั้งมีการจัดตั้งกองทุน
และดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อแก้ไขสถานการณ์จนคลี่คลาย
ความตื่นตกใจ ทำให้ระดับราคาหุ้นกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

วิกฤติครั้งนั้น ก็คือ “โอกาส” สำหรับใครอีกหลายคน
ในยุคส่งผ่านอำนาจ จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาสู่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
หัวหน้าพรรคชาติไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย
ได้ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหน้าใหม่ของประเทศไทยที่
ต้องจดจำ ทั้งรีบเร่ง รุ่งเรือง หลงระเริง ฟุ่มเฟือย และเจ็บปวด
ความรู้จักอดออม ดำรงความเป็นอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟือยในยุครัฐบาล
ป๋าเปรม สะสมฐานะทางการคลังจนเข้มแข็ง ส่งต่อผลดีมาถึงรัฐบาล
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หันมายึดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การคลังเชิงรุก ขยายการลงทุนไปทุกสารทิศบนฝันอยากเป็น
“เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย” ยุคนั้นเราจะได้ยินคำว่า NICs
หรือ Newly Industrialized Countries และนโยบาย
“เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” อันโด่งดังในยุคน้าชาติ
"No Problem ..ไม่มีปัญหา” เป็นวลีที่ผู้นำพูดให้ได้ยินกันจนติดหู
แม้ยุคนั้นจะใช้การลงทุนเป็นธงนำ แต่ก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้อไป
กับนโยบายประชานิยมดีๆ นี่เอง เราได้ยินโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด
เราได้เห็นราคาที่ดินพุ่งทะยานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เวลา
ฮันนีมูนของน้าชาติก็มาสะดุดหลังจากเกิดไฟสงครามอ่าวเปอร์เซีย
อิรักบุกยึดคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ปัญหาคอร์รัปชันแพร่กระจาย
ในวงกว้าง จนรัฐบาลชุดนี้ถูกตั้งฉายาว่า “รัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ในที่สุด
ก็ถูกคณะรสช.นำโดย "บิ๊กจ๊อด" พลเอกสุนทร คงสมพงษ์
โค่นลงจากอำนาจ

หลังจากคณะรสช.แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เข้าดำรงตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจไทยยังไม่ทันจะฟื้นตัว รสช.ก็วางแผนสืบ
ทอดอำนาจ วางตัวให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่โดยพลังประชาชน
นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง และบานปลายนำไปสู่เหตุการณ์
“พฤษภาทมิฬ” ที่ต้องจดจำ

ในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้ก่อกำเนิดนักเลงหุ้นระดับพระกาฬที่ประวัติศาสตร์
ต้องจารึก เขาคือ “สอง วัชรศรีโรจน์” ศิษย์เอกวัดพระธรรมกาย
ที่เข้ามาแสวงหาโอกาสความร่ำรวยจากตลาดหุ้น ผ่านมาแล้ว 16 ปี
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีชื่อสองอยู่เบื้องหลังหุ้นร้อนหลายต่อหลายตัว

ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกอีกครั้งในช่วงปลายปี 2536 ดัชนีราคาหุ้นติด
เครื่องทะยานขึ้นไปอย่างบ้าคลั่ง มีเศรษฐีหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวันในช่วงนั้น
หุ้นทะยานขึ้นไปทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ 1,753.73 จุด จนกระทั่งถึง
วันนี้ 15 ปีผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่เคยไต่ขึ้นไปถึงจุดนั้นได้อีกเลย

“สูงสุดคืนสู่สามัญ” คือความจริงแท้แน่นอน ไม่มีฟองสบู่ใดจะยืนยาว
และมั่นคงเท่ากับพื้นฐานที่เป็นจริง ในที่สุดงานเลี้ยงก็ย่อมมีวันเลิกรา
รัฐนาวาชวน 1 ดำเนินไปได้พักใหญ่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4-01
ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา กงล้อเศรษฐกิจไทย
เริ่มหมุนอย่างเชื่องช้า ขณะที่ภาคเอกชนยังหลงระเริงเงินกู้บีไอบีเอฟ
โดยไม่หวั่นเกรงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ในหลายธุรกิจได้เกิด Over Supply

