BOIเผยยอดขอลงทุน7ด.กว่า6.6แสนล้าน
บีโอไอ เผยยอดขอลงทุน 7 เดือน มูลค่าสูงกว่า 6.6 แสนล้านบาท บีโอไอคาดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เติบโต ทั้งด้านพลังงาน - เกษตร...
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2556 นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สถิติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2556 ) มีทั้งสิ้น 1,192 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 664,200 ล้านบาท ซึ่งจำนวนโครงการใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 1,184 โครงการ สำหรับมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 28.6% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 516,300 ล้านบาท
นายอุดม กล่าวว่า กิจการที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 322 โครงการ เงินลงทุน 316,900 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ กิจการขนส่งทาง กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กิจการท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติเหลว กิจการเขตอุตสาหกรรม กิจการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล กิจการศูนย์กระจายสินค้า และกิจการสวนสนุก เป็นต้น
รองมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 254 โครงการ เงินลงทุน 162,000 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและโลหะปั๊มขึ้นรูป กิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล กิจการประกอบรถกระบะ กิจการผลิตแม่พิมพ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนประเภทต่าง ๆ
อันดับ 3 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และผลิตผลจากการเกษตร 250 โครงการ เงินลงทุน 88,100 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ กิจการผลิตยางแท่งและยางผสม กิจการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็ง กิจการผลิตแป้งและแป้งแปรรูป กิจการผลิตน้ำมันจากปาล์มและรำข้าว กิจการห้องเย็นและรถห้องเย็น กิจการผลิตผงชูรส กิจการผลิตอาหารสัตว์ และกิจการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
สำหรับรูปแบบการลงทุนจะกระจาย ของขนาดเงินลงทุนในกลุ่มต่าง ๆ โดยกิจการขนาดใหญ่มีเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 108 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 497,400 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 89 โครงการ เงินลงทุนรวม 338,600 ล้านบาท กิจการขนาดใหญ่ที่สนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน อาทิ กิจการกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กิจการพลังงาน กิจการโรงแรม เป็นต้น
“ทิศทางการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังมีอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมพลังงาน เกษตร และอาหารแปรรูป รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะมีเข้ามาอีกมากช่วงปลายปี แม้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศจะอ่อนตัว เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนในกิจการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนขยายตัวมาก ทำให้มีแนวโน้มการลงทุนเพื่อป้อนความต้องการของตลาดดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์ยังมีความสนใจขยายกำลังผลิตรถยนต์ ทั้งโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์รายเดิม รวมทั้งมีค่ายรถยนต์และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากยุโรปแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุน และเร็ว ๆ นี้บีโอไอก็จะเดินทางไปชักจูงการลงทุนจากประเทศจีน และในยุโรป จึงทำให้มั่นใจได้ว่าปีนี้จะมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ” นายอุดมกล่าว.
http://www.thairath.co.th/content/eco/365907