ความเชื่อมโยงของเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
หมอวิ
Verified User
โพสต์: 289
ผู้ติดตาม: 0

ความเชื่อมโยงของเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ความเชื่อมโยงของเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ปัญหาอย่างหนึ่งของพวกเราหลายๆ คนที่เคยศึกษาวิชาบริหารธุรกิจหรือการวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เจอร่วมกันก็คือ การมีสารพัดสารพันเครื่องมือในการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค, การวิเคราะห์อุตสาหกรรม (เช่น 5-Forces analysis), การวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ, การวิเคราะห์กลยุทธ์ในการแข่งขัน ,การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน, SWOT analysis, การวิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงิน แล้วไหนยังจะมีการวิเคราะห์แบบ Top-Down หรือ Bottom-Up อีก วุ่นวายดีแท้ (ที่จริงยังมีอีกเยอะ)

ไม่ใช่แค่ตอนพยายามทำความเข้าใจการวิเคราะห์แต่ละตัวเท่านั้นนะครับ ตอนที่จะเอาไปใช้ก็ไม่รู้จะเอาของสำนักไหนดี ครั้นพอใช้มันทั้งหมดก็มึนเลยสิครับ

ผมเองก็ใช้เวลาจับต้นชนปลายอยู่พักใหญ่เหมือนกัน มาหายมึนก็หลังจากที่เห็นภาพรวมของการวิเคราะห์และความเชื่อมโยงของเครื่องมือต่างๆ นี่เอง

ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูกันครับ ว่าเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านี้ มันมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันตรงไหน และจะนำความเข้าใจนี้ไปใช้งานได้อย่างไร

โดยส่วนตัวแล้วผมจะชอบ SWOT analysis เป็นพิเศษ เพราะว่าผมใช้มันเป็นตัวเชื่อมโยงการวิเคราะห์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ตามแผนภาพนี้ครับ
อธิบายโดยย่อ SWOT คือการแบ่งปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานของกิจการออกเป็นสองส่วน คือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก แล้ววิเคราะห์ว่าภายในกิจการมีส่วนใดที่เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อน (Strengths & Weaknesses) และดูว่าสภาวะแวดล้อมภายนอกมีอะไรที่เป็นโอกาสหรือเป็นภัยคุกคามต่อกิจการทั้งในปัจจุบันและอนาคต (Opportunities & Threats)

โดยโมเดลธุรกิจ-ความสามารถในการแข่งขัน-โครงสร้างทางการเงิน เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ซึ่งจะช่วยให้เราทราบว่ากิจการนี้มีข้อดี-ข้อด้อยตรงไหนอย่างไรบ้าง

ส่วนปัจจัยมหภาคและอุตสาหกรรมนี่เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกครับ เวลาวิเคราะห์เราก็จะต้องพยายามดูให้ออกว่าปัจจัยไหนที่มี (หรือกำลังจะมี) ผลกระทบกับกิจการบ้าง โดยมองทั้งในด้านบวกและด้านลบ

พอเราวิเคราะห์ทั้งสองฝั่งเสร็จแล้ว เราก็มาดูว่าโมเดลธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน กลยุทธ์และแผนธุรกิจของกิจการ มันสอดคล้องกับสิ่งที่เราวิเคราะห์มาหรือไม่ และมันน่าจะเวิร์คมั๊ย ถ้าใช่ก็แปลว่าพื้นฐานของกิจการดี และผลงานในอนาคตก็น่าจะออกมาดี แต่ถ้าไม่ก็ตรงกันข้าม

ส่วนแนวทางการวิเคราะห์แบบ Top-Down และ Bottom-Up นั้น ผมได้ยินคนถามบ่อยว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ส่วนตัวขอตอบว่ามันดีคนละแบบ โดยบางคนอาจจะถนัด Top-Down บางคนถนัด Bottom-Up แต่ท้ายที่สุดมันก็ต้องดูทั้งบนทั้งล่างล่ะครับ แค่ว่าจะเริ่มจากด้านไหนก่อนเท่านั้นเอง

อย่างเช่นเราเห็นราคาน้ำมันเป็นขาลง และวิเคราะห์แล้วพบว่ามีบางอุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์ แต่แค่นี้ก็ยังไม่ได้ตังค์นะครับ ต้องไปดูต่อว่าบริษัทไหนในอุตสาหกรรมนั้นที่น่าจะได้ประโยชน์มากน้อยอย่างไรอีกที (อย่าลืมดูราคาหุ้นว่าถูกหรือแพงด้วยล่ะ)

หรือถ้าเราเห็นว่าบริษัทหนึ่งพื้นฐานดี และมีแผนจะขยายกิจการกันใหญ่โต เราก็ต้องไปดูต่อครับว่าโครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมและบริบทแวดล้อมอื่นๆ มันเอื้ออำนวยหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องระวังให้มาก ว่ามีโอกาสสูงที่จะทำไม่สำเร็จ

เมื่อได้เห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงเหล่านี้แล้ว ผมหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจ “วัตถุประสงค์” ของเครื่องมือในการวิเคราะห์ต่างๆ เพื่อที่จะสามารถเลือกและประยุกต์ใช้ในการลงทุนได้ดีขึ้นนะครับ

by #Dr.Vi. #หมอวิ (8 ธันวาคม 60)
https://www.facebook.com/Dr.Vichian/
[email protected]
"อย่ากลัวตกรถ" ...ถึงจะดี ถ้าไม่ถูก ก็ไม่ซื้อ
"อย่ากลัวติดดอย" ...ถ้าถูกพอ ก็ซื้อ ไม่รอราคาต่ำสุด
โพสต์โพสต์