“ก.ล.ต. แห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความเห็นด้านแนวทางกฎเกณฑ์ ICO แล้ว เตรียมผลักดันใช้ปีหน้า”
หลังจากตัวเลขมูลค่าตลาดรวมของตลาดการระดมทุน Initial Coin Offerings (ICO) ก้าวข้ามผ่านระดับ 3,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้วหลายๆฝ่ายมองว่านี่คือกระแสการระดมทุนแบบใหม่ที่อาจจะมา disrupt โมเดลการระดมทุนในปัจจุบัน แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลประเทศจีนกับเกาหลีใต้จะออกมาลงดาบแบนการซื้อขายเหรียญ ICO มาแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทว่าก็ยังมีอีกหนึ่งประเทศซึ่งก็คือประเทศไทยของเราที่ทางหน่วยงานกำกับดูแล (regulators) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ ICO และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในประเทศเพื่อนำไปออกกฎเกณฑ์และแนวทางในการกำกับการระดมทุนแบบดังกล่าวแล้ว
สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ทางสยามบล็อกเชนรายงานว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กำลังเตรียมการร่างและเสนอกฎเกณฑ์เพื่อมากำกับ ICO ที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ (ICO ที่นักลงทุนซื้อแล้วมีส่วนร่วมในทิศทาง,หุ้นและกำไรของบริษัท) ที่จะมีการผลักดันใช้ในช่วงไตรมาสที่สองของปีหน้า แต่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะก่อน
โดยอ้างอิงจากหน้าข่าวสารของเว็บไซต์ก.ล.ต. ทางสำนักงานได้เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจใน ICO สามารถอ่านแนวทางของกฎเกณฑ์ดังกล่าว รวมถึงแสดงความเห็นได้ผ่านแบบฟอร์มที่ทางสำนักงานเสนอไว้ให้ โดยสามารถส่งได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560
ICO สำหรับ “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน”
ในเอกสารของทาง ก.ล.ต. ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายในการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมาคือเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางกำกับดูแล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานในการระดมทุนผ่าน ICO โดยในเบื้องต้น ก.ล.ต. จะเปิด track สำหรับ ICO ที่เป็น “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ซึ่งเป็นนิยามทั่วไปของหลักทรัพย์ประเภทใหม่ซึ่งเป็นตราสารการลงทุนที่มีเงื่อนไขเป็นมาตรฐาน (highly standardized terms and conditions)
“ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” หมายถึง สิทธิซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ในการได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุน ในการดำเนินการใดหรือทรัพย์สินใดโดยไม่มีส่วนในการบริหารจัดการการดำเนินการ (day-to-day operation) แต่ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้ว ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
จำกัดวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยที่สามแสนบาทต่อโครงการ
สำหรับส่วนแบ่งร่วมลงทุนที่ออกและเสนอขายด้วยกระบวนการ ICO นั้น นักลงทุนรายย่อยทั่วๆไปที่ต้องการจะซื้อ ICO ในลักษณะดังกล่าวจะถูกจำกัดวงเงินลงทุนไว้ที่รายละ 300,000 บาทต่อโครงการ รายงานกล่าวว่าทาง ก.ล.ต. มองเห็นบทบาทสำคัญของกลุ่มนักลงทุนดังกล่าว และต้องการปกป้องนักลงทุนรายย่อยในกรณีที่เกิดการขาดทุน โดยรายงานกล่าวว่า
“ผู้ลงทุนรายย่อยควรมีช่องทางลงทุนใน ICO เนื่องจากผู้ลงทุนรายย่อยมีบทบาทสำคัญ ในการให้ข้อเสนอแนะและช่วยพัฒนาแผนธุรกิจใน white paper ซึ่งจะช่วยให้โครงการที่ผู้ระดมทุนเสนอมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อจำกัดความเสียหาย ต่อผู้ลงทุนรายย่อย สำนักงานเห็นควรจำกัดวงเงินในการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละราย ไว้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการลงทุนใน ICO แต่ละโครงการ”
คุณอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ หรือผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีการเงินของ ก.ล.ต. ได้ให้สัมภาษณ์กับสยามบล็อกเชนว่าการจำกัดเงินลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุน retail investor ที่ 300,000 บาทต่อโครงการจะมีผลเฉพาะกับ ICO ที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ข้างต้น
โดยเธอกล่าวว่า
“ขอบเขตการกำกับดูแลของสำนักงานจะครอบคลุมเฉพาะ ICO ที่เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานจะเปิด TRACK เฉพาะ “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ก่อน และในกรณีเป็น RETAIL INVESTOR นักลงทุนแต่ละรายจะลงทุนได้ไม่เกิน INVESTMENT LIMIT ที่ 300,000 บาทต่อการลงทุนใน ICO แต่ละโครงการ”
แต่งตั้ง ICO Portal เป็นผู้ช่วยคัดกรอง ICO
นอกจากนี้ทาง ก.ล.ต. ยังมีแผนการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน ICO มาเป็น “ผู้คัดกรอง” หรือ ICO portal ที่สำนักงานให้การยอมรับ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน เช่น แยก ICO เพื่อการระดมทุนอย่างแท้จริงออกจากกรณีที่ผู้ไม่สุจริตพยายามใช้ช่องทางดังกล่าวหาประโยชน์จากประชาชน
โดยอ้างอิงจากรายงานของ ก.ล.ต. นั้น บริษัทที่ทำหน้าที่เป็น portal จะช่วยคัดกรอง ICO ที่เข้าข่ายไม่สุจริต, พิจารณาความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ, ตรวจสอบ source code ของ smart contract, มีระบบยืนยันตัวตนผู้ลงทุน (KYC), ดูแลไม่ให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนเกินวงเกินที่กำหนด, เพิ่มความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และประสานงานร่วมมือกับทาง ก.ล.ต. โดยอาจทำหน้าที่คล้ายๆกับวาณิชธนกิจและนายทะเบียนหลักทรัพย์
ที่น่าสนใจคือ บริษัทที่จะได้รับเลือกมาเป็น ICO portal นั้นจะต้องมีการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยด้วยเงินทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท
คุณอาจารีย์ให้ข้อมูลว่า ICO จากต่างประเทศก็อาจให้ ICO portal ในไทยช่วยคัดกรองเพื่อความโปร่งใสได้เช่นกัน ทว่าที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันมีหนึ่งบริษัทเอกชนที่เสนอตัวเองเข้ามาเป็น ICO Portal ให้กับทาง ก.ล.ต. แล้ว ซึ่งก็คือ ICOra โดยต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้ได้หรือไม่ และในอนาคตสามารถมี ICO portal มากกว่าหนึ่งรายได้
การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ในปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพมากมายที่เริ่มหันมาเปิดระดมทุน ICO เจาะกลุ่มนักลงทุนในไทย ซึ่งหลักๆแล้วก่อนหน้านี้มีทั้ง GoldMint, TripAlly และ Clout
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแนวทางกำกับดูแล ICO ในไทยกับ ก.ล.ต. สามารถแสดงความเห็นผ่านแบบฟอร์มแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ที่เว็บหลักได้
Cr. สยามบล็อกเชน