กรุ๊ปทัวร์เดือนแรกของปีลด30% ชี้ฟื้นยาก

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
วรันศ์ บัฟเฟต
Verified User
โพสต์: 1679
ผู้ติดตาม: 0

กรุ๊ปทัวร์เดือนแรกของปีลด30% ชี้ฟื้นยาก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กรุ๊ปทัวร์เดือนแรกของปีลด30% ชี้ฟื้นยาก

รูปภาพ

แอตต้า หรือสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว เผยสถิติกรุ๊ปทัวร์เดือนมกราคม ลด30% ชี้ฟื้นตลาดกลับยากเหตุเข้า "โลว์ซีซัน"

แอตต้า จ่อปรับลดเป้าหมายนักท่องเที่ยวผ่านกรุ๊ปทัวร์ ชี้โอกาสสูง ททท.พลาดเป้ารายได้ 2 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปี เผยสถิติต้นปีกรุ๊ปทัวร์ลดไปกว่า 30% หรือหายไปกว่า 2 แสนคน เปลี่ยนเส้นทางไปประเทศคู่แข่ง ชี้ฟื้นตลาดยาก เหตุเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซัน ระบุประกันภัยเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ครอบคลุมเหตุการณ์รุนแรง

ผลกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศไทย ที่เริ่มจากการชุมนุมใหญ่ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2556 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน โดยเฉพาะการเดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งทยอยยกเลิกการเดินทางต่อเนื่อง

ด้านนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกท่องเที่ยว' class='anchor-link' target='_blank'>สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สถิติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ก.พ. 2557 พบว่า สมาชิกบริษัทนำเที่ยวตลาดขาเข้า (อินบาวด์) กว่า 500 บริษัท รวมแล้วนำนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.15 แสนคน ลดลงถึง 30.73% หรือหายไปราว 2.28 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บ่งชี้ถึงแนวโน้มการถดถอยของตลาด ซึ่งยังไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์การเมืองที่ยังมีสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของเด็กที่เข้าไปใกล้พื้นที่ชุมนุม ซึ่งมีผลทันทีต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาไทย

เชื่อททท.พลาดเป้ารายได้ 2 ล้านล้าน

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการแอตต้า วานนี้ (25 ก.พ.) จึงได้หารือถึงผลกระทบในภาพรวมและการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งหลังจากนี้ยอมรับว่าจะต้องพิจารณาปรับลดเป้าหมายนักท่องเที่ยวของแอตต้าลง แต่บทสรุปว่าจะอยู่ที่ตัวเลขเท่าใด จะต้องรอให้เหตุการณ์การเมืองมีความชัดเจนและเห็นทางออกมากกว่าในปัจจุบันก่อน

ขณะที่เป้าหมายของ ททท.ที่ยังคงยืนยันจะทำรายได้ 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.32 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 7 แสนล้านบาท โดยเตรียมบุกตลาดทดแทนในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ประเมินจากข้อเท็จจริงที่เห็นในช่วงไตรมาสแรกแล้ว ยอมรับว่าคงไม่สามารถผลักดันตัวเลขได้ตามเป้า ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ

1.ในช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ถือเป็นช่วงโลว์ซีซันซึ่งปกติตลาดที่เดินทางเข้ามาเป็นประจำในช่วงนี้ไม่มากพอจะทดแทนอยู่แล้ว อาทิ ยุโรป ซึ่ง ททท.ต้องการกระตุ้นให้เข้ามาเพิ่มเติมนั้น ก็เดินทางมาในจำนวนจำกัดในช่วงดังกล่าว

2.ในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เข้าสู่ไฮซีซัน ตามปกติมีทั้งตลาดเอเชียและยุโรปที่นิยมเดินทางเข้ามาหนาแน่นอยู่แล้ว หากไปเร่งการส่งเสริมเพิ่มเติมในช่วงเวลานี้ ท่องเที่ยวไทยก็จะประสบปัญหาความแออัดและหนาแน่นของแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ขยายตัวตาม อาทิ สนามบินนานาชาติ และจำนวนห้องพักโรงแรม

“ภายใน 6 เดือนนี้ คาดว่าไม่น่าจะฟื้นตลาดได้ทัน แต่หาก ททท.ยังคงต้องการยืนยันเป้าหมาย ภาคเอกชนก็ทำได้แต่เพียงให้กำลังใจ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงถือเป็นเรื่องยาก แต่ตัวเลขที่คาดว่าจะได้เห็นแน่นอนคือ สมมติฐานความเสียหายจากการเมืองที่ ททท.วางไว้ว่าจะถึง 9 หมื่นล้านบาท และกระทบต่อยอดนักท่องเที่ยวลดลงไป 9 แสนคนในช่วงครึ่งปีแรก”

สำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่ยังมีกระแสการเดินทางเข้ามาทั้งจาก อินเดีย และ ญี่ปุ่น นั้น ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางในเชิงธุรกิจและการติดต่องานตามปรกติ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ ได้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศคู่แข่งในกลุ่มอาเซียนเรียบร้อยแล้ว อาทิ มาเลเซีย ที่ใช้จังหวะนี้ในการโหมโปรโมทปีแห่งการท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่กลุ่มทัวร์รัสเซีย ก็เริ่มเบนจุดหมายไปที่ เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย และจุดหมายชายทะเลในเวียดนาม ซึ่งได้รับการโปรโมทใหม่แทน

