Vi ทมิฬ. ป่วนตลาดหุ้น ถึงเวลาคุมกำเนิด

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
somkull
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 349
ผู้ติดตาม: 0

Vi ทมิฬ. ป่วนตลาดหุ้น ถึงเวลาคุมกำเนิด

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ประเด็นร้อน!: `วีไอทมิฬ`ป่วนตลาดหุ้น ถึงเวลาคุมกำเนิด?

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -28 ก.ย. 58 11:04 น.
นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า(Value Investor) หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า "นักลงทุนวีไอ" ถือเป็นแบบอย่างของการลงทุนในตลาดหุ้นที่ได้รับความนิยมและแทบจะทุกคนที่ก้าวเข้ามาในวงการนี้ต้องนำปรัชญา แนวคิด และวิธีการ ไปศึกษาเพื่อปรับใช้ในการลงทุนของตน
ประเด็นที่ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ให้ความสนใจ หาใช่การนำเสนอทฤษฎีลงทุนแบบวีไอ หรือมานั่งเล่าชีวประวัติของวีไอแต่ละราย เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถหาเสพได้อย่างแพร่หลายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
แต่ข้อสังเกตุสำคัญที่เราตระหนักถึง คือ นักลงทุนวีไอที่ประสบความสำเร็จและถูกยกย่องนับถือ ย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้สิทธิพิเศษในการครอบงำแนวคิดได้โดยบริสุทธิ์ใจ กล่าวคือ ทุกการเคลื่อนไหวจะมีนัยต่อสาวกเสมอ ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางที่ดีก็แล้วไป แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน แน่นอนว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใคร ที่สำคัญมีตัวกระตุ้นชั้นอ๋องที่เรียกว่า "ความโลภ"
ดังนั้นหากนักลงทุนวีไอต้องการหากำไรผ่านทางลัดก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่แอบบอก "หุ้นเด็ด"กับสาวก แฟนคลับ ลูกศิษย์ หรือใครก็ตามที่เข้ามาซูฮก โดยมีเจตนาเพื่อให้ "หุ้นเด็ด"นั้น ถูกแพร่กระจายไปในโลกของการสื่อสารที่ไร้พรมแดน สารจะออกสู่สาธารณะไวยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จะมีแมงแม่าจำนวนมากกรูกันเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นแบบไม่ลืมหูลืมตา สุดท้ายวีไอจอมปลอมก็เชือดนิ่มๆ ด้วยการเทขายทำกำไรออกมา หลงเหลือไว้เพียงซากแมงเม่านอนตายเกลื่อนอยู่บนยอดดอย
อีกกรณีที่ "คลาสสิค"ไม่แพ้กัน คือ การที่วีไอแอบเข้าไปเก็บหุ้นไว้ก่อน แล้วเข้าไปตีซี้กับผู้บริหารเพื่อหวังจะได้ข้อมูลภายใน(อินไซด์) ก่อนจะเผยแพร่ข้อมูลนั้นออกสู่สาวกและสาธารณะ เพื่อกระชากราคาหุ้นและขายทำกำไรออกมา
พฤติกรรมอันน่าสงสัยเหล่านี้ ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่า ทุกวันนี้วีไอยังลงทุนระยะยาวอยู่หรือไม่ เพราะหลายๆครั้งผู้ที่สถาปนาตนว่าเป็นวีไอก็ซื้อขายหุ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ภาพของนักลงทุนวีไอ ผู้ลงทุนด้วยการศึกษาวิเคราะห์พื้นฐานธุรกิจอย่างถ่องแท้ เน้นผลตอบแทนระยะยาว จริงๆแล้วอาจเป็นแค่ "วีไอทมิฬ" หรือไม่!!!

