10ข่าวเด่นการเงิน-หุ้น
Source - ข่าวหุ้น (Th), Friday, December 28, 2012
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้สรุปข่าวเด่นด้าน “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” ของไทย จำนวน 10 ข่าว ในปี 2555
เจ้าสัวไทย
ดีลเมกเกอร์ใหญ่ของโลก
ในรอบปี 2555 ผู้ประกอบการของประเทศไทยได้ใช้เงินสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เพื่อเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ กระทั่งติดอันดับ 3 ของโลกเริ่มจาก “นายเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้เข้าไปเทกโอเวอร์ บริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟในสิงคโปร์ เป็นเงิน 11,400 ล้านดอลลาร์ และเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จากกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าซื้อหุ้นผิงอัน อินชัวรันซ์ มูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น15.6% จากเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทปตท.สผ.(PTTEP) เอาชนะ บริษัทรอยัล ดัตช์ เชลล์ เพื่อซื้อโค้พ อีเนอร์จี้ เป็นเงิน 1,900 ล้านดอลลาร์
การซื้อของบริษัทไทยนำโดยเจ้าสัว และ PTTEP และที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้รับแรงกระตุ้นจากกระแสเงินกู้ จากที่มีการเข้าถือสิทธิ์ด้วยเงินสดทั้งหมด การทำธุรกรรมเอ็มแอนด์เออย่างสนุกสนานของไทย ได้ทำให้เจ้าสัวไทยที่รักสันโดษ เป็นที่จับตาของสื่อและทำให้พวกเขาเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามในการประมูลซื้อสินทรัพย์ต่างชาติ
PTTติด100อันดับแรกFortune Global
เมื่อช่วงเดือน ก.ค. ปี 2555บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้ประกาศศักดาในเวทีระดับโลกเป็นครั้งแรก ด้วยการขึ้นแท่นรับอันดับ 95 จากทั้งหมด 500 อันดับกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นผลการคัดเลือกของFortune Global 500 งวดปี 2012 นิตยสารด้านเศรษฐกิจการเงินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุคปัจจุบัน
ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมายที่หลายฝ่ายประเมินไว้ เพราะเท่ากับว่า PTT สามารถขยับก้าวเข้าสู่เป้าหมายแสนท้าทายได้เร็วเกินกำหนด ทั้งที่กลุ่ม PTT เพิ่งจะเคยประกาศเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ไว้ภายใต้คำพูดที่เรียบง่ายว่า “BIG LONG STRONG” หมายถึง บริษัทต้องมีขนาดใหญ่ติด Fortune Global 100, ธุรกิจอยู่ได้ด้วยความยั่งยืน, แข็งแกร่งพร้อมรับมือต่อทุกสถานการณ์ ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
PTTEPเพิ่มทุนครั้งประวัติศาสตร์
ในรอบปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่ประกาศเพิ่มทุนเพื่อรองรับแผนขยายกิจการ แต่มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่สามารถเปิดหน้าประวัติศาสตร์บทใหม่ให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั่นคือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนทั้งสิ้น 650 ล้านหุ้น ในราคาขายหุ้นละ 142 บาท ภายใต้อัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 0.195783 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่
โดยส่งผลให้เม็ดเงินระดมทุนครั้งนี้มีมูลค่าสูงถึง 92,300 ล้านบาท หรือตกประมาณ3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นนักลงทุนสถาบันและเข้าร่วมกระบวนการ Bookbuilding ได้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเกินกว่า 2 เท่า (ไม่รวมสัดส่วนการใช้สิทธิของ PTT) พร้อมทั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอีกเป็นจำนวนมากทำให้สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งประวัติศาสตร์ได้หมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่นาน
และที่สำคัญยังผลักดันให้ PTTEP มีหุ้นจดทะเบียนเพิ่มเป็น3,969,985,400 หุ้น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เกิน 6.3 แสนล้านบาท พร้อมกับขยับขึ้นอยู่อันดับสอง แซงหน้าอดีตเบอร์สองอย่าง ADVANC และเป็นรองอันดับหนึ่งเพียงแค่ PTT เท่านั้น
ประมูลใบอนุญาต 3G ‘หืดขึ้นคอ’
การประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz เรียกว่ากว่าจะเสร็จสิ้นและออกใบอนุญาต 3G กันได้ ต้องใช้คำว่า “หืดขึ้นคอ” กันเลยทีเดียว เริ่มจากก่อนการประมูล มีการคัดค้านถึงตัวเลขราคาประมูลที่มีความเห็น 2 ฝ่าย กล่าวคือฝ่ายหนึ่งมองว่าราคา 4,500 ล้านบาทต่ำเกินไป และทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์มหาศาล ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง คือกสทช. เห็นว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้วและสุดท้ายการประมูลไลเซ่นต์ 3G เกิดขึ้นจนได้เมื่อวันที่ 16 ต.ค.55
ทว่าประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากสุดคือ การประมูลครั้งนี้มีผู้เข้าประมูลแค่ 3 ราย คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (ตัวแทนกลุ่มเอไอเอส) บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (ตัวแทนจากกลุ่มทรู)และ บริษัท ดีแทค เนคเวอร์ค จำกัด (ตัวแทนจากกลุ่มดีแทค) จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า“เป็นการฮั้วประมูลหรือไม่”แต่เรื่องนี้คลี่คลายลงเมื่อผลสอบจากหน่วยงานต่างๆทุกแห่งออกมาว่า“ไม่พบพฤติกรรม“ฮั้วประมูล”แต่อย่างใด
