การเงิน - การลงทุน
วันที่ 16 มกราคม 2556 01:01
ย้อนรอย20ปีคดีปั่นหุ้น ลากคอคนผิดยาก!
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ย้อนรอย 20 ปีคดีปั่นหุ้น กระชากหน้ากากผู้กระทำผิดยาก! ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจโดยตรง กระบวนการทำงานซ้ำซ้อน 287 คดี เอาผิดได้แค่ 21 คดี หรือแค่ 7%
นางสาวกุลนิดา สมใจวงษ์ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลในช่วง 20 ปี (2535-2555 ) การดำเนินคดีอาญาภายหลังการกล่าวโทษตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พบว่ามีจำนวน 287 คดีความ และการดำเนินการไม่มีการฟ้องคดี เนื่องจากขาดอายุความ 27 คดี ผู้ต้องหาหลบหนี้และเสียชีวิต 14 คดี คิดเป็น 14% สั่งไม่ฟ้อง 73 คดี คิดเป็น 25% คดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล 97 คดี คิดเป็น 34% ศาลชั้นต้นพิพากษาแต่คดียังไม่สิ้นสุด โดยศาลชั้นต้นยกฟ้อง 7 คดีคิดเป็น 2% ศาลชั้ต้นพิพากษาลงโทษ 31คดี คิดเป็น 11% ศาลชั้นต้นพิพากษาและคดีสิ้นสุด โดยศาลชั้นต้นยกฟ้อง 17 คดี คิดเป็น 6% ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ 21 คดี 7%
"จะเห็นว่าการดำเนินคดีมีความล่าช้า โดยระยะเวลาในการพิจารณามากสุด 11 ปี และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ปีต่อคดี เนื่องจากกระบวนการในการดำเนินการมีความล่าช้าขั้นตอนซับซ้อน โดยสำนักงานก.ล.ต.ไม่มีอำนาจในการสอบสวนและส่งฟ้องโดยตรงจะต้องผ่านกระบวนหลายขั้นตอน ทำให้มีอุปสรรคต่อรูปคดีความ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาและไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลเป็นโจทย์ยื่นฟ้องคดี โดยไม่ต้องผ่านอัยการได้ทันที
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาขั้นตอนการเอาผิดบรรดาคนสร้างราคาหุ้นมีความล่าช้า ถ้าหากทางการออกกฏเพื่อให้ก.ล.ต.สามารถใช้ดุลพินิจเลือกปฏิบัติก็จะช่วยทำให้ลดขั้นตอนได้ นอกจากนี้การที่มีคดีความหลายคดีที่หลุด หรือไม่ได้ถูกส่งฟ้อง ก็น่าจะมีการตรวจสอบย้อนหลังว่า เกิดจากสาเหตุใด หรือหลุดฟ้องจากส่วนงานใด เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนหลังจากการดำเนินคดีความ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ
http://bit.ly/RWFz5b