นอกจากนั้น สถิติในช่วง 2 เดือนแรกยังชี้ด้วยว่า ตลาดหลัก 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ปรับฐานลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่ลดลงมากกว่า 30% ทุกประเทศ โดยประเทศที่มีสัดส่วนลดลงมากที่สุด ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งติดการประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดให้หลีกเลี่ยงเดินทางมากรุงเทพฯ ลดลงไปกว่า 97.97% ขณะที่จีน ซึ่งมีกรุ๊ปทัวร์มาไทยเป็นอันดับ 2 ลดลงราว 61.06% เป็นผลจากปัญหาการเมืองในไทยอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับการประกาศใช้กฎหมายท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีนก่อนหน้านี้ ขณะที่ญี่ปุ่น ลด 58.89% เกาหลีใต้ ลด 55.59% เวียดนาม ลดลง 81.79% ไต้หวัน ลด 74.08% สิงคโปร์ ลด 78.45% และมาเลเซีย ลด 38.01%

ประกันภัยไม่ครอบคลุมเหตุรุนแรง

ด้าน นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ประเมินผลกระทบของปัญหาการเมืองต่อธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก จะส่งผลทำให้สูญเสียรายได้ไปราว 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงเนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าภายหลังศาลแพ่งจะมีคำสั่งห้ามสลายการชุมนุม แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดทำให้ยากต่อการชี้แจงต่อชาวต่างชาติ ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังบังคับใช้ต่อเนื่อง มีผลโดยตรงต่อการประกันภัยเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะไม่ครอบคลุมกรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

นายเกษียร วัฒนเชาวน์พิสุทธิ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า คาดการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ จะเหลือไม่ถึง 20% ของจำนวนที่เคยเดินทางมาถึง 1.17 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 หรือเฉลี่ยควรมีชาวจีนเดินทางมาราว 3.5 แสนคนต่อเดือนในภาวะปกติ

ทั้งนี้ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ตลาดจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2551 ไทยยังมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเพียง 5 แสนคน แต่ในปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็นกว่า 4.7 ล้านคน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ขยายการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด อาทิ การจัดหารถบัส เที่ยวบินเช่าเหมาลำ รวมถึงการจ้างงานมัคคุเทศก์ภาษาจีนเพิ่ม หลังจากที่ประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก

หวั่นทัวร์จีนรายเล็กขาดสภาพคล่อง

ด้วยวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัททัวร์อินบาวด์จีนที่เป็นสมาชิกกว่า 209 ราย เริ่มกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่กระแสเงินสดจะเพียงพอราว 3-4 เดือนเท่านั้น หากการเมืองยังคงยืดเยื้อจนมีผลต่อการทำตลาด เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทรายกลางหรือเล็กจะมีรายจ่ายเฉลี่ย 1.5-1.6 ล้านบาทต่อเดือน แต่สำหรับบริษัทใหญ่ที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไป จะมีค่าใช้จ่ายราว 4-5 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น หากบริษัทใดมีเงินทุนสะสมไว้ไม่เพียงพอ อาจจะประสบปัญหาในการประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้

ขณะที่ นายวิลเลียม อี. ไฮเน็ค ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมในกรุงเทพฯ บางแห่งมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลงเป็นผลกระทบจากการเมือง แต่ปรากฏว่าโรงแรมที่อยู่ห่างไกลพื้นที่ชุมนุม อาทิ อนันตรา กรุงเทพฯ ริเวอร์ไซด์ ยังคงมีอัตราผู้เข้าพัก รวมถึงยอดจองล่วงหน้าอยู่ในเกณฑ์ดี เช่นเดียวกับโรงแรมต่างจังหวัดที่ยังมีลูกค้าเข้าพักต่อเนื่อง เพราะส่วนหนึ่งตลาดที่ย้ายจากกรุงเทพฯ หันไปเดินทางเที่ยวในจุดหมายในจังหวัดอื่นๆ ทดแทน

ไมเนอร์ฯยังไม่ปรับเป้ารายได้

ทั้งนี้ เครือไมเนอร์มีโรงแรมทั้งหมด 18 แห่งในไทย และโรงแรมในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 7% ของรายได้ของเครือทั้งหมด แต่ในกรณีที่เหตุการณ์ยืดเยื้อ เชื่อว่าโรงแรมในเครือจะได้รับผลกระทบในวงกว้างกว่าปัจจุบันแน่นอน ดังนั้น จึงหวังว่าเหตุการณ์จะสงบโดยเร็ว ทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวและเติบโตได้ในปีนี้ ประกอบกับนักเดินทางสมัยใหม่ปรับตัวได้ดีกับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้คนเริ่มคุ้นเคยกับการปรับแผนเดินทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ในส่วนของบริษัทไมเนอร์ฯ ยังไม่ได้เปลี่ยนประมาณการของตัวเลขรายได้จากการประกอบการงาน เนื่องจากมองภาพในระยะยาว ประกอบกับการมีธุรกิจในภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา มาช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างสมดุล

http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... B8%81.html
value trap
รูปภาพ
โพสต์โพสต์