แบงก์นำทัพธุรกิจไล่ซื้อกิจการยุโรป สบช่องของดีราคาถูก

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
syj
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4254
ผู้ติดตาม: 1

แบงก์นำทัพธุรกิจไล่ซื้อกิจการยุโรป สบช่องของดีราคาถูก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

แบงก์นำทัพธุรกิจไล่ซื้อกิจการยุโรป สบช่องของดีราคาถูกSCBลุ้นปิด20ดีล
updated: 28 ก.พ. 2556 เวลา 12:19:59 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายโสภณ อัศวานุชิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีนี้จะเห็นแนวโน้มลูกค้าธุรกิจของไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศในรูปแบบการควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A)

ต่างประเทศมากขึ้น และจะมากกว่าธุรกิจต่างชาติจะเข้ามาซื้อกิจการในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมสูง ต้องการออกไปขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและพื้นฐานเศรษฐกิจภายในที่เอื้อ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมสนับสนุนด้วยเครือข่ายธนาคารและโบรกเกอร์พันธมิตรต่างชาติในต่างประเทศหลายแห่งที่มีการทำงานร่วมกัน ได้แก่ โกลด์แมน แซคส์, เครดิต สวิส, ไอซีบีซี และโอเอสเค

ขณะนี้มีความสนใจของลูกค้าที่ต้องการเข้าไปทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยปัจจุบันมีงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินในมือรวมประมาณ 7-8 ดีล มูลค่าตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาทต่อดีล เป็นดีลลักษณะ Cross-border Transactions ประมาณ 3-4 ดีล ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจ ประกอบด้วย อาหาร โรงแรม บริการ และอุตสาหกรรม แต่ถ้ามองในภาพรวมของธุรกิจด้านนี้ ธนาคารประเมินว่าในปี 2556 น่าจะมีโอกาสที่จะปิดดีล M&A ทั้งในและต่างประเทศรวมกันประมาณ 20 ดีล ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สัดส่วนมูลค่างานของธุรกิจวาณิชธนกิจในส่วนงาน M&A ปีนี้จะมีสัดส่วนลดลงเหลือไม่ถึง 50% จากปี 2555 ที่มีสัดส่วนสูงกว่า 70% ของมูลค่างานวาณิชธนกิจ เนื่องจากในปีนี้ธนาคารมีงานที่ปรึกษาทางการเงินด้านเป็นไอพีโอเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดีลที่มีขนาดใหญ่จำนวนประมาณ 11-12 ดีล ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีขนาดมาร์เก็ตแคปตั้งแต่ 3,000-20,000 ล้านบาทต่อดีล และยังมีงานที่ปรึกษาทางการเงินร่วมเพื่อทำดีลไอพีโอให้กับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่อีก 1 ดีล

KTB-กสกรฯพลูกค้าช็อปของถูก

ด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารอยู่ในระหว่างเจรจาดีลซื้อกิจการในต่างประเทศหลายดีล ในจำนวนนี้ประเมินว่าอาจจะเห็นดีลสำเร็จภายในปีนี้ 3-4 ดีล โดยเฉพาะการซื้อกิจการและสินทรัพย์ในยุโรปและสหรัฐ ซึ่งกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ถูกลงมาก ซึ่งธุรกิจที่มีโอกาสในเวลานี้น่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และปิโตรเคมี

"ตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงช็อปของดี ราคาถูก บางรายถูกลงจากเดิมมากกว่าครึ่ง จึงเป็นจังหวะที่จะไปซื้อธุรกิจที่ธุรกิจเหล่านี้มาต่อยอดได้ เพราะส่วนใหญ่จะมีแบรนด์เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งแล้ว มีเครือข่ายช่องทางขาย และมีระบบวิจัยพัฒนาที่ดี"

นายวรภัคกล่าวอีกว่า ดีลลักษณะนี้ส่วนใหญ่ธนาคารจะเป็นผู้เข้าไปสนับสนุนด้านการเงินและบริการเกี่ยวกับธุรกรรมสำหรับซื้อกิจการมากกว่า เพราะจะเข้าใจลักษณะธุรกิจของไทย ส่วนการเจรจาทำดีล ลูกค้ามักจะใช้วาณิชธนกิจ (ไอบี) ต่างชาติที่จะได้เปรียบเรื่องเครือข่ายการซื้อกิจการที่เข้าถึงธุรกิจเป้าหมายได้ดีกว่า