*** วีไอไม่ได้เปลี่ยน แต่ของเทียมเพียบ
"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" วีไอชั้นบรมครูของเมืองไทย ให้ความเห็นว่า พฤติกรรมของ VI ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ดั้งเดิมมีรูปแบบหรือประเภทที่หลากหลายอยู่แล้ว เช่น แบบอนุรักษ์นิยมก็จะมองถึงเรื่องลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ๆ เน้นผลตอบแทนที่ไม่หวือหวามาก แต่กำไรต่อปีต้องแน่นอนในระยะยาว
หรืออีกกลุ่มก็จะเป็นแบบระยะสั้นลงมาหน่อย คือ เน้นลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีการตอบสนองของผลตอบแทนในระดับสูง เป็นต้น
แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้พื้นฐานเป็นตัวตัดสินใจในการคัดเลือกหุ้น ที่สำคัญจะไม่สนใจราคาหากพื้นฐานของบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน ถ้าผิดไปจากรูปแบบนี้ก็ไม่นับว่าเป็นวีไอ
สอดคล้องกับ "อนุรักษ์ บุญแสวง" หรือ "โจ ลูกอีสาน" นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "หลักการสำคัญง่ายๆ สำหรับการเป็นนักลงทุน VI คือเลือกหุ้นจากพื้นฐาน-วิวัฒนาการของธุรกิจ ดูงบการเงิน ประเมินผู้บริหาร ความสามารถในการแข่งขัน โมเดลธุรกิจ เน้นเลือกคุณภาพมากกว่าราคา และจะขายหุ้นก็ต่อเมื่อ ราคาหุ้นเข้าสู่ระดับเหมาะสมที่ประเมินไว้ หรือขายเมื่อประเมินพื้นฐานผิด ซึ่งถือเป็นจุด cut loss ของนักลงทุน VI หรือขายต่อเมื่อเจอหุ้นตัวอื่นที่ดีกว่า
ส่วนช่วงเวลาในการลงทุนผมว่าไม่สำคัญมาก เพราะถ้าราคาเหมาะสมมัน Match ก็ควรขาย ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า VI ต้องตะบี้ตะบันถือยาวตลอดเวลา บางทีที่เป็นแบบนั้น เพราะราคาเหมาะสมยังมาไม่ถึง แต่ระหว่างทางก็ยังได้เงินปันผล เพราะพื้นฐานธุรกิจดี จึงถือกันไป
"ระยะยาว"ในความหมายของ VI คือได้ผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาว โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่เกิดจากการกระจายลงทุนในพอร์ตที่เหมาะสมในระยะยาวด้วย
"ดร.นิเวศ" ย้ำว่า วีไอแท้ๆ ยังคงอยู่ เพียงแต่มีกลุ่ม "วีไอเทียม" หรือ นักเก็งกำไรเข้ามาแอบอ้างค่อนข้างมาก และไม่ปฏิบัติตามกฎ ทำให้มุมมองต่อวีไอถูกปรับเปลี่ยนไป ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขใดๆได้ และต้องยอมรับ ซึ่งพวก"ของเทียม"เมื่อไม่ทำตามหลักการและกฎเกณฑ์ของวีไอ สุดท้ายก็จะขาดทุนและหายไปจากวงการเอง
"มีคนที่หลอกตัวเองว่าเป็น VI เยอะ เพราะได้กำไรจากการซื้อ-ถือในช่วงตลาดเป็นขาขึ้น บางครั้งไม่ได้ใช้พื้นฐานมาตัดสินใจ แต่ในภาวะที่ตลาดผันผวน เศรษฐกิจแย่ วีไอเทียมเหล่านี้เริ่มอยู่ไม่ได้ เพราะคอนเซปต์ ซื้อ-ถือ แบบไร้เหตุผล จะใช้ได้ดีตอนตลาดเป็นขาขึ้นเท่านั้น เหมือนที่ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือว่า ยุคทองของ VI หมดไปแล้ว มันเฟ้อไปมากแล้ว บางรายลงทุนในหุ้นที่ค่า P/E สูงระดับ 50 เท่าขึ้นไป แต่ได้กำไรจากราคาหุ้นที่มันวิ่งไปเกินพื้นฐาน แบบนั้นอย่ามาเรียกว่าวีไอ เพราะนั่นคือการเก็งกำไร"บรมครูวีไอ กล่าวเสริม