ปีศาจร้ายเข้ามาเยือนแล้วอย่างเงียบๆ

ในยุค "นายบรรหาร" ตลาดหุ้นไทยต้องถูกบันทึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์
อีกครั้ง เมื่อนักลงทุนรายย่อยทนไม่ไหวกับภาวะความตกต่ำ รวมตัวกัน
ประท้วงนายเสรี จินตนเสรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในขณะนั้น
และแล้ว เสียงปืนก็ดัง เปรี้ยง!!! ณ อาคารสินธร นายวิวัฒน์ ศรีสัมมาชีพ
ลั่นไกหมายปลิดชีพตนเองเพื่อประท้วง แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์
ใดๆดีขึ้น และก็ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าปรอทวัดไข้เศรษฐกิจได้ส่งสัญญาณ
ใกล้ถึงจุดระเบิดแล้ว

เศรษฐกิจไทยมาถึง “จุดอับปาง” ในยุครัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยสัญญาณร้ายเริ่มมีตั้งแต่
“ม็อบโทรศัพท์มือถือ” ก่อตัวประท้วงย่านถนนสีลม เริ่มมีข่าวลือสถาบัน
การเงินถูกปิดกิจการ ในที่สุดก็นำไปสู่การสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ ขณะเดียวกัน
ค่าเงินบาทเริ่มถูกนักเก็งกำไรโจมตีอย่างหนัก ธนาคารแห่งประเทศไทย
ต่อสู้จนทุนสำรองระหว่างประเทศหมด นำไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงิน
บาท และต้องเข้าโครงการขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่าง
ประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ

หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก
เศรษฐกิจไทยดำเนินไปด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด ธุรกิจน้อยใหญ่
ต้องล้มละลาย ตลาดหุ้นตกต่ำถึงขีดสุดตกจาก 1,753 จุด ลงมาต่ำสุด
204 จุด มี “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” เกิดขึ้นมากมาย
รวมทั้งได้ก่อเกิดวลีดัง “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ของเจ้าพ่อวงกาเหล็ก
"สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" และการต่อสู้ชนิดหัวชนฝาของ
"ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" เพื่อรักษาอาณาจักรแสนล้าน "ทีพีไอ"
สุดท้ายก็รักษาเอาไว้ไม่ได้

รัฐนาวาชวน 2 เข้ามาแก้ปัญหาในยุคที่เศรษฐกิจไทยมีความหวังเหลือ
เพียงเลือนราง และถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามารุมทึ้ง
เศษซากธุรกิจในราคาแบกะดิน นับตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เข้ามาบริหารประเทศ กว่า 5 ปี ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” เอาใจรากหญ้า
กงล้อเศรษฐกิจไทยเริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ยิ่งรัฐบาลเข้มแข็งมาก
เท่าไร ก็ยิ่งสะสมจุดอ่อนมากขึ้นเท่านั้น และก็นำมาสู่การปฏิวัติรัฐประหาร
ล้างไพ่ใหม่อีกครั้ง

ทุกๆ เหตุการณ์ข่าวสำคัญ ในหนังสือ 2530-2551
จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis เล่มนี้
ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อทำให้เข้าใจปัจจุบันดีขึ้น
และมองทางเดินไปสู่อนาคตได้อย่างถูกต้อง
“คนเดินถนนที่ราบเรียบตลอดเวลา มักจะชะล่าใจชอบวิ่ง จึงมักหกล้ม
ในที่สุด แต่คนที่เดินบนถนนที่ขรุขระ มักระวังตัวเพราะความกลัวจึง
ปลอดภัย ธรรมชาติมักหยิบยื่นความสามารถให้แก่เรา ถ้าเรารู้เท่าทัน”

เล่มนี้เป็นหนังสืออ้างอิงข่าวเศรษฐกิจ “เล่มแรก-เล่มเดียว” ของ
ประเทศไทย ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเสริม
ต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจ “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย”
ตลอดช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษ ภายใต้การพิมพ์ของสำนักพิมพ์
กรุงเทพธุรกิจ Bizbook โดดเด่นด้วยกราฟฟิก “SET Index” มากถึง
21 ภาพ ช็อตคัตให้คุณได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้สาเหตุการเติบโต
ตีบตัน ของตลาดทุนไทยในรอบ 21 ปีที่ผ่านมา
โพสต์โพสต์