คำสั่งตามม.44ของหัวหน้าคสช. กับการแก้ปัญหาบริษัทมหาชน(จบ)
4 July 2017
ข้าพระบาท ทาสประชาชน
โดย : ประพันธุ์ คูณมี
คำสั่งตามม.44ของหัวหน้าคสช. กับการแก้ปัญหาบริษัทมหาชน(จบ)
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 นอกจากคำสั่งดังกล่าวจะให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นให้สามารถดำเนินการจัดการประชุมได้เอง ตาม ม.100 ดังที่ได้กล่าวมาในบทความตอนที่ 1 แล้วคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ยังมุ่งเน้นไปที่สิทธิของผู้ถือหุ้นในการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท ตลอดจนการตรวจสอบการดำเนินงานของกรรมการอีกด้วย
โดยได้แก้ไขความใน ม.128 ของพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดจากความเดิมมาใช้ข้อความใหม่แทนเป็นดังนี้ “มาตรา 128 ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งมีหุ้นนับรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด จะเข้าชื่อกันทำคำขอเป็นหนังสือให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท ตลอดจนตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการด้วยก็ได้ ในคำขอตามวรรคหนึ่ง ผู้ขอต้องระบุเหตุผลและประเด็นที่จะให้ตรวจสอบโดยแจ้งชัด พร้อมกับแจ้งชื่อและสถานที่อยู่ของผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเป็นตัวแทนด้วย ถ้านายทะเบียนเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ให้นายทะเบียนมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่คนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ตรวจสอบ และในคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจสอบ นายทะเบียนต้องระบุประเด็นที่จะให้ตรวจสอบโดยแจ้งชัด”
จากการออกคำสั่งดังกล่าว ตาม ม.44 ของหัวหน้า คสช.ถือเป็นเจตนาที่ดีที่ต้องการให้สิทธิและอำนาจแก่ผู้ถือหุ้น ในการเข้ามาควบคุมตรวจสอบการดำเนินงานและการบริหารกิจการบริษัท ที่อาจก่อความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น กระทั่งตรวจสอบไม่ให้ผู้บริหารทุจริต ใช้อำนาจที่มิชอบ ก่อความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น
การออกคำสั่งเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ยังคงอำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบของนายทะเบียนไว้ดังเดิม โดยคำสั่ง คสช. มิได้ไปแก้ไข พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 129 ที่บัญญัติให้นายทะเบียนสามารถแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่คนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบบริษัทก็ได้เมื่อมีเหตุควรสงสัยว่า
(1) บริษัทได้กระทำการโกงเจ้าหนี้ของบริษัท หรือก่อหนี้โดยที่รู้อยู่ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(2) บริษัทฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือแจ้งข้อความที่เป็นเท็จในการจดทะเบียนในงบดุลหรือบัญชีกำไรขาดทุน หรือในรายการที่ยื่นต่อนายทะเบียนหรือที่เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป
(3) กรรมการหรือพนักงานชั้นบริหารของบริษัท ดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ หรือกระทำการทุจริตต่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท
(4) มีการกระทำอันเป็นการให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อยเสียเปรียบโดยไม่เป็นธรรม
(5) การบริหารกิจการของบริษัทอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น
....นี่ก็คือบทบัญญัติที่ให้อำนาจนายทะเบียนสามารถดำเนินการได้เองเมื่อมีเหตุอันสมควรตามกฎหมาย นอกจากนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.128 และ129 ยังมี ม.130-135 บัญญัติคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวไว้อีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากที่ คสช.ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งที่21/2560 ดังกล่าว ประกอบกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชน ที่มีอยู่เดิม การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ หรือผู้ลงทุนกับบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็น่าจะมีหลักประกันและความน่าเชื่อถือว่า หากเกิดปัญหาใดๆดังที่กล่าวมาในบริษัทมหาชนใด กลไกของกฎหมายและหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ ซึ่งกรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังมีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่มีอำนาจควบคุมตรวจสอบโดยตรง ทั้งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอีกด้วย ประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมาย ก็น่าที่มหาชนทั้งหลายจะไว้วางใจได้
แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ โดยเฉพาะกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อย เล็ก กลาง ใหญ่และบรรดาเจ้าหนี้ ล้วนแต่ถูกกรรมการบริษัทและผู้บริหารบริษัท กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดตาม ม.129 อย่างชัดแจ้ง ทำผิดกฎหมาย ผิดข้อบังคับ ผิดวัตถุประสงค์บริษัท มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้น แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ จนบรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยร่วมเกือบ 30,000 ราย ทำเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ถึงนายทะเบียนและ ก.ล.ต.
โดยรวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐานมากมายครบถ้วน แต่การดำเนินการของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลับล่าช้ามาก อ้างว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายบ้างล่ะ กำลังดำเนินการตรวจสอบบ้างล่ะ วันเวลาผ่านมาร่วมปี หุ้นก็ยังถูกขึ้นป้ายห้ามขายในตลาด จนผู้ถือหุ้นแทบสิ้นเนื้อประดาตัว กรรมการบริษัทไม่ครบองค์ประชุม แต่ผู้บริหารก็ยังดั้นเมฆบริหารทำการไปแบบดื้อตาใส ใช้เงินของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยไร้การตรวจสอบ ในที่สุดผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องรวมตัวฟ้องคดีก.ล.ต. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลได้รับฟ้องนัดคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยแล้ว
นี่จึงเป็นอุทาหรณ์แก่บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายเป็นอย่างดี รัฐบาล และ คสช.ได้ตรากฎหมายมาครอบคลุมแทบทุกปัญหา แต่ก็ติดขัดอยู่ที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานใดอ้างข้อติดขัดทางกฎหมาย ทำงานล่าช้าเกินสมควร ขอได้พึงสังวรณ์ วันนี้ประชาชนมีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว ถ้าท่าน ไม่อยากใช้บริการต้องฝึกทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้เสร็จสิ้นโดยเร็วตามสมควร ชีวิตจึงจะปลอดภัยห่างไกลคุกตะราง
คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3276 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.2560
อ้างอิง : http://www.thansettakij.com/content/174556