*** "วีไอทมิฬ"ระบาด ยากควบคุม
ยังมีคนในวงการวีไออีกหลายรายที่เราได้สัมภาษณ์ ซึ่งล้วนแต่ยืนยันและย้ำว่า นักลงทุนวีไอแท้ๆ ยังคงยึดเจตนารมณ์การลงทุนเหมือนที่เคยเป็นมา เพียงแต่มีกลุ่มปลิงดูดเลือดที่คอยเกาะกระแสและสร้างความแปดเปื้อนให้กับวีไอเท่านั้น
ส่วนในเรื่องของการทุจริตและพฤติกรรมอันมิชอบของพวก "วีไอทมิฬ" มีค่อนข้างบ่อย และยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมได้ เพียงแต่เชื่อว่าวันหนึ่งกลไกตลาดจะกำจัดคนเหล่านั้นเอง ซึ่งนักลงทุนก็ควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนลงทุน อย่าหลงเชื่อโดยไม่ได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง
"แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม นักลงทุนรุ่นใหม่ ผู้มีงานเขียนเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นหลายเล่ม ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มที่แสดงตนว่าเป็น VI เข้าซื้อหุ้นและเข้าไปทำความสนิทกับผู้บริหารเพื่อหวังใช้ข้อมูลอินไซด์มีค่อนข้างมาก
รวมถึงกลุ่มที่ซื้อหุ้นแล้วโฆษณาชี้ชวน ทำให้ภาพของวีไอออกมาในลักษณะ "วีไอทมิฬ" ซึ่งในวงการจะไม่นับรวมกลุ่มคนเหล่านั้นตั้งแต่ต้น แต่นักลงทุนทั่วไปยังเชื่อในความเป็นวีไอของกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ จึงคล้อยตามและตกเป็นเครื่องมือในการสร้างราคา
"แพท"ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนมาปรึกษาเรื่องหุ้น ซึ่งก็จะแนะนำและวิเคราะห์ตามที่ได้ศึกษามา แต่กลายเป็นดาบสองคม เพราะไม่ได้คิดว่าจะมีคนไปบอกต่อและซื้อหุ้นกันมากมาย สุดท้ายขาดทุน เพราะปักใจเชื่อโดยไม่ผ่านการประเมินด้วยตนเอง สุดท้ายจึงถูกต่อว่าในโซเชี่ยลกันใหญ่โต ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญ หลังจากนั้นก็ไม่เคยแนะนำหุ้นเป็นรายบริษัทอีกเลย
ด้าน"โจ ลูกอีสาน" เห็นด้วยว่า "คนที่เป็น VI แท้ เขาจะไม่โฆษณาเวลาจะลงทุนในหุ้นใดๆ เพราะเป็นเรื่องไม่สมควร ถ้ามีพฤติกรรมแบบนั้น ถือว่าอันตราย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีคนประเภทนี้เสมอ แต่สุดท้ายก็จะแพ้ภัยตัวเอง หากหุ้นที่เชียร์มันไม่เวิร์คและพื้นฐานไม่ดีจริง คนก็จะเลิกสนใจไปเอง ที่ไหนก็มีแบบนี้ ต่างประเทศก็เป็น ซึ่งเราก็คงทำอะไรไม่ได้เป็นสิทธิของเขา แต่ย้ำว่าเราที่เป็นวีไอจะลงทุนด้วยพื้นฐานเป็นหลักเสมอ"
"ดร.นิเวศน์" เสริมอีกว่า กรณีที่วีไอเข้าซื้อหุ้นบริษัทใดก็ตามและมีกลุ่มนักลงทุนรายอื่นๆ เข้าซื้อตามโดยไม่ได้วิเคราะห์เอง และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินมูลค่าพื้นฐานที่เหมาะสม จะถือว่าสิ้นสภาพการเป็นหุ้นของ VI ทันที โดยจะกลายเป็นเพียงหุ้นเก็งกำไรที่มีพื้นฐานดีและมาจากการนำพาด้านราคาโดยนักลงทุน VI เท่านั้น
เพราะตามหลักการแล้ว VI จะขายหุ้นเมื่อถึงราคาเหมาะสมที่ประเมินไว้แล้วเสมอ เพราะต้องยึดมั่นจุดยืนที่ใช้มูลค่าพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุน หาใช่ราคาหุ้น และที่สำคัญหากเกิดกรณีดังกล่าวต้องหลีกเลี่ยง
ขณะที่ "นิ้วโป้ง" อธิป กีรติพิชญ์ หนึ่งในนักลงทุนวีไอ ให้ข้อสังเกตุในการหา"วีไอเทียม"ว่า ให้ดูจากหุ้นที่มีมาร์เกตแคปต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และกลุ่มใดเข้าไปแล้วโฆษณาชวนเชื่อ ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง

