เลือกทางไหนดี (Framing effect)
ขอเริ่มต้นด้วยคำถามแล้วกันนะครับ
ถ้าสมมุติว่าคุณได้รับแจกหุ้นจำนวน 10,000 หุ้นฟรี ๆ และคนที่แจกหุ้น ยังใจดีบอกให้เลือกทางเลือก 2 ทางต่อไปนี้ คือ
ทางเลือกที่ 1 ได้รับหุ้นเพิ่มอีก 5,000 หุ้นแน่ ๆ 100%
ทางเลือกที่ 2 ให้โยนหัวก้อย ถ้าออกหัว ให้หุ้นเพิ่มอีก 10,000 หุ้น แต่ถ้าออกก้อย ก็จะไม่ได้อะไรเพิ่ม
เป็นเรา เราจะเลือกทางเลือกไหนครับ ไม่มีคำตอบถูกผิดหรอกนะครับ มันแล้วแต่ความรู้สึกของเรา
เอ้า ให้เวลาคิดสัก 1 นาที ... คิดได้แล้ว จำคำตอบตัวเองไว้นะครับ
คราวนี้เริ่มใหม่ครับ สมมุติสถานการณ์ใหม่ สมมุติว่ามีคนใจดี แจกหุ้นเรา 20,000 หุ้น เสร็จแล้ว เขานึกขึ้นมาได้ว่า แจกเยอะเกินไป เดี๋ยวภรรยาที่บ้านว่าเอา (เกี่ยวอะไรเนี่ย 5555) เขาก็เลยให้ทางเลือก 2 ทางให้เราเลือกคือ
ทางเลือกที่ 1 ขอหุ้นคืนมา 5,000 หุ้น
ทางเลือกที่ 2 โยนหัวก้อย ถ้าออกหัว ไม่ต้องคืนหุ้นเลย แต่ถ้าออกก้อยต้องคืนมา 10,000 หุ้น
คราวนี้เป็นเรา เราจะเลือกทางเลือกไหนดีครับ เอ้าให้เวลาคิดอีก 1 นาที เช่นกัน
คราวนี้ ลองสารภาพมาซะดี ๆ ครับ ว่าในสถานการณ์แรก กับ สถานการณ์ที่ 2 ใครเปลี่ยนทางเลือกบ้าง เช่นสถานการณ์แรก เลือกทางเลือกที่ 1 แต่พอสถานการณ์ที่ 2 กลับเลือกทางเลือกที่ 2 (หรือสลับกันก็ได้นะครับ)
ถ้าท่านเปลี่ยนทางเลือกอย่างที่กล่าวมานั้น แสดงว่าท่านกำลังได้รับผลจากสิ่งที่เรียกว่า Framing effect ครับ
ทำไมน่ะเหรอครับ เพราะสถานการณ์ทั้ง 2 นั้น จริง ๆ แล้วให้ผลของแต่ละทางเลือกเหมือนกันทั้งคู่ นั่นแหละครับ !!!
ลองคิดดูนะครับ ถ้าท่านเลือกทางเลือกที่ 1 ก็แปลว่าท่านจะได้รับหุ้น 15,000 หุ้นแน่ ๆ แต่ถ้าท่านเลือกทางเลือกที่ 2 ก็แสดงว่าท่านมีโอกาส 50% (โยนหัวก้อย) ที่ท่านจะได้หุ้นกลับไป 20,000 หุ้น และอีก 50% ที่ท่านจะได้หุ้นกลับไปเพียง 10,000 หุ้นเท่านั้น
เห็นไหมล่ะครับว่ามันเหมือนกัน แต่ความรู้สึกมันไม่เหมือนกัน เพราะการใช้คำพูดที่ต่างกัน เลยทำให้ความคิดเราต่างกันไงครับ !!!
ในปี 1981 Amos Tversky และ Daniel Kahneman สองกูรูชื่อดังทางด้านการตัดสินใจ ได้ทำการทดลองโดยถามคำถามเกี่ยวกับผู้ทดลองว่า สมมุติว่ามีคนติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
จำนวน 600 คน
ตอนนี้มีทางเลือกที่จะรักษาขอเรียกว่าทางเลือก A ก็แล้วกันนะครับ จากการศึกษาพบว่าทางเลือก A จะทำให้คนรอด 200 คนตาย 400 คน
แต่เวลาเขาให้ผู้ถูกทดลองเลือก เขาให้คำพูด 2 แบบครับ
แบบเชิงบวกคือ ทางเลือก A จะทำให้เราสามารถรักษาชีวิตคนไว้ได้ 200 คน
แบบเชิงลบคือ ทางเลือก A ทำให้คนตาย 400 คน
ผลปรากฏว่า เวลาใช้คำพูดเชิงบวก (รักษาชีวิตคน) มีคนเลือกทางเลือก A ถึง 72%
แต่พอใช้คำพูดเชิงลบ (ทำให้คนตาย) กลับมีคนเลือกเหลือเพียงแค่ 22% เท่านั้น
ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองแบบมันก็ให้ความหมายแบบเดียวกันนั่นแหละ
เวลาอ่านพวกบทวิเคราะห์ที่เชียร์ให้ซื้อและขายหุ้น ก็ระวังกันให้ดีนะครับ คำพูด ถ้าพลิกนิดเดียว อาจจะให้ความรู้สึกที่ต่างกันได้ราวฟ้ากับเหวเลยครับ