ท่ามกลางผลประกอบการณ์ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ของหุ้นสายการบินในประเทศไทยที่ติดลบตัวแดงกันถ้วนหน้านำโดย
การบินไทย รายได้ 47,239 ล้านบาท ขาดทุน 3,086 ล้านบาท
ไทยแอร์เอเชีย ทำได้ 9,302 ล้านบาท ขาดทุน 306 ล้านบาท
บางกอกแอร์เวย์ ทำได้ 6,341 ล้านบาท ขาดทุน 82 ล้านบาท
นกแอร์ ทำได้ 4,841 ล้านบาท ขาดทุน 1,095 ล้านบาท
แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นตามกระแสการเดินทางท่องเที่ยวแต่ด้วยผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมาเกือบ 40% ในปีนี้จึงทำให้สายการบินเหล่านี้ขาดทุนจำนวนมาก
แล้วทำไมนักลงทุนแนววีไออันดับหนึ่งของโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงลงทุนในหุ้นสายการบินของอเมริกาอย่างต่อเนื่อง?
นักลงทุนอาจจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่าสายการบินในอเมริกาที่คุณปู่ลงทุนมีผลดำเนินงานไตรมาสล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง
สายการบิน DELTA รายได้ 396,000 ล้านบาท สามารถทำกำไรได้ 33,000 ล้านบาท
สายการบิน SOUTHWEST (สายการบิน Low Cost) รายได้ 189,000 ล้านบาท ทำกำไรได้ 22,000 ล้านบาท
ทำไมบัฟเฟตต์ถึงลงทุนในหุ้นสายการบินทั้งที่ในอดีตเคยเขียนลงจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเตือนนักลงทุนไม่ให้ซื้อหุ้นสายการบินเพราะการแข่งขันรุนแรง เราลองมาดูกัน
1. บัฟเฟตต์มองไปที่กระแสการเดินทางทั่วโลกโดยเฉพาะที่อเมริกามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่าในปี 2555 จำนวนผู้โดยสารผ่านทางการบินทั่วโลกอยู่ที่ 2,900 ล้านคน แต่เมื่อปีที่แล้วมีผู้โดยสารมากถึง 4,000 ล้านคนหรือเติบโตถึง 38% ใน 5 ปี เฉพาะในอเมริกาอย่างเดียวก็มีผู้โดยสารประมาณ 849 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่ายิ่งคนเดินทางเยอะ รายได้ของสายการบินยิ่งโต
2. สายการบินทั้งสองมีงบการเงินและการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม
- สายการบิน DELTA มีต้นทุนสินค้า (COGS) อยู่ที่ 73% ของรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและการขายอยู่ที่ 12.6% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8.7%
ในแง่ของสถานะทางการเงิน DELTA ก็สามารถผลิตกระแสเงินสดได้มากถึง 40,000 ล้านบาทในช่วงหกเดือนของครึ่งปีแรก แม้ว่าสัดส่วนของหนี้สินต่อทุนจะอยู่ที่ 3.3 เท่าแต่มั่นใจได้ว่าบริษัทสามารถผลิตเงินสดมาชำระหนี้ได้อย่างแน่นอน
อัตราส่วนทางการเงินหุ้น DELTA มีค่าพีอีอยู่ที่ 12 เท่า มี ROE 26.37 เท่าแสดงให้เห็นว่าหุ้นราคาไม่สูงมากนักรวมทั้งมีการจ่ายเงินปันผลที่ดี
กลยุทธ์ของ DELTA เน้นบริหารจัดการฝูงบินให้มีอายุการใช้งานอย่างคุ้มค่า อายุเฉลี่ยของฝูงบิน 867 ลำตอนนี้อยู่ที่ 16.6 ปี บริษัทได้ตั้งทีม MRO (Maintenance, Repair, Overhaul) มาช่วยในการบำรุงรักษาเครื่องบินให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายและจำนวนเครื่องบินที่ใหญที่สุดจึงมีได้ประโยชน์จาก Economies of Scale
ปัจจุบันบัฟเฟตต์ถือหุ้นอยู่ 63.6 ล้านหุ้น หรือ 9.2% ของหุ้นทั้งหมด มูลค่ารวมกว่า 121,000 ล้านบาท
- ส่วนสายการบิน SOUTHWEST มีต้นทุนสินค้า (COGS) อยู่ที่ 36.8% ของรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและการขายอยู่ที่ 46.3% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12.8% จะเห็นได้ว่าสายการบิน Low Cost มีต้นทุนสินค้าต่ำกว่า DELTA อย่างมากแต่มีค่าใช้จ่ายการบริหารในสัดส่วนของรายได้ที่สูงกว่า
ในแง่ของสถานะทางการเงิน ก็สามารถผลิตกระแสเงินสดได้มากถึง 51,000 ล้านบาทในช่วงหกเดือนของครึ่งปีแรก สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.6 เท่า ไม่ได้มีความเสี่ยงทางการเงินมากนักเพราะสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากได้ทุกปี
SOUTHWEST มีค่าพีอีอยู่ที่ 16.57 เท่า มี ROE 23.5 เท่า
กลยุทธ์ 1)เน้นการใช้เครื่องบินรุ่นและแบบเดียวกันทั้งหมด 723 ลำคือใช้ BOEING 737 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและเก็บอุปกรณ์สำรองที่หลากหลาย 2)เป็นสายการบินที่เน้นการบินไปกลับที่จุดเดิม (Point to Point) โดยใช้เวลาในการลงจอดที่สนามบิน ขนคนออก ผู้โดยสารขึ้นเครื่องแล้วบินกลับจุดที่เดินทางจากมาใช้เวลาเพียง 25 นาที จึงทำให้บริษัทใช้ประโยชน์ของเครื่องบินและแรงงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดจำนวนเครื่องบินลงได้เพราะแต่ละลำทำงานอย่างเต็มที่ 3)เน้นขายตั๋วผ่านทางเวปไซค์ของตนเอง ลดการขายผ่านนายหน้าให้น้อยที่สุด
บัฟเฟต์ถือหุ้นอยู่ 56.5 ล้านหุ้น หรือ 9.75% ของหุ้นทั้งหมด มูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท
โดยสรุปหุ้นสายการบินของอเมริกามีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีกว่า ถ้าลองเทียบกับหุ้นสายการบินในไทยที่น่าจะมีกำไรดีที่สุดอย่างสายการบินไทยแอร์เอเชียซึ่งต้นทุนสินค้าสูงถึง 97% ของยอดขาย เมื่อรวมกับต้นทุนในการบริหารและขายอีก 4.5% บริษัทจึงขาดทุน
เห็นได้ว่าการลงทุนแบบวีไอไม่ใช่เพียงแค่ลงทุนตามเซียน ควรจะต้องศึกษาด้วยตัวเองเพื่อให้รู้ถึงโอกาสและความเสี่ยงก่อนลงทุนทุกครั้ง
ตัวอย่างธุรกิจสายการบินเป็นข้อมูลที่ให้เห็นภาพ แม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่ถ้ามีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ก็จะต่างกันเยอะครับ #วอร์เรนบัฟเฟตต์ #หุ้นสายการบิน