*** วอน ก.ล.ต.เพิ่มโทษ จำคุกอินไซด์-คุมการเข้าถึงข้อมูล บจ.
นายกสมาคมวีไอ เสนอวิธีจัดการกับพวกชอบใช้ความเป็นวีไอไปหากินว่า กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ถือว่าไม่เข้มงวดพอที่จะสร้างความยำเกรง โดยเฉาะการใช้ข้อมูล"อินไซด์" เพราะปัจจุบันมีเพียงโทษปรับ ควรต้องลงโทษทางอาญา ต้องจับติดคุกเหมือนตลาดหุ้นต่างประเทศเชื่อว่าจะลดการทำความผิดได้มากกว่า 50% เพราะผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีต้นทุนทางสังคมสูง ย่อมเกรงกลัวเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีทางอาญา
ไหนๆประเทศไทยก็คิดจะเอาจริงกับการปราบปรามคอรัปชั่น ก็ควรจะทำให้เด็ดขาดไปเลย"
นอกจากนี้ควรมีวิธีการ หรือมาตรการใดๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล เพราะปัจจุบันกลุ่มนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนสถาบันจะได้เข้าพบผู้บริหารและได้ข้อมูลก่อนเสมอ นักลงทุนทั่วไปต้องรองานประชุมผู้ถือหุ้น หรือแค่งาน Opportunity day ถือว่าไม่แฟร์สักเท่าไหร่
"ความโปร่งใสกับนักลงทุน VI ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ในทางที่ถูกต้องคือไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้บริหารเป็นการส่วนตัว เพื่อหวังจะได้ข้อมูลสำคัญก่อนคนอื่นๆ(อินไซด์)เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังไม่สมควรทำอีกด้วย ผมในฐานะนายกสมาคม แม้จะไม่สามารถบังคับใครให้ปฏิบัตตามได้ แต่ก็ได้ทำให้เป็นตัวอย่างคือ ไม่เข้าหาผู้บริหาร ไม่ Company visit" โจ ลูกอีสาน กล่าว

*** อย่า "ลอกการบ้าน" วิเคราะห์ข้อมูลก่อนลงทุน
สำหรับแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากใครก็ตาม คือการหาความรู้และศึกษาข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ก่อนลงทุนทุกครั้ง เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรต้องทำ เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่รู้และความโลภ โดยต้องเริ่มจากรากถึงจะกำจัดได้อย่างถาวร
"ภาววิทย์" มองว่า"สำคัญที่สุดคือนักลงทุนต้องรู้และเข้าใจการลงทุนให้ประจักษ์ก่อนตัดสินใจมากกว่า เพราะการทุจริตเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก หรือหากมีรายใดถูกจับได้ก็จะมีรายใหม่ขึ้นมาทดแทนเสมอ เป็นสัจธรรมของตลาดหุ้น เพราะโลกปัจจุบันการสื่อสารไม่มีข้อจำกัด เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆก็เอื้ออำนวย ดังนั้นหากนักลงทุนศึกษาจนรู้แจ้งแล้วก็สามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นเครื่องมือได้ หากทำข้อนี้ไม่ได้ให้เลือกลงทุนแบบอื่นน่าจะเหมาะสมกว่า เช่น กองทุนรวม"
ด้าน" กิติชัย เตชะงามเลิศ" เจ้าของหนังสือ "จาก 1 ล้านเป็น 500 ล้าน ผมทำอย่างไร" บอกกับเราว่า การลงทุนในหุ้นควรศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อดูพัฒนาการโอกาสในการเติบโตต่อไปข้างหน้า ซึ่งมีเปิดเผยทั่วไปและเข้าถึงได้ไม่ยาก ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนก็สนับสนุนการให้ความรู้ด้านการลงทุน มีทั้งงานอบรม สัมนา เกือบทุกสัปดาห์ ทั้งที่เสียเงินและฟรี สำคัญที่สุดอย่าลงทุนด้วยการแห่ตามกระแสของคนอื่น เพราะนั่นถือเป็นการลงทุนที่ผิด
ขณะที่ นายกสมาคมวีไอ กล่าวปิดท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า การจะซื้อหรือขายหุ้นควรจะผ่านการศึกษาข้อมูลมาโดยละเอียด มิควรทำพฤติกรรม "ลอกการบ้าน" จากผู้อื่นเพราะเวลาขาดทุนจะไม่มีใครมาร่วมรับผิดชอบ


รายงาน โดย ศราพงค์ นันติวงค์
เรียบเรียง โดย อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร
อีเมล์. [email protected]
อนุมัติ โดย พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน
โพสต์โพสต์