ขณะที่นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีดีลที่อยู่ในระหว่างเจรจาประมาณ 10 ดีล แต่จะมีทั้งลักษณะการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การหาธุรกิจผู้ร่วมลงทุน รวมไปถึงการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ โดยเฉพาะดีลการเข้าไปลงทุนในยุโรปที่ตอนนี้ถือว่าเป็นจังหวะการลงทุนที่ดี ทั้งจากราคาที่ถูกลงกว่าปกติค่อนข้างมากแล้ว ยังได้ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีที่ดี และเป็นทางเข้าสู่ตลาดยุโรปที่ดีต่อเนื่องไปในอนาคตด้วย

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของไทยและมีศักยภาพที่จะขยายเข้าไปดีลธุรกิจในยุโรปได้ในเวลานี้ นายสมเกียรติเห็นว่า กลุ่มก่อสร้าง ยานยนต์ และอาหาร น่าจะมีความแข็งแกร่งและศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปลงทุน ปัจจุบันธนาคารได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับคอมเมิร์ซแบงก์ในเยอรมนี ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจที่ต้องการเชื่อมต่อไปลงทุนในยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นธนาคารรายใหญ่และครอบคลุมพื้นที่ยุโรปค่อนข้างกว้างมาก และเชี่ยวชาญในตลาดลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี

ปี 55ไทยลงทุนนอก 3.6 แสนล้าน

จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้คล่องตัวมากขึ้น โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศอยู่ที่ 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สำหรับมูลค่าที่นักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศในปีที่ผ่านมา โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 360,000 ล้านบาท)

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพที่ธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามหลายบริษัทที่ไปลงทุนต่างประเทศก็ไม่ได้มีการนำเงินจากประเทศไทยออกไป เช่น กรณีไทยเบฟฯซื้อเอฟแอนด์เอ็น มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท หรือกรณีเครือซีพีซื้อผิงอันประกันภัยอีก 2.82 แสนล้านบาท แต่เป็นการใช้เงินกู้จากต่างประเทศเพราะมีแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำ

บิ๊กดีลในรอบปี 2555-56

สำหรับในรอบปีที่ผ่านมามีดีลใหญ่ที่บริษัทไทยไปซื้อกิจการในต่างประเทศจำนวนมาก และที่ถือว่าเป็นอภิดีลที่เพิ่งจบไปก็คือ กรณีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ "ทีซีซี แอสเซ็ท" ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ใช้เงินประมาณ 3.35 แสนล้านบาท ซื้อกิจการของเฟเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีดีลใหญ่ที่กลุ่มซีพีได้เข้าซื้อบริษัทผิงอัน ประกันภัย ใหญ่อันดับ 2 ของจีน มูลค่า 2.82 แสนล้านบาท กลุ่ม ปตท.สผ.ซื้อบริษัท Cove Energy (อังกฤษ) 57,000 ล้านบาท ขณะที่เซ็นทรัลรีเทลซื้อศูนย์การค้า "ธิโตเน่" (Tritone) ในกรุงโรมประเทศอิตาลีอีกแห่งหลังจาก เมื่อกลางปี 2554 ได้ทุ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซื้อห้างสรรพสินค้าหรู "ลารีนาเซนเต" (La Rinascenta) ในเมืองมิลาน ด้านเอสซีจีก็ได้ซื้อบริษัทเซรามิก Prime Group ประเทศเวียดนาม 7,200 ล้านบาท

ขณะที่ดั๊บเบิ้ลเอเพิ่งลงนามซื้อโรงงานกระดาษ อลิเซ่ (Alizay) ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ23ม.ค.2556 โดยรายงานข่าวระบุว่าทางดั๊บเบิ้ลเอซื้อโรงงานดังกล่าวมาในราคาต่ำมาก เพราะโรงงานประสบปัญหาทางการเงินทำให้ต้องหยุดกิจการ และการเข้าซื้อดังกล่าวจะทำให้ดั๊บเบิ้ลเอ มีกำลังการผลิตกระดาษรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.12 ล้านตันต่อปี และเป็นฐานการผลิตสำหรับการบุกตลาดในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันตก

http://www.prachachat.net/news_detail.p ... catid=0902
// Stay Hungry, Stay Foolish.
// Stay Calm, Stay Invest.
// Price is what you pay, Value is what you get.
โพสต์โพสต์