จนถึง 7 ธ.ค.55 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค) ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้มอบ 3G เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ด้วยเนื้อหาระบุว่ากสทช. พิจารณาแล้วบริษัททั้ง 3 บริษัทมีการดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามเงื่อนไขในการดำเนินการ จึงเห็นควรอนุมัติให้ทั้ง 3 บริษัท ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz หรือ 3G ต่อไป
ยานยนต์ยอดผลิตทะลุ2ล้านคัน
สำหรับงวดปี 2555 อุตสาหกรรมยานยนต์ได้เข้าสู่ยุคทองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนโยบายภาษีรถยนต์คันแรกที่ให้ส่วนลดไม่เกิน 1 แสนบาท ได้กลายเป็นนโยบายอัดฉีดตลาดรถครั้งใหญ่ จนผลักดันให้ค่ายรถยนต์ทุกเจ้าในประเทศไทยได้รับคำสั่งซื้อถาโถมเข้ามามากมหาศาล และนำพายอดการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยสูงขึ้นชนิดก้าวกระโดด
โดยล่าสุด ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประกาศยอดการผลิตสะสมงวด 11 เดือนแบบเป็นทางการ ทั้งสิ้นจำนวน 2.23 ล้านคัน พร้อมกับประเมินยอดการผลิตเดือนสุดท้ายงวดปีนี้อีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนคัน จึงเท่ากับว่า ภาพรวมยอดการผลิตทั้งปีจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านคัน
ปีทองกลุ่ม‘นิคมอุตสาหกรรม’
ในช่วงปี 2555 หลังจากผ่านช่วงวิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 มา ความต้องการที่ดินในโซนที่ไม่ถูกน้ำท่วมมีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนิคมฯ ในแถบภาคตะวันออก เช่น บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJ ในปี 2555 บริษัทปรับเป้ายอดขายที่ดินถึง 3 รอบ จากต้นปีตั้งไว้ที่ 1,700 ไร่ มาเป็น 2,300 ไร่ ขณะที่รายได้ปีนี้เติบโต 50% จากปีก่อนที่ 4,305 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ตั้งเป้ายอดขายที่ดินเกิน 3,700-3,800 ไร่ มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ตั้งเป้ายอดขายที่ดินไว้ที่ 1,500 ไร่ รายได้โตกว่าปีก่อนที่ทำได้ 6,460 ล้านบาท
‘แสนสิริ’ดาวเด่นกลุ่มอสังหา
หลังจากเจอมรสุมมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ฉุดผลประกอบการของหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทรุดถ้วนหน้าทั้งยอดขาย รายได้ และกำไรสุทธิ แต่พอมาปี 2555 ผลประกอบการทุกบริษัทกลับพลิกฟื้นคืนชีพขึ้นมา สร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น ไล่มาตั้งแต่บริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ พิสูจน์ได้จากผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2555 ที่มีการเติบโตอย่างมาก
โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีเติบโตโดดเด่นจนเรียกได้ว่า เป็นดาวเด่นของปี 2555 คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRIที่ล่าสุดบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) สูงที่สุดในตลาดที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และสร้างยอดขาย (พรีเซล) สูงสุดที่ 4.1 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 4.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้าหมายจะมีรายได้รวมปีนี้สูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท จากงวด 9 เดือนปี 2555 ที่ทำได้แล้ว 16,030 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสที่ 4/55 จะมีการรับรู้รายได้จากการโอนคอนโดมิเนียมถึง 10 โครงการ มูลค่ารวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยผู้บริหารคาดว่าไตรมาสสุดท้ายจะมีรายได้รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
‘OISHI’หุ้นผิดหวังแห่งปี
การประกาศผลขาดทุนของบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI ผู้ผลิตชาเขียวรายใหญ่ของประเทศในไตรมาส 3/55 ถือเป็นรอยด่างเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดในเครือเสี่ยเจริญที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยทำลายสถิติขาดทุนรายไตรมาส เท่านั้นยังไม่พอ ยังเป็นการทำลายสถิติของ OISHI ที่ก่อตั้งมานาน 10 ปี ผลกำไรขาดทุนของบริษัทจะเห็นได้ว่าในไตรมาส 3 OISHI มีผลขาดทุนสุทธิ 8.88 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.05 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 262.77 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.40 บาท
ผลจากการขาดทุนดังกล่าว หากไม่มีรายได้จากธุรกิจอาหารเข้ามาช่วยจะทำให้ขาดทุนมากกว่าที่เห็น โดยผลขาดทุนจากธุรกิจเครื่องดื่มมีไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนในขณะที่ตัวเลขรายได้จากธุรกิจเรื่องดื่มที่ลดลง 13.1% เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยอดขายสวนทางกับการทำแคมเปญส่งเสริมการขายในไตรมาสที่ 3 ของบริษัท ผ่านการทำโปรโมชั่นซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น ครบ 40 บาท รับสิทธิ์แลกซื้อโออิชิ กรีนที 2 ขวด 25 บาท แข่งขันกับคู่แข่งขันรายอื่นอย่าง "มิเรอิ" ของค่ายทิปโก้ ที่มีแคมเปญ "ช้อป 99 ลุ้นรับแสน" ลุ้นรับรางวัลบัตรกำนัลแม็คโคร รวมกว่า 500,000 บาท และอิชิตันจัดโปรโมชั่น ซื้ออิชิตัน 2 ขวด 22 บาท ในเซเว่นฯเช่นเดียวกัน
